CIMjournal
banner วัคซีน 1

Safety & Immunogenicity ของการฉีด Nonavalent HPV Vaccine ในคนที่เคยฉีด HPV Vaccine มาก่อน


นพ. จตุพล ศรีสมบูรณ์ศ. นพ. จตุพล ศรีสมบูรณ์
ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

บทนำ

วันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 2014 องค์การอาหารและยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (US FDA) ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา HPV vaccine ชนิด 9 สายพันธุ์ หรือ nonavalent HPV 6/11/16/18/31/33/45/52/58 vaccine (9vHPV) ซึ่งเป็นวัคซีนรุ่นที่ 2 ที่พัฒนาต่อมาจาก HPV vaccine ชนิด 4 สายพันธุ์ หรือ quadrivalent HPV 6/11/16/18 vaccine (4vHPV) เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2015 Advisory Committee on Immunization Practice (ACIP) ของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้บรรจุ 9vHPV เข้าไปในคำแนะนำการฉีด HPV vaccine ในเด็กหญิงและเด็กชายอายุ 11 – 12 ปี เป็น routine vaccination ถ้าไม่ได้ฉีดในช่วงดังกล่าวก็แนะนำให้ฉีดในผู้หญิง อายุ 13 – 26 ปี และในผู้ชายอายุ 13 – 21 ปี เป็น catch-up vaccination นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ฉีดในผู้ชายกลุ่ม MSM (men who have sex with men) และคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องได้จนถึงอายุ 26 ปีด้วย1 บทความนี้จะกล่าวถึงสตรีที่เคยได้รับการฉีด 4vHPV มาก่อน ถ้าต้องการมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ HPV 31/33/45/52/58 เพิ่มขึ้นอีกโดยการฉีด 9vHPV จะมีความปลอดภัยหรือไม่ และมี immunogenicity อย่างไร


Safety & Immunogenicity ของการฉีด 9vHPV Vaccine ในคนที่เคยฉีด 4vHPV Vaccine มาก่อน

การศึกษานี้มีจุดประสงค์เพื่อประเมินเรื่องความปลอดภัย และ immunogenicity ของการฉีด 9vHPV vaccine ในสตรีที่เคยได้รับการฉีด 4vHPV vaccine มาก่อน โดยทำการศึกษาแบบ randomized, double-blinded ในสตรีอายุ 12 – 26 ปี ซึ่งเคยได้รับการฉีด 4vHPV vaccine ครบ 3 เข็ม มาก่อนภายใน 1 ปี และเข็มที่ 3 ต้องฉีดมานานอย่างน้อย 1 ปี ก่อนเข้าร่วมการวิจัย สุ่มแบ่งอาสาสมัครในอัตราส่วน 2 : 1 ให้ได้รับ 9vHPV vaccine จำนวน 618 คน และได้รับการฉีดน้ำเกลือเป็นยาเสมือน (placebo) 306 คน ซึ่งฉีด 3 เข็ม ในวันที่ 1 เดือนที่ 2 และเดือนที่ 6 เหมือนกัน นอกจากนี้ ยังทำการเปรียบเทียบระดับแอนติบอดีระหว่างอาสาสมัครที่เคยได้รับ 4vHPV มาก่อน กับอาสาสมัครที่ไม่เคยได้รับ 4vHPV มาก่อน แต่ได้รับการฉีด 9vHPV vaccine 3 เข็มเหมือนกัน จาก Protocol V503-001 เจาะเลือดตรวจระดับแอนติบอดีต่อเชื้อ HPV 6/11/16/18/31/33/45/52/58 ด้วยวิธี competitive Luminex immunoassay (cLIA) ในวันที่ 1 เดือนที่ 2 และเดือนที่ 7 ประเมินความปลอดภัยด้วย vaccination report card (VRC) ในวันที่ 1 เดือนที่ 2 และเดือนที่ 62

ผลการศึกษาพบว่า สตรีที่เคยได้รับ 4vHPV มาก่อนจะมีระดับของแอนติบอดีต่อเชื้อ HPV 6/11/16/18 สูงขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากฉีด 9vHPV เข็มที่ 1 และระดับยังคงสูงขึ้นอีกหลังจากฉีดเข็มที่ 3 เมื่อเปรียบเทียบกับสตรีในกลุ่มยาเสมือนที่เคยได้รับการฉีด 4vHPV มาก่อนเหมือนกัน แต่ฉีดน้ำเกลือเป็นยาเสมือน (ตารางที่ 1) ระดับแอนติบอดีต่อเชื้อ HPV 31/33/45/52/58 สูงขึ้น หลังฉีด 9vHPV เข็มที่ 1 และยังคงสูงขึ้นหลังฉีดเข็มที่ 3 แต่กลุ่มยาเสมือนระดับแอนติบอดีต่อเชื้อดังกล่าวไม่ได้สูงขึ้น2
.
ตารางที่ 1
ระดับภูมิคุ้มกันเฉลี่ย (geometric mean titer, GMT) เดือนที่ 7 ในสตรีอายุ 12 – 26 ปีที่เคยได้รับ 4vHPV มาก่อน เปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม 9vHPV กับกลุ่มยาเสมือน2

ที่มา : ดัดแปลงจาก Garland SM, Cheung TH, McNeill S, Petersen LK, Romaguera J, Vazquez-Narvaez J, et al. Safety and immunogenicity of a 9-valent HPV vaccine in females 12 – 26 years of age who previously received the quadrivalent HPV vaccine. Vaccine 2015;33:6855 – 64

.
สำหรับ seropositivity rate ในกลุ่มที่เคยได้รับ 4vHPV มาก่อน ยังคงมี seropositivity 100% สำหรับเชื้อ HPV 6/11/16/18 หลังจากได้รับ 9vHPV ซึ่งใกล้เคียงกับในกลุ่มยาเสมือน สตรีที่ได้รับ 9vHPV มี seroconversion rate ต่อเชื้อ HPV 31/33/45/52/58 มากกว่า 98% หลังจากฉีดเข็มที่ 3 (ตารางที่ 2)

สตรีที่เคยได้รับ 4vHPV มาก่อน เมื่อฉีด 9vHPV จำนวน 3 เข็ม พบว่า มีระดับแอนติบอดีต่อเชื้อ HPV 6/11/16/18 ในเดือนที่ 7 สูงกว่าสตรีอายุ 16 – 26 ปี ที่ฉีด 9vHPV 3 เข็ม ในการศึกษา V503 – 001 ซึ่งไม่เคยได้รับ 4vHPV มาก่อน3 (ตารางที่ 3) ซึ่งแสดงถึงการมี immune memory หรือ anamnestic immune response ต่อเชื้อ HPV 6/11/16/18 เหตุผลที่แบ่งกลุ่มสตรีออกเป็น 2 กลุ่ม ตามช่วงอายุ คือ 12 – 15 ปี และ 16 – 26 ปี เป็นเพราะสตรีวัยรุ่นมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันสูงกว่าในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งก็เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนในกลุ่ม 9vHPV เมื่อแบ่งสตรีออกเป็น 2 กลุ่ม ตามช่วงอายุดังกล่าวที่น่าสนใจ คือ สตรีที่ไม่เคยได้รับ 4vHPV มาก่อน กลับมีแอนติบอดีต่อเชื้อ HPV 31/33/45/52/58 เมื่อได้รับ 9vHPV สูงกว่าสตรีที่เคยได้รับ 4vHPV มาก่อน (ตารางที่ 3) กลไกการตอบสนองที่ลดลงอาจจะเป็นผลจาก2

  1. Cross-reactive antibody และ memory B cells ที่มีอยู่ก่อนจากการฉีด 4vHPV ไปจับกับแอนติเจนที่ฉีด        เข้าไปทำให้ naïve B cells ตอบสนองเบื้องต้นต่อ epitopes ใหม่ได้ไม่เต็มที่
  2. การกระตุ้น cross-reactive memory B cells มากกว่า naïve B cells
  3. การแย่งกันจับระหว่าง memory B cells ซึ่งมีมากกว่ากับ naïve B cells ซึ่งมีน้อยกว่าในการจับกับแอนติเจน
  4. การแข่งขันกันของ T cells ในการเข้าสู่ antigen-presenting cells หลังจากฉีดวัคซีน

อย่างไรก็ตาม การมีระดับแอนติบอดีต่ำก็ไม่ได้แสดงว่าจะมีประสิทธิภาพต่ำในการป้องกันการติดเชื้อ HPV เพราะในปัจจุบันยังไม่ทราบระดับแอนติบอดีต่ำสุดที่ใช้ในการป้องกัน หรือ Minimal Protective Level (MPL) จากการศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่า MPL น่าจะต่ำกว่าเกณฑ์ (threshold) ที่ใช้ในการตรวจวัดระดับแอนติบอดีด้วยวิธี pseudovirion-based neutralizing assay (PBNA) ถึง 100 เท่า ซึ่งวิธี PBNA ก็มีความไว และความสอดคล้องสูงเหมือนกับวิธี cLIA ที่ใช้ในการศึกษานี้ ดังนั้น ถ้าตรวจพบแอนติบอดีถึงแม้ว่าจะต่ำก็ยังคงสูงกว่าระดับต่ำสุดที่ใช้ป้องกันอยู่มาก

.
ตารางที่ 2
Seropositivity หลังฉีด 9vHPV 3 เข็มในสตรีอายุ 12 – 26 ปีที่เคยได้รับ 4vHPV มาก่อนเปรียบเทียบ กับกลุ่มที่ฉีดยาเสมือน2

ที่มา : ดัดแปลงจาก Garland SM, Cheung TH, McNeill S, Petersen LK, Romaguera J, Vazquez-Narvaez J, et al. Safety and immunogenicity of a 9-valent HPV vaccine in females 12 – 26 years of age who previously received the quadrivalent HPV vaccine. Vaccine 2015;33:6855 – 64.

.
ตารางที่ 3
ระดับภูมิคุ้มกันเฉลี่ยในเดือนที่ 7 (mMU/มล) ในสตรีอายุ12 – 26 ปี ที่เคยได้รับ 4vHPV มาก่อน และได้รับ 9vHPV 3 เข็มเปรียบเทียบกับสตรีอายุ 16 – 26 ปี ที่ได้รับ 9vHPV จำนวน 3 เข็มในการศึกษา V503 – 0012


ที่มา : ดัดแปลงมาจาก Garland SM, Cheung TH, McNeill S, Petersen LK, Romaguera J, Vazquez-Narvaez J, et al. Safety and immunogenicity of a 9-valent HPV vaccine in females 12 – 26 years of age who previously received the quadrivalent HPV vaccine. Vaccine 2015;33: 6855 – 64.

.
สตรีที่ติดเชื้อ HPV 31/33/45/52/58 ตามธรรมชาติ และมีการสร้างแอนติบอดีขึ้น พบว่า หลังจากฉีด 9vHPV จะมีระดับแอนติบอดีต่อเชื้อดังกล่าวต่ำกว่าสตรีที่เคยได้รับ 4vHPV มาก่อน ระยะเวลาหลังจากฉีด 4vHPV เข็มสุดท้าย จนถึงการฉีด 9vHPV เข็มแรก มีผลน้อยมาก หรือไม่มีผลเลยต่อการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ HPV 31/33/45/52/58 หลังจากฉีด 9vHPV พบว่า สตรีที่ seropositive ต่อเชื้อ HPV 31/33/45/52/58 มาก่อนเข้าร่วมการวิจัย จะมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันสูงกว่าสตรีที่ seronegative ต่อเชื้อดังกล่าว2

เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ตรงตำแหน่งที่ฉีดยาพบในกลุ่ม 9vHPV มากกว่ากลุ่มยาเสมือน คือ 91% และ 44% ตามลำดับ อาการที่พบบ่อย คือ ปวด บวม ผื่นแดง คัน และ hematoma ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง และหายไปได้เอง กลุ่ม 9vHPV มี injection-site swelling ชนิดรุนแรง (ขนาด 5.0 – 12.5 ซม.) 7.6% และมี injection-site erythema ชนิดรุนแรง (ขนาด 5.0 – 10.0 ซม.) 3.3% อุบัติการณ์ของอาการบวมและผื่นแดงสูงขึ้นตามการฉีด 9vHPV ในครั้งต่อมา อาการข้างเคียงทางระบบในกลุ่ม 9vHPV ที่พบบ่อยที่สุด คือ ปวดศีรษะ (19.6%) ไข้ (5%) คลื่นไส้ (4%) และมึนงง (3%)2


บทสรุป

สตรีที่เคยได้รับการฉีด 4vHPV vaccine มาก่อน ถ้าฉีด 9vHPV vaccine จะมีระดับของแอนติบอดีต่อเชื้อ HPV 6/11/16/18 สูงขึ้นมากกว่าสตรีที่ไม่เคยได้รับการฉีด 4vHPV vaccine มาก่อน ซึ่งแสดงถึงการมี immune memory หรือ anamnestic immune response ต่อเชื้อ HPV 6/11/16/18 สตรีที่ไม่เคยได้รับ 4vHPV มาก่อนจะ มีแอนติบอดีต่อเชื้อ HPV 31/33/45/52/58 เมื่อได้รับ 9vHPV สูงกว่าสตรีที่เคยได้รับ 4vHPV มาก่อน การฉีด 9vHPV vaccine มีความปลอดภัยสูง ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ตรงตำแหน่งที่ฉีดยาจะพบมากกว่า แต่ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงและหายไปได้เอง

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Petrosky E, Bocchini JA Jr, Hariri S, Chesson H, Curtis CR, Saraiya M, et al. Use of 9-valent human papillomavirus (HPV) vaccine: updated HPV vaccination recommendations of the Advisory Committee on Immunization Practices. MMWR 2015;64:300 – 4.
  2. Garland SM, Cheung TH, McNeill S, Petersen LK, Romaguera J, Vazquez-Narvaez J, et al. Safety and immunogenicity of a 9-valent HPV vaccine in females 12 – 26 years of age who previously received the quadrivalent HPV vaccine. Vaccine 2015;33:6855 – 64.
  3. Joura EA, Giuliano AR, Iversen OE, Bouchard C, Mao C, Mehlsen JR, et al. A 9-valent HPV vaccine against infection and intraepithelial neoplasia in women. N Engl J Med 2015;372:711 – 23.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก