การรักษาโรคเบาหวานมีความก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยีที่มีการพัฒนามากยิ่งขึ้น มีการสำรวจบริษัทสตาร์ทอัพทั่วโลก ถึงแนวโน้มการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการดูแลรักษาเบาหวาน ซึ่งจะส่งผลต่อการดูแลรักษาเบาหวานในอนาคต มาติดตามกันค่ะ
- การตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดทางผิวหนัง (Transdermal glucose monitoring) อาจเป็นในรูปแบบแผ่นแปะผิวหนังที่มีเข็มขนาดเล็ก สวมใส่ในรูปแบบปลอกแขนโดยสามารถตรวจระดับน้ำตาลในเลือดได้ต่อเนื่อง 14 วัน พร้อมให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัว หรือบางสตาร์ทอัพพัฒนาแผ่นแปะชนิดใช้ครั้งเดียว ไม่มีเข็ม โดยตรวจระดับน้ำตาลในเลือด โดยอาศัยสารสกัดจากรูขุมขน ทั้งนี้ส่วนใหญ่มีการรายงานผลทางแอปพลิเคชัน
. - การตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสด้วยแสง (Optical glucose monitoring) เป็นวิธีที่ไม่ล่วงล้ำร่างกายผู้ป่วย โดยอาศัยเทคนิคอินฟาเรดสเปกโตสโกปีและรามานสเปกโตสโกปี เป็นประโยชน์ในผู้ที่ไม่สะดวกในการเจาะเลือด เช่น ผู้ป่วยเด็ก
. - อุปกรณ์นำส่งอินซูลิน (Insulin delivery devices) เป็นการพัฒนาเพื่อให้ผู้ป่วยใช้งานสะดวก มากยิ่งขึ้น รวมถึงลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บจากการฉีด เช่น ปากกาอินซูลินอัจฉริยะที่สามารถนำส่งอินซูลินเข้าสู่กระแสเลือดโดยอัตโนมัติรวมถึงในตอนกลางคืนด้วย หรืออุปกรณ์ฉีดอินซูลินขนาดกะทัดรัดที่ทำงานด้วยแบตเตอรี่ โดยสามารถตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดจากแผ่นวัดระดับกลูโคสก่อนจะฉีดอินซูลินในปริมาณที่เหมาะสมที่แขน หน้าท้อง หรือต้นขาภายในไม่กี่วินาที
. - ตับอ่อนเทียม (Artificial pancreas) ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเลียนแบบการทำงานของตับอ่อน ซึ่งโดยทั่วไปจะประกอบด้วยเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลต่อเนื่อง เครื่องปั๊มอินซูลินอัตโนมัติ และระบบควบคุม เช่น ตับอ่อนเทียมของ Invitreo Biosciences ประกอบด้วยไอส์เล็ตส์ของตับอ่อน ภายในเยื่อเลือกผ่านสังเคราะห์ ผนวกกับนาโนแคปซูลจากเส้นใย Polysulfone (Psf)/TPGS ช่วยให้การปลูกถ่ายตับอ่อนปลอดภัยและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และมีตับอ่อนเทียมในรูปแบบอื่น ๆ ด้วย
. - การจัดการโรคเบาหวานแบบดิจิทัล (Digital diabetes management) เช่น มีสตาร์ทอัพที่พัฒนาแอปพลิเคชันรายงานระดับน้ำตาลจากตัวตรวจจับอย่างต่อเนื่อง แล้ววิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเสนอแผนการควบคุมโรคเบาหวานแก่ผู้ใช้งาน หรือมีสตาร์ทอัพที่พัฒนาเครื่องมือที่ให้คำแนะนำปริมาณอินซูลินสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายและมีระบบบันทึกข้อมูลรายวันสำหรับจัดเก็บข้อมูลมื้ออาหาร การออกกำลังกาย และปริมาณอินซูลิน
. - การประเมินความเสี่ยงระยะก่อนเป็นเบาหวาน (Prediabetic risk assessment) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ประเมินความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน เช่น การพัฒนาระบบตรวจวินิจฉัยที่อาศัยปัญญาประดิษฐ์ สำหรับพยากรณ์โรคเบาหวาน หรือการพัฒนาชุดตรวจ STAP test วัดระดับเอนไซม์แอลคาไลน์ฟอสฟาเทสจากลำไส้ (intestinal alkaline phosphatase, IAP) จากตัวอย่างอุจจาระ โดยภาวะพร่องเอนไซม์นี้เสี่ยงต่อโรคเบาหวานภายในระยะเวลาราว 5 ปี
. - การดูแลผู้ป่วยเบาหวานทางไกล (Telediabetic care) ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดระยะเวลารอคอย และช่วยให้บุคลากรติดตามผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยให้การดูแลรักษามีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
. - ระบบสนับสนุนการตัดสินใจทางคลินิกสำหรับโรคเบาหวาน (Diabetes clinical decision) อาศัยความรู้จากหลักฐานเชิงประจักษ์ร่วมกับข้อมูลผู้ป่วยเฉพาะราย ผ่านการวิเคราะห์ด้วย AI เช่น มีสตาร์ทอัพพัฒนาระบบบันทึกข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านแอปฯ ที่เชื่อมโยงกับระบบคลาวด์ให้ผู้ใช้สามารเข้าถึงข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ หรือแพลตฟอร์มติดตามดูแลรักษาผู้ป่วย ลดความยุ่งยากในการเข้าถึงข้อมูล
. - การบำบัดด้วยเซลล์สำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย (Personalized cell therapy) เช่น แพลตฟอร์มเวชศาสตร์ฟื้นฟูสำหรับดูแลรักษาเบาหวาน โดยใช้ระบบชีวสารสนเทศในการถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อปรับแต่งยีนให้เซลล์สำหรับรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1 หรือสตาร์ทอัพที่พัฒนาวิธีรักษาแผลเบาหวานโดยใช้เทคโนโลยีเอนไซม์ การบำบัดด้วยเซลล์ หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น แผ่นแปะผิวหนัง สเปรย์ที่มีส่วนผสมของเอนไซม์สมานแผล
. - การรักษาให้หายขาด (Curative therapies) เช่น การพัฒนาระบบการฟื้นฟูผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยวิเคราะห์ข้อมูลและสร้างแผนการรักษาเพื่อจัดการระดับน้ำตาลและลดการใช้ยา หรือการพัฒนาการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cells) เพื่อข้ามข้อจำกัดของการใช้ยา ช่วยปรับปรุงการทำงานของตับอ่อนได้
แนะนำอ่านเพิ่มเติม
แนวทางเวชปฏิบัติ สำหรับโรคเบาหวาน 2566 Clinical Practice Guideline for Diabetes 2023
แนวทางการดูแลพระสงฆ์ที่เป็นเบาหวาน/ความดันโลหิตสูง 2566
เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ
ข้อมูลจาก https://www.startus-insights.com/innovators-guide/diabetes-care-trends/