กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยการศึกษาการทดสอบภูมิคุ้มกันและความปลอดภัย จากการได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 เข้าในผิวหนัง พบว่า สร้างภูมิคุ้มกันได้ดี
ผลการศึกษา 14 วัน หลังจากได้รับการกระตุ้นวัคซีนเข็มที่ 3 พบว่า กลุ่มที่ 1 ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 โดส เข้ากล้ามเนื้อ ระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,652 AU (Arbitrary Unit) ส่วนกลุ่มที่ 2 และ 3 ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1/5 โดส ฉีดเข้าในผิวหนัง ระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,300.5 AU (Arbitrary Unit) จากเดิมหลังฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ระดับภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 128.7 AU (Arbitrary Unit) นอกจากนี้ ระดับภูมิคุ้มกันในการยับยั้งการเข้าสู่เซลล์ของเชื้อไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์เดลตา การกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ฉีดเข้าในผิวหนังสามารถยับยั้งได้ถึง 234.4 AU (Arbitrary Unit) จากเดิมที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ยับยั้งได้ 16.3 AU (Arbitrary Unit) ส่วนการตอบสนองของเซลล์เม็ดเลือดขาว หรือทีเซลล์ ต่อโปรตีนหนามแหลมของเชื้อไวรัสโควิด 19 ซึ่งมีหน้าที่สู้กับไวรัส เมื่อไวรัสเข้าสู่เซลล์แล้ว พบว่า ทั้งสามกลุ่มมีการทำงานของทีเซลล์ต่อโปรตีนหนามแหลมที่ดีขึ้นกว่าเดิมที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม
อาการข้างเคียง 7 วัน หลังการได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 พบว่า การฉีดในผิวหนังจะมีอาการแดง บวม และคัน มากกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ส่วนการฉีดเข้ากล้ามเนื้อจะมีอาการปวดเมื่อย ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และหนาวสั่นมากกว่าการฉีดในผิวหนัง ข้อดีของการฉีดวัคซีนเข้าในผิวหนัง คือ มีคนที่ได้รับวัคซีนเป็นไข้ในอัตราส่วนที่ลดลง เมื่อเทียบกับการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ โดยที่ยังกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีพอ ๆ กัน เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงวัคซีน เพราะใช้วัคซีนปริมาณน้อยกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
ข้อมูล: กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข