CIMjournal
พญ. นฤชา จิรกาลวสาน

อาจารย์ พญ. นฤชา จิรกาลวสาน สาขาวิชาโรคระบบการหายใจ


“แม้จะไม่มีใครเห็น ก็ต้องพยายามทำสิ่งที่ดี ในทางตรงกันข้าม ต้องพยายามไม่ทำสิ่งที่ไม่ดี แม้จะไม่มีคนเห็นก็ตาม”

รศ. พญ. นฤชา จิรกาลวสาน
สาขาวิชาอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤต
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิรัชกิจ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กรรมการกลาง สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย
บทสัมภาษณ์จากวารสาร IDV ฉบับที่ 86 ปี 2563


แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาวิชาโรคระบบการหายใจ

จบมัธยมศึกษาตอนต้นที่ โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ และจบมัธยมศึกษาตอนปลายที่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สมัยเรียนชอบวิชาชีววิทยากับวิชาฟิสิกส์ และรู้สึกสนใจเนื้อหาทางการแพทย์ คิดว่าอาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่ได้ช่วยเหลือ ได้พูดคุย และรู้จักกับผู้คน ซึ่งตนเองเป็นคนช่างพูด และครอบครัวก็ยังสนับสนุนอีกด้วย ตอนเอนทรานซ์ได้สอบเทียบขณะอยู่มัธยมศึกษาชั้นปีที่ 5 เข้าที่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในระหว่างเรียนปี 4 ไปเจอคนไข้ที่อยู่อยู่เขานิ่งไปเหมือนไม่หายใจ เป็นวอร์ดที่ไม่ได้มอนิเตอร์ รู้สึกได้ว่าน่าจะมีปัญหา จึงไปตามพี่แพทย์ประจำบ้านมาช่วย พบว่าคนไข้มีออกซิเจนต่ำ และหัวใจไม่ทำงาน จึงรีบตามรุ่นพี่และเริ่มปั๊มหัวใจช่วยคนไข้ ใช้เวลาอยู่นานเขาก็อาการดีขึ้นตามลำดับ ตอนนั้นรู้สึกประทับใจว่า ถึงแม้เราเป็นนิสิตแพทย์ อาจจะไม่ได้มีบทบาทมาก แต่ด้วยความที่ได้ใกล้ชิดกับคนไข้ จึงเห็นความผิดปกติและได้ไปแจ้งให้พี่ทราบ ทำให้รู้ว่าการเรียนแพทย์จะมีบทบาทในการช่วยคนไข้ตั้งแต่ที่เราเป็นนิสิตแพทย์ คิดว่าเมื่อจบไป จะได้ช่วยคนไข้ได้มากขึ้น เรียนจบแพทย์ 6 ปี ได้ไปใช้ทุนที่ โรงพยาบาลค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา 1 ปี จากนั้นคุณป้าที่เป็นแพทย์อยู่ที่อเมริกาแนะนำว่าน่าจะมาเรียนที่ต่างประเทศ เพื่อจะได้ความรู้และประสบการณ์ที่แตกต่างจากการเรียนที่ประเทศไทย จึงได้ไปต่อแพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์ที่ Wright State University Dayton, Ohio ประเทศสหรัฐอเมริกาประมาณ 3 ปี สาเหตุที่อยากเรียนอายุรศาสตร์ เพราะรู้สึกว่าการได้รักษาดูแลคนไข้ผู้ใหญ่ เราจะได้ติดตามคนไข้ไปตลอดและได้ดูคนไข้ในองค์รวม ส่วนเหตุผลที่ตัดสินใจเรียนโรคระบบการหายใจ เพราะตอนผ่านอายุรศาสตร์ หน่วยโรคระบบการหายใจ รู้สึกว่ามีความน่าสนใจ ชอบสรีรวิทยาของการหายใจ คนไข้ระบบการหายใจจะมีอาการรุนแรง มีความทุกข์ทรมานอย่างมากจากโรค เช่น มีอาการเหนื่อย ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ทำให้รู้สึกภูมิใจเวลาที่ได้ช่วยคนไข้และทำให้อาการดีขึ้น จึงเลือกเรียนด้านนี้ จากนั้นได้ไปต่อที่ Albert Einstein College of Medicine, New York ทางด้านโรคระบบการหายใจและด้านเวชบำบัดวิกฤต อีก 3 ปี และไปเรียนต่อเรื่องโรคการนอนหลับ อีก 1 ปี ที่ University of Michigan, Michigan พอเรียนจบก็อยากกลับมาเป็นอาจารย์ในสถาบันที่เราจบการศึกษามา จึงมาเป็นอาจารย์จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลารวม 11 ปี


เป้าหมายที่มีการตั้งไว้ในการเป็นแพทย์ หรือการใช้ชีวิต

เป้าหมายด้านการรักษา จากประสบการณ์การที่ได้ดูคนไข้หลายเคสที่ยาก ทำให้ได้เรียนรู้ ได้พัฒนาตนเอง อยากจะช่วยเหลือคนไข้ให้มากขึ้นและมีประสิทธิภาพที่เพิ่มมากขึ้น ที่โฟกัสไว้จะเป็นด้านของโรคทางการนอนหลับ ซึ่งขณะนี้มีคนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ต้องรักษาโดยใช้อุปกรณ์ เรียกว่าเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก บางทีคนไข้ไม่มีเงิน ในจุดนี้ก็ได้ร่วมจัดตั้งโครงการเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกเพื่อผู้ป่วยยากไร้ขึ้น เพื่อที่จะมาช่วยจัดหาเครื่องช่วยหายใจให้ผู้ยากไร้ โดยให้คนที่เขามีฐานะและกำลังจะซื้อเครื่องใหม่ให้เขานำเครื่องเดิมมาบริจาค หรือบริจาคเป็นเงิน เพื่อเราจะนำไปซื้อเครื่องอัดอากาศให้กับคนไข้ต่อไป ล่าสุดมีผู้สนใจมาบริจาคเครื่อง และเงินจำนวนหนึ่ง

เป้าหมายด้านการเรียนการสอน ในแง่ของวิชาการ ตอนนี้เป็นรองศาสตราจารย์ เป้าหมายคือ อยากเป็นศาสตราจารย์ ก็จะพัฒนาการวิจัยในเรื่องของระบบการหายใจภาวะวิกฤต และโรคความผิดปกติของการนอนหลับ ต่อไป โดยได้ริเริ่มโครงการแพทย์ประจำบ้านต่อยอดเรื่องความผิดปกติจากการนอนหลับ ตอนนี้เปิดเป็นแบบ international program มา 10 ปี ตั้งแต่กลับมาจากต่างประเทศ เป็นที่แรกของประเทศไทย มีแพทย์จากต่างประเทศมาเรียนอย่างต่อเนื่อง รู้สึกดีที่ได้นำความรู้ที่เรียนมา มาช่วยสอนทั้งแพทย์ไทย และชาติอื่น ๆ นอกจากนั้นคือ มีตำแหน่งเป็นเลขานุการด้านการศึกษาก่อนปริญญาของภาควิชาอายุรศาสตร์ ก็จะรับผิดชอบในแง่ของนิสิตแพทย์ดูแลในเรื่องการเรียนการสอนของภาควิชา ตอนนี้มีการจัดตั้ง teaching staff ก็จะช่วยดูตรงนั้นด้วย อยากพัฒนาการเรียนการสอนทั้งระดับนิสิตแพทย์ ระดับแพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ประจำบ้านต่อยอดให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

เป้าหมายด้านงานวิจัย ตอนนี้สนใจทำวิจัยในแง่สหสาขา จะมีทั้งการวิจัยเกี่ยวกับโรคความผิดปกติจากการนอนหลับ โรคระบบการหายใจ ซึ่งตรงนี้มีการตีพิมพ์ในหนังสือวารสารระดับนานาชาติ และช่วยแพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ประจำบ้านต่อยอดในการทำวิจัย เป็นเหมือนอาจารย์พี่เลี้ยง ซึ่งก็มีแพทย์ที่มาติดต่อทำวิจัยร่วมด้วยอย่างต่อเนื่อง

เป้าหมายด้านการบริหาร ตอนนี้ได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยคณบดี ฝ่ายวิรัชกิจ คือ ฝ่ายนานาชาติ โดยเริ่มรับงานมาประมาณ 2 ปีกว่า ช่วยในเรื่องของการพัฒนาความสัมพันธ์ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ตั้งแต่การแลกเปลี่ยนนิสิตแพทย์ การทำวิจัย การจัดการประชุม เรื่องการเรียนการสอนอื่น ๆ หรือแม้แต่นโยบายของคณะกับต่างประเทศ คิดว่าอยากพัฒนา เพื่อให้คณะแพทยศาสตร์ ของจุฬาฯ เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับนานาชาติ


ที่ผ่านมาเป้าหมายที่สำเร็จ เกิดจากอะไร

เป้าหมายที่สำเร็จ ในส่วนที่เกิดจากตนเอง คือ อย่างแรก เรื่องความอดทนและความตั้งใจ ตอนนี้มีลูกเล็ก อายุ 5 ขวบครึ่ง แม้งานจะค่อนข้างหนัก ก็จะพาลูกเข้านอนตอน 2 ทุ่ม ทุกวัน ยกเว้นว่าติดภาระจริง ๆ และบ่อยครั้งที่จะตั้งนาฬิกาปลุกประมาณ ตี 3 ตี 4 เพื่อมานั่งทำงานวิจัย งานบริหาร และงานอื่น ๆ อย่างช่วงที่เคยจัดประชุมเป็นรองประธานฝ่ายวิชาการในการจัดการประชุมนานาชาติ (The 21st Congress of Asian Pacific Society of Respirology) เมื่อ 4 ปีก่อน ทำงานดึกมากหลายคืนติดกัน ส่ง e-mail ไปหาวิทยากรเชิญเข้าประชุมตอนตี 3 วิทยากรถามว่าทำไมถึงตื่นเช้ามาก ก็บอกอาจารย์ว่ายังไม่ได้นอนเลย คือจะทุ่มเทกับงานมาก และงานนั้นก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งจากประเทศไทยและนานาชาติกว่า 2,000 คน รู้สึกว่าส่วนดีของตนเอง คือ ถ้ามีงาน ต้องตั้งใจเต็มที่ นี่เป็นจุดหนึ่งที่อาจจะช่วยในเรื่องของการทำงานได้สำเร็จ

อย่างที่สอง การเป็นคนมองโลกในแง่ดี บางครั้งงานยุ่ง ต้องดูโรคระบบการหายใจ ดูไอซียู บางทีโดนตามมาดูคนไข้ตอนกลางคืน ปกติก็จะไม่หงุดหงิด พยายามมองในแง่ดีว่า แม้มันจะเป็นงานที่เหนื่อย อาจไม่ได้นอน แต่ในการดูคนไข้ แล้วเราให้การรักษา ทำให้คนไข้อาการดีขึ้น ก็รู้สึกดี นอกจากนั้นก็ทำให้ได้เรียนรู้ ได้พัฒนารู้สึกว่า ได้ทำประโยชน์ คงเป็นเพราะเป็นคนมองโลกในแง่ดี แม้งานจะหนัก ก็สามารถทำต่อไปได้

สำหรับปัจจัยภายนอก ตนเองโชคดีที่ได้เจอกับคนที่ดี ไม่ค่อยเจอคนที่เอาเปรียบ ได้เจอคนที่มีแนวทางในการทำงานเหมือนกัน ทำให้ช่วยกันทำงาน และประสบความสำเร็จหลายอย่างในงานดังที่ตั้งใจไว้


มีบางครั้งเป้าหมายไม่สำเร็จเกิดจากอะไร ควรปรับปรุงเรื่องอะไร

บางทีมีปัญหาเรื่องการจัดลำดับความสำคัญของงาน เนื่องจากจำนวนงานที่มาก บางทีทำงานหลายอย่างพร้อมกัน อย่างเรื่องคนไข้ เรื่องงานบริหาร เรื่องงานวิจัย เรื่องครอบครัว บางครั้งก็จัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่าง ๆ ไม่ค่อยดี ไม่แน่ใจว่าอะไรมีความสำคัญกว่ากัน พยายามแก้ไขโดยพัฒนาในเรื่องของการแบ่งเวลา เลือกสิ่งที่สำคัญ และลำดับการทำงานให้เหมาะสม

ส่วนในเรื่องการเรียนการสอน ด้วยความที่เป็นคนใจดี ทำให้บางทีรู้สึกว่าลูกศิษย์ไม่ค่อยเกรงขาม มีความกังวลว่าเวลาตักเตือนสั่งสอน ลูกศิษย์จะเชื่อที่สอนหรือเปล่า สิ่งที่แนะนำเขาไป เขาจะไปปรับปรุงแก้ไข ตามที่เราแนะนำหรือไม่ ก็จะพยายามที่จะดุขึ้น แต่เนื่องจากพื้นฐานตนเองเป็นคนที่ใจดี ขี้สงสาร ก็ค่อนข้างจะลำบาก แต่ก็คิดว่าอาจารย์แต่ละคนก็มีวิธีการสอน ลักษณะนิสิย ที่แตกต่างกัน ก็น่าจะทำให้นิสิตได้ประสบการณ์การเรียนรู้หลาย ๆ แบบ


ในอดีตที่ผ่านมาเวลาประสบปัญหา เหนื่อยหรือท้อปรึกษากับใคร

เรื่องงาน หลัก ๆ คนที่ปรึกษาคือ น้องสาว พญ. นฤดา จิรกาลวสาน สนิทกันมาก จบแพทยศาสตร์จากจุฬาฯ เช่นกัน ห่างกันเพียง 1 ปี ตอนนี้อยู่ที่ กลุ่มงานพยาธิวิทยา โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ส่วนใหญ่จะไม่ได้คุยในเรื่องวิชาการจะคุยในแง่ mental support ในเรื่องของการทำงานทางการแพทย์มากกว่า เวลารู้สึกเครียด ไม่สบายใจ คนไข้อาการไม่ดี น้องจะคอยปลอบ คอยให้กำลังใจ เพราะเป็นแพทย์เหมือนกัน รายละเอียดบางอย่าง เราก็อาจไม่อยากเล่าให้คนที่ไม่สนิทมากฟัง การที่เขาสนิทกับเรามาก และเขาเป็นแพทย์ เขาจะเข้าใจทุกสิ่งที่เราอธิบาย มีปัญหาก็ช่วยได้มาก ส่วนเรื่องส่วนตัวจะปรึกษาสามี นายปาณสาร สมบุญธรรม เป็นสถาปนิก และอาจารย์พิเศษที่ International Program in Design and Architecture (INDA) จุฬาฯ บ้าง น้องสาวบ้าง ถ้าเป็นเรื่องครอบครัว การดำเนินชีวิต จะปรึกษาคุณพ่อ รศ. ฤชากร จิรกาลวสาน อาจารย์เกษียณจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และคุณแม่ รศ. นันทินี จิรกาลวสาน อาจารย์เกษียณจากคณะวิทยศาสตร์ จุฬาฯ ก็จะได้ในเรื่องของแนวคิด และกำลังใจจากท่านทั้งสอง


บุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน

คนแรก คือ ศ.เกียรติคุณ พญ. คุณนันทา มาระเนตร์ อาจารย์เป็นต้นแบบในทุกด้าน ในมุมของการเป็นแพทย์ นักวิชาการ อาจารย์เป็น ศ.เกียรติคุณ ในเรื่องของการดำเนินชีวิต การวางตัว อาจารย์เป็นคนที่คิดถึงผู้อื่นเสมอ เป็นคนที่มีจิตใจดีมาก ให้ความช่วยเหลือคนรอบตัว ไม่ถือตัว เคยทำงานกับอาจารย์อย่างใกล้ชิดอาจารย์เป็นคนขยันมาก อาจารย์จะโทรศัพท์มาคุยเรื่องงานแม้แต่ตอนดึก ๆ อาจารย์เป็นเพื่อนตั้งแต่สมัยเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กับคุณป้า พญ. ภัทรวดี ดวงจักร ซึ่งขณะนี้อยู่ที่สหรัฐอเมริกาที่ไปอยู่ด้วยตอนไปศึกษาต่อ อาจารย์คุณนันทาจะแทนตัวเองเวลาคุยว่าป้า รู้สึกรักและชื่นชมอาจารย์มาก

คนที่สอง คือ ศ. นพ. สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ท่านเป็นกุมารแพทย์ทางด้านต่อมไร้ท่อ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำงานร่วมกับอาจารย์ในฐานะผู้ช่วยคณบดีมาประมาณ 2 ปีครึ่ง ชื่นชมในเรื่องของการบริหาร ความเป็นผู้นำของอาจารย์ในการขับเคลื่อนองค์กรใหญ่อย่างคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จนเติบโตขึ้นและเป็นที่ยอมรับ ได้ทำงานใกล้ชิดกับอาจารย์ เพราะอยู่ด้านวิรัชกิจ คือ ต้องเดินทางไปต่างประเทศกับอาจารย์ ไปสานความสัมพันธ์ในด้านต่าง ๆ กับต่างประเทศ อาจารย์เป็นศาสตราจารย์ ทางด้านครอบครัวอาจารย์เป็นคุณพ่อ มีลูก 2 คน ที่เติบโตเป็นคนดีทั้งคู่ ชื่นชมเรื่องการแบ่งเวลาของอาจารย์ อาจารย์ประสบความสำเร็จทั้งด้านวิชาการและครอบครัว และเป็นคนที่มีบุคลิกน่านับถือ เป็นคนใจดี กันเอง และดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นอย่างดี

คนที่สาม ศ. นพ. กัมมันต์ พันธุมจินดา เป็นต้นแบบในแง่ของวิชาการ คืออาจารย์มาราวด์ ตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตแพทย์ ตั้งแต่ 7 โมงทุกวันมาตลอด ตอนนี้อาจารย์เกษียณแล้ว ก็มาราวด์กับนิสิตแพทย์ตลอดเช่นกัน ชื่นชมในแง่ของความมุ่งมั่น ในแง่ของการสอน อาจารย์ทำบริหารด้วย และเป็นอดีตประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ตอนนี้มาประชุมก็ยังเจออาจารย์มาประชุมตลอด เช่น งานของภาควิชาอายุรศาสตร์ชื่นชมอาจารย์ ในแง่ของความรู้ด้านประสาทวิทยา อาจารย์สามารถวินิจฉัยได้อย่างเฉียบคม โดยทุกคนถืออาจารย์เป็นต้นแบบว่า สามารถวินิจฉัยเคสคนไข้ได้ถูกต้อง ตั้งแต่ประวัติ

คนที่สี่ ศ. นพ. ธานินทร์ อินทรกำธรชัย อาจารย์เป็นอดีตประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์เช่นเดียวกัน ตอนที่กลับจากต่างประเทศมาเป็นอาจารย์ในช่วงแรกอาจารย์เป็นหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ ได้ทำงานใกล้ชิดกับอาจารย์ ซึ่งอาจารย์เป็นคนที่มีความสามารถทางด้านโลหิตวิทยาและด้านอายุรกรรมทั่วไป อาจารย์เป็นคนเก่ง ที่มีความอุตสาหะ เป็นแบบอย่างที่ดี เมื่อมีงานประชุมวิชาการของภาควิชา แม้จะเป็นหัวหน้าภาควิชา อาจารย์ก็เข้ากิจกรรมเกือบทุกครั้ง อาจารย์ดูแลลูกภาควิชาเป็นอย่างดี และมีน้ำใจให้กับลูกภาควิชาทุกคน


คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต

ยึดหลักที่ว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” เพราะแต่ละคนเกิดมาพื้นฐานความรู้ความสามารถอาจไม่เท่ากัน แต่เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ส่วนประกอบหลักของความสำเร็จ ที่สำคัญกว่าจริง ๆ คือ ความพยายาม คิดว่าถ้าเราพยายามอย่างเต็มที่ ทุกคนก็สามารถประสบความสำเร็จได้ ขึ้นกับว่าจะพยายามแค่ไหน และจะหยุดพยายามเมื่อไร ถ้าเราไม่หยุดก็คงไปถึงจุดที่เราต้องการ แต่ส่วนใหญ่คนเราจะหยุดเสียก่อนอยากให้ทุกคนตั้งเป้าหมายและพยายามไปให้ถึง

“ทำดีต้องได้ดี” แม้จะไม่มีใครเห็น ก็ต้องพยายามทำสิ่งที่ดี ในทางตรงกันข้ามคือ พยายามไม่ทำสิ่งที่ไม่ดี แม้จะไม่มีคนเห็นก็ตาม เราทำดี คนอื่นเขาอาจไม่รู้ว่าเราทำดี แต่เรารู้ว่าเราทำดี เชื่อว่ายังไงก็จะเกิดสิ่งที่ดี ๆ กลับมา ยึดหลักนี้ทำให้พยายามทำสิ่งที่ดี ๆ ตลอด

“ธรรมะย่อมชนะอธรรม” ถ้าไปเจอคนที่ไม่ดีก็จะคิดว่าถึงคนนี้จะไม่ดี เขาก็มีข้อดีในตัวเขา ข้อใดข้อหนึ่งเสมอ ไม่คิดว่าคน ๆ หนึ่งจะไม่ดีไปทั้งหมด เพราะคนส่วนใหญ่จะคิดว่า คนนี้ไม่ดีก็ไม่ยุ่งเกี่ยว ไม่ให้โอกาส ซึ่งจะเป็นคนที่ไม่คิดอย่างนั้น คิดว่า ทุกคนมีข้อดีของตนเอง ทุกคนสามารถปรับได้ไม่มากก็น้อย และทุกคนสามารถเปลี่ยนเป็นคนที่ดีขึ้นได้


มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางอนาคตเป็นอย่างไร

โรคโควิด-19 เป็นอะไรที่ทำให้เห็นแนวทางการแพทย์ของประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปในทางที่ค่อนข้างดี เนื่องจากระบบการแพทย์พื้นฐานของประเทศไทยเป็นระบบ 30 บาท (universal coverage) ซึ่งจริง ๆ เป็นระบบที่ดี ทำให้คนไข้ส่วนใหญ่สามารถรับการรักษาขั้นพื้นฐานได้ ทำให้เห็นว่าเป็นจุดที่ดีของประเทศไทย และความรู้ความสามารถของแพทย์ไทยนั้นดีเทียบเท่ากับ หรืออาจจะดีกว่าหลาย ๆ ประเทศ แต่เราต้องพยายามหาจุดที่จะปรับให้ดีขึ้นได้ อย่างช่วงที่โควิด-19 ระบาด ตอนนั้นเราได้เห็นว่าทั้งประเทศมีปัญหาเตียงไอซียูไม่พอ โดยทั่วไปอัตราส่วนของเตียงไอซียู ควรจะมีประมาณ 10 – 20 % ของจำนวนเตียงทั้งหมดที่มีอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะมีไม่ถึง เหตุการณ์นี้ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า ควรจะต้องมีการพัฒนาเพิ่มเตียงคนไข้ไอซียู เพื่อรองรับเหตุการณ์โรคอุบัติใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้เสมอส่วนอุปกรณ์ป้องกัน เราพบว่าเรายังมีหน้ากากอนามัยกับชุด PPE ไม่เพียงพอ ซึ่งจริง ๆ น่าจะสามารถผลิตได้ในประเทศไทยได้ ควรสนับสนุนให้มีโรงงานในการผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ในประเทศและถ้าสามารถผลิตให้มากพอ ก็น่าจะสามารถนำไปขายต่างประเทศได้ และคิดว่าแนวโน้มในอนาคตประเทศไทยน่าจะเป็น medical hub ที่มีธุรกิจ medical tourism อันดับต้น ๆ ของโลก เพราะตอนนี้ทั่วโลกได้เห็นถึงระบบการแพทย์ที่ดีของประเทศไทย จากการที่เราสามารถควบคุมโรคโควิด-19 ได้ดี แม้แต่ในแง่ของการเรียนการสอน ตอนนี้ทางคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการติดต่อกับทางประเทศอังกฤษ กำลังจะเริ่มโครงการ Health Education England (HEE) ซึ่งเป็นโครงการแลกเปลี่ยนของประเทศไทยกับประเทศอังกฤษ โดยกำลังจะมีการเซ็น Memorandum of Understanding (MOU) ซึ่งทางประเทศอังกฤษชื่นชมประเทศไทยมาก อยากจะส่งแพทย์มาดูงานทางด้าน infection control และ ด้าน public health เพื่อเรียนรู้จากเรา โดยสรุปคือ เหตุการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เป็นโอกาสที่ดีที่ประเทศไทยเราเองได้เห็นจุดที่จะสามารถนำไปพัฒนาให้การรักษาคนไข้ของเราให้ดีขึ้น และเปิดโอกาสให้กับประเทศทั้งในแง่ของการเป็น medical hub ทั้งทางการรักษา ธุรกิจ หรือการที่เราจะเป็นศูนย์กลางของแพทยศาสตร์ศึกษาของโลกในอนาคต


ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะประสบความสำเร็จต้องทำอย่างไร

สำหรับแพทย์ทั่วไป ข้อแรก อยากให้มีความพร้อมในการรักษาคนไข้ที่นอกเหนือจากความถนัดของเรา เป็นจุดหนึ่งที่คิดว่าสำคัญ เพราะไม่รู้ว่าโรคอุบัติใหม่ จะมาเมื่อไร เราต้องรู้รอบด้าน โดยเฉพาะการรักษาคนไข้วิกฤตขั้นพื้นฐาน การเป็นแพทย์ต้องทำได้หลายอย่างไม่ใช่ว่าเราเป็นแพทย์ด้านนี้และจะไม่ทำด้านอื่น เราจะต้องมีความรู้เพิ่มขึ้น รักษาโรคในวงกว้างได้มากขึ้น เปิดรับความรู้ใหม่ ๆ เพื่อรองรับโรคอุบัติใหม่ ๆ ต่าง ๆ ที่จะมาในอนาคต ข้อต่อมา อยากจะให้วางแผนชีวิตคือ การเป็นแพทย์มีหลายแนวทาง เป็นแพทย์ อาจารย์แพทย์ แพทย์นักวิจัย แพทย์เพื่อชุมชน อยากให้น้อง ๆ ลองตั้งเป้าหมายว่า อยากเป็นแพทย์แนวไหน เพราะแม้จะเป็นแพทย์เหมือนกัน แต่ก็มีแนวทางที่ต่างกันต้องมีความพยายาม ความตั้งใจเพื่อจะไปถึงเป้าหมาย

สำหรับแพทย์เฉพาะทางโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤต อยากให้พยายามพัฒนาเรื่องของการดูแลคนไข้ และมีความภูมิใจที่เป็นแพทย์ด้านระบบการหายใจและภาวะวิกฤต ทุกครั้งที่ได้ดูแลคนไข้ เราได้เรียนรู้พัฒนาไปด้วย พยายามอัพเดทความรู้ใหม่ ๆ จะทำให้เราเก่งขึ้น เพราะโควิด-19 ทำให้ทราบว่าแพทย์ระบบการหายใจและภาวะวิกฤต เป็นแพทย์ที่เป็นที่ต้องการเป็นอย่างมาก อยากให้น้อง ๆ มองว่าไม่ใช่งานหนัก งานเหนื่อยเพียงอย่างเดียว อยากให้มองว่าสาขาเรามีความสำคัญ สามารถช่วยเหลือให้คนไข้รอดชีวิตได้ อยากให้มีความภูมิใจในสาขาวิชานี

ส่วนแพทย์ทางด้านโรคการนอนหลับ อยากให้น้อง ๆ พยายามที่จะพัฒนาสาขานี้ต่อไป เพราะเป็นสาขาที่ค่อนข้างใหม่ ยังต้องการคนรุ่นใหม่ไฟแรงมาพัฒนาทั้งในแง่ของการเรียนการสอน การดูแลคนไข้ การให้ความรู้กับคนไข้ คนไข้บางคนไม่รู้จักภาวะหยุดหายใจขณะหลับด้วยซ้ำ เพราะเป็นโรคใหม่

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก