นพ. พนิต ทักขิญเสถียร
สาขาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
สรุปเนื้อหาจากการอบรมระยะสั้น Update on Pediatric Infectious Diseases 2018 จัดโดย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561
ในปัจจุบันมีการระบาดของโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนเกิดขึ้นมากมาย เช่น โรคไอกรน ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น หญิงตั้งครรภ์ และทารกเกิดใหม่ที่ยังไม่สามารถรับวัคซีนป้องกันโรคเหล่านี้จึงถือเป็นประชากรที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ จึงมีความพยายามในการกำหนดแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อป้องกันโรคดังกล่าว
การให้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก คอตีบ และไอกรน
ปี พ.ศ. 2555 ACIP ได้มีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีน Tdap แก่หญิงตั้งครรภ์ทุกราย เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในมารดาให้สูงพอที่จะผ่านรกไปสู่ทารกเกิดใหม่ซึ่งภูมิคุ้มกันดังกล่าวจะสามารถป้องกันโรคไอกรนในทารกจนกระทั่งเติบโตจนถึงอายุที่สามารถรับวัคซีนได้ อีกทั้งยังป้องกันไม่ให้มารดามีการติดเชื้อไอกรนในช่วงคลอด และหลังคลอด ทำให้ลดโอกาสที่ทารกจะรับเชื้อ โดยแนะนำให้ฉีดในช่วงอายุครรภ์ 27 – 36 สัปดาห์แก่หญิงตั้งครรภ์ทุกรายโดยไม่ต้องคำนึงถึงประวัติการได้รับวัคซีนครบมาก่อน และจำเป็นที่จะต้องให้วัคซีนในทุกครั้งของการตั้งครรภ์
ในรายที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักคอตีบ ไอกรนมาก่อน หรือได้รับไม่ครบ ควรได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยัก และคอตีบ (Td) 3 เข็มที่ 0, 4 สัปดาห์และ 6 – 12 เดือน โดยให้ฉีดวัคซีน Tdap ทดแทน Td 1 เข็มในช่วงอายุครรภ์ 27 – 36 สัปดาห์
ในกรณีที่มารดาเป็นแผลที่มีความเสี่ยงต่อการติดบาดทะยัก หากได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักมานานเกิน 5 ปี แพทย์ควรให้วัคซีน Td หรือ Tdap ทันที แต่ถ้าอยู่ในช่วงอายุครรภ์ 27 – 36 สัปดาห์ควรเลือกให้วัคซีน Tdap แทน
นอกจากนี้ ทาง ACIP ยังแนะนำถึง “cocooning strategy” ที่แนะนำให้ฉีดวัคซีน Tdap แก่สมาชิกภายในบ้านและบุคลากรทางการแพทย์หรือผู้ดูแลคนอื่น ๆ ที่ต้องเลี้ยงดูทารกเกิดใหม่ เพื่อลดโอกาสการเกิดการถ่ายทอดเชื้อสู่ทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือน
ตารางที่ 1 คำแนะนำในการให้วัคซีนแต่ละชนิดแก่หญิงตั้งครรภ์
การให้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
หญิงตั้งครรภ์ และทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือนจัดเป็นประชากรกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ มีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด เป็นสาเหตุของการนอนโรงพยาบาล ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ สมองอักเสบ รวมถึงเสียชีวิตในเด็กทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน
ACIP จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตายแก่หญิงทุกรายที่กำลังตั้งครรภ์ โดยสามารถฉีดได้ในทุกช่วงอายุครรภ์ เหตุผลที่จำเป็นต้องให้วัคซีนทุกครั้งของการตั้งครรภ์เนื่องจากภูมิคุ้มกันต่อไข้หวัดใหญ่ลดลงค่อนข้างเร็วภายหลังการฉีดวัคซีน อีกทั้งสายพันธุ์ที่มีการระบาดมีการเปลี่ยนแปลงตลอดทุกปี
วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี
ในบางกรณีที่หญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีระหว่างตั้งครรภ์ และมารดาไม่มีภูมิต่อโรคมาก่อน แพทย์ควรพิจารณาให้วัคซีนตามความเสี่ยงของหญิงตั้งครรภ์ ได้แก่ การมีคู่นอนหลายคนในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีประวัติตรวจพบโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีประวัติการใช้ยาเสพติด หรือการมีคู่นอนเป็นพาหะติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี โดยการให้วัคซีนจะไม่มีผลต่อทารกในครรภ์ เนื่องจากวัคซีนเป็น noninfectious HBsAg
วัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูม
เนื่องจากกลุ่มโรคอาการหัดเยอรมันแต่กำเนิด (congenital rubella syndrome) มีความรุนแรง และพบบ่อยเป็นสาเหตุของการแท้ง ความผิดปกติอย่างถาวรในทารก เช่น ต้อกระจก ตาเล็ก โรคหัวใจแต่กำเนิด ศีรษะเล็ก พัฒนาการช้า กระดูกผิดปกติ เป็นต้น แต่การให้วัคซีนป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน คางทูมถือเป็นข้อห้ามในหญิงตั้งครรภ์ และหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่วางแผนจะมีบุตรเนื่องจากเป็นวัคซีนเชื้อเป็น แต่อย่างไรก็ตาม การได้รับวัคซีนนี้โดยบังเอิญระหว่างการตั้งครรภ์ก็ยังไม่ถือเป็นข้อบ่งชี้ในการยุติการตั้งครรภ์เนื่องจากในทางทฤษฎีมีโอกาสเกิดความผิดปกติในทารกในครรภ์ ร้อยละ 1.3 – 1.6 ดังนั้น จึงแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนนี้แก่หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่ไม่มีหลักฐานภูมิตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์อย่างน้อย 28 วัน หรือควรมีการตรวจภูมิคุ้มกันต่อโรคหัดเยอรมันในระหว่างการฝากท้อง ถ้าตรวจไม่พบว่ามีภูมิควรให้วัคซีนทันทีหลังจากคลอด ก่อนการจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล การให้วัคซีนนี้ในระหว่างการให้นมบุตรมีความปลอดภัย สามารถให้นมบุตรได้ตามปกติ
วัคซีนป้องกันโรคไข้สุกใส
วัคซีนป้องกันโรคไข้สุกใสถือเป็นข้อห้ามสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากเป็นวัคซีนเชื้อเป็นหญิงวัยเจริญพันธุ์ควรหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ หรือควรคุมกำเนิดอย่างน้อย 1 – 3 เดือนนับจากวันที่รับวัคซีน
เนื่องจากการติดเชื้อโรคไข้สุกใสตามธรรมชาติในระหว่างตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงอายุครรภ์น้อยกว่า 20 สัปดาห์ มีโอกาสทำให้เกิดความผิดปกติในทารก (congenital varicella syndrome) ประมาณร้อยละ 1 – 2 อาการ ดังนั้น ควรให้วัคซีนป้องกันไข้สุกใสแก่หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกรายที่ไม่มีภูมิโดยให้ 2 เข็มห่างกัน 4 – 8 สัปดาห์ และต้องให้ก่อนการตั้งครรภ์อย่างน้อย 28 วัน หรือหากทำไม่ได้ควรให้หลังคลอดก่อนจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล และอีก 1 เข็มห่างกัน 4 – 8 สัปดาห์ โดยสามารถให้นมบุตรได้อย่างปลอดภัย ส่วนการรับวัคซีนป้องกันไข้สุกใสระหว่างการตั้งครรภ์หรือก่อนหน้าการตั้งครรภ์ไม่ถึง 28 วัน โดยบังเอิญไม่เป็นข้อบ่งชี้ในการยุติการตั้งครรภ์แต่ควรมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลจากวัคซีน
เอกสารอ้างอิง
- CDC. Updated recommendations for use of tetanus toxoid, reduced diphtheria toxoid, and acellularpertussis vaccine (Tdap) in pregnant women–Advisory Committee on Immunization Practices (ACIP), 2012. MMWR Morb Mortal Wkly Rep. 2013;62:131-5.
- American academy of Pediatrics. Kimberlin DW, Brady MT, Jackson MA, Long SS, eds. Red book: 2015 report of the Committee on Infectious Disease. 30th ed. Elk Grove Village, IL: American academy of Pediatrics; 2015.
- Mast EE, Margolis HS, Fiore AE, et al. A comprehensive immunization strategy to eliminate transmission of hepatitis B virus infection in the United States: recommendations of the Advisory Committee on Immunization Practices (ACIP) part 1: immunization of infants, children, and adolescents. MMWR Recomm Rep. 2005;54(RR-16):1-31.