กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยการถอดรหัสพันธุกรรมโควิด 19 ทั้งตัว เจอลูกผสม “เดลตาครอน” 73 รายในไทย ระบบฐานข้อมูลโลก GISAID วิเคราะห์ยังไม่พบความรุนแรง หรือหลบภูมิคุ้มกัน สายพันธุ์เดลตาในไทยแทบไม่พบแล้ว ตอนนี้จะเป็นสายพันธุ์โอมิครอนมากที่สุด
23 มี.ค. 65 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ระหว่างวันที่ 12 – 18 มีนาคม จำนวน 1,982 ราย พบสายพันธ์เดลต้า 1 ราย ที่เหลือเป็นสายพันธุโอมิครอน ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ย่อย BA.2 ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เพราะแพร่เชื้อได้เร็ว และจากการสุ่มตรวจประชาชนทั่วไป และกลุ่มอื่น ๆ พบสัดส่วนการติดเชื้อ BA.2 ใกล้เคียงกันทุกกลุ่ม
ในส่วนของเดลตาครอน ซึ่งเป็นการผสมกันระหว่างเชื้อ 2 สายพันธุ์ คือ โอมิครอน BA.1 และเดลตา AY.4 ทั่วโลกมีการรายงานเข้าฐานข้อมูลกลางโควิดโลกที่ชื่อว่า “GISAID” ประมาณ 4,000 กว่าราย จากการวิเคราะห์ของ GISAID ตรวจสอบและยอมรับอย่างเป็นทางการ 64 ราย อยู่ในฝรั่งเศส 50 กว่าราย ที่เหลืออีก 4,000 กว่ารายที่รวมข้อมูลไทยด้วย 73 ราย ยังต้องรอการวิเคราะห์เพิ่มเติม
สำหรับผู้ป่วยจากเดลตาครอนทั้งหมด 73 ราย ตอนนี้รักษาหายแล้ว ไม่มีผู้เสียชีวิต ในประเทศไทยตอนนี้ไม่ค่อยพบสายพันธุ์เดลตาแล้ว ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกจัดให้เดลตาครอนเป็นสายพันธุ์ที่ต้องติดตามข้อมูลเท่านั้น ยังไม่เป็นสายพันธุ์ที่น่าสนใจ หรือน่าห่วง และยังไม่มีข้อมูลเรื่องการแพร่เร็ว ความรุนแรง ความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกัน จึงยังไม่ต้องกังวล เพราะมาตรการป้องกันยังใช้ป้องกันได้ทุกสายพันธุ์