คณะกรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เพิ่มสิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองการได้ยินของทารกแรกเกิดในเด็กแรกเกิดทุกราย ช่วยให้เด็กที่มีปัญหาการได้ยินเข้าถึงการรักษาอย่างรวดเร็ว โดยจะมีการพิจารณาใส่เครื่องช่วยฟัง หรือผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมตามความรุนแรงที่พบ
บอร์ด สปสช. มีมติเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการตรวจคัดกรองการได้ยินของทารกแรกเกิดในกลุ่มเสี่ยง ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ตั้งแต่ปี 2562 โดยหากพบมีประสาทหูเสื่อมแต่กำเนิดร่วมด้วย สามารถใช้สิทธิผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เด็กที่จะฝังได้ต้องมีอายุต่ำกว่า 5 ปีที่มีระดับการได้ยิน 90 เดซิเบลขึ้นไปได้ และมีการปรับสิทธิประโยชน์อีกครั้งในปี 2565 ให้สามารถคัดกรองเด็กแรกเกิดทุกรายไม่เฉพาะกลุ่มเสี่ยงโดยโรงพยาบาลราชวิถี เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพและขานรับนโยบายภายใต้การดูแลของศูนย์ความเป็นเลิศด้านโสต ศอ นาสิก
นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการ รพ.ราชวิถี อธิบายว่า การสนับสนุนการคัดกรองการได้ยินในเด็กแรกเกิดทุกคนจะช่วยให้ค้นหาเด็กที่มีปัญหาการได้ยินและเข้าสู่การรักษาอย่างรวดเร็ว เติบโตเป็นผู้ใหญ่และประชากรที่มีคุณภาพของประเทศ พญ.สมจินต์ จินดาวิจักษณ์ หัวหน้ากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิก รพ.ราชวิถี เสริมว่า สิทธิประโยชนนี้จะช่วยให้ประชาชนได้รับโอกาสในการเข้าถึงบริการมากขึ้นเมื่อมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
สำหรับเด็กที่สูญเสียการได้ยินไม่มากจะได้รับการใส่เครื่องช่วยฟังในข้างที่มีปัญหา หรือทั้งสองข้าง ส่วนรายที่มีปัญหารุนแรง อาทิ ไม่ได้ยินเสียง หรือหูหนวกจะพิจารณาการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม ซึ่งเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากวัสดุคุณภาพ ทำหน้าที่แทนหูชั้นในในการรับเสียง
แหล่งที่มา: https://www.hfocus.org/content/2023/11/28978