ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ชี้แจงความคืบหน้าในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามนโยบาย Smart Energy and Climate Action เผยข้อมูลล่าสุด หน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว 1,252 แห่ง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และประหยัดค่าไฟได้มากกว่า 300 ล้านบาท/ปี
นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. ให้ข้อมูลผลการศึกษาในปี พ.ศ. 2565 ซึ่งพบว่า โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนคิดเป็น 9% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งประเทศ หรือ 33,766,720 tCO2-eq /ปี โดยกิจกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกสูงสุด คือ การเดินทางมาโรงพยาบาลของผู้ป่วยและญาติ และการใช้ไฟฟ้าในโรงพยาบาล โดยข้อมูลปี 2564 พบว่า มีการใช้ไฟฟ้าถึง 1,217 ล้านกิโลวัตต์/ปี คิดเป็นค่าไฟฟ้าประมาณ 4,730 ล้านบาท/ปี
นพ. โอภาส ให้ข้อมูลว่า ณ วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2566 มีหน่วยบริการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 1,252 แห่งจากทั้งหมด 1,857 แห่ง มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 62,245.80 กิโลวัตต์ สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 35,420 tCO2-eq /ปี ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้กว่า 322 ล้านบาท/ปี ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลไกของนโยบาย Smart Energy and Climate Action (SECA)
นโยบาย SECA: พลังงานอัจฉริยะและการดำเนินการที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ ผ่านกลไก 8 ด้าน ได้แก่ การติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อการประหยัดพลังงาน ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า (EV) อาคารอนุรักษ์พลังงาน (Green Building) การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการโดยลดการเดินทาง หรือใช้ Telemedicine การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการมูลฝอย/น้ำเสีย และกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน
แหล่งที่มา: https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/04/200924/