“เป็นภูมิแพ้ตั้งแต่เด็ก ยังจำความรู้สึกที่ต้องต่อสู้อาการเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี จึงสนใจและตั้งใจเรียนต่อเฉพาะทางโรคภูมิแพ้”
ผศ. นพ. มงคล สมพรรัตนพันธ์
สาขาวิชาโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาโรคภูมิแพ้
ผมเรียนจบชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย (Bangkok Christian College) จำได้ว่า เป็นเด็กที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ค่อนข้างหนัก ยังจำความรู้สึกทรมานกับอาการเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี ตอนนั้นคุณแม่ก็พาไปรักษาที่คลินิก ได้ยาแก้แพ้เม็ดสีเหลืองมากิน (ต่อมาทราบว่าเป็นยาแก้แพ้ชนิดง่วง) อาการก็ดีขึ้นบ้างเป็น ๆ หาย ๆ แถมความง่วงเพิ่มเติมขึ้นมาระหว่างนั่งเรียนหนังสือ ด้วยความที่เราเป็นตระกูลคนจีน ถูกสอนให้อึดถึกทน ก็เลยทนกินยาต่อไปและยังตั้งใจเรียนอยู่ทุกวัน ซึ่งมองย้อนกลับไป ก็ยังสงสัยตัวเองว่าผ่านมัธยมปลายมาได้ยังไงนะ (หัวเราะ) ตอนนั้นผมเองก็ยังไม่รู้ผลของโรคภูมิแพ้ต่อคุณภาพชีวิตมากนัก แต่ก็เริ่มสังเกตเห็นอาการผิดปกติบางอย่าง เช่น สมาธิสั้น โฟกัสเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ไม่ต่อเนื่อง ง่วงระหว่างวันบ่อย
ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายได้เรียนกับคุณครูท่านหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมจนถึงทุกวันนี้ คือ คุณครูสุพัตรา จันทรโฆษิต ซึ่งสอนวิชาชีววิทยา ทำให้สมัยนั้นผมชอบเรียนชีววิทยามาก พอใกล้สอบเอนทรานซ์ก็ฝันอยากเป็นอยู่ 2 อาชีพ คือ 1. ครู เพราะชอบสอน ชอบติวให้เพื่อนตอนใกล้สอบ พอเราเห็นเพื่อนพยักหน้าเข้าใจ เดินมาบอกเราว่าทำข้อสอบได้ เราก็ดีใจและเริ่มคิดว่าตัวเองทำเรื่องนี้ได้ดี อีกอาชีพหนึ่ง คือ 2. แพทย์ เพราะครอบครัวบอกว่า “อยากให้ตระกูลเรามีหมอซักคนมาช่วยดูแลคนในบ้านยามเจ็บป่วย” ช่วงที่ต้องตัดสินใจเลือกคณะก็คิดหนักพอสมควร สุดท้ายก็ตกตะกอนได้ว่า “การเรียนแพทย์ต้องใช้พื้นฐานวิชาชีววิทยาเหมือนกัน ถ้านำมันมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยด้วยได้ก็คงจะยิ่งดี” จึงตัดสินใจเลือกคณะแพทย์ไป แต่ลึก ๆ ก็รู้สึกเสียดาย เพราะยังอยากเป็นครูอยู่ จึงเฝ้าบอกกับตัวเองว่าถ้า ณ วันที่เราจบแพทย์แล้ว หากเรายังอยากเป็นครูอยู่ เราก็ค่อยมาสอนหนังสือแบบ part time ก็ได้ คือ ยิ่งถ้าเราทำวิธีสอนสิ่งที่เข้าใจยาก ให้นักเรียนเข้าใจได้ง่าย เราคงจะมีความสุขกับอาชีพที่เราทำในระยะยาว
หลังจากที่เข้าเรียนคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ในช่วง 6 ปี มีโอกาสได้เรียนรู้จากอาจารย์ ได้เจอเคสผู้ป่วยที่หลากหลาย จำได้ว่าสมัยเป็นนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 3 – 6 เรียนหนักขึ้น ต้องอยู่เวร อดนอน ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย โรคภูมิแพ้อากาศที่ผมเป็นมาตั้งแต่เด็กเลยกำเริบหนักขึ้น เริ่มกระทบในด้านอื่น ๆ ของชีวิต บุคคลสำคัญอีกท่านที่ในชีวิต คือ ผมได้ไปปรึกษาอาการภูมิแพ้กับ อาจารย์สุพินดา ชูสกุล อาจารย์ช่วยปรับยาและเป็นครั้งแรกที่ได้รู้จักกับวัคซีนภูมิแพ้ ทำให้อาการภูมิแพ้ดีขึ้นจนกลับมาเรียนและใช้ชีวิตได้ปกติ จนเรียนจบ 6 ปีมาได้ (หัวเราะ)
“คงจะดีถ้าเรามาเรียนต่อทางด้านนี้
รักษาโรคภูมิแพ้ทุกคนให้ดีชีวิตของผู้ป่วยจะได้ดีขึ้น
อย่างมาก”
ด้วยความที่ชอบโรคทางอายุรกรรม (รักษาผู้ใหญ่) จึงได้ตัดสินใจไปใช้ทุนที่ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น หลังจากใช้ทุนและเรียนอายุรกรรมจบ ตอนนั้นยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเรียนเฉพาะทางด้านไหน อยู่ ๆ ก็หวนกลับไปนึกถึงโรคภูมิแพ้ที่เราเป็นและคิดว่า “คงจะดี ถ้าเรามาเรียนต่อทางด้านนี้ รักษาโรคภูมิแพ้ทุกคนให้ดี ชีวิตของผู้ป่วยจะได้ดีขึ้นมาก ๆ ไม่ต้องทุกข์ทรมานเหมือนตัวเราในอดีต” จึงมีโอกาสได้มาเรียนต่ออายุรแพทย์เฉพาะทางด้านโรคภูมิแพ้ที่ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งในรั้วศิริราชทำให้ผมได้เรียนรู้และเติบโตขึ้นอย่างมาก ตอนนั้นเคยคิดว่าผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่เป็นโรคภูมิแพ้น่าจะมีไม่มาก เพราะโตขึ้นผู้ใหญ่น่าจะร่างกายแข็งแรงขึ้น แต่ในความเป็นจริงพบว่า ผู้ป่วยมีจำนวนมากและไม่ได้มาปรึกษาเราด้วยอาการเดียว เช่น ไม่ได้บอกเป็นแค่โรคภูมิแพ้อากาศ แต่อาจมีโรคหืด ภาวะแพ้อาหารหรือแพ้ยาร่วมด้วยในคน ๆ เดียวกัน และหลายครั้งผู้ป่วยก็ไม่ได้มาปรึกษาเราด้วยอาการที่ตรงไปตรงมาตามตำรา เช่น มาปรึกษาด้วยอาการผื่นรอบปาก พอถามประวัติเพิ่มเติมก็พบว่า อ้าปากนอนมานานจากจมูกตัน และจมูกตันก็เกิดจากโรคภูมิแพ้ และถ้าเราให้เวลากับผู้ป่วยต่ออีกสักนิด รับฟังเรื่องราวและสังเกตการเล่าเรื่องของผู้ป่วย ก็จะเริ่มสังเกตเห็นโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้าได้ในบางราย ซึ่งทำให้เรารู้สึกเข้าใจผู้ป่วยและย้อนกลับมาเข้าใจสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับตัวเราเองในอดีตมากขึ้น ว่าทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือ ผลพวงจากการป่วยเป็นโรคภูมิแพ้มานาน แน่นอนว่าการตรวจผู้ป่วยภูมิแพ้ผู้ใหญ่ที่เจอกันในครั้งแรกมักใช้เวลานานอย่างน้อย 30 นาทีขึ้นไปเสมอด้วยเหตุผลที่กล่าวไป
ในช่วงที่เรียนภูมิแพ้ผู้ใหญ่ เนื้อหาที่เรียนเป็นสิ่งที่ผมชอบและสนุกในการเรียน ได้ดูผู้ป่วย อ่านงานวิจัยใหม่ ๆ และค้นพบว่า ยังไม่ค่อยมีข้อมูลโรคภูมิแพ้ผู้ใหญ่ในไทยมากนัก อย่างถ้าเราศึกษาตำราของต่างประเทศ เขาจะบอกว่าผู้ป่วยแพ้อะไร อาการจะเป็นอย่างไร ในระบบไหนบ้าง พอกลับมาดูผู้ป่วยบ้านเรา อาการนั้นหนักกว่ามาก และอาจไม่ตรงไปตรงมา ผมคิดว่าผู้ป่วยบ้านเรารักษายาก ด้วยเหตุของสภาพอากาศ มลพิษทางอากาศ และอื่น ๆ อีกมากมาย จึงรู้สึกว่ามันยังมีสิ่งที่ชวนให้เราหลงใหลเข้าไปศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดองค์ความรู้สำหรับดูแลผู้ป่วยคนไทยโดยเฉพาะ
เป้าหมายที่มีการตั้งไว้ในการเป็นอาจารย์แพทย์หรือการใช้ชีวิต
เป้าหมายแรก คือ ตั้งใจพัฒนาการสอนโรคภูมิแพ้ให้ทุกคนเข้าถึงได้ ฝันอยากจะทำปรับการสอนให้เข้าใจง่าย เพราะสมัยที่เราเรียน รู้สึกว่าเนื้อหาค่อนข้างยาก และเนื้อหาเยอะ ถ้าเราปรับและย่อยให้ง่ายขึ้น เพื่อมาถ่ายทอดให้นักศึกษาแพทย์มีความรู้ บวกกับตระหนักถึงความสำคัญของผู้ป่วยกลุ่มนี้ เฝ้าสังเกตผู้ป่วยโดยไม่รีบไปตัดสินผู้ป่วย ก็น่าจะทำให้พวกเขาเปิดใจอยากจะเรียนรู้ และมีความรู้ความสามารถในการรักษาโรคภูมิแพ้มากขึ้น และมุมมองที่ดีกับผู้ป่วยกลุ่มนี้
“สมมติถ้าวันหนึ่ง
มีคนล้มฟุบลงไปกับโต๊ะ
แล้วผู้คนรอบตัว
ไม่ว่าจะเพื่อนร่วมงาน
หัวหน้างาน หรือญาติ
ก็หันไปมองว่าเกิดอะไรขึ้น”
เป้าหมายที่สอง อยากทำวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ในผู้ใหญ่ของคนไทยให้มากขึ้น เช่น “โรคแพ้อาหารในผู้ใหญ่หรือที่เรียกว่า Adult-onset food allergy” ซึ่งประเทศไทยมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย ซึ่งคิดว่าแพทย์ที่เคยได้ดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจสังเกตเห็นความหวาดกลัวและความเจ็บปวดในใจลึก ๆ ของผู้ป่วย คุณอาจจินตนาการง่าย ๆ ว่า หากชีวิตคน ๆ หนึ่ง ที่เคยกินอาหารไทยแสนอร่อยมาได้ตลอด แต่อยู่ ๆ วันหนึ่งบนโต๊ะอาหาร เรามีอาการแพ้อาหารรุนแรงครั้งแรกในชีวิต ล้มฟุบลงไปกับโต๊ะ ผู้คนรอบตัว ไม่ว่าจะเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน หรือญาติ ก็หันไปมองว่าเกิดอะไรขึ้น อาการบาดเจ็บทางจิตใจนั้นย่อมส่งผลกับคน ๆ นั้นต่อไปได้อีกนาน นี่คือตัวอย่างเคสผู้ป่วยจริงที่เคยเจอ และในทางกลับกัน ก็มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่โชคดีกว่าเล็กน้อย ตรงที่มีอาการแพ้เริ่มต้นไม่หนักมาก ซึ่งทำให้มักไม่เชื่อว่าตัวเองแพ้อาหารจริง ก็ไปลองกิน กินรอบสอง กินรอบสาม จนอาการแพ้หนักขึ้น จนเป็นการแพ้รุนแรง อันตรายต่อชีวิตได้ เป้าหมายสำคัญ คือ การวินิจฉัยโรคให้ได้ พยายามสื่อสารและนำพาให้พวกเขาเหล่านั้นยอมรับในสิ่งที่เป็น เรียนรู้ที่จะปรับตัว และเข้ารับการรักษา ติดตามเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เป้าหมายที่สามคือ การรักษาสมดุลระหว่างงานกับด้านอื่น ๆ ของชีวิต เช่น สุขภาพด้วย อย่างเรื่องงาน ใจเรารักที่จะทำแต่กายเราก็ต้องพร้อมด้วย สุขภาพก็เหมือนหัวขบวนรถไฟ มันจะนำเราทุกด้าน ถ้าหัวขบวนรถไฟมันล่ม ขบวนถัด ๆ ไปมันก็คงจะล่มหมด เราต้องทำไปแบบคู่ขนานให้สมดุลกันไป
ที่ผ่านมาเป้าหมายที่สำเร็จ เกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง
ถ้าให้ตรงกับแนวคิดของการสัมภาษณ์ ผมจะขอเริ่มจากปัจจัยที่ตัวเองก่อน เริ่มจาก
ปัจจัยแรก คือ ความชอบในสิ่งที่ทำ หากเราได้ทำในสิ่งที่เรารัก เราก็จะไม่ฝืน ไม่รู้สึกเหนื่อย และมีความสุขกับมันในระยะยาว
ปัจจัยที่สอง คือ การได้แรงสนับสนุนจากครอบครัวและเพื่อนร่วมงาน ซึ่งผมมองว่ามันสำคัญมากนะ ครอบครัวผมเข้าใจและให้กำลังใจในทุก ๆ เรื่อง ตั้งแต่การตัดสินใจเรียนแพทย์ การเรียน การทำงาน เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ผมสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากมาได้
ปัจจัยที่สาม คือ โรงเรียนแพทย์ทุกแห่งที่ผมได้เรียนรู้และเติบโตมาทุกสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ทำให้ผมได้มุมมองที่หลากหลาย ได้เห็น role model ที่ดี ในช่วงที่เทรนนิ่ง ผมมีโอกาสได้เรียนจากอาจารย์หลายท่าน และในช่วงการทำงานเป็นอาจารย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ ให้การสนับสนุนทุนวิจัย การได้มีโอกาสทำงานในโครงการวิจัยต่าง ๆ ได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ ๆ ที่สามารถนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
มีบางครั้งที่เป้าหมายไม่สำเร็จเกิดจากอะไร ควรปรับปรุงเรื่องอะไร
ทุกงานมีอุปสรรคอยู่แล้ว ซึ่งทุกคนก็ต้องแก้ปัญหากันไป มันมีช่วงที่เราโหมงานหนัก โดยไม่มีเวลาให้คนรอบข้าง รวมถึงการดูแลสุขภาพ ผมเชื่อประโยคหนึ่งว่า “ยังไงร่างกายก็ไม่เคยโกหกเรา” ด้วยความที่เรามีลักษณะนิสัย คือ ยิ่งทำงานสนุกจะยิ่งติดลม ทำต่อไม่หยุด แต่สุดท้ายร่างกายของเราจะเป็นผู้ส่งสัญญาณเตือนเราให้พักก่อน เริ่มปวดหลัง ปวดท้อง ไม่ได้ทานอาหารตรงเวลา ตอนนี้ผมก็พยายามตั้งใจบาลานซ์เวลาการทำงานของเราให้เป็นระบบ มีช่วงพักเบรกเป็นระยะ เพื่อไปออกกำลังกายได้สม่ำเสมอ
บุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน
คุณแม่ ท่านเป็นต้นแบบของการมองโลกในแง่ดี ท่านเคยสอนว่า ในชีวิตเราจะเจอทั้งสิ่งดีและร้าย เราอาจรู้สึกทุกข์ เสียใจ ผิดหวังอยู่นับร้อยนับพันครั้ง แต่ทุกครั้งที่มันจบลง ขอให้มองหาข้อดีหรือบทเรียนที่เราได้มาจากเหตุการณ์นั้นๆ เพื่อมาพัฒนาให้ตัวเราเติบโตต่อไป ส่วนอารมณ์ที่เกิดขึ้นก็ขอให้คัดแยก และเลือกที่จะจำแต่ส่วนที่ดีของเหตุการณ์นั้นไว้ คิดว่ามุมมองนี้ได้มาจากคุณแม่เต็ม ๆ
“ในชีวิตเราจะเจอทั้งสิ่งดีและร้าย
เราอาจรู้สึกทุกข์ เสียใจ
ผิดหวังอยู่นับร้อยนับพันครั้ง
แต่ทุกครั้งที่มันจบลง
ขอให้มองหาข้อดีหรือบทเรียน
ที่เราได้มาจากเหตุการณ์นั้น ๆ”
มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางอนาคตเป็นอย่างไร
เรื่องแรก ผมมองว่าในอนาคตเป็นไปได้ที่ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ จะมีจำนวนมากขึ้นในกลุ่มของโรคไม่ติดต่อคือ ภายในไม่กี่ปีนี้ ประชากรไทยจะมีโรคภูมิแพ้ประจำตัวอย่างน้อย 1 โรค จากสภาพการใช้ชีวิต การกินอาหาร สภาพอากาศโลก มลพิษที่เพิ่มขึ้น เป็นปัญหาฉุกเฉินที่คนพยายามเรียกร้องกันมาหลายปี มีคนสนใจมาทำข่าวสัมภาษณ์เป็นที่ฮือฮา แต่สุดท้ายก็เงียบไป กลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิมและทำเหมือนจะลืมไป หรือไม่ก็ท้อแท้ที่รู้สึกทำอะไรกับสิ่งนี้ไม่ได้ ผมอยากเห็นการแก้ไขปัญหานี้ที่จริงจัง เน้น action ให้มากขึ้น
เรื่องที่สอง เทคโนโลยี AI จะเข้ามาช่วยทางการแพทย์มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่สิ่งที่น่ากังวลตามมา คือ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหมอกับผู้ป่วย ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักศึกษาแพทย์อาจจะลดลง การที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันจะลดลงมักจะเกิดช่องว่างขึ้น เพราะเวลาที่เราสื่อสารกันน้อยลง เราอาจจะต่างคนต่างคิดไปคนละทาง เราอาจเผลอละเลยคนที่สำคัญในชีวิตเพียงเพราะเราดันคิดไปว่าความสัมพันธ์นี้มันมั่นคงแล้ว มันแข็งแกร่งแล้ว จนเผลอนึกว่ามันจะยังคงอยู่ตลอดไป ซึ่งมีข้อคิดนี้ ได้มาจากการฟังดีเจพี่อ้อย (หัวเราะ) “อย่ามัวแต่มองข้างหน้า (จอ) จนลืมมองคนข้างๆ”
เรื่องที่สาม การเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี ก็จะคล้าย ๆ คนมีฐานะกับคนไม่มีฐานะเข้าถึงการแพทย์ได้ไม่เท่ากัน จริงอยู่ตอนนี้ประเทศไทยมีสวัสดิการด้านสุขภาพมากขึ้น แต่ในภาพรวมคนมีฐานะ มีคอนเน็กชั่น มีเงิน อาจจะเข้าถึงการดูแลรักษาที่ใช้เทคโนโลยีสูง ๆ ได้ง่ายกว่า ขณะที่คนไม่มีฐานะ ซึ่งเขาก็มีโอกาสป่วยเหมือนกัน เกือบจะหมดโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง ๆ บางเรื่องได้เลย ในอนาคตปัญหานี้จะยังอยู่และอาจมีช่องว่างมากขึ้น ถ้าขาดการแก้ไข
ฝากข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะประสบความสำเร็จต้องทำอย่างไร
- อยากเป็นกำลังใจให้ค้นหาตัวเองจนเจอ และเดินทางไปตามสาขาที่ชอบ แต่ทั้งนี้ก็อย่าละทิ้งวิชาแพทย์ที่จำเป็นในการดูแลผู้ป่วยสาขาอื่น ๆ เช่นกัน เพราะวันหนึ่งเราอาจจะได้ใช้ทุกศาสตร์ร่วมกัน และวิชาอายุรศาสตร์ก็เหมือนวิชาแพทย์ที่อยากให้แพทย์รุ่นใหม่อย่าละทิ้ง เพราะวันหนึ่งทักษะอายุรศาสตร์อาจทำให้เราสามารถดูแลรักษาตัวเองหรือคนใกล้ตัวของเราก็ได้
- ความสำเร็จ มีหลายแบบ ไม่มีคำนิยามตายตัว ทุกคนมีความสำเร็จไม่เหมือนกัน อย่าเอาตัวเองไปเทียบกับใคร การแค่เราได้ทำภารกิจเล็ก ๆ ได้สำเร็จในวันธรรมดาวันหนึ่ง ก็ถือเป็นความสำเร็จได้ถ้าเราทำมันด้วยใจและภาคภูมิใจไปกับมัน หากน้อง ๆ รักในการพัฒนาตัวเอง ก็ขอให้เราใช้ตัวเองในวันนี้เปรียบเทียบกับตัวเองในอดีต แล้วดูพัฒนาการว่าเราได้เติบโตจากเดิมอย่างไรบ้าง การคิดแบบนี้จะทำให้เราพัฒนาตัวเองและเดินไปข้างหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง และเกิดความสุขจากการเห็นตัวเองเติบโตขึ้นในทุก ๆ วัน
- การทำงานที่เรารักและมีความสุขเป็นสิ่งที่ดี แต่ในชีวิตจริงไม่มีสิ่งใดในโลกที่ได้ดั่งใจเราไปตลอด มีบางส่วนของงานที่เราอาจจะไม่ชอบทำ มีบางจังหวะที่ต้องอดทนรอคอย ขอให้น้องมองว่ามันคือ การฝึกฝนตัวเอง และเป็นภูมิต้านทานสำหรับการเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ครับ