การระบาดของไวรัส COVID-19 ผ่านไป 18 เดือน พบว่ามีผู้ป่วยเบาหวานจำนวนมากที่ติดเชื้อ และมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีพอ ขณะที่ยังไม่รู้ว่าการระบาดจะสงบเมื่อไหร่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ป่วยเบาหวานจะต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี และเข้ารับการฉีดวัคซีน COVID-19 เพื่อป้องกันผลกระทบระยะยาว อีกทั้งยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องศึกษาเพื่อปรับปรุงการดูแลผู้ป่วยให้ดีขึ้น
ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจาก COVID-19 มากกว่าผู้ที่ไม่ป่วย
ข้อมูลจากการตีพิมพ์ใน Diabetes Care พบว่า ผู้ป่วย COVID-19 ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 30 – 40% มีโรคเบาหวานร่วมด้วย และในจำนวนนี้ 21 – 43% เข้ารับการรักษาใน Intensive care และ 25% เสียชีวิต จากการศึกษาเพื่อเปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตจาก COVID-19 ของผู้ที่ป่วยเบาหวานและผู้ที่ไม่ป่วยเบาหวานในประเทศอังกฤษ พบผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงกว่าผู้ที่ไม่ป่วย 3 เท่า (odd ratio 2.9) และผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ที่ไม่ป่วย 2 เท่า (odd ratio 1.8) สาเหตุที่ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงที่เสียชีวิตมากกว่า เนื่องมาจากผู้ป่วยเบาหวานมักมีโรคประจำตัวอื่นร่วมด้วย เช่น โรคอ้วน โรคไต โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงกลไกในการตอบสนองต่อการอักเสบ การสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงก็ยิ่งทำให้อาการป่วยแย่ลง
ผู้ป่วยเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจาก COVID-19 มากกว่าผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
การศึกษาที่ประเทศจีน ผู้ป่วย COVID-19 ที่เป็นเบาหวานร่วมด้วยจำนวน 605 คน พบผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง มีอาการป่วย COVID-19 รุนแรงกว่าผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ โดยผู้ที่วัดค่า FPG 6.1-6.9 mmol/L และ ≥ 7 mmol/L พบค่า odds ratios of poor outcomes = 4 เทียบกับผู้ที่มีค่า FPG < 6.1 mmol/L นอกจากนี้การเก็บข้อมูลที่ประเทศอังกฤษ ยังพบผู้ป่วยเบาหวานที่มีระดับ HbA1c 9%-9.9% มีความเสี่ยงเสียชีวิตสูงกว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่มีระดับ HbA1c 6.5% – 7%. ถึง 36% อย่างไรก็ตามยังไม่ทราบแน่ชัดว่า หากค่า HbA1c เป็นปกติ (6.5% – 7%) จะช่วยลดความรุนแรงของอาการป่วยด้วย COVID-19 หรือไม่
ยังมีเรื่องที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมอีกหลายเรื่อง
แม้จะพบว่า ผู้ป่วยเบาหวานโดยเฉพาะผู้ที่มีค่าน้ำตาลในเลือดสูงหรือผู้ที่ควบคุมน้ำตาลไม่ได้ จะมีความเสี่ยงต่ออาการที่รุนแรงและเสียชีวิตจาก COVID-19 มากกว่าผู้ป่วยทั่วไป แต่ยังมีหลายประเด็นที่ควรศึกษาเพิ่มเติม เช่น ผู้ป่วยเบาหวานแต่ละระยะ แต่ละชนิดมีความเสี่ยงต่อการรับ ติดเชื้อ และรักษาตัวในโรงพยาบาลเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ผลในทางอ้อมของการระบาดของ COVID-19 ส่งผลต่อการรักษาในปัจจุบันอย่างไร ต้องปรับวิธีการให้เหมาะสมอย่างไร หรือการฉีดวัคซีน COVID-19 และกระบวนการรักษาอื่น ๆ มีผลต่อผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างไร ทั้งหมดนี้ยังเป็นคำถามที่ยังต้องศึกษาต่อไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.medscape.com
ภาพประกอบจาก www.freepik.com