กรมการแพทย์เผยแนวทางการวินิจฉัย ดูแลรักษา ผู้ป่วยไข้เลือดออก (ฉบับย่อ) พ.ศ. 2566 ซึ่งมีการอัปเดตแนวทางวินิจฉัยผู้ป่วยสงสัย การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกเดงกี การวินิจฉัยภาวะเดงกีช็อก การตรวจหาอาการ หรือสัญญาณเตือน ระยะเวลาดำเนินโรค การติดตามระยะวิกฤต และมีการระบุเกณฑ์สำหรับพิจารณารับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล ฯลฯ
11 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เว็บไซต์กรมการแพทย์เผยแพร่แนวทางการวินิจฉัย ดูแลรักษา ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก (ฉบับย่อ) พ.ศ. 2566 จัดทำโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งจากกรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
จุดเด่นของแนวทางฯ ฉบับนี้ ประกอบด้วย การตรวจคัดแยกผู้ป่วยที่มาด้วยไข้ในแผนกผู้ป่วยนอก โดยเน้นย้ำการตรวจ complete blood count (CBC) ในผู้ป่วยที่มีไข้มา 3 วัน การตรวจหาอาการและอาการแสดงที่เป็นสัญญาณเตือน การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกและการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในแต่ละระยะการดำเนินโรคอย่างรวดเร็วและเหมาะสม โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในระยะวิกฤต การวินิจฉัยภาวะช็อก และการหาสาเหตุของภาวะช็อกในผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก เพื่อให้การรักษาได้ทันเวลา
ลักษณะของผู้ป่วยที่ทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคไข้เลือดออกที่รุนแรงและอาจมีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี สตรีตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคอ้วน ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดันเลือดสูง โรคหัวใจ โรคตับ โรคเลือด โรคไต และผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือยาต้านเกล็ดเลือด ทั้งนี้ มีการระบุเกณฑ์การรับผู้ป่วยที่สงสัยจะเป็นไข้เลือดออกเดงกีไว้ในโรงพยาบาลไว้ด้วย หากพบอาการแสดงเพียง 1 ข้อ เช่น รับประทานอาหารและดื่มน้ำไม่ได้ อาเจียนมาก ปวดท้อง อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หน้ามืด เป็นลม มีภาวะเลือดออกมากผิดปกติ โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีประจำเดือนมามากกว่าปกติ หรือมีประจำเดือนมานอกรอบ และผู้ป่วยที่มีปัสสาวะสีน้ำตาลเข้ม มีสีดำ หรือมีสีโค้ก เป็นต้น
แหล่งที่มา: https://www.hfocus.org/content/2023/10/28656