รมช.สาธารณสุข เผย 7 ทิศทางนโยบาย เพื่อเดินหน้า “โควิด” สู่โรคประจำถิ่น มีทั้งการลงทุนด้านดิจิตอล การพัฒนาบุคลากรสหสาขา การดูแลกลุ่มเปราะบางและอื่นๆ ชี้หากควบคุมโรคได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จะสามารถเปลี่ยนผ่านเป็นโรคประจำถิ่นตามเป้าหมาย รวมถึงยังเป็นโอกาสในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ ทำให้เศรษฐกิจมีทิศทางที่ดีขึ้น
6 พ.ค. 65 ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และบรรยายพิเศษ “ทิศทางและนโยบายภาครัฐ หลังการประกาศโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่น” โดยให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาโรงพยาบาลเอกชนได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ขณะนี้ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยในโรงพยาบาล มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เตรียมเดินหน้าสู่โรคประจำถิ่น ตามกำหนดการคือ ช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป
โดยทิศทางและนโยบายของประเทศ ในการให้โรคโควิด 19 เข้าสู่โรคประจำถิ่น สอดคล้องกับข้อเสนอขององค์การอนามัยโลก ซึ่งมี 7 เรื่อง ได้แก่ 1.การเพิ่มการลงทุนเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทย มีระบบไทยชนะ หมอชนะ รวมถึง หมอพร้อม 2.การเตรียมพร้อมรับมือการระบาดครั้งต่อไปและพัฒนาบุคลากรสหสาขา ทั้งโรคทั่วไป โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ภาวะลองโควิดและมิสซี 3.การดูแลกลุ่มเปราะบางให้เข้าถึงการรักษาตามสิทธิ 4. ยกระดับการพึ่งพาตนเองด้านยา วัคซีน ชุดตรวจ และเวชภัณฑ์ 5.การจัดการขยะทางการแพทย์หรือขยะติดเชื้อ ซึ่งที่ผ่านมามีการปลดล็อกกฎหมายให้เตาเผาขยะนิคมอุตสาหกรรมใช้เผาขยะติดเชื้อได้ชั่วคราว 6.พัฒนากลยุทธ์การบูรณาการข้อมูล ซึ่ง ศบค.มีการรวบรวมข้อมูลหน่วยงานต่างๆ นำมาสู่การตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน และ 7.การค้นหา บันทึก และเผยแพร่ตัวอย่างที่ดี รวมทั้งบทเรียนสำคัญในการจัดการกับภาวะระบาดใหญ่
ทั้งนี้หากควบคุมโรคได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จะสามารถเปลี่ยนผ่านเป็นโรคประจำถิ่นตามเป้าหมาย รวมถึงยังเป็นโอกาสในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ ทำให้เศรษฐกิจมีทิศทางที่ดีขึ้น
แหล่งที่มา: https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/04/173760/