CIMjournal
HPV Vaccine V2

Nonavalent HPV Vaccine: วัคซีนรุ่นที่ 2 ในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก


นพ. จตุพล ศรีสมบูรณ์ศ. นพ. จตุพล ศรีสมบูรณ์
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


บทนำ

สาเหตุสำคัญของมะเร็งปากมดลูก คือ การติดเชื้อ human papillomavirus (HPV) ชนิดความเสี่ยงสูง (high-risk) ที่ปากมดลูก การฉีด HPV vaccine เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านการติดเชื้อ HPV เป็นวิธีการป้องกันปฐมภูมิสำหรับมะเร็งปากมดลูกอีกวิธีหนึ่ง ในปัจจุบัน HPV vaccine มี 2 ผลิตภัณฑ์ คือ ชนิด 2 สายพันธุ์ (bivalent HPV 16/18 vaccine) และชนิด 4 สายพันธุ์ (quadrivalent HPV 6/11/16/18 vaccine) ซึ่งสามารถครอบคลุมป้องกันการติดเชื้อ HPV 16 และ HPV 18 ที่เป็นสาเหตุ 2 อันดับแรกของมะเร็งปากมดลูกทั่วโลก ได้ประมาณร้อยละ 70 ล่าสุดได้มีการพัฒนาต่อยอดของ HPV vaccine ชนิด 4 สายพันธุ์ เพื่อเพิ่มความครอบคลุมของการป้องกันการติดเชื้อให้มากขึ้น โดยเพิ่ม virus-like particles ของเชื้อ HPV ที่อยู่ใน 5 อันดับถัดมาจาก HPV 16/18 ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก ได้แก่ เชื้อ HPV 31, HPV 33, HPV 45, HPV 52 และ HPV 58 เมื่อรวมกับ HPV vaccine ชนิด 4 สายพันธุ์เดิม เป็น 9 สายพันธุ์ จึงเรียกว่า “nonavalent HPV vaccine”


Nonavalent HPV Vaccine ต่างจาก Quadrivalent HPV Vaccine อย่างไรบ้าง

Nonavalent HPV vaccine ซึ่งจะเรียกย่อ ๆ ว่า “9vHPV” ได้ใส่แอนติเจน หรือ virus-like particles (VLPs) ของเชื้อ HPV อีก 5 สายพันธุ์ ได้แก่ เชื้อ HPV 31/33/45/52/58 เพิ่มเติมไปจาก quadrivalent HPV vaccine ซึ่งจะเรียกย่อ ๆ ว่า “qHPV” ปริมาณแอนติเจนของเชื้อ HPV 6/16/18 ใน 9vHPV ได้ปรับเพิ่มขึ้นจาก qHPV เป็น 30 μg, 60 μg, และ 40 μg ตามลำดับ ส่วนของ HPV11 ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น ส่วนแอนติเจนของเชื้อ HPV 31/33/45/52/58 มีปริมาณเท่ากันอย่างละ 20 μg สำหรับสารเสริมการกระตุ้น (adjuvant) ได้เพิ่มปริมาณของ amorphous aluminum hydroxyphosphate sulfate จาก 225 μg เป็น 500 μg(1) (รูปที่ 1)

.
รูปที่ 1 Nonavalent HPV vaccine เปรียบเทียบกับ quadrivalent HPV vaccine


Nonavalent HPV Vaccine คาดว่าจะสามารถครอบคลุมการป้องกันการเกิดรอยโรค CIN และมะเร็งปากมดลูกได้เท่าไร

Nonavalent HPV vaccine ประกอบด้วย VLPs ของเชื้อ HPV ชนิดความเสี่ยงต่ำ 2 สายพันธุ์ คือ HPV 6/11 ซึ่งเป็นสาเหตุของหูดหงอนไก่ ประมาณ 90% ส่วนเชื้อ HPV ชนิดความเสี่ยงสูง 7 สายพันธุ์ ได้แก่ เชื้อ HPV 16/18/31/33/45/52/58 เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกทั่วโลก ประมาณ 90% และรอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูก (CIN 2/3) ประมาณ 75 – 85% (1) (รูปที่ 2)

รูปที่ 2 ความชุกของเชื้อ HPV 6/11/16/18/31/33/45/52/58 ใน cervical neoplasia


ปัจจุบันมีการศึกษาอะไรบ้างเกี่ยวกับ Nonavalent HPV Vaccine

การศึกษา eff icacy, immunogenicity & safety ของ 9vHPV จะใช้ qHPV เป็นตัวเปรียบเทียบหลัก (active comparator) โดยวิเคราะห์ eff icacy แยกกันระหว่างเชื้อ HPV สายพันธุ์เดิม ได้แก่ เชื้อ HPV 6/11/16/18 กับเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่เพิ่มเข้ามา ได้แก่ เชื้อ HPV 31/33/45/52/58 แต่เนื่องจาก persistent infection และรอยโรค CIN ที่เกิดจากเชื้อ HPV 6/11/16/18 ในการศึกษาของ qHPV นั้น เกิดขึ้นน้อยมาก เพราะวัคซีนมีประสิทธิภาพสูง ดังนั้น การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพดังกล่าวระหว่าง 9vHPV กับ qHPV ให้เห็นความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ จึงทำได้ยาก เพราะรอยโรคดังกล่าวเกิดขึ้นน้อยมาก ดังนั้น จึงต้องใช้วิธีเชื่อมโยง (bridging) ข้อมูลด้าน efficacy ของ qHPV เข้ากับของ 9vHPV โดยถ้าศักยภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ HPV 6/11/16/18 ของ 9vHPV vaccine ไม่ด้อยกว่าของ qHPV vaccine แล้วประสิทธิภาพในการป้องกันก็ไม่น่าจะแตกต่างกัน(1)

การศึกษาอื่น ๆ ของ 9vHPV vaccine ได้แก่(1)

  1. การศึกษา immunogenicity และ safety ในวัยก่อนวัยรุ่น (preadolescents) และวัยรุ่นตอนต้น (early adolescents) ช่วงอายุ 9 – 15 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่แนะนำให้ฉีด HPV vaccine โดยทำการศึกษาว่า 9vHPV มี immunogenicity ต่อเชื้อ HPV ทั้ง 9 สายพันธุ์ ในเด็กหญิงและเด็กชายอายุ 9 – 15 ปี ไม่ด้อยกว่าในสตรีอายุ 16 – 26 ปี
  2. การศึกษา immunogenicity ต่อเชื้อ HPV 16/18 ในเด็กหญิงอายุ 9 – 15 ปี ที่ได้รับการฉีด 9vHPV ว่าไม่ด้อยกว่าการฉีด qHPV
  3. การศึกษาการฉีด 9vHPV ร่วมกับวัคซีนอื่น ๆ เช่น MenactraTM (meningococcal vaccine), AdacelTM (Tdap vaccine) และ Repevax TM (Tdap/polio vaccine)
  4. การศึกษาการฉีด 9vHPV ในอาสาสมัครที่เคยได้รับการฉีด qHPV มาก่อน


Immunogenicity, Efficacy & Safety ของ 9vHPV เปรียบเทียบกับ qHPV ในสตรีอายุ 16 – 26 ปี

การศึกษา immunogenicity, eff icacy & safety ของ 9vHPV จะใช้ qHPV เป็นกลุ่มเปรียบเทียบ ทำในสตรีอายุ 16 – 26 ปี เพื่อประเมินว่า(2, 3)

  1. Immunogenicity ต่อเชื้อ HPV 6/11/16/18 ในกลุ่ม 9vHPV ไม่ด้อยกว่ากลุ่ม qHPV
  2. Efficacy ในการป้องกันการติดเชื้อ และรอยโรคที่เกิดจากเชื้อ HPV 6/11/16/18 ในกลุ่ม 9vHPV ไม่ด้อยกว่าในกลุ่ม qHPV
  3. Efficacy ในการป้องกันการติดเชื้อ และรอยโรคที่เกิดจากเชื้อ HPV 31/33/45/52/58 ในกลุ่ม 9vHPV สูงกว่าในกลุ่ม qHPV
  4. Safety เปรียบเทียบระหว่าง 9vHPVกับ qHPV

อาสาสมัครเป็นสตรี อายุ 16 – 26 ปี จำนวน 14,215 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มเท่า ๆ กัน ให้ได้รับ 9vHPV หรือ qHPV vaccine 0.5 มล. ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 3 เข็ม ในวันที่ 1 เดือน ที่ 2 และเดือนที่ 6

เจาะเลือดตรวจระดับแอนติบอดีด้วยวิธี competitive Luminex immunoassay (cLIA) ก่อนเริ่มฉีดวัคซีน ก่อนเข็มที่ 2 และ 3 และ 1 เดือนหลังเข็มที่ 3 หลังจากนั้นตรวจเดือนที่ 24, 36 และ 42 เกณฑ์ของการกระตุ้นแอนติบอดี ได้ไม่ด้อยกว่า (non-inferiority) คือ ค่าล่าง (lower bound) ของ two-sided 95% confidence interval (CI) ของ GMT ratio ระหว่างกลุ่ม 9vHPV ต่อกลุ่ม qHPV มากกว่า 0.67 สำหรับเชื้อ HPV แต่ละสายพันธุ์ทำการเก็บตัวอย่างจากอวัยวะเพศ (genital swabs) บริเวณ labia, vulva, perineum, perianal และ endo/ectocervix เพื่อตรวจ HPV DNA testing และทำ Thin Prep Pap test เพื่อตรวจ liquid-based cytology ในวันที่ 1 เดือนที่ 7, 12, 18, 24, 30, 36, 42, 48 และ 54 ถ้าผล Pap test ผิดปกติ จะส่งตรวจด้วยคอลโปสโคป ตามแนวทางการดูแลจัดการ เนื้อเยื่อที่ได้จากการทำ biopsy หรือการรักษาโดยการตัดออก จะนำไปตรวจหาเชื้อ HPV 6/11/16/18, 31/33, 35/39, 45/51/52/56/58 และ 59 ผลทางพยาธิวิทยาจะถือตามฉันทมติขององค์คณะพยาธิแพทย์

ในเบื้องต้นจะทำการวิเคราะห์ efficacy เฉพาะอาสาสมัครที่ปฏิบัติตามแบบแผนการวิจัยเท่านั้น (per-protocol efficacy, PPE) คือ ได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม ตรวจไม่พบแอนติบอดี (seronegative) ต่อเชื้อ HPV ที่ทำการศึกษาในวันที่ 1 ตรวจไม่พบเชื้อ HPV ที่ทำการศึกษา (PCR negative) ใน genital swabs ตั้งแต่วันที่ 1 ถึงเดือนที่ 7 และไม่ฝ่าฝืนแบบแผนการวิจัย(2)

ส่วนข้อมูลด้านความปลอดภัย จะประเมินตั้งแต่วันแรกที่ฉีดวัคซีนไปจนสิ้นสุดการวิจัย โดยใช้ Vaccination Report Card (VRC) และทำการประเมิน serious adverse experiences (SAEs) ด้วยเช่นกัน(2)

ผลการศึกษา immunogenicity พบว่า(2)

  1. ระดับแอนติบอดีโดยเฉลี่ย หรือ geometric mean titer (GMT) ซึ่งมีหน่วยเป็น milliMerck unit/ml ต่อเชื้อ HPV 6, 11, 16 และ 18 ในเดือนที่ 7 ในกลุ่ม 9vHPV ไม่ด้อยกว่าในกลุ่ม qHPV (รูปที่ 3)
    รูปที่ 3 Immunogenicity เปรียบเทียบระหว่าง 9vHPV vaccine กับ qHPV vaccineในสตรีอายุ 16 – 26 ปี
    .รูปที่ 4 Seroconversion rate เปรียบเทียบระหว่าง 9vHPV vaccine กับ qHPV vaccine ในสตรีอายุ 16 – 26 ปี
    .
  2. อัตราส่วนแอนติบอดีโดยเฉลี่ย (GMT ratio) ต่อเชื้อ HPV 6, 11, 16 และ 18 ระหว่างกลุ่ม 9vHPV ต่อกลุ่ม qHPV = 1.02, 0.80, 0.99 และ 1.19 ตามลำดับ (รูปที่ 3)
  3. Seroconversion rate ต่อเชื้อ HPV 6, 11, 16 และ 18 ในกลุ่ม 9vHPV ไม่ด้อยกว่าในกลุ่ม qHPV (รูปที่ 4)

สรุป 9vHPV สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ HPV 6/11/16/18 ได้ไม่ด้อยกว่า qHPV


Efficacy ในการป้องกันการเกิดรอยโรคที่เกิดจากเชื้อ HPV 16/18 เปรียบเทียบระหว่าง 9vHPV กับ qHPV ในสตรีอายุ 16 – 26 ปี

ประสิทธิภาพของ 9vHPV vaccine ในการป้องกันการเกิดรอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูก (CIN2+) รอยโรคก่อนมะเร็งปากช่องคลอด (VIN2/3) และรอยโรคก่อนมะเร็งผนังช่องคลอด (VaIN2/3) ที่เกิดจากเชื้อ HPV 16/18 ในกลุ่ม 9vHPV สูงมาก และไม่แตกต่างจากกลุ่ม qHPV เลย คือ พบอาสาสมัครสตรีที่เป็นรอยโรคดังกล่าว ที่เกิดจากเชื้อ HPV 16/18 ได้น้อยมาก หรือไม่พบเลยในทั้ง 2 กลุ่ม (รูปที่ 5) ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาก่อนหน้านี้ของ qHPV ที่พบว่า มีประสิทธิภาพสูงมากในการป้องกันการเกิดรอยโรคก่อนมะเร็ง ที่เกิดจากเชื้อ HPV16/18(2)

รูปที่ 5 Efficacy ในการป้องกันการเกิดรอยโรคที่เกิดจากเชื้อ HPV 16/18 เปรียบเทียบระหว่าง 9vHPV กับ qHPV ในสตรีอายุ 16 – 26 ปี


Efficacy ในการป้องกันการเกิดโรคที่เกิดจากเชื้อ HPV 31/33/45/52/58 เปรียบเทียบระหว่าง 9vHPV กับ qHPVในสตรีอายุ 16 – 26 ปี

ประสิทธิภาพของ 9vHPV vaccine ในการป้องกันการเกิดรอยโรค CIN, VIN และ VaIN โดยเฉพาะรอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูก (CIN2+) รอยโรคก่อนมะเร็งปากช่องคลอด (VIN2/3) และรอยโรคก่อนมะเร็งผนังช่องคลอด (VaIN2/3) ที่เกิดจากเชื้อ HPV 31/33/45/52/58 ในกลุ่ม 9vHPV สูงกว่าในกลุ่ม qHPV อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (รูปที่ 6) โดยรวมแล้ว 9vHPV vaccine สามารถป้องกันการเกิดรอยโรคก่อนมะเร็งดังกล่าวได้สูงถึง 96.7% (2)

รูปที่ 6 Efficacy ในการป้องกันการเกิดรอยโรคบริเวณอวัยวะเพศ ที่เกิดจากเชื้อ HPV 31/33/45/52/58 เปรียบเทียบระหว่าง 9vHPV กับ qHPV ในสตรีอายุ 16 – 26 ปี


รูปที่ 7 จำนวนการทำหัตถการเพื่อวินิจฉัย และรักษารอยโรคบริเวณอวัยวะเพศที่เกิดจากเชื้อ HPV 31/33/45/52/58 เปรียบเทียบระหว่าง 9vHPV กับ qHPV ในสตรีอายุ 16 – 26 ปี

นอกจากนี้ยังพบว่า การฉีด 9vHPV vaccine ทำให้จำนวนการทำหัตถการต่าง ๆ บริเวณอวัยวะเพศ เช่น การทำ biopsy เพื่อการวินิจฉัยโรค และการรักษารอยโรคที่เกิดจากเชื้อ HPV 31/33/45/52/58 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(2) (รูปที่ 7)

สรุป 9vHPV vaccine มีประสิทธิภาพสูงมากอย่างมีนัยสำคัญ ในการป้องกันการเกิดรอยโรคก่อนมะเร็งปากมดลูก ปากช่องคลอด และผนังช่องคลอด ที่เกิดจากเชื้อ HPV 31/33/45/52/58(2)


Safety & Tolerability เปรียบเทียบระหว่าง 9vHPV กับ qHPV ในเด็กอายุ 9 – 15 ปี และสตรีอายุ 16 – 26 ปี

เนื่องจาก 9vHPV มีปริมาณแอนติเจนของเชื้อ HPV 6/11/16/18 และปริมาณ adjuvant สูงกว่า qHPV จึงได้มีการศึกษาเพื่อประเมินความปลอดภัย และความทนยาในอาสาสมัคร 2 กลุ่ม ที่ได้รับ 9vHPV หรือ qHPV ซึ่งทำในเด็กหญิงและเด็กชายอายุ 9 – 15 ปี และสตรีอายุ 16 – 26 ปี(3)

อาสาสมัครจะได้รับ 9vHPV หรือ qHPV ฉีด 0.5 มล. เข้ากล้ามเนื้อ ในวันที่ 1 เดือนที่ 2 และเดือนที่ 6 แจก Vaccination Report Card ให้ในวันที่มารับการฉีดวัคซีนเพื่อบันทึก oral temperatures, injection-site reactions, systemic adverse experiences และการรักษาที่เกิดขึ้นในช่วง 15 วัน หลังฉีดวัคซีน เก็บข้อมูล serious adverse experiences ที่เกิดขึ้นทุกสาเหตุ ตั้งแต่วันที่ 1 ถึงเดือนที่ 6 หลังการฉีดวัคซีนเข็มสุดท้าย(3)

ผลการศึกษาพบว่า อาสาสมัครทั้งเด็กที่อายุ 9 – 15 ปี และสตรีที่อายุ 16 – 26 ปี สามารถทนยาได้ดี เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ส่วนใหญ่เป็น injection-site adverse events ซึ่งมีระดับไม่รุนแรง หรือปานกลาง serious adverse events (SAEs) พบน้อยมาก อาสาสมัครที่ขอออกจากการวิจัยเพราะ adverse experience (AEs) มีน้อยมาก ในสตรีอายุ 16 – 26 ปี กลุ่ม 9vHPV มี adverse event prof ile เทียบเคียงเหมือนกับ (comparable) กลุ่ม qHPV ยกเว้นว่าในกลุ่ม 9vHPV มีอุบัติการณ์ของ injection-site adverse events สูงกว่ากลุ่ม qHPV คือ 90.8% และ 85.1% ตามลำดับ ส่วนในเด็กหญิงอายุ 9 – 15 ปี เด็กชายอายุ 9 – 15 ปี และสตรีอายุ 16 – 26 ปี ที่ได้รับ 9vHPV vaccine พบว่า มี adverse events ที่เกิดจากการฉีดวัคซีนในช่วง 15 วันใกล้เคียงกัน คือ 83.9%, 75.5% และ 87.1% ตามลำดับ(3)

สรุป การฉีด 9vHPV vaccine ในเด็กอายุ 9 – 15 ปี และสตรีอายุ 16 – 26 ปี มีความปลอดภัยสูง อาสาสมัครสามารถทนยาได้ดี


Immunogenicity ของการฉีด 9vHPV ในเด็กอายุ 9 – 15 ปี เปรียบเทียบกับสตรีอายุ 16 – 26 ปี

การศึกษา immunogenicity ในเด็กหญิงอายุ 9 – 15 ปี มีเป้าหมายเพื่อใช้เชื่อมโยงข้อมูลด้านภูมิคุ้มกัน (immunobridging) เข้ากับข้อมูลด้าน immunogenicity และ efficacy ในการป้องกันโรคในสตรีอายุ 16 – 26 ปี ซึ่งมีข้อมูลดังกล่าวในสตรีที่ได้รับการฉีด 9vHPV แล้ว การศึกษานี้มีจุดประสงค์เพื่อประเมินว่าการฉีด 9vHPV ในเด็กอายุ 9 – 15 ปี สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ไม่ด้อยกว่าการฉีดในสตรีอายุ 16 – 26 ปี(3)

การศึกษานี้ทำในอาสาสมัครเด็กหญิง เด็กชาย และสตรี 3,066 คน ที่ได้รับการฉีด 9vHPV 0.5 มล. เข้ากล้ามเนื้อ จำนวน 3 เข็ม ในวันที่ 1 เดือนที่ 2 และเดือนที่ 6 เจาะเลือดตรวจแอนติบอดีต่อเชื้อ HPV 6/11/16/18/31/33/45/ 52/58 ด้วยวิธี cLIA ในวันแรกและเดือนที่ 7 เปรียบเทียบ geometric mean titer (GMT) ratio ระหว่างเด็กชาย เด็กหญิง อายุ 9 – 15 ปี กับสตรีอายุ 16 – 26 ปี เกณฑ์ของการกระตุ้นแอนติบอดีได้ไม่ด้อยกว่า (non-inferiority) คือ ค่าล่าง (lower bound) ของ two-sided 95% confidence interval (CI) ของ GMT ratio ระหว่างเด็กกับสตรีมากกว่า 0.67 สำหรับเชื้อ HPV แต่ละสายพันธุ์(3)

ผลการศึกษา immunogenicity ต่อเชื้อ HPV ทั้ง 9 สายพันธุ์ พบว่า เด็กหญิงและเด็กชาย มี GMT ต่อเชื้อ HPV ทั้ง 9 สายพันธุ์ ในเดือนที่ 7 ไม่ด้อยกว่า แต่กลับสูงกว่าสตรีอายุ 16 – 26 ปี ประมาณ 1.9 – 2.6 เท่า และ 2.1 – 3.3
เท่า ตามลำดับ(3) (รูปที่ 8 และรูปที่ 9) ส่วน seroconversion rate ในเด็กหญิงและเด็กชายก็ไม่ด้อยกว่าในสตรีอายุ 16 – 26 ปี เช่นกัน(3)


รูปที่ 8 ระดับแอนติบอดีต่อเชื้อ HPV ทั้ง 9 สายพันธุ์ในเดือนที่ 7 ของการฉีด 9vHPV เปรียบเทียบระหว่างเด็กหญิงอายุ 9 – 15 ปี กับสตรีอายุ 16 – 26 ปี

รูปที่ 9 ระดับแอนติบอดีต่อเชื้อ HPV 6 และ HPV 11 ในเดือนที่ 7 ในเด็กหญิงอายุ 9 – 15 ปี เปรียบเทียบระหว่าง 9vHPV กับ qHPV

สรุป การฉีด 9vHPV vaccine สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ HPV 9 สายพันธุ์ ในเด็กหญิงและเด็กชายได้ไม่ด้อยกว่าในสตรีอายุ 16 – 26 ปี โดยทั่วไประดับแอนติบอดีในเด็กอายุ 9 – 15 ปี จะสูงกว่าในสตรีอายุ 16 – 26 ปี ประมาณ 2 – 3 เท่า


Immunogenicity & Safety ในเด็กหญิงอายุ 9 – 15 ปี เปรียบเทียบระหว่าง 9vHPV กับ qHPV

การศึกษานี้เป็น randomized, double-blind study ทำในเด็กหญิงอายุ 9 – 15 ปี จำนวน 600 คน เพื่อประเมิน immunogenicity และ safety ของ 9vHPV เปรียบเทียบกับ qHPV โดยอาสาสมัครจะได้รับวัคซีนจำนวน 3 เข็ม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อในวันที่ 1 เดือนที่ 2 และเดือนที่ 6 วัดระดับแอนติบอดี (GMT) ต่อเชื้อ HPV 6/11/16/18 ด้วยวิธี cLIA ในวันที่ 1 และเดือนที่ 7 เก็บข้อมูลส่วน safety ตั้งแต่วันที่ 1 ถึงเดือนที่ 7 ด้วย Vaccination Report Cards ในการวิเคราะห์ per-protocol immunogenicity (PPI) อาสาสมัครจะต้องได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม seronegative ต่อเชื้อ HPV ในวันที่ 1 และไม่ฝ่าฝืนแบบแผนการวิจัย(4)

เกณฑ์ของ immunogenicity ที่ไม่ด้อยกว่า (noninferiority) คือ GMT ratio ของแอนติบอดีต่อเชื้อ HPV6/11/16/18 ระหว่างกลุ่ม 9vHPV ต่อกลุ่ม qHPV มากกว่า 0.67

ผลการศึกษาพบว่า safety profile ของกลุ่ม 9vHPV เทียบเคียงเหมือนกับกลุ่ม qHPV อาการ injection-site reactions ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง หรือปานกลาง immunogenicity ต่อเชื้อ HPV 6/11/16/18 ในกลุ่ม 9vHPV ไม่ด้อยกว่าในกลุ่ม qHPV โดยมี GMT ratios ในเดือนที่ 7 สำหรับเชื้อ HPV 6/11/16/18 = 1.07, 0.93, 0.97 และ 1.08 ตามลำดับ (รูปที่ 9 และ รูปที่ 10) การฉีด 9vHPV vaccine สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ HPV 31/33/ 45/52/58 ได้สูงด้วยเช่นกัน กลุ่ม qHPV มี seroconversion 100% ต่อเชื้อ HPV 6/11/16/18 บางส่วนมี seroconversion ต่อเชื้อ HPV 31/33/45/52/58 ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแอนติบอดีต่อเชื้อ HPV 31 (73.5%) และเชื้อ HPV 58 (54.8%) ถึงแม้ว่าจะมี seroconversion แต่ระดับแอนติบอดีต่อเชื้อ HPV ทั้ง 5 สายพันธุ์นี้ก็ยังต่ำกว่าในกลุ่ม 9vHPV ถึง 80 เท่าเป็นอย่างน้อย(4)

รูปที่ 10 ระดับแอนติบอดีต่อเชื้อ HPV 16 และ HPV 18 ในเดือนที่ 7 ในเด็กหญิงอายุ 9 – 15 ปี เปรียบเทียบระหว่าง 9vHPV กับ qHPV

สรุป การฉีด 9vHPV vaccine มีความปลอดภัยสูง และมี immunogenicity ต่อเชื้อ HPV 6/11/16/18 ได้ไม่ด้อยกว่าการฉีด qHPV vaccine ดังนั้น ข้อมูลด้าน immunogenicity ของ 9vHPV สามารถใช้เชื่อมโยงกับข้อมูลด้าน immunogenicity และ efficacy ในการป้องกันโรคของ qHPV ได้


บทสรุป

Nonavalent HPV vaccine (9vHPV) ซึ่งประกอบด้วยแอนติเจนของเชื้อ HPV 6/11/16/18/31/33/45/52/58 เป็นนวัตกรรมล่าสุดของวงการแพทย์ ในการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก โดยเป็นการพัฒนาต่อยอดจาก quadrivalent HPV vaccine (qHPV) เชื้อ HPV 6/11 เป็นสาเหตุของหูดหงอนไก่ ประมาณ 90% ส่วนเชื้อ HPV 16/18/31/33/45/52/58 เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกทั่วโลกประมาณ 90%

Nonavalent HPV vaccine มีความปลอดภัย สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ HPV 6/11/16/18 ในสตรีอายุ 16 – 26 ปี ได้ไม่ด้อยกว่า qHPV การฉีด 9vHPV มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการเกิดรอยโรค CIN2+, VIN2/3 และ VaIN2/3 ที่เกิดจากเชื้อ HPV 16/18 ได้ไม่แตกต่างจาก qHPV เมื่อเปรียบเทียบกับ qHPV แล้วพบว่า มีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดรอยโรค CIN2+, VIN2/3 และ VaIN2/3 ที่เกิดจากเชื้อ HPV 31/33/45/52/58 ได้สูงถึง 97% การฉีด 9vHPV ในเด็กหญิงและเด็กชายอายุ 9 – 15 ปี มีความปลอดภัยสูง สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ HPV 9 สายพันธุ์ได้ไม่ด้อยกว่าการฉีด 9vHPV ในสตรีอายุ 16 – 26 ปี โดยทั่วไประดับแอนติบอดีในเด็กจะสูงกว่าในสตรีประมาณ 2 – 3 เท่า การฉีด 9vHPV ในเด็กหญิงอายุ 9 – 15 ปี สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ HPV 6/11/16/18 ไม่ด้อยกว่าการฉีด qHPV

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Luxembourg A, Bautista O, Moeller E, Ritter M, Chen J. Design of a large outcome trial for a multivalent human papillomavirus L1 virus-like particle vaccine. Contemp Clin Trials 2015;42:18 – 25.
  2. Joura EA, Giuliano AR, Iversen OE, Bouchard C, Mao C, Mehlsen JR, et al. A 9-valent HPV vaccine against infection and intraepithelial neoplasia in women. N Engl J Med 2015;372:711 – 23.
  3. Van Damme P, Olsson SE, Block S, Castellsague X, Gray GE, Herrera T, et al Immunogenicity and safety of a 9-valent HPV vaccine. Pediatrics 2015;136:e28 – 39.
  4. Vesikari T, Brodszki N, van Damme P, Diez-Domingo J, Icardi G, Petersen LK, et al. A randomized, double- blind, phase III study of the immunogenicity and safety of a 9-valent human papillomavirus L1 virus-like particle vaccine (V503) versus Gardasil® in 9 – 15-yearold girls. Pediatr Infect Dis J 2015;34:992 – 8.

 

 

PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก