งานวิจัยใหม่ พบว่า การส่งต่อผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง (CKD) ไปพบ nephrologists นั้น หากประเมินจากความเสี่ยงต่อภาวะไตล้มเหลวร่วมกับค่าทางห้องปฏิบัติการ จะสามารถคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ได้เหมาะสมกว่าการคัดกรองจากค่าห้องปฏิบัติการเพียงอย่างเดียว
American Journal of Kidney Diseases ตีพิมพ์ผลการวิจัยของ Duggal, VA Palo Alto Health Care System และคณะ ที่ได้ทำการศึกษาแบบย้อนหลังในผู้ป่วย CKD เกือบ 400,000 คน เป็นเวลา 1 ปี เพื่อศึกษาความแตกต่างของปริมาณการส่งต่อผู้ป่วยให้ nephrologists ตามเกณฑ์การคัดกรองที่ต่างกัน ระหว่าง 1. ค่าความเสี่ยงต่อภาวะไตล้มเหลว (estimated risk for kidney failure) คำนวณโดยใช้ Kidney Failure Risk Equation (KFRE) ซึ่งรวมอายุ eGFR เพศ และ ACR 2. ค่าตัวเลขจากห้องปฏิบัติการ (laboratory data) เช่น ค่า eGFR, rate of decline, proteinuria และ 3. การใช้ทั้ง 2 เกณฑ์ร่วมกัน
ผลการศึกษา พบว่า หากใช้ค่าตัวเลขจากห้องปฏิบัติการ ผู้ป่วยควรได้รับการส่งต่อมากกว่า 66,276 ราย และเมื่ออ้างอิงจากเกณฑ์ความเสี่ยงต่อภาวะไตล้มเหลว ความเสี่ยง 2 ปีที่ ≥ 1% จะมีผู้ป่วยที่ควรส่งต่อ 72,948 ราย แต่เมื่อรวมทั้งสองวิธีเข้าด้วยกัน โดยเอาเกณฑ์ความเสี่ยงภาวะไตล้มเหลว ความเสี่ยง 2 ปีที่ ≥ 1% ไปใช้กับผู้ป่วยรายใหม่ที่มีข้อบ่งชี้ทางห้องปฏิบัติการ ปรากฏว่าผู้ที่ควรได้รับการส่งต่อลดลง 42.3% จาก 66,276 เหลือประมาณ 38,229 ราย
โดยทีมวิจัยย้ำว่า การค้นพบของเขาไม่ได้เปลี่ยนแนวทางการส่งต่อผู้ป่วยโรคไต แต่กล่าวว่าแพทย์สามารถใช้เครื่องมือ KFRE ซึ่งหาได้ทางออนไลน์ ช่วยเสริมการตัดสินใจในการส่งต่อผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ข้อมูลจาก www.medscape.com