นพ. ยลัญพล ธิรากุลนันท์ชัย
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
รศ. พญ. วนัทปรียา พงษ์สามารถ
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 มีรายงานผู้ติดเชื้อกว่า 217 ล้านรายทั่วโลก และผู้เสียชีวิตมากกว่า 4.5 ล้านราย1 จึงนำมาสู่การค้นหาวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพรวมถึงการนำยาที่มีในการักษาโรคอื่นมาศึกษาวิจัย (repurposed drugs repurposed for indications) เพื่อรักษาโรคโควิด 19 โดยหนึ่งในตัวยาที่ได้ทำการศึกษาคือยา Ivermectin
Ivermectin
ยา Ivermectin ในปัจจุบันเป็นยาที่ได้รับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาเพื่อใช้เป็นยารักษา intestinal strongyloidiasis และ onchocerciasis
กลไกในการรักษาโรคโควิด 19
แม้ยา ivermectin จะใช้รักษาการติดเชื้อพยาธิ ด้วยกลไกการจับกับช่องกลูตาเมต-คลอไรด์ ทำให้เกิดการนำเข้าของคลอไรด์ไอออน และเกิดการทำงานผิดปกติของเซลล์กล้ามเนื้อและเซลล์ประสาทของพยาธิ จากการทดสอบในเซลล์เพาะเลี้ยงพบว่า ยา ivermectin ในระดับที่สูงกว่าความเข้มข้นที่ใช้ในการรักษาพยาธิมีฤทธิ์ต่อต้านไวรัส เช่น ไวรัส dengue และปาราสิตชนิดอื่น เช่น มาลาเรีย เป็นต้น
การศึกษาในหลอดทดลองโดย Caly และคณะ3 พบว่าการให้ยา Ivermectin ความเข้มข้น 5 ไมโครโมลกับเซลล์ในหลอดทดลองที่มีการเพาะเชื้อโควิด 19 พบว่าเมื่อเวลาผ่านไป 24 ชั่วโมงสามารถลดปริมาณสารพันธุกรรมของไวรัส (Viral RNA) ได้ 93% เมื่อเทียบกับเซลล์ที่ไม่ได้ยาและลดมากถึง 99.8% หากเวลาผ่านไป 48 ชั่วโมง โดยกลไกการรักษาที่สันนิษฐาน คือ การที่ยา Ivermectin สามารถยับยั้งโปรตีน IMPα/β1 ที่นำพาโปรตีนของไวรัสโควิด 19 เข้านิวเคลียส ทำให้ช่วยลดการเพิ่มจำนวนของไวรัสได้
นอกจากนี้ ได้มีการศึกษาโดย Lehrer และคณะ4 ว่า การใช้ยา Ivermectin สามารถยับยั้งการจับกันระหว่างโปรตีน Spike ไวรัสกับ ACE2 receptor นำไปสู่การลดการจำนวนของไวรัสได้
Systematic Review และ Metaanalysis ของ Randomized Controlled Trials ของการใช้ยา Ivermectin ในการรักษาโรคโควิด 19
Romann และคณะ5 รวบรวมงานวิจัยจากฐานข้อมูล 5 แหล่ง ประกอบไปด้วย 1. PubMed-MEDLINE 2. EMBASE-OVID 3. Scopus 4. Web of science และ 5. The Cochrane Library และฐานข้อมูลที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์จาก www.medrxiv.org www.preprints.org และ www.ssrn.com โดยทำการรวบรวมการศึกษาที่เป็น Randomized Controlled Trials ของการใช้ยา Ivermectin ในการรักษาโรคโควิด 19 จำนวน 10 การศึกษา โดย 5 การศึกษาเทียบกับการดูแลผู้ป่วยแบบมาตรฐาน (standard of care) และอีก 5 การศึกษาเทียบกับการให้ยาหลอก สำหรับระดับความรุนแรงของโรคโควิด 19 พบว่า 8 การศึกษาผู้ป่วยมีอาการเล็กน้อย 1 การศึกษาผู้ป่วยมีอาการปานกลาง และอีก 1 การศึกษาผู้ป่วยมีอาการเล็กน้อยและปานกลางร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ อัตราการเสียชีวิต ระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล และผลข้างเคียงจากการใช้ยา และวัตถุประสงค์รองคือ ระยะเวลาในการกำจัดเชื้อโดยตรวจจากสิ่งส่งตรวจในระบบทางเดินหายใจ ระยะเวลาที่คนไข้มีอาการที่ดีขึ้น การต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และผลข้างเคียงรุนแรงที่เกิดหลังจากได้ยา โดยมี 1 การศึกษาจากประเทศสเปน และอีก 9 การศึกษาจากกลุ่มประเทศรายได้น้อยไปจนถึงปานกลาง ในการศึกษามีจำนวนอาสาสมัครตั้งแต่ 24 – 398 คน และขนาดยาที่ทำการศึกษาตั้งแต่ 12 – 210 มิลลิกรัม และเวลาที่ให้ยาตั้งแต่ 1 – 5 วัน วันที่ทำการติดตามอาการตั้งแต่ 5 – 30 วัน
จากการทำ Systematic Review และ Meta-analysis พบว่าการใช้ยา Ivermectin เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมแล้ว ไม่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ (5 RCT, Relative risk (RR) 0.37, 95% Confidential interval (CI) [0.12 – 1.13], I2 = 16%) (รูปที่ 1) ไม่ช่วยลดระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล (3 RCT, mean difference 0.72 days, [-0.86 – 2.29 days, I2 = 0%) (รูปที่ 2) ไม่มีความแตกต่างกันของการเกิดผลข้างเคียงหลังให้ยา (3 RCT, RR 0.95,[0.85 – 1.07], I2 = 0%) (รูปที่ 3) ไม่มีความแตกต่างกันของการเกิดผลข้างเคียงรุนแรงหลังให้ยา (3 RCT, RR 1.39, [0.36 – 5.30], I2 = 0%) (รูปที่ 4) การกำจัดเชื้อไวรัสไม่แตกต่างกัน (4 RCT, RR 0.96, [0.79 – 1.16], I2 = 0%) (รูปที่ 5) และไม่มีข้อมูลระยะเวลาที่คนไข้มีอาการที่ดีขึ้น และการต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ การศึกษานี้ว่า มีจุดแข็งคือการที่เลือกแต่การศึกษาแบบการทดลองทางคลินิกแบบสุ่ม ทำให้ลดอคติ (bias) ที่อาจเกิดขึ้น การจัดความรุนแรงของโรคโควิด 19 โดยใช้วิธีตามองค์การอนามัยโลก การใช้ Grading of Recommendations Assessment, Development and Evaluation (GRADE) ในการประเมินคุณภาพของงานวิจัย แต่มีจุดอ่อนคือคุณภาพของงานวิจัยที่นำมาศึกษาล้วนจัดเป็นคุณภาพด้อย จำนวนประชากรที่ศึกษาน้อย และประชากรทั้งหมดที่ทำการศึกษาจัดอยู่ในกลุ่มอาการรุนแรงเล็กน้อยถึงปานกลางเท่านั้น จึงทำให้ได้ข้อสรุปว่าการใช้ยา Ivermectin ในการรักษาควรใช้ภายใต้บริบทการศึกษาวิจัยเท่านั้น
รูปที่ 1 แสดงผลจากการใช้ยา Ivermectin กับอัตราการเสียชีวิตในการศึกษา RCT ในผู้ป่วยโรคโควิด 195
รูปที่ 2 แสดงผลจากการใช้ยา Ivermectin กับระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลในการศึกษา RCT ในผู้ป่วยโรคโควิด 195
รูปที่ 3 แสดงผลจากการใช้ยา Ivermectin กับการเกิดผลข้างเคียงหลังให้ยาในการศึกษา RCT ในผู้ป่วยโรคโควิด 195
รูปที่ 4 แสดงผลจากการใช้ยา Ivermectin กับการเกิดผลข้างเคียงรุนแรงหลังให้ยาในการศึกษา RCT ในผู้ป่วยโรคโควิด 195
รูปที่ 5 แสดงผลจากการใช้ยา Ivermectin กับการกำจัดเชื้อไวรัสหลังให้ยาในการศึกษา RCT ในผู้ป่วยโรคโควิด 195
ในปัจจุบันได้มีการศึกษาการใช้ยา Ivermectin ในการรักษาโควิด 19 แต่มีความหลากหลายในการศึกษาตั้งแต่ขนาดยา (100 – 400 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัวกิโลกรัมต่อวัน) ระยะเวลาในการให้ยา (1 – 7 วัน) การให้ยาร่วมกับยาอื่น เช่น Doxycycline, Azithromycin หรือการเทียบผลกับการให้ยาหลอก (Placebo) เพียงอย่างเดียว ทำให้ผลการศึกษามีความหลากหลาย โดยมีทั้งการศึกษาที่แสดงว่าการให้ยา Ivermectin สามารถช่วยลดอาการและเวลาเจ็บป่วยได้6-8 ช่วยลดปริมาณไวรัสโควิด-19 ได้ 9-10 หรือไม่มีความแตกต่างระหว่างการให้ยา Ivermectin กับยาหลอก11-12 นอกจากนี้ การศึกษาข้างต้นยังมีข้อจำกัดในการศึกษาเรื่องจำนวนประชากรที่เข้าร่วมการศึกษา (Sample size) น้อย ซึ่งอาจส่งผลต่อผลลัพธ์ของการศึกษาวิจัย
ซึ่งสอดคล้องกับคำแนะนำของทางสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Institutes of Health, NIH)13 และสมาคมโรคติดเชื้อแห่งสหรัฐอเมริกา (Infectious disease society of America, IDSA)14 ที่ได้ออกแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาและป้องกันโรคโควิด 19 โดยมีคำแนะนำเกี่ยวกับยา Ivermectin ว่ายังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์มากพอที่จะแนะนำให้ใช้ยา Ivermectin ทั้งในการรักษาผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในนอกจากใช้ในการศึกษาวิจัย และนอกจากนี้ ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาการใช้ยา Ivermectin ในการรักษาโรคโควิด 19 ในผู้ป่วยเด็ก ทำให้ยังไม่มีคำแนะนำในการใช้ยาดังกล่าว
โดยสรุป
ข้อมูลการใช้ยา Ivermectin ในการใช้รักษาโควิด 19 ยังมีจำกัด ยังคงต้องมีการศึกษาที่เป็น randomized control trial ที่มีคุณภาพและมีจำนวนประชากรเพิ่มเติมในอนาคต แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข โดยคณะทำงานด้านการรักษาพยาบาลและการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ คณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ (คณะกรรมการกำกับดูแลรักษาโควิด 19) ฉบับปรับปรุง วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2564 จึงยังไม่มีข้อแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ยา ivermectin ในขณะนี้
เอกสารอ้างอิง
- World Health Organization. WHO COVID-19 Dashboard. Geneva: World Health Organization; 2021 [cited 31 Aug 2021]. Available from: https://covid19.who.int/.
- Martin RJ, Robertson AP, Choudhary S. Ivermectin: an anthelmintic, an insecticide, and much more. Trends Parasitol 2021; 37: 48 – 64.
- Caly L, Druce JD, Catton MG, Jans DA, Wagstaff KM. The FDA-approved drug ivermectin inhibits the replication of SARS-CoV-2 in vitro. Antiviral Res. 2020 Jun; 178: 104787.
- Lehrer S, Rheinstein PH. Ivermectin Docks to the SARSCoV- 2 Spike Receptor-binding Domain Attached to ACE2. In Vivo. 2020 Sep-Oct; 34(5): 3023 – 3026.
- Roman YM, Burela PA, Pasupuleti V, Piscoya A, Vidal JE, Hernandez AV. Ivermectin for the treatment of COVID-19: A systematic review and meta-analysis of randomized controlled trials. Clin Infect Dis 2021 Jun 28: ciab591. doi: 10.1093/cid/ciab591.
- Hashim HA, Maulood MF, Rasheed AM, Fatak DF, Kabah KK, Abdulamir AS. Controlled randomized clinical trial on using Ivermectin with Doxycycline for treating COVID-19 patients in Baghdad, Iraq. medRxiv 2020.
- Chaccour C, Casellas A, Blanco-Di Matteo A, et al. The effect of early treatment with ivermectin on viral load, symptoms and humoral response in patients with nonsevere COVID-19: A pilot, double-blind, placebocontrolled, randomized clinical trial. EClinicalMedicine 2021; 32: 100720.
- Pott-Junior H, Bastos Paoliello MM, Miguel AQC, et al. Use of ivermectin in the treatment of Covid-19: A pilot trial. Toxicol Rep 2021; 8: 505 – 10.
- Ahmed S, Karim MM, Ross AG, et al. A five-day course of ivermectin for the treatment of COVID-19 may reduce the duration of illness. Int J Infect Dis. 2021 Feb; 103: 214 – 216.
- Mohan A, Tiwari P, Suri T, Mittal S, Patel AA, Jain A. Ivermectin in mild and moderate COVID-19 (RIVET-COV): a randomized, placebo-controlled trial. Research Square 2021.
- Chachar AZK, Khan KA, Asif M, Tanveer K, Khaqan A, Basri R. Effectiveness of Ivermectin in SARS-CoV-2/ COVID-19 Patients. Int J Sci 2020; 9(09): 31 – 5.
- López-Medina E, López P, Hurtado IC, et al. Effect of Ivermectin on Time to Resolution of Symptoms Among Adults With Mild COVID-19: A Randomized Clinical Trial. JAMA. 2021; 325(14): 1426 – 1435.
- National Institutes of Health. COVID-19 Treatment Guidelines Panel. Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) Treatment Guidelines. Available at https://www.covid19 treatmentguidelines.nih.gov/.
- Bhimraj A, Morgan RL, Shumaker AH, et al. Infectious Diseases Society of America Guidelines on the Treatment and Management of Patients with COVID-19. Infectious Diseases Society of America 2021; Version 4.4.1. Available at https://www.idsociety.org/practice-guideline/covid-19- guideline-treatment-and-management.