รศ. พญ. สว่างจิต สุรอมรกูล
รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิรพยาบาล
คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
ที่มาที่ไปของโครงการแอพ Vajira@Home
ช่วงเริ่มต้นการระบาดของเชื้อโควิด 19 ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2563 คนไข้โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ไม่ควรมาโรงพยาบาล ให้รอรับยาที่บ้าน ทางโรงพยาบาลจะส่งยาทางไปรษณีย์ให้กับคนไข้ จึงได้มีการทำ MOU กับทางไปรษณีย์ไทย และเริ่มมีการเปลี่ยนรูปแบบการรักษา การเรียนการสอน การประชุมเป็นรูปแบบออนไลน์ ซึ่ง Telemedicine หรือการพบแพทย์ทางไกล เป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจอย่างมากในรูปแบบการทำแอพพลิเคชั่น
“คนไข้เบาหวานต้องมี
การเจาะวัดระดับน้ำตาล
พอถึงวันตรวจปรากฏว่า
คนไข้ลืมผลตรวจมา
พอถามคนไข้ว่า
มีของอะไรที่ไม่ลืมบ้าง
ส่วนใหญ่จะตอบว่า
โทรศัพท์มือถือที่ไม่ค่อยลืม”
จริง ๆ เรื่องแอพพลิเคชั่นก่อนหน้านี้ มีความสนใจและเคยเสนอที่จะทำอยู่แล้ว แต่มีคำถามถึงความคุ้มค่าคุ้มทุนและจำนวนผู้ที่จะใช้งาน จึงต้องพับโครงการไว้ก่อนและเก็บสะสมประสบการณ์ ปัญหาจากการรักษาคนไข้เบาหวานมากว่า 20 ปี ทำให้รู้ painpoint ของทั้งฝั่งคนไข้และแพทย์ว่าอยู่ตรงไหน ทางฝั่งคนไข้ มีคนไข้บางรายที่ซื้อแอพต่างประเทศมาใช้ โดยมีค่าใช้จ่ายรายเดือน สุดท้ายก็ยกเลิกไป เพราะคิดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเสียเงินค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพระยะยาวนี้ การสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนและเข้าใจในการดูแลโรคเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจึงเป็นปัจจัยสำคัญ แต่คนไข้ส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงการใช้แอพมาช่วยในการดูแลติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างกลุ่มคนไข้เบาหวานที่มีการเจาะวัดระดับน้ำตาลด้วยตนเองที่บ้าน พอถึงวันตรวจปรากฏว่าคนไข้ลืมนำผลตรวจมา พอถามคนไข้ว่ามีของอะไรที่ไม่ลืมบ้าง ส่วนใหญ่จะตอบว่าโทรศัพท์มือถือที่ลืมไม่ได้ จึงคิดว่าถ้าเราให้ผู้ป่วยลงผลการตรวจน้ำตาลโดยบันทึกเข้าไปในมือถือได้ จะช่วยด้านการเข้าถึงและสะดวกในการใช้งาน คนไข้ไม่ต้องนำผลตรวจไปในวันตรวจ ขณะที่แพทย์สามารถดูผลผ่านทาง web application ได้ด้วย
17 เมษายน 2563 มีการประกาศทุนโควิดของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงได้ปรึกษาท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลเพื่อขออนุญาตทำโครงการ Vajira Telemedicine และได้รับคำปรึกษาแนะนำจากหลายฝ่าย ช่วยออกแบบ patient journey มาไว้ในโครงการให้ครอบคลุมมากที่สุดเป็น 13 ระบบ รวมถึงการทำแอพลิเคชั่น เพื่อให้คนไข้ใช้บริการทางมือถือ เป็น Application Vajira@Home เมื่อได้รับการอนุมัติทุนจึงมีการจัดซื้อจัดจ้างและทำคำสั่งแต่งตั้งเป็นคณะทำงานเพื่อพัฒนาทั้ง 13 ระบบ โดยลงรายละเอียดในแต่ละระบบ ทั้งในด้านการใช้งานอย่างมีคุณภาพ ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ user friendly และความยั่งยืนในการใช้งานด้วยการเป็นอีกช่องทางในการรักษาพยาบาลปัจจุบันและอนาคต (omni channel)
“ปัจจุบันนี้มีการลงทะเบียนแอป
Vajira@Home
3 หมื่นกว่าราย
โดยมีหน่วยงานของ
โรงพยาบาลที่ให้บริการทางด้าน
Telemedicine ประมาณ
26 หน่วยงาน”
ปัจจุบันโครงการ Vajira Telemedicine และแอพ Vajira@Home ของทางโรงพยาบาล มีผู้ใช้มากน้อยอย่างไร
ผู้ใช้งานระบบมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทางด้านคนไข้ ตอนนี้มีการลงทะเบียนใช้แอพ Vajira@Home 3 หมื่นกว่าราย ทางด้านหน่วยงานของโรงพยาบาลที่ให้บริการทางด้าน Telemedicine ประมาณ 26 หน่วยงาน จากสหสาขาวิชาชีพ ทั้งแพทย์ที่ให้บริการมีหลากหลายด้าน เช่น แพทย์ต่อมไร้ท่อ จิตแพทย์ กุมารแพทย์ แพทย์กระดูกและข้อ ศัลยแพทย์ที่มีการปรับรูปแบบเพื่อตอบรับนโยบายการให้บริการของ สปสช. เป็นการผ่าตัดแบบ วันเดียวกลับ ODS (one day surgery) โดยเตรียมการผ่าตัดก่อน 2 วัน วันผ่าตัด 1 วัน หลังผ่าตัด 2 วัน รวมเป็น 5 วัน พัฒนาเป็น TeleODS เพื่อช่วยลดการเดินทางคนไข้ในบางวันและวันที่ 4 – 5 ถ้าไม่มีปัญหาอะไร คนไข้สามารถกลับไปดูแลรักษาตัวต่อที่บ้านได้ทันที และจะมีทีมแพทย์พยาบาล teleODS ติดตามอาการ หรือกรณีศูนย์บาดแผลและทวารเทียม (Ostomy and wound care) ใช้ติดตามแผล คนไข้ไม่ต้องมาทำแผลที่โรงพยาบาลทุกวัน สามารถทำแผลที่บ้านแล้วใช้ TeleWound care ดูว่าแผลดีขึ้นหรือไม่ อีกตัวอย่างคือกลุ่มคนไข้ NCDs เป็นกลุ่มที่เหมาะมากกับการใช้ TeleMonitoring เพื่อติดตามน้ำหนัก เจาะปลายนิ้วดูระดับน้ำตาลในเลือด วัดความดันโลหิต ถ้าทุกอย่างคงที่ สามารถขอรับยาต่อเนื่อง ไม่ต้องมาพบแพทย์ทุกครั้ง หรือสามารถนัดพบแพทย์ทางไกล (TeleDoctor) เพื่อปรึกษาขอคำแนะนำการรักษา เป็นอีกทางที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยดูแลสุขภาพด้วยตนเองหรือ care giver ที่บ้านดูแล หรือคนไข้ติดเตียงที่ไม่สะดวกเดินทาง ซึ่งมีคนไข้ติดเตียงอยู่ 3 ราย ที่รักษาด้วย TeleDoctor TeleMonitoring ซึ่งญาติคนไข้พอใจกับการรักษาด้วยช่องทางนี้ด้วยการเจาะเลือดปลายนิ้วดูค่าน้ำตาล วัดความดันที่บ้าน แล้วญาติบันทึกผลลงในแอพ หรือเจาะเลือดที่บ้านนำส่งห้องแลปที่โรงพยาบาล ผลการตรวจเลือดสามารถดูได้ในแอพเช่นกัน ทั้งนี้การทำ Telemedicine ของโรงพยาบาลได้ดำเนินการตามกฎกระทรวงสาธารณสุขที่ประกาศไว้
ในมุมมองของอาจารย์ ผู้ที่ดูแลโครงการเกี่ยวกับแอพของโรงพยาบาลต้องเป็นแพทย์หรือมีความรู้ด้าน IT และใช้เวลามากน้อยขนาดไหน
คำถามแรกต้องเป็นแพทย์หรือไม่คือ ถ้าเป็นแพทย์จะมีข้อดีตรงที่ เราจะเห็นความเชื่อมโยงทั้งหมด ของpatient journey เพราะต้องคิดเสมือนว่า เป็นการให้บริการของทางโรงพยาบาลกับคนไข้อีกช่องทางหนึ่ง โดยที่คนไข้ไม่ต้องเดินทางมาด้วยตนเอง กระบวนการทุกอย่างเสมือนว่าคนไข้มาโรงพยาบาลจริง ๆ ดังนั้น patient journey จะต้องครบเริ่มตั้งแต่คนไข้มาโรงพยาบาล ยื่นบัตรที่เวชระเบียน เปิดสิทธิ อนุมัติสิทธิ คัดกรอง ซักประวัติ ส่งตรวจ และพบแพทย์ แพทย์อาจจะมีการเจาะเลือด เอกซเรย์ หรือสั่งยา คำสั่งพวกนี้จะส่งไปแผนกต่าง ๆ คนไข้ต้องเดินไปตรวจยังแผนกต่าง ๆ แต่อย่าลืมนะว่าคนไข้ไม่ได้มา คนไข้มาแบบ Virtual เสร็จแล้วทั้งหมดต้องมารวมที่ค่าใช้จ่ายทั้งหมดเท่าไหร่ ชำระเงินอย่างไร ถ้ามีสิทธิที่จะต้องส่งเคลมเข้าไปตามระบบ ทั้งหมดนี้แพทย์จะเป็นส่วนหนึ่ง จะอยู่แค่ในห้องตรวจ แต่ patient journey ในโรงพยาบาลมีอีกหลายส่วน ดังนั้นถ้าถามว่าจำเป็นต้องเป็นแพทย์ไหม ความเห็นส่วนตัวคิดว่ามีแพทย์เป็นส่วนหนึ่งของทีมน่าจะดีกว่า
“ดังนั้นถ้าถามว่า
จำเป็นต้องเป็นแพทย์ไหมความเห็นส่วนตัวคิดว่า
มีแพทย์เป็นส่วนหนึ่ง
ของทีมน่าจะดีกว่า”
ส่วนคำถามต่อมาที่ว่า คนที่ทำโครงการนี้ต้องมีความรู้ไอทีมากน้อยแค่ไหน ต้องตอบว่าตัวเองไม่ได้มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีอย่างลึกซึ้ง เพียงแต่ว่าช่วยกันคิดออกแบบ สื่อสารให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าใจ ตัดสินใจเพื่อให้งานสามารถพัฒนาใช้งานได้จริง ยกตัวอย่างทีม dev เราก็ต้องสื่อสารให้ได้ว่า แพทย์อยากได้อะไร ใช้งานอะไร คนไข้ต้องทำอะไร สะดวกแบบไหน โรงพยาบาลต้องการอะไร ทีม dev ทำหน้าที่พัฒนาระบบจะเป็นทีมออกแบบโปรแกรมตามความต้องการของผู้ใช้ จะเขียนโปรแกรม ออกแบบ UX/UI โดยมีการประชุมออนไลน์ทุกสัปดาห์กับทุกภาคส่วน ทั้งคณบดี ผอ.ทีม dev ทีมไอที แพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ เพื่อกำกับติดตามอย่างต่อเนื่อง
ฝ่ายไอทีของคณะฯ จะร่วมพิจารณาความเป็นไปได้ ความปลอดภัยและเสนอแนะการทำงานระบบที่เหมาะสมให้นำไปพัฒนาระบบ ส่วนทางด้านอื่น ๆ มีการขอความร่วมมือ ขอความช่วยเหลือคนที่มีความสามารถในด้านนั้น ๆ มาช่วยงานทั้งบุคลากรที่อยู่ในและนอกโรงพยาบาล อย่างเราอยากให้ความรู้เรื่องโรคเบาหวาน ลูกชายมีความถนัดในการทำโปรแกรมเกมส์ ก็ชวนเขามาช่วยทำเกมส์ในแอพที่ชื่อว่า “ยิ่งเล่นยิ่งรู้” เป็นฟรีเกมส์เพื่อทดสอบและทบทวนความรู้คนไข้โรคเบาหวาน อยู่หน้าจอของ Vajira@Home
สำหรับคำถามเรื่องเวลาที่ผู้ทำโครงการต้องใช้ ต้องขอออกตัวก่อนว่า ช่วงที่พัฒนางาน Telemedicine และแอพพลิเคชั่น เป็นช่วงที่โควิด 19 ระบาด คนไข้ส่วนใหญ่ไม่มาโรงพยาบาล เราจึงมีเวลาพลิกวิกฤตเป็นโอกาส โดยมีการเรียนรู้และพัฒนาระบบต่าง ๆ ทั้ง 13 ระบบและแอพในเวลางานปกติ โดยในแต่ละระบบจะมีการกำหนดวัตถุประสงค์ มีการวางระบบ แล้วพัฒนาเป็นเฟส 1 เฟส 2 เฟส 3 จนสามารถเปิดตัวแอพนี้ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 โดยช่วงแรก ๆ เป็นการทำไป ปรับไป ใช้ไป โดยแอพ Vajira@Home สามารถใช้ได้กับแพทย์และคนไข้ทุกคนของโรงพยาบาล
“สิ่งสำคัญคือ
คนไข้ไม่ได้ต้องการ
ใช้งานเยอะ ขอให้ใช้ง่าย
เห็นผลการรักษาอยู่ในมือถือ
คนไข้มีความสุข
แอพ Vajira@Home
จะมีประวัติและผลการรักษา
ของคนไข้ทั้งหมด
ถ้าคนไข้ไปรักษาที่อื่น
สามารถเปิดข้อมูลการรักษา
ของตนเองและอนุญาต
ให้แพทย์ตรงหน้าดูเอง
ทำให้ตัดปัญหาของ PDPA”
ในมุมมองของอาจารย์ ขั้นตอนไหนยากหรือมีปัญหาเยอะที่สุด
สำหรับขั้นตอนที่ยากที่สุดคือ การจดทะเบียนแอพโดยเฉพาะกับ Apple หรือ App Store ใช้เวลา 1 ปีในการจดทะเบียน เนื่องจากมีหลายขั้นตอนเพราะเราจดทะเบียนในนามองค์กรมหาวิทยาลัย ทาง Apple จะโทร.มา Verified แบบสุ่ม เพื่อยืนยันการมีตัวตน จึงใช้เวลาและทรัพยากรมาก นอกจากนี้การ update Application มีขั้นตอนทำได้ยาก รออนุมัติจากระบบ มีความปลอดภัยสูง ต้องล็อกอินเข้าไปใช้งาน อีกปัญหาที่ยากคือ คนที่จะทำความเข้าใจกันว่าเราทำแอพนี้เพื่ออะไร ถ้าทุกคนเข้าใจว่าเราทำเพื่อประโยชน์ของคนไข้ให้ใช้งานง่าย สะดวกปลอดภัย โดยจะสื่อสารกับทีมไอทีและทีมงานที่เข้ามาช่วยว่า ให้คนไข้เป็นศูนย์กลางของการใช้งานจะเห็นภาพขึ้นมาในทันที เมื่อเข้าไปในแอพ ขอให้ใช้งานได้ง่าย ๆ มีความเสถียร ไม่ต้องการความซับซ้อน โดยมีมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิของคนไข้ตามกฎหมาย รวมถึง PDPA การคุ้มครองข้อมูลคนไข้ เราต้องประสานทุกฝ่าย ให้ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด โดยที่มีคนไข้เป็นศูนย์กลางของการรักษาและการใช้งาน โดยสรุปคือ คนไข้ไม่ได้ต้องการใช้งานเยอะ มีผลการรักษาอยู่ในมือถือ คนไข้มีความสุขเมื่อเปิดแอพ Vajira@Home มีผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ รายการยาที่ได้รับ รักษาโดยใคร ถ้าคนไข้ไปรักษาที่อื่นหรือไปต่างจังหวัดเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถเปิดข้อมูลการรักษาของตนเองและอนุญาตให้แพทย์ตรงหน้าดูเอง ทำให้ตัดปัญหาของ PDPA เพราะคนไข้ยินยอมในการเปิดเผยข้อมูลของตน
อาจารย์คิดว่า โครงการนี้จะสำเร็จได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยใดบ้าง (Key success factors)
ปัจจัยที่เอื้อให้เกิดผลสำเร็จมี 4 ข้อ ปัจจัยแรก เงินทุนสนับสนุนจากช่วงโควิด โดยกระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำให้เราทำแอพได้สำเร็จ ปัจจัยต่อมาคือ เรื่องคนและเทคโนโลยี ด้วยวิสัยทัศน์ของท่านคณบดีและแนวทางการทำงานของคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลที่มุ่งเป็น smart hospital มีการวางยุทธศาสตร์ที่เอื้อต่อแนวทางการทำแอพ Vajira@Home และทีมไอทีของคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลเราเก่งมาก มีมาตรฐานการเก็บข้อมูล ทำให้การเชื่อม API มีประสิทธิภาพ และปัจจัยในเรื่องอุปกรณ์ใช้งาน ด้วยแนวคิด Internet of thing ต้องการอุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีรองรับได้ของ Omron และ Roche เช่น เครื่องตรวจน้ำตาล เครื่องวัดความดัน ซึ่งมีแอพสนับสนุนการใช้งานอยู่แล้วทำให้เชื่อมต่อได้สะดวก ทีม dev มีการใช้ Block chain ในการเก็บข้อมูลที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายผ่านการเข้ารหัสทางคอมพิวเตอร์ มีความปลอดภัยขั้นสูง เพราะสิ่งที่น่ากลัวคือ กลัวระบบโรงพยาบาลจะโดนโจมตี ด้านคนไข้มี Smart phone ที่เล่นไลน์ได้ ใช้งานแอพธนาคารได้ จะใช้แอพ Vajira@Home ได้ และมีคำถามว่าไม่เหมาะกับคนไข้สูงอายุ แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ที่ตัวเลขอายุ ขึ้นอยู่กับว่า คนไข้และทีมผู้ดูแลรายนั้น ๆ พร้อมที่จะเรียนรู้และสนุกไปกับการรักษาสุขภาพโดยใช้แอพด้วยกัน ที่เรียกว่า digital literacy ทุกปัจจัยเหล่านี้รวมกันทำให้ Vajira Telemedicine เดินหน้าได้อย่างเต็มที่ เรียกว่าทุก ๆ ฝ่ายมาได้ถูกที่ถูกเวลาอย่างมาก
ในมุมมองของอาจารย์ แอพของโรงพยาบาลจะเป็นประโยชน์สำหรับแพทย์อย่างไร
ประโยชน์สำหรับแพทย์ในด้านที่เป็นอีกช่องทางช่วยให้แพทย์รักษาในรูปแบบ virtual hospital เป็นโรงพยาบาลเสมือนจริง เบื้องต้นการตรวจคนไข้จะทำได้เร็วกว่า ถ้าคนไข้มาที่โรงพยาบาลกว่าคนไข้จะได้คิว กว่าคนไข้จะเข้าไปตรวจ ใช้เวลาตั้งเท่าไหร่ แต่ในขณะที่เราตรวจแบบ virtual คนไข้คลิกเข้าไปอยู่ที่ไหนก็ได้ แพทย์ตรวจได้เลยในทันที ตรวจเสร็จสั่งยาและคนไข้มีผลตรวจอยู่ในมือถือ ทำให้เราตรวจคนไข้ได้เร็วขึ้น คนไข้ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล เป็นประโยชน์ในการรักษา ลดเวลา ลดการเดินทางบนถนน ลดความแออัดในโรงพยาบาล
แต่เรายังเปลี่ยนวัฒนธรรมความรู้สึกของคนไข้ไม่ได้ คนไข้ยังรู้สึกว่าจะต้องมาโรงพยาบาล ดังนั้นขึ้นอยู่กับคนไข้ด้วยว่าอยากจะใช้แอพนี้เป็นทางเลือกในการพบแพทย์หรือไม่ คนไข้ที่ใช้แอพนี้แล้วส่วนใหญ่จะชอบ เพราะไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล อาการปกติขอนัดพบแพทย์ทางไกลเพื่อติดตามการรักษา รับยาทางไปรษณีย์ และไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลปีละครั้ง ยกตัวอย่างเช่น คนไข้เบาหวานควรตรวจสุขภาพประจำปีในเดือนเกิดเพื่อตรวจภาวะแทรกซ้อนทางตา เท้า เราสร้างเป็นระบบตรวจสุขภาพตา-เท้าเบาหวานประจำปี
“ถ้านับสถิติคนไข้ต่อมไร้ท่อ
ที่ใช้บริการแอพ
Vajira@Home
มีไม่ต่ำกว่า 50 % ถ้าเป็น
Telemed มีคนไข้ต่อมไร้ท่อ
ใช้อยู่ประมาณ 381 ราย
ซึ่งเป็นคนไข้ประจำ
จากทั้งหมดประมาณ 2,000 กว่าราย
คือ เกือบ 20%”
นอกจากนี้แอพ Vajira@Home จะไม่ได้ให้บริการเฉพาะการพบแพทย์แบบ Telemed เพียงอย่างเดียว ยังมีบริการในหลายระบบ ซึ่งในความเป็นจริงคนไข้มีการเข้าใช้งานในฟังก์ชั่นอื่น ๆ มากกว่าการพบแพทย์ทางไกล เช่น บันทึกผลตรวจความดันโลหิตรายวัน ผลตรวจน้ำตาลปลายนิ้วรายวัน ติดตามประวัติการรักษา ติดตามผลการตรวจ ดูรายการสั่งยา เป็นต้น ถ้านับสถิติคนไข้ต่อมไร้ท่อที่ใช้บริการแอพ Vajira@Home มีไม่ต่ำกว่า 50% ถ้าเป็น Telemed มีคนไข้ต่อมไร้ท่อใช้อยู่ประมาณ 381 ราย ซึ่งเป็นคนไข้ประจำจากทั้งหมดประมาณ 2,000 กว่าราย คือ เกือบ 20%
การใช้แอพโรงพยาบาล ให้ได้ประโยชน์สูงสุด แพทย์ต้องปรับตัว อย่างไรบ้าง
แพทย์ไม่ต้องปรับตัวอะไร แค่ต้องเปิดใจใช้แอพเท่านั้นเอง ยอมรับว่าที่ผ่านมา แพทย์บางคนจะรู้สึกว่าเหมือนมีงานเพิ่มขึ้น แต่บางคนสนใจและเรียนรู้ที่จะทำ ชักชวนพูดคุยกันว่าเมื่อมีเทคโนโลยีมาให้ใช้ แพทย์เปิดใจรับเทคโนโลยีที่มีเข้ามา ที่เราพยายามออกแบบให้ใช้งานง่าย เมื่อพบจุดควรพัฒนา สามารถแนะนำแล้วนำไปปรับให้ดีขึ้นต่อไป
“อยากจะเน้นว่าความสำเร็จตรงนี้
ไม่ได้เกิดจากใครคนใดคนหนึ่ง
แต่เกิดขึ้นจากทีมวชิรพยาบาล
ยุทธศาสตร์ของเรา
เรากล้าคิดกล้าทำ
ถ้าใครเห็นถึงโอกาสของ
แอพ Vajira@Home
ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
ของการรักษาและดูแลสุขภาพ”
อะไรที่เป็นข้อจำกัดของแอพ และอยากจะพัฒนาตรงไหนให้แอพมีความสมบูรณ์มากขึ้น
พัฒนาในส่วนงานบริการที่จะช่วยลดขั้นตอนการรับบริการ ยกตัวอย่างเช่น ขยายไปในส่วนของ check up ของโรงพยาบาลเป็นห้องตรวจสุขภาพดิจิตอล ห้องบริจาคโลหิตเปิดให้จองคิวบริจาคโลหิตผ่านแอพ ซึ่งถ้าจองผ่านแอพ Vajira@Home หลังทำแบบคัดกรองเสร็จแล้ว ได้จองที่จอดฟรี 3 ชั่วโมง เมื่อมาถึงโรงพยาบาลได้บาร์โค้ด สแกนบาร์โค้ดสามารถบริจาคโลหิตได้เลย ไม่ต้องกรอกข้อมูลให้เสียเวลา
สำหรับข้อจำกัดของแอพ คือผู้ใช้งานทั้งฝั่งแพทย์ ทีมสหสาขาวิชาชีพ และคนไข้ ที่ต้องมองเห็นว่าเป็นอีกช่องทางในการบริการของโรงพยาบาล เป็น Omni channel ที่ทำให้คนไข้ของโรงพยาบาลวชิรพยาบาล มีทางเลือกว่าจะมาตรวจ onsite หรือจะมาพบแพทย์ online เป็น virtual hospital แต่สิ่งหนึ่งที่คนไข้จะได้แน่ ๆ คือ ประวัติการรักษาอยู่ในมือ มีประวัติตรวจสุขภาพอยู่ในมือ
โดยสรุปอยากจะเน้นว่าความสำเร็จตรงนี้ไม่ได้เกิดจากใครคนใดคนหนึ่ง แต่เกิดขึ้นจากทีมคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ยุทธศาสตร์ของเรา เรากล้าคิดกล้าทำ ถ้าใครเห็นถึงโอกาสของแอพ Vajira@Home ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการรักษาและดูแลสุขภาพ
ท้ายนี้ถ้ามีแพทย์สนใจปรึกษาพูดคุยเกี่ยวกับการทำแอพของโรงพยาบาล ยินดีเป็นที่ปรึกษา ติดต่อมาได้ที่ Swangjit@nmu.ac.th ค่ะ