CIMjournal
banner นรี 2

การดูแลรักษาภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกในสตรีที่ได้รับยา Tamoxifen


นพ. จตุพล ศรีสมบูรณ์ศ. นพ. จตุพล ศรีสมบูรณ์
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

บทนำ

ยา tamoxifen (TAM) เป็นยาในกลุ่ม nonsteroidal selective estrogen receptor modulators (SERMs) ออกฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เต้านม ใช้ในการรักษาเสริมสำหรับสตรีที่เป็นมะเร็งเต้านมที่ estrogen-positive โดยองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา รับรองให้ใช้เป็น adjuvant treatment ในการรักษามะเร็งเต้านมที่แพร่กระจาย และป้องกัน หรือลดความเสี่ยงในสตรีที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม (chemo-prevention) ยา TAM นี้มีฤทธิ์ของเอสโตรเจนปานกลางที่มดลูก จึงอาจกระตุ้นให้เกิดพยาธิสภาพต่าง ๆ ที่ตัวมดลูก และเยื่อบุโพรงมดลูก ได้แก่ endometrial proliferation, endometrial polyp, endometrial hyperplasia (EH), endometrial carcinoma (EC) และ uterine sarcoma ได้ บทความนี้จะกล่าวถึงแนวทางการดูแลรักษาภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก (abnormal uterine bleeding, AUB) ในสตรีที่ได้รับยา TAM


ความเสี่ยงต่อมะเร็งของมดลูก

สตรีที่ได้รับยา TAM มีความเสี่ยงต่อ EC สูงขึ้น 2 – 3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับสตรีทั่วไป ขึ้นกับปริมาณยา ระยะเวลา และอายุที่ได้รับยา สำหรับความเสี่ยงต่อ uterine sarcoma แม้ว่าจะพบสูงขึ้น 8 – 16 เท่า แต่ก็เป็นมะเร็งที่พบได้น้อย คือ 17 ต่อสตรี 100,000 คนต่อปี เปรียบเทียบกับ 1 – 2 ต่อสตรี 100,000 คนต่อปี1, 2 ความเสี่ยงต่อมะเร็งของมดลูกนี้แตกต่างกันมาก ระหว่างสตรีที่หมดระดู (postmenopausal women) กับสตรีที่ยังไม่หมดระดู (premenopausal women) ซึ่งความเสี่ยงไม่ได้สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ3 ความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูก (endometrial thickness) และพยาธิสภาพของมดลูกไม่แตกต่างกัน ในสตรีที่ยังไม่หมดระดูที่ได้รับและไม่ได้รับยา TAM แต่สตรีที่หมดระดูแล้วได้รับยา TAM จะมีเยื่อบุโพรงมดลูกหนามากกว่า และมีพยาธิสภาพของมดลูกได้มากกว่าสตรีที่ไม่ได้รับยา TAM4


การตรวจคัดกรองก่อนได้รับยา TAM

สตรีที่ได้รับยา TAM และไม่มี AUB หรืออาการผิดปกติ การตรวจคัดกรองมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ด้วยการทำ transvaginal ultrasonography (TVUS) และ endometrial biopsy หรือทั้ง 2 อย่าง พบว่า ไม่มีประโยชน์อย่างชัดเจนในการตรวจหามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก5 – 7 ยา TAM อาจทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาจากภาวะ subepithelial stromal hypertrophy8 ซึ่งไม่ได้เป็นความผิดปกติที่ร้ายแรง อย่างไรก็ตาม การตรวจคัดกรองด้วยTVUS อาจช่วยให้ตรวจพบพยาธิสภาพที่มีอยู่ก่อนได้รับยา TAM เช่น endometrial polyps และ endometrial hyperplasia ถ้ามีรอยโรคที่มดลูกอยู่ก่อนได้รับยา TAM จะมีอุบัติการณ์ของ atypical hyperplasia สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับสตรีที่ไม่มีรอยโรคมาก่อน คือ 11.7% กับ 0.7% หรือ 18 เท่า ความเสี่ยงต่อ endometrial polyp สูงขึ้น ทั้งในสตรีที่ยังไม่หมดระดูและสตรีที่หมดระดูแล้ว9 ถึงแม้ว่า progestin จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิด endometrial hyperplasia และ endometrial carcinoma ในสตรีที่ได้รับ unopposed estrogen แต่ก็ไม่แนะนำให้ใช้ในสตรีที่ได้รับยา TAM เนื่องจากยังไม่ทราบผลของ progestin ต่อการดำเนินโรคของมะเร็งเต้านม และผลต่อเยื่อบุโพรงมดลูก


คำแนะนำและความเสี่ยงที่ควรทราบสำหรับสตรีที่ได้รับยา TAM

สตรีที่ได้รับยา TAM ควรให้คำแนะนำ ดังนี้

  1. ความเสี่ยงต่อการเกิดพยาธิสภาพของเยื่อบุโพรงมดลูกสูงขึ้น ควรเฝ้าระวัง โดยเฉพาะมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และ uterine sarcoma
  2. ถ้ามีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด แม้ว่าจะออกเป็นหยด เป็นคราบ หรือตกขาวปนเลือด ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจสืบค้นเพิ่มเติม
  3. สตรีที่ยังไม่หมดระดูที่ได้รับยา TAM ไม่ได้มีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อการเป็นมะเร็งของมดลูก ดังนั้น จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องตรวจเฝ้าระวังเพิ่มเติม นอกเหนือไปจากการตรวจภายในตามปกติ
  4. สตรีที่ไม่ได้มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก การทำ TVUS เพื่อวัดความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูก ยังไม่พบว่ามีประโยชน์อย่างชัดเจนในการตรวจหามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก จึงไม่แนะนำให้ทำ TVUS การตรวจดังกล่าวอาจนำไปสู่การตรวจวินิจฉัยที่รุกล้ำ


ภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก

สตรีที่ยังไม่หมดระดู เมื่อได้รับยา TAM จะมีเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกได้ประมาณ 50% ลักษณะของเลือดที่ออกผิดปกติอาจจะเป็น intermenstrual bleeding, ovulatory dysfunction หรือเลือดประจำเดือนออกมาก บางคนอาจจะมีภาวะ oligomenorrhea และ amenorrhea สตรีที่มี AUB จะมีพยาธิสภาพในโพรงมดลูก ประมาณ 25% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นติ่งเนื้อ (endometrial polyps) ส่วน endometrial hyperplasia พบได้บ้างเล็กน้อย ความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกพบได้น้อยมาก3, 4 การมีภาวะ amenorrhea ไม่ได้แสดงว่าสตรีวัยนี้เข้าสู่วัยหมดระดูแล้ว เพราะเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในสตรีที่ได้รับ ยา TAM สตรีวัยใกล้หมดระดู (perimenopause) ควรให้การดูแลรักษาเหมือนสตรีที่ยังไม่หมดระดู

สตรีที่หมดระดูแล้ว เมื่อได้รับยา TAM จะมีภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก ประมาณ 25% ซึ่งต้องได้ทำการตรวจประเมินเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ โดยการทำ endometrial sampling และหรือ TVUS ลักษณะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกในสตรีวัยนี้อาจจะเป็นหยด (spotting) คราบ (staining) สีแดง ชมพู หรือน้ำตาล หรือมีของไหลปนเลือดออกทางช่องคลอด (bloody vaginal discharge)

 

การดูแลรักษาภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกในสตรีที่ได้รับยา Tamoxifen

สตรีที่ยังไม่หมดระดู (Premenopausal Women)
เนื่องจากความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มีน้อยมากในสตรีวัยนี้ การดูแลรักษาจึงขึ้นกับลักษณะของเลือดที่ออก โดยทั่วไปไม่แนะนำให้ทำ endometrial sampling ยกเว้นว่ามีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก


แนวทางการดูแลรักษา10 – 13

  1. การทำ TVUS อาจพิจารณาทำในรายที่สงสัยพยาธิสภาพในโพรงมดลูก การทำ TVUS เพื่อวัดความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูก ในสตรีวัยนี้ไม่สามารถใช้เป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยภาวะ endometrial hyperplasia และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ เนื่องจากเยื่อบุโพรงมดลูกยังมีความหนา ที่แปรปรวนได้จากระดับการขึ้นลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน
  2. การทำ endometrial sampling อาจพิจารณาทำในกรณีที่เลือดประจำเดือนออกมาก มี intermenstrual bleeding หรือประจำเดือนผิดปกติบ่อย ๆ ถ้าผลไม่ใช่มะเร็ง และการตรวจด้วยอัลตราซาวด์สงสัยพยาธิภาพในโพรงมดลูก เช่น endometrial polyps หรือ submucous myoma อาจพิจารณาทำ saline infusion sonohysterography หรือ hysteroscopy
  3. ถ้าภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกยังคงเป็นอยู่ (persistent) หรือกลับเป็นซ้ำ (recurrent) ให้พิจารณาทำ dilation & curettage หรือ hysteroscopy โดยไม่คำนึงถึงผลการตรวจก่อนหน้านี้


สตรีวัยหมดระดู (Postmenopausal Women)

สตรีวัยนี้ถ้ามีเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ จึงแนะนำให้ทำ endometrial sampling และหรือ TVUS โดยมีแนวทาง ดังนี้10 – 13

  1. สตรีทั่วไปที่มีความเสี่ยงปานกลางต่อมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ถ้าเยื่อบุโพรงมดลูกหนา ≤ 4 มม. โอกาสที่จะเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมีน้อย อาจยังไม่จำเป็นต้องทำ endometrial sampling แต่ถ้าสงสัย หรือมีความเสี่ยงสูง แนะนำให้ทำ endometrial sampling โดยไม่คำนึงถึงความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูก ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าการทำ TVUS เพื่อวัดความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูกอย่างเดียว จะสามารถวินิจฉัยแยกโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้อย่างแม่นยำ ในสตรีวัยหมดระดูที่ได้รับยา TAM
  2. สตรีที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก แนะนำให้ทำ endometrial sampling ทุกราย
    • ถ้าผลเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก หรือ endometrial hyperplasia ให้ดูแลรักษาตามความเหมาะสม
    • ถ้าผลเป็น benign และเยื่อบุโพรงมดลูกหนา ≤ 4 มม. แนะนำให้ตรวจติดตาม ถ้าเยื่อบุโพรงมดลูกหนา > 4 มม. หรือเห็นเยื่อบุโพรงมดลูกไม่ชัดเจน สงสัย endometrial polyps หรือ sub-mucous myoma อาจพิจารณาทำ saline infusion sono-hysterography หรือทำ hysteroscopy เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาเลยก็ได้
  3. ถ้าภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกยังคงเป็นอยู่ หรือกลับเป็นซ้ำ ให้ทำ dilation & curettage หรือ hysteroscopy เพื่อวินิจฉัยแยกมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก


บทสรุป

ยา tamoxifen (TAM) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต้านเอสโตรเจนที่เต้านม ใช้ในการรักษาเสริม และการป้องกันมะเร็งเต้านม ยา TAM นี้มีฤทธิ์ของเอสโตรเจนปานกลางที่มดลูก จึงอาจกระตุ้นให้เกิดพยาธิสภาพต่าง ๆ ของตัวมดลูก และเยื่อบุโพรงมดลูกได้ โดยเฉพาะ endometrial carcinoma และ uterine sarcoma สตรีที่ยังไม่หมดระดู และสตรีที่หมดระดูแล้ว เมื่อได้รับยา TAM จะมีเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกได้ประมาณ 50% และ 25% ตามลำดับ การดูแลรักษาขึ้นกับภาวะของการหมดระดู ลักษณะของเลือดที่ออกและปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก สตรีวัยหมดระดูที่ได้รับยา TAM ถ้ามีเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก ต้องทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ โดยการทำ endometrial sampling และหรือ TVUS สตรีที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ถ้ามีเลือดออกผิดปกติแนะนำให้ทำ endometrial sampling เพื่อวินิจฉัยแยกมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โดยไม่คำนึงถึงความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูก

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Wickerham DL, Fisher B, Wolmark N, Bryant J, Costantino J, Bernstein L, et al. Association of tamoxifen and uterine sarcoma. J Clin Oncol 2002;20:2758 – 60.
  2. Mouridsen H, Palshof T, Patterson J, Battersby L. Tamoxifen in advanced breast cancer. Cancer Treat Rev 1978;5:131 – 41.
  3. Fisher B, Costantino JP, Wickerham DL, Redmond CK, Kavanah M, Cronin WM, et al. Tamoxifen for prevention of breast cancer: report of the National Surgical Adjuvant Breast and Bowel Project P-1 Study. J Natl Cancer Inst 1998;90:1371 – 88.
  4. Cheng WF, Lin HH, Torng PL, Huang SC. Comparison of endometrial changes among symptomatic tamoxifen-treated and nontreated premenopausal and postmeno¬pausal breast cancer patients. Gynecol Oncol 1997;66:233 – 7.
  5. Bertelli G, Venturini M, Del Mastro L, Garrone O, Cosso M, Gustavino C, et al. Tamoxifen and the endometrium: findings of pelvic ultrasound examination and endometrial biopsy in asymptomatic breast cancer patients. Breast Cancer Res Treat 1998;47:41 – 6.
  6. Fung MF, Reid A, Faught W, Le T, Chenier C, Verma S, et al. Prospective longitudinal study of ultrasound screening for endometrial abnormalities in women with breast can¬cer receiving tamoxifen. Gynecol Oncol 2003;91:154 – 9.
  7. Love CD, Muir BB, Scrimgeour JB, Leonard RC, Dillon P, Dixon JM. Investigation of endometrial abnormalities in asymptomatic women treated with tamoxifen and an evalu¬ation of the role of endometrial screening. J Clin Oncol 1999;17:2050 – 4.
  8. Achiron R, Lipitz S, Sivan E, Goldenberg M, Horovitz A, Frenkel Y, et al. Changes mimicking endometrial neoplasia in postmenopausal, tamoxifen-treated women with breast cancer: a transvaginal Doppler study. Ultrasound Obstet Gynecol 1995;6:116 – 20.
  9. Chalas E, Costantino JP, Wickerham DL, Wolmark N, Lewis GC, Bergman C, et al. Benign gynecologic conditions among participants in the Breast Cancer Prevention Trial. Am J Obstet Gynecol 2005;192:1230 – 7.
  10. Committee Opinion No. 601: Tamoxifen and uterine cancer. Obstet Gynecol 2014; 123:1394.
  11. American College of Obstetricians and Gynecologists. ACOG Committee Opinion No. 440: The Role of Transvaginal Ultra-sonography in the Evaluation of Postmenopausal Bleeding. Obstet Gynecol 2009; 114:409.
  12. Dijkhuizen FP, Mol BW, Brölmann HA, Heintz AP. The accuracy of endometrial sampling in the diagnosis of patients with endometrial carcinoma and hyperplasia: a meta-analysis. Cancer 2000; 89:1765.
  13. Committee on Practice Bulletins-Gynecology. Practice bulletin no. 128: diagnosis of abnormal uterine bleeding in reproductive-aged women. Obstet Gynecol 2012; 120:197.

 

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก