ศ. นพ. สมศักดิ์ เทียมเก่า
สาขาวิชาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
กลุ่มวิจัยโรคลมชักแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โรคลมชักเป็นโรคทางระบบประสาทที่พบได้ทุกเพศ ทุกวัย ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติต่อผู้ป่วยไม่เหมาะสม การรักษาต้องให้การรักษานานต่อเนื่องอย่างน้อย 3 – 5 ปี ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว การรักษาต้องเริ่มจากการวินิจฉัยที่ถูกต้อง ซึ่งต้องอาศัยเครื่องมือในการตรวจ เช่น เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง เครื่องตรวจเอ็มอาร์ไอ การรักษาด้วยยากันชักเป็นระยะเวลานานหลายปีก็มีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งค่าใช้จ่ายทางตรงและทางอ้อม บางกรณีต้องใช้ยากันชักรุ่นใหม่ที่มีราคาแพง ผู้ป่วยบางส่วนก็ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ ดังนั้นการจัดการผู้ป่วยโรคลมชักในประเทศไทยหรือประเทศกำลังพัฒนานั้นจะประสบปัญหาอย่างมาก เพราะมีข้อจำกัดด้านทรัพยากรที่มีอยู่ไม่พร้อม บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกคนเข้าใจในข้อจำกัด และวิธีการจัดการผู้ป่วยโรคลมชักในภาวะจำกัดด้านทรัพยากร ดังนี้
ภาวะจำกัดด้านทรัพยากร
เมื่อกล่าวถึงข้อจำกัดด้านทรัพยากร ส่วนใหญ่แล้วจะนึกถึงเฉพาะข้อจำกัดด้านงบประมาณ จริงแล้วภาวะจำกัดด้านทรัพยากรนั้นไม่ใช่การจำกัดเฉพาะด้านงบประมาณเท่านั้น ยังมีข้อจำกัดด้านอื่น ๆ ประกอบด้วย
- E : Education ; การศึกษา ความรู้
- P : Perception ; การรับรู้ การปฏิบัติ
- I : Industrial ; การลงทุน ความพร้อมด้านการรักษา
- L : Liaison ; การประสานงาน ระบบการดูแล ร่วมมือระหว่างหน่วยงาน
- E : Empowerment ; การดูแลตนเอง ความเข้าใจและความพร้อมของผู้ป่วย และครอบครัว
- P : Personnel ; ความพร้อมด้านบุคลากรด้านสุขภาพ
- S : Social ; สังคมขาดความเข้าใจที่เหมาะสม ระบบสนับสนุนที่ดี รวมทั้งกฎหมายคุ้มครองผู้ป่วย
- Y : You ; ความพร้อมของแต่ละบุคคลทั้งทีมสุขภาพและประชาชนทุกคน
ปัญหาในการรักษาผู้ป่วยโรคลมชักนั้นมีหลากหลาย ได้แก่
- ความยากจนและการไม่รู้หนังสือ
- ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคลมชัก เช่น เข้าใจว่าเกิดจากภูตผีปีศาจเข้าสิง หรือเป็นโรคของเวรกรรม ผู้ป่วยจะใช้ชีวิตในสังคมเหมือนคนทั่วไปไม่ได้ ไม่สามารถแต่งงาน มีบุตรได้เหมือนคนอื่นๆ เหมือนมีตราบาปติดตัว
- คนในสังคมมีทัศนคติที่ไม่เหมาะสมต่อผู้ป่วย คิดว่าผู้ป่วยโรคลมชักมีระดับสติปัญญาไม่ดีและอาจนำโรคมาติดต่อได้ เพราะเข้าใจว่าโรคลมชักสามารถติดต่อได้ทางการสัมผัส หรือน้ำลาย จึงไม่รับผู้ป่วยโรคลมชักเข้าทำงาน
- การวินิจฉัยโรคทำได้ยาก เพราะประชาชนขาดความรู้เกี่ยวกับอาการชักรูปแบบต่าง ๆ ความพร้อมด้านเครื่องมือในการตรวจวินิจฉัย ได้แก่ เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง เครื่องตรวจเอ็มอาร์ไอ การกระจายตัวของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไม่ดี มีเฉพาะในเมืองใหญ่เท่านั้น ระบบการส่งต่อเพื่อการวินิจฉัยไม่ดีพอ ยังขาดประสิทธิภาพในการส่งต่อ
- ยากันชักกลุ่มมาตรฐานที่มีไม่ครบในทุก ๆ โรงพยาบาล โดยเฉพาะยากันชักรุ่นใหม่ และยากันชักรูปแบบยาฉีด ยากันชักที่มีใช้ในแต่ละโรงพยาบาลมีความต่างของยี่ห้อยา มีทั้งชนิดต้นแบบและชื่อสามัญ ผู้ป่วยจึงไม่สามารถรับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้ เนื่องจากการกระจายตัวของยากันชักไม่ดี
- ระบบการส่งต่อ การรักษาต่อเนื่องและศูนย์ให้คำปรึกษาด้านโรคลมชักยังไม่พร้อม
ดังนั้นการจัดการการรักษาผู้ป่วยโรคลมชักมิใช่เพียงแค่การจัดการด้านการรักษาด้วยยากันชักหรือการวินิจฉัยที่ถูกต้องเพียงอย่างหนึ่งอย่างใด ต้องมีการจัดการที่เหมาะสมในทุก ๆ ด้าน ดังแนวทางการแก้ไขที่เรียกว่า THAILAND model ได้แก่
- T : Teach ; การสอนเรื่องลมชักในโรงเรียนกับทุกคน คือ ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสังคมที่เหมาะสม
- H : Heal and Holistic ; การรักษาทั้งอาการชัก ความเข้าใจ การปฏิบัติจิตใจอย่างเป็นองค์รวม
- A : Awareness ; การสร้างความตื่นตัว ความเข้าใจ ความตระหนักต่อลมชัก
- I : Industrial cooperation ; การลงทุน และความร่วมมือของทุกองค์กรในสังคม เพื่อผู้ป่วยโรคลมชัก
- L : Law ; แนวปฏิบัติ กฎหมายคุ้มครองผู้ที่เป็นลมชัก
- A : Alliance ; พันธมิตร เครือข่ายในการดูแล สนับสนุนกิจกรรมของผู้ป่วยโรคลมชัก
- N : National standard and policy ; มาตรฐานการรักษาระดับนานาชาติ นโยบาย
- D : Drug available ; ความพร้อมด้านการรักษา ยา
นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคลมชักยังมีปัญหาด้านสุขภาพอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นโรคร่วมหรือโรคที่เป็นสาเหตุของโรคลมชักส่งผลให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยภาวะต่าง ๆ จากการศึกษาของ Kurth T และคณะพบว่าผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยภาวะต่าง ๆ โดยพบว่าผู้ป่วยโรคลมชักในสหรัฐอเมริกาพบแพทย์เฉลี่ย 10 ครั้งต่อปีไปรับการรักษาที่แผนกฉุกเฉินปีละ 1 ครั้ง ได้รับการตรวจทางปฏิบัติการอย่างน้อย 24 ชนิดใน 1 ปี ผู้ป่วยผู้หญิงและสูงอายุจะยิ่งใช้บริการมากขึ้นกว่ากลุ่มอื่น รายละเอียดการเจ็บป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลดังตารางที่ 1
ตารางที่ 1 แสดงการวินิจฉัยโรคหลักในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของผู้ป่วยโรคลมชักระหว่างปี พ.ศ. 2548 – 2550 โดย Thomson-Reuters
..
จากการศึกษาของ Meyer AC และคณะศึกษาการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยในประเทศต่าง ๆ พบว่าประเทศที่มีรายได้น้อยมีการเข้าถึงการรักษาต่ำกว่าประเทศที่มีรายได้สูงอย่างชัดเจน ดังรูปที่ 1
รูปที่ 1 แสดงร้อยละการเข้าถึงการเข้าไม่ถึงการรักษา (treatment gap) ของผู้ป่วยโรคลมชักของประเทศต่าง ๆ แบ่งตามรายได้ของประเทศโดยธนาคารโลก
.
รูปที่ 2 แสดงร้อยละการเข้าไม่ถึงการรักษา (treatment gap) ของผู้ป่วยคิดจากค่าความชุกตลอดชีวิต
รูปที่ 3 แสดงร้อยละการเข้าไม่ถึงการรักษา (treatment gap) ตามปีที่ศึกษา และการแบ่งรายได้โดยธนาคารโลก
.
การศึกษาความพร้อมด้านการรักษาโรคลมชักโดย ILAE/IBE/WHO โดยการส่งแบบสอบถามไปยังสมาชิกที่เป็นตัวแทนแต่ละประเทศ พบว่าแต่ละประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกมีความพร้อมแตกต่างกัน ดังตารางที่ 2
ตารางที่ 2 แสดงความพร้อมของเครื่องมือในการตรวจวินิจฉัยและการรักษาโรคลมชัก
การวินิจฉัยอาการชักไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องให้แพทย์เห็นอาการ แต่ในความเป็นจริงผู้ป่วยมีอาการที่บ้าน ที่ทำงานคนที่เห็นก็ไม่ใช่แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้นถ้าเรามีอุปกรณ์ เช่น application ในสมาร์ทโฟนสามารถช่วยในการวินิจฉัยได้ก็จะดี มีการศึกษาของ Patterson V วินิจฉัยอาการชักโดยใช้ application ให้ผู้เห็นเหตุการณ์ตอบคำถาม 11 ข้อ พบว่าสามารถช่วยในการวินิจฉัยได้ รายละเอียดดังตารางที่ 3
ตารางที่ 3 แสดงคำถามและความเป็นไปได้ของคำตอบใน application ช่วยการวินิจฉัยอาการชัก
ซึ่งเมื่อนำมาใช้กับผู้เห็นเหตุการณ์ให้ตอบข้อคำถามใน application จำนวน 11 ข้อในผู้มีอาการ 132 คนพบว่าสามารถให้การวินิจฉัยได้ร้อยละ 73 ดังรูปที่ 4 และ 5
รูปที่ 4 แสดงความสามารถในการช่วยการวินิจฉัยอาการชักจาก application
รูปที่ 5 แสดงความไปได้ของผู้มีอาการแต่ละรายจากการใช้ application Individual Cases
ในประเทศไทยมีการศึกษาแนวทางการวินิจฉัยโดยใช้แบบคัดกรองเช่นเดียวกันกับการวินิจฉัยโดยapplication ดังตารางที่ 4
ตารางที่ 4 แบบคัดกรองอาการชักแบบ generalized tonic-clonic seizure
ผู้ป่วยที่มีประวัติในข้อ 1 และ 2 ร่วมกับประวัติข้อใดข้อหนึ่งในข้อ 3 ถึง 9 อย่างน้อย หนึ่งข้อ ถือว่าให้ผลบวก (เฉพาะ generalized tonic – clonic seizures) ประโยชน์ของการใช้แบบประเมินคือง่าย และบุคลากรทีมสุขภาพทุกคนสามารถใช้แบบประเมินนี้ได้โดยมีความแม่นยำที่ดี
ข้อจำกัดด้านการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองก็มีการใช้สมาร์ทโฟนซึ่งมีโปรแกรมการเก็บข้อมูลและประมวลผลร่วมกับหมวกสำหรับตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง เพื่อใช้ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองในพื้นที่ที่ไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าว โดยการศึกษาของ McKenzie ED และคณะ ก็พบว่าตรวจพบคลื่นชักเมื่อเทียบกับเครื่องตรวจมาตรฐานร้อยละ 25 มี sensitivity ร้อยละ 39.2 และ specificity ร้อยละ 94.8 มีค่า positive predictive value และ negative predictive value เท่ากับ 0.71 และ 0.82 ตามลำดับ และเมื่อสอบถามด้านการบริการอื่น ๆ เช่น การผ่าตัดรักษาโรคลมชัก การฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยแบ่งเป็นกลุ่มตามรายได้พบดังตารางที่ 5
ตารางที่ 5 แสดงความพร้อมด้านการรักษาพิเศษและการฟื้นฟูสมรรถภาพในประเทศต่าง ๆ แบ่งตามรายได้ของธนาคารโลก
เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านความพร้อมของเครื่องมือตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองที่มีเพียงเขตบริการสุขภาพละเครื่องเท่านั้น สำหรับประชากรประมาณ 5 ล้านคน ดังนั้นจึงต้องมีการจัดระบบบริการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง การจัดระบบการนัดตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองโดยเจ้าหน้าที่ห้องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลที่จะส่งผู้ป่วยมาตรวจเพื่อนัดหมายวัน เวลาการตรวจที่แน่นอน นอกจากนี้ยังให้ผู้ป่วยหรือญาติที่จะมารับบริการตรวจสามารถโทร.ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ห้องตรวจได้โดยตรง เพื่อลดขั้นตอนการบริการ สะดวก รวดเร็ว และมีความพึงพอใจในบริการ
รวมทั้งการรายงานผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองโดยยึดผู้ป่วยและญาติเป็นศูนย์กลาง สามารถให้เลือกว่าจะให้เจ้าหน้าที่ห้องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองส่งผลรายงานการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองไปโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลจังหวัดที่ผู้ป่วยและญาติไปรับบริการได้สะดวก โดยประสานกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเพื่อส่งผลให้ทั้งทางจดหมาย e-mail หรือ line หรือการจัดระบบการนัดหมายของแต่ละจังหวัดโดยการรวบรวมผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองไว้ตรวจภายในวันเดียวกัน โดยประสานให้ทางโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือนั้น นำเครื่องมือมาตรวจผู้ป่วยภายในวันเดียวกัน ซึ่งจะตรวจได้ประมาณ 8 – 10 รายต่อวัน ก็จะเป็นการอำนวยความสะดวกต่อผู้ป่วย ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง จาก 10 ครอบครัวเหลือเพียงเจ้าหน้าที่เพียง 1 คน เดินทางพร้อมเครื่องมือแบบเคลื่อนที่ได้มาตรวจผู้ป่วยที่โรงพยาบาลใกล้บ้านแทน
การจัดการอย่างเป็นระบบอีกกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยให้การตรวจรักษาผู้ป่วยโรคลมชักมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย คือ การบริการคลินิกโรคลมชักแบบง่าย (easy epilepsy clinic) ซึ่งประกอบด้วยการบริการของแพทย์ เภสัชกรและพยาบาล ทำงานร่วมกันเป็นทีม โดยแต่ละวิชาชีพให้การบริการในด้านที่ตนถนัดตามหน้าที่ ดังนั้นผู้ป่วยจะได้รับการรักษาอย่างบูรณาการ
จากข้อมูลข้างต้นพบว่าปัญหาการเข้าถึงการรักษาเป็นปัญหาใหญ่ ตลอดจนความพร้อมด้านการรักษาต่าง ๆ ของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาและรายได้ต่ำ จากเกณฑ์การประเมินของธนาคารโลก ทางองค์การอนามัยโรคจึงมีนโยบายในการจัดการกับโรคลมชักดังนี้ โดย
- การกำหนดเป็นนโยบายของประเทศเกี่ยวกับโรคทางระบบประสาทและจิตเวช รวมทั้งโรคไม่ติดต่อ โดยเฉพาะโรคลมชัก โดยการสนับสนุนทั้งด้านกำลังคน ทรัพยากรด้านการลงทุนเพื่อการตรวจวินิจฉัย การรักษา และยาที่จำเป็น
- ดำเนินการอย่างจริงจังเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยโรคลมชักทั้งการรักษาและหลักการของสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ผู้ป่วยโรคลมชักได้รับการรักษาและดูแลด้านอื่นๆ แบบบูรณาการ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในชนบท พื้นที่ห่างไกลให้ได้รับการรักษาอย่างครบถ้วนตามหลักการแพทย์เชิงประจักษ์
- จัดระบบบูรณาการทางการแพทย์ให้ครอบคลุมในการรักษาผู้ป่วยโรคลมชักตั้งแต่ระดับการแพทย์ปฐมภูมิจนถึงตติยภูมิ ทั้งในด้านการรักษาการฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ ตลอดจนด้านสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยโรคลมชัก
- สนับสนุนให้เกิดกระบวนการการกระจายตัวของทรัพยากรต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคลมชักอย่างจริงจัง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยากันชักที่เหมาะสม รวมทั้งการตรวจรักษา การฟื้นฟูที่จำเป็น ให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ของประเทศ
- สร้างความรู้ ความตระหนักและทัศนคติที่เหมาะสม ถูกต้องในโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเพื่อลดความเข้าใจผิดและทัศนคติที่ไม่เหมาะสมต่อผู้ป่วยโรคลมชัก
- สนับสนุนการลดลงของเหตุที่ก่อให้เกิดโรคลมชัก เช่น อุบัติเหตุทางการจราจร ภาวะติดเชื้อในสมอง เป็นต้น
- สนับสนุนและส่งเสริมงบประมาณด้านการวิจัยโรคลมชัก
- เชิญชวนหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชนเพื่อการสนับสนุนกิจกรรมในข้อ 1 – 7 ข้างต้น
แนวทางการจัดการรักษารักษาโรคลมชักแบบบูรณาการ หลักการ THAILAND model ประกอบด้วย
T: Teach หมายถึงการสอนกับทุกคน ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การพัฒนาหลักสูตรโรคลมชักให้เหมาะสมกับชั้นเรียน และรายกลุ่มวิชาสำหรับนักเรียน นักศึกษา การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนให้ครู นักศึกษาในหลักสูตรการจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่างครู นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน การพัฒนารูปแบบการเรียน การสอนในคณะแพทย์ พยาบาล เภสัชกรและทีมสุขภาพ รวมทั้งการพัฒนารูปแบบการเรียน การสอนในระดับแพทย์หลังปริญญา
จากการศึกษาของสมศักดิ์ เทียมเก่าและคณะ ศึกษาความรู้ของครูในจังหวัดขอนแก่น พบว่าร้อยละ 6 เข้าใจว่าผู้ป่วยโรคลมชักไม่สามารถรับประทานเนื้อหมูได้ ร้อยละ 11 เข้าใจว่าโรคลมชักเกิดจากการรับประทานเนื้อหมู ร้อยละ 2 เข้าใจว่าผู้ป่วยโรคลมชักไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์และไม่สามารถแต่งงานได้ ร้อยละ 64 เข้าใจว่าการช่วยเหลือผู้ป่วยขณะชักต้องหาวัสดุแข็งงัดปากผู้ป่วยเพื่อป้องกันการกัดลิ้น ร้อยละ 16 เข้าใจว่าถ้ามีอาการชักต้องรีบนำยากันชักใส่ปากผู้ป่วยทันทีเพื่อหยุดชัก และร้อยละ 25 เข้าใจว่าผู้ป่วยหญิงลมชักถ้าตั้งครรภ์ต้องหยุดยากันชักทันที และเมื่อประเมินความรู้ในภาพรวมได้ค่าคะแนนร้อยละ 60 เท่านั้น
จากการศึกษาของสมศักดิ์ เทียมเก่าและคณะยังพบว่าประชาชนในเขตชนบทของจังหวัดขอนแก่นเข้าใจว่า โรคลมชักนั้นมีความร้ายแรงมากกว่าโรคเอดส์ โรคมะเร็ง โรคไตวาย ส่งผลให้ไม่อยากทำการรักษา เพราะโรครุนแรงอย่างไรก็เสียชีวิต
H : Heal and Holistic หมายถึง การรักษาให้หาย ทั้งโรคทางกายและจิตใจ เพราะโรคลมชักนั้นไม่ใช่ส่งผลต่อสุขภาพกายเท่านั้น จึงต้องรักษาให้หายทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้ดีด้วย การรักษาอาการชักให้ดีทั้งผู้ป่วยและคนในครอบครัวการรักษาโรคร่วม เช่น ภาวะจิตใจ การทำกลุ่มบำบัดเฉพาะผู้ป่วย ผู้ปกครอง ครอบครัว การพัฒนาระบบการดูแลกลุ่มผู้ป่วยให้สามารถเข้าถึง และครอบคลุมได้ดีขึ้น การพัฒนาระบบการดูแลกลุ่มผู้ป่วยให้ยั่งยืนรวมทั้งการพัฒนาอาชีพ และระบบสนับสนุนอื่น ๆ ในสังคมต่อผู้ป่วยโรคลมชัก การแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้ดีขึ้นก็จะส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดี และมีโอกาสหายมากขึ้น คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
A : Awareness หมายถึง ความตระหนัก ความตื่นตัวต่อโรคลมชัก การสร้างความรู้ความเข้าใจต่อโรคที่ถูกต้องต่อผู้มีอาการ ผู้ปกครองการสร้างความตระหนักของสังคม การสร้างแนวปฏิบัติต่อผู้ที่มีอาการชักให้ถูกต้อง การรณรงค์ให้คนในสังคมมีความรู้ ความเข้าใจ การปฏิบัติที่เหมาะสม การสร้างความตื่นตัวของคนในสังคมต่อโรคลมชัก
I : Industrial cooperation หมายถึง ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับองค์กรต่าง ๆ พัฒนาระบบการดูแลโรคลมชักให้ดีขึ้น ทุกองค์กรในสังคมที่เกี่ยวข้องต้องจับมือกัน องค์กรทางวิชาชีพต่าง ๆ เช่น ราชวิทยาลัย สมาคม คณะแพทย์ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการรักษา เช่น เภสัชกร พยาบาล องค์กรเอกชน เช่น บริษัทเวชภัณฑ์ บริษัทประกันชีวิต องค์กรเพื่อสาธารณะ การกุศล กรมการจัดหางาน กรมการขนส่งทางบกต้องมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยโรคลมชัก
L : Law หมายถึง กฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อดูแลผู้ป่วยโรคลมชักให้ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโรคลมชัก การคุ้มครองผู้ที่มีอาการชัก การรักษาพยาบาล การทำงาน ประกอบอาชีพต่าง ๆ การขับขี่รถ การประกันชีวิต
A : Alliance หมายถึง พันธมิตร เครือข่ายการให้บริการ ระบบการส่งต่อที่ดี ความเชื่อมโยงระหว่างการศึกษา การฝึกอบรม การรักษาพยาบาล การร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ กับเอกชน ความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานด้านสุขภาพกับหน่วยงานด้านอื่น ๆ เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคลมชักเป็นแบบบูรณาการ
N : National standard and policy หมายถึง แนวทางการรักษาที่เหมาะสม แนวทางการรักษาระดับชาติ แนวทางการรักษาเฉพาะโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล นโยบายด้านสุขภาพและด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยการสนับสนุนอย่างเป็นระบบและครอบคลุมจากทุกกระทรวง กรมที่เกี่ยวข้อง
D : Drug available หมายถึง ความพร้อมของระบบยา เพิ่มความสามารถในการเข้าถึงยา ยาเฉพาะกรณีต้องพร้อม และเข้าถึงได้ ไม่ควรมีข้อจำกัดด้านสิทธิ์การรักษา ยาที่ต้องมี ก็ต้องมี การบริหารยาที่ดีในแต่ละระดับของโรงพยาบาล การเข้าถึงข้อมูลการใช้ยา และระบบการให้คำปรึกษาด้านการใช้ยา
สรุป
การจัดการรักษาผู้ป่วยโรคลมชักในภาวะทรัพยากรจำกัดนั้นต้องจัดการแบบบูรณาการครบทุกด้านตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษา การฟื้นฟูการส่งต่อ การกระจายยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ถึงตติยภูมิ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ จนถึงแพทย์ผู้ให้การรักษา โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากภาครัฐ เอกชนและองค์กรที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง รวมทั้งการส่งเสริมความรู้ และทัศนคติที่ถูกต้องต่อสังคม
เอกสารอ้างอิง
- Babiker MOE. Managing childhood epilepsy in a resource limited setting: A pragmatic approach. Sudan J Paediatr 2015; 15: 9-20.
- Birbeck GL, Meyer AC, Ogunniyi A. Nervous system disorders across the life course in resource-limited settings. Nature 2015;527:S167-S171, DOI: 10.1038/nature16031.
- Caraballo R, Fejerman N. Management of epilepsy in resource-limited settings. Epileptic Disord 2015; 17: 13-8.
- Chisolm D, on behalf of WHO-CHOICE. Cost effectiveness of first line antiepileptic drug treatment in developing world: A population level analysis. Epilepsia 2005;46:751-9.
- Covanis A, Guekht A, Li S, et al. From global campaign to global commitment: The World Health Assembly’s resolution on epilepsy. Epilepsia 2015, 56:1651–7. doi: 10.1111/epi.13192.
- Dua T, de Boer HM, Prilipko LL, et al. Epilepsy care in the world: results of an ILAE/IBE/WHO global campaign against epilepsy survey. Epilepsia 2006, 47:1225–31.
- Haddad N , Grant I, Eswaran H. Telemedicine for patients with epilepsy: A pilot experience. Epilepsy & Behavior 2015;44 1–4.
- Katchanov J, Birbeck GL. Epilepsy care guidelines for low- and middleincome countries: From WHO mental health GAP to national programs. BMC Medicine 2012;10:107.
- Kurth T, Lewis BE, Walker AM. Health care resource utilization in patients with active epilepsy. Epilepsia 2010; 51:874–82. doi: 10.1111/j.1528-1167.2009.02404.
- Mbuba CK, Ngugi AK, Newton CR, et al. The epilepsy treatment gap in developing countries:A systematic review of the magnitude, causes, and intervention strategies. Epilepsia 2008; 49:1491–503.
- McKenzie ED, Lim ASP, Leung ECW, et al. Validation of a smartphone-based EEG among people with epilepsy: A prospective study. Sciencetific Report 2017; 7:45567 | DOI: 10.1038/srep45567.
- Meyer ACL, Dua T, Ma J, et al. Global disparities in the epilepsy treatment gap: a systematic review global disparities in the epilepsy treatment gap: a systematic review. Bull World Health Organ 2010;88:260–6. doi:10.2471/BLT.09.064147.
- Meyer ACL, Dua T, Boscardin J, et al. Critical determinants of the epilepsy treatment gap: a cross national analysis in resource-limited settings. Epilepsia 2012 ; 53: doi:10.1111/epi.12002.
- Patel AA, Ciccone O, Njau A, et al. A pediatric epilepsy diagnostic tool for use in resource-limited settings: A pilot study. Epilepsy & Behavior 2016;59: 57–61.
- Patterson V. Telemedicine for epilepsy support in resource-poor settings. Frontiers in public health 2014;2:1-4.
- Patterson V, Pant P, Gautam N, et al. A Bayesian tool for epilepsy diagnosis in the resource-poor world: Development and early validation. Seizure 2014;23: 567–9.
- Patterson V, Singh M, Rajbhandari H, et al. Validation of a phone app for epilepsy diagnosis in India and Nepal. Seizure 2015; 30:46–9.
- Placencia M, Sander JW, Shorvon SD, Ellison RH, Cascante SM. Validation of a screening questionnaire for the detection of epileptic seizures in epidemiological studies. Brain 1992 ;115:783-94.
- Puka K, Smith ML, Moineddin R, et al. The influence of socioeconomic status on health resource utilization in pediatric epilepsy in a universal health insurance system. Epilepsia 2016 ; 57:455–63. doi: 10.1111/epi.13290.
- Tiamkao S, Auevitchayapat N, Arunpongpaisal S, et al. Knowledge of epilepsy among teachers in Khon Kaen Province, Thailand. J Med Assoc Thai 2005 ;88:1802-8.
- Tiamkao S, Sawanyawisuth K, Singhpoo K, et al. Differences of knowledge, attitudes, and behaviors towards epilepsy between populations in municipal and nonmu nicipal areas. Psychol Res Behav Manag 2013 ;6:111-6.
- Velasquez SE, Chaves-Carballo E, Nelson EL. Pediatric tele-neurology: A model of epilepsy care for rural populations. Pediatric Neurology 2016;64: 32-7.