CIMjournal

อาจารย์ พญ. สินี ดิษฐบรรจง สาขาโรคไต


เรารู้ว่าเราชอบอะไร พอรู้แล้วเราจะทำทุกอย่าง อย่างมี passion
ไม่ได้ทำเพราะถูกบังคับ” 

ศ. พญ. สินี ดิษฐบรรจง
สาขาวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
กรรมการสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย

บทสัมภาษณ์จากวารสาร CVM ฉบับที่ 106 ปี 2562

 

แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาโรคไต

จบมัธยมจากโรงเรียนสาธิตปทุมวัน ตอนแรกยังไม่ชัดเจนว่าจะเรียนสาขาอะไร เลยเลือกแพทย์ อันดับ 1 พอดีคุณแม่เป็นหมอ ดูจากคุณแม่แล้วคิดว่าเป็นหมอจะดีตรงเป็นอาชีพที่มั่นคง แล้วก็เลือกทันตแพทย์ เลือกนิติศาสตร์ เลือกเพราะชอบนักกฎหมายด้วย สุดท้ายติดแพทย์ เลยมาเรียนแพทย์ที่รามาธิบดี ตอนเรียนแพทย์ปี 2-3 ยากมาก รู้สึกท้อถอย ไม่อยากอ่านหนังสือ ไม่อยากมาเรียน ตอนนั้นคุณพ่อก็ยอมให้เรียนอย่างอื่นแล้ว จำได้ว่าตื่นเช้ามาก็นั่งรถเมล์มาอ่านหนังสือกับเพื่อนที่คณะวิทย์ ก็ได้เพื่อนช่วยด้วย อยู่ดี ๆ กำลังใจก็ค่อย ๆ กลับคืนมาอย่างช้า ๆ ตอนนั้นเกรดตก 3 กว่า เหลือ 2 กว่า พอขึ้นปี 4 ได้มาดูคนไข้ ก็เริ่มรู้แล้วว่าที่ต้องท่องหนังสือเยอะเพื่ออะไร จุดมุ่งหมายของการเป็นแพทย์คืออะไร ตอนนั้นก็ไม่คิดไปเรียนที่อื่นแล้ว สุดท้ายเรียนจนจบเรียบร้อยดี

พอจบก็ไปใช้ทุนที่โรงพยาบาลพระปิ่นเกล้า ก็ได้ฝึกอยู่หลายวอร์ด ตอนนั้นสนใจวอร์ดสูติฯ แต่พอมาถึงการขูดมดลูก มีกระดูกด้วยเราไม่อยากทำ ต่อมาอยู่ฉุกเฉินซึ่งเราได้เจอคนไข้ที่หลากหลาย เจอคนไข้หอบเหนื่อยจากหัวใจ จากไต จากปอด มีไข้และมีอะไรหลายอย่าง ซึ่งเราไม่รู้เรื่องก็ต้องอ่านหนังสือ Harrison’s Principles of Internal Medicine หรือโทร.มาหาพี่เรสซิเด้นท์ที่รามาฯ ให้ช่วยเหลือว่าคนไข้เป็นอะไร ทำให้รู้สึกว่าอายุรศาสตร์เป็นศาสตร์ที่เราสนใจมากที่สุด ซับซ้อนและท้าทายความสามารถของเรา ต่อมาก็ถูกย้ายไปที่โรงพยาบาลศูนย์ฝึกทหารใหม่ ก็ตรวจไข้หวัด ตรวจข้อ ตอนเย็นก็ไปอยู่เวรอายุรศาสตร์ ที่โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ตอนนั้นบ่ายก็อ่านหนังสือเตรียมไปเรียนเฉพาะทางอายุรศาสตร์ที่อเมริกา ต่อมาก็ได้ไปเรียนทางด้านอายุรศาสตร์ ที่ University of Chicago ประเทศอเมริกา โดยปี 1 ดูคนไข้ตามวอร์ด พอปีที่ 2 เขาก็ให้ไปผ่านตามหน่วย พอมาผ่านหน่วยไต ก็รู้ว่าชอบไต ไตจะมีเส้นเลือดเล็ก ๆ มีการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เกลือแร่ อิเล็กโทรไลต์ มีความลึกซึ้ง ซับซ้อน ค่อนข้างที่จะอินเทลเลคช่วล เหมือนกับที่เราคิดว่าบวมจากอะไร หอบจากอะไร นี่ต้องคิดแล้วว่าเกลือแร่นี้ ผิดปกติจากอะไร คนไข้ค่าไตขึ้นจากอะไร ก็ชอบมาก ไม่ได้สนใจอะไรอย่างอื่นอีกเลย พอจบเฉพาะทาง 3 ปี ก็เป็น fellowship ที่ Saint Louis University ทางด้านโรคไต จำได้ว่า 3-4 เดือนแรกเป็นช่วงวิกฤติ รู้สึกว่างานหนักมาก ไม่ไหวแล้ว แต่มันก็ผ่านได้ มาขึ้นปี 2-3 เราเป็นผู้ใหญ่ขึ้น เราก็รู้ว่าอยากทำวิจัย ตอนนั้นทำได้ 1-2 เดือนก็รู้แล้วว่านี้เป็นสิ่งที่เราจะทำไปตลอดชีวิต ต่อมาได้ติดต่อ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ซึ่งเป็นหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ในขณะนั้น ก็ได้กลับมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยและได้ทำงานวิจัยเรื่องกระดูกและอื่น ๆ ทำงานวิจัยอยู่เป็น 10 ปี จากนั้นได้มาช่วยงานภาควิชาอายุรศาสตร์ ช่วยงานสมาคม ปัจจุบันรักที่จะสอนนักศึกษาแพทย์ มีความสุข ชอบงานสอน งานวิจัย ขณะเดียวกันก็ชอบดูคนไข้ และเป็นอาจารย์แพทย์มาจนถึงปัจจุบัน และเป็นนักวิจัยด้วย


สิ่งที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุด

สิ่งที่ภูมิใจจริง ๆ เริ่มจาก ความภูมิใจที่มาถึงวันนี้ได้ ภูมิใจที่เป็นเรา ภูมิใจที่มีครอบครัวที่อบอุ่น ครอบครัวที่บ้านเป็นครอบครัวที่ใหญ่มาก คุณย่ามีลูก 12 คน คุณพ่อเป็นลูกคนที่ 7 ทำให้ตัวเองมีลูกพี่ลูกน้อง 20 คน ภูมิใจที่ได้สามีที่ดี ไม่มีอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่ากัน มันเป็นส่วนประกอบที่ลงตัวในแบบของมัน

ภูมิใจที่สอง การเป็นอาจารย์ที่ดี เป็นหมอที่ดี เป็นนักวิจัยที่ดี มีความสุขที่จะถ่ายทอดความรู้อย่างเต็มที่ มีความสุขที่จะดูแลคนอื่นด้วยความเต็มใจ และมีความสุขที่จะค้นคว้าหาความจริง อย่างจริงใจ และซื่อสัตย์ต่อตนเอง งานวิจัยทุกงานที่ทำ ทั้งที่ได้ตีพิมพ์และไม่ได้ตีพิมพ์ สำเร็จหรือไม่สำเร็จดังหวัง เพราะงานทุกชิ้นเราเต็มร้อย เรามีความสุขกับสิ่งที่เราทำ มากกว่าผลงานของมัน


ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ

จริง ๆ แล้ว การประสบความสำเร็จเกิดจากหลายปัจจัยเกื้อหนุนเป็นเรื่อง ๆ ไป ปัจจัยแรก เรารู้ว่าเราชอบอะไร พอรู้แล้วเราจะทำทุกอย่าง อย่างมี passion ไม่ได้ทำเพราะถูกบังคับ แม้กระทั่งงานในหน้าที่เราก็จะมีความรักความชอบ ความสุขที่ได้ทำเสมอ แม้อายุมากขึ้นก็จะมีงานบริหาร มีหลาย ๆ เรื่องเข้ามา แต่เราก็ยังไม่ลืมสิ่งที่เป็น passion ของเรา

ปัจจัยที่สอง ต้องตั้งใจและยอมรับผลที่จะเกิดขึ้น เช่น บางครั้งเราทำวิจัยแล้วผลงานวิจัยไม่เหมือนผลที่เราต้องการ และเรารู้ว่าแบบนี้เราอาจจะตีพิมพ์ไม่ได้เลย เราต้องยอมรับมันให้ได้แม้ว่าเราจะทุ่มเทกับมันมา 2 ปี เพราะว่านี้เป็นสัจธรรมของโลก ไม่ว่าเราอยากจะทำอะไรมันต้องมี fail นี้เป็นส่วนหนึ่งของโลกอยู่แล้ว ไม่ท้อ และลุกขึ้นมาใหม่ทุกสิ่งทุกอย่างมันจะมีทางออกของมันเสมอ หรือว่าเราต้องเริ่มต้นใหม่ แต่บางทีเราไม่ไหวจริง ๆ เราก็ปล่อย ไม่ต้องคิดอะไรมาก เดี๋ยวทางออกมันก็อาจจะมาเอง

ปัจจัยที่สาม ครอบครัว ตอนที่เราไปอเมริกา ด้วยความเป็นลูกคนเดียว เราคิดว่าเราแน่ อยากจะอยู่ที่นี่ไม่อยากจะกลับมาเมืองไทย เพราะว่าตอนนั้นอายุน้อยและมีความทะเยอทะยานสูงมาก ตอนที่กลับมาอยู่ที่รามาฯ ต้องยอมรับว่าเป็นช่วง 3 ปีแรกที่อยากจะกลับไปอเมริกาทุกวัน คิดว่าถ้าเราอยู่ที่อเมริกา เราจะต้องก้าวหน้ากว่านี้ เราจะต้องมีผลงานตีพิมพ์มากกว่านี้ เราจะไม่ต้องเป็นแบบที่เราเป็นจะต้องมีโอกาสที่ดีกว่านี้มาก แต่ภายหลังความคิดเราเปลี่ยน คืออยู่ที่ไหนเราก็อยู่ได้ สามารถสร้างงานของตัวเองขึ้นมาได้ ขณะเดียวกันข้อดีของการอยู่ที่เมืองไทยคือ เวลาที่เราเฟล เราก็จะมีคุณพ่อ คุณป้า คุณอา ลูกพี่ลูกน้อง ที่ช่วยซัพพอร์ตเรา พอแต่งงาน สามีก็ใจเย็น เราต้องการอย่างไร เขาก็โอเคหมด เราอยากทำงานเขาก็ให้ทำงาน เราอยากทำอะไรก็แล้วแต่ และเขาอยู่ต่างประเทศ สุดท้ายพอเวลาผ่านไปก็พบว่า ความรักความอบอุ่นจริง ๆ สำคัญที่สุด สำหรับพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ที่มีความเข้มแข็ง เราก็ยิ่งรู้สึกรักญาติพี่น้องของเรา สามีเรา อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน


กว่าจะถึงวันที่ประสบความสำเร็จ เจออุปสรรคอะไรบ้าง แล้วเอาชนะอย่างไร

อุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ ไม่มีเลย อย่างในเรื่องการงาน ไม่มีอะไรที่จะทำให้เราเลิกล้มในสิ่งที่ชอบและอยากจะทำ เพราะพูดกันตามตรง คนเรามีปัญหาตลอดทุกวันอยู่แล้ว แต่ไม่ได้คิดว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ ทุกอย่างมีทางออก อุปสรรคจะมีแต่เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สามารถแก้ไขได้ ถ้ามีปัญหาติดตรงไหนเราก็จะแก้ไขโดยพยายามคิดว่าจะมีใครช่วยเราได้ เราจะไปคุย อย่างเช่น ไม่มีกล้องจุลทรรศน์ ไม่มีเงินซื้อ เราก็จะไปเดินดูที่สำนักงานวิจัย ว่าอันไหนเขาทิ้ง อันไหนที่พอแก้ไขได้ และเสียเงินไม่มาก เราก็จะเอามาแก้ และไปคุยกับรองคณบดีว่าอาจารย์ไม่เอาแล้ว จะขอแทงจำหน่ายได้ไหมจะนำมาใช้ ถ้าไม่มีก็หาได้ ถ้าทุกอย่างไม่เต็มร้อยเราก็ทำให้มันเต็มร้อยได้ มันมีทางแก้ไข ไม่มีอะไรเกินความตั้งใจ เราต้องลงไปทำเอง ต้องรู้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน พอเรารู้แล้วว่ามันเกิดจากอะไร เราก็จะแก้ไปเรื่อย ๆ


ใครคือบุคคลที่เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน

คนแรกเลยคือ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อาจารย์เป็นคนแรกที่เชื่อมั่นในความสามารถของเรา อาจารย์เป็นคนดี ตั้งใจมาก เวลาอาจารย์ช่วยเรา จะช่วยจริง ๆ ไม่ขยักเลย อาจารย์ส่งเสริมให้ไปขอทุนทำวิจัย ที่ สกว. พอใกล้วันจะเดทไลน์ อาจารย์ก็จะโทร. มาตามว่าเขียนหรือยัง ติดตามอย่างใกล้ชิด วันที่เราไปดีเฟน อาจารย์ก็เดินทางไปฟังเราและไปช่วยเรา อาจารย์เป็นแบบอย่างให้เรามาตลอด ซึ่งนิสัยก็จะคล้าย ๆ กันและชอบที่จะทำงานวิจัยกับอาจารย์มาก อาจารย์เป็นคนใจกว้าง มองไกล

คนที่สองคือ คุณป้านพวรรณ ดิษฐบรรจงเป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิตของคำว่า “ให้ไม่สิ้นสุด” เป็นคนที่ให้คนอื่นจนตัวเองมีความเข้มแข็งมาก ณ วันนี้อายุ 95 ปี ยังเป็นคนที่สดชื่น ร่าเริง เบิกบาน แม้ว่าจะป่วยทุกโรค จะเป็นตัวอย่างของความเข้มแข็ง และเราก็จะรู้ว่าความเข้มแข็งที่คุณป้าได้มา เกิดจากการให้ด้วยความจริงใจ อย่างตอนเด็ก ๆ หนีไปเรียนขับรถ พ่อไม่ให้ไป พอคุณป้ารู้ว่าเราไป ก็สืบถามว่าไปที่ไหน และจะเดินทางไปนั่งเป็นเพื่อน เพราะเป็นห่วง ตอนไปสอบเอนทรานซ์ ไม่มีใครไปด้วย คุณป้าก็จะถือกับข้าวไปส่ง คุณป้าทำกับหลาน 20 คนแบบนี้หมด ทุกครั้งที่คนอ่อนแอคุณป้าก็จะเป็นเสาหลัก นั้นเป็นตัวอย่างที่ทำให้เราเข้าใจความรักว่าเป็นอย่างไร ความรักที่แท้จริง


คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต

ยึดหลัก ทำสิ่งที่ถูกต้อง ทำให้ดีที่สุด และอย่าคาดหวังสูง เพราะว่า เชื่อมั่นในกฎแห่งกรรม ถ้าเราทำในสิ่งที่ดีที่สุด อันดับแรกใจเราจะสบาย อันดับสอง ผลมันจะออกเป็นอย่างไรเราไม่รู้สึกว่าเราควรจะย้อนกลับไปทำอะไรอีก และคิดว่าเราทำสิ่งที่ดีที่สุด เราก็จะได้สิ่งที่ดีที่สุด

การปล่อยวาง ยอมที่จะไม่เอา หลาย ๆ สิ่ง หลาย ๆ อย่าง ซึ่งบางทีเรารู้สึกว่าเราอยากจะได้ เราก็ต้องใช้วิธีออกไปเดินจงกลม ทำสมาธิ ทำสติ ปล่อยความคิดพวกนั้น บางครั้งต้องไปเดินหลายวัน ถึงจะปล่อยได้ มันก็ทำยาก แต่ทำแล้วคุ้มค่า

การต้องให้ให้มาก จะทำให้จิตใจเราเปลี่ยนไป อ่อนโยนขึ้น และพบว่าคนก็รักเรามากขึ้น เราก็เห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้น รวมทั้งการที่เรารักคนอื่นเป็นการที่เรายอมให้คนอื่นรักเรา เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก


มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร

มองว่าประเทศไทยดี มีข้อดีที่มี 30 บาท รักษาทุกโรค ทุกคนสามารถเข้าสู่การรักษาได้ แต่ในขณะเดียวกัน ไม่แน่ใจว่าประเทศไทยจะสามารถรับภาระ ณ ปัจจุบันนี้ไปได้อีกนานแค่ไหน ประเทศที่พัฒนาแล้วมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เขาจำกัด เพราะว่าเป็นการรักษาที่อาจจะไม่เห็นผลชัดเจน หรือว่าไม่ได้ช่วยทำให้คนไข้มีอายุยืนยาวขึ้น หรือว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ประเทศไทยของเราค่อนข้างเปิดกว้าง ทำให้เราสูญเสียเงินไปกับส่วนนี้ค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นต้องมีการบริหารจัดการที่ดี มีการดูแลเรื่องงบประมาณให้ดี อะไรที่ให้คนไข้แล้ว คนไข้มีชีวิตอยู่ได้ ออกไปทำงานได้ สามารถที่จะปรับปรุงคุณภาพชีวิตได้ดีก็ดำเนินการไป อะไรที่จะทำให้ยืด ทำให้คนไข้ทรมานนาน โดยที่ไม่มีความจำเป็นอาจจะต้องจำกัด


ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะสำเร็จต้องทำอย่างไร

สำหรับแพทย์ทั่ว ๆ ไป และแพทย์ในสาขาวิชาโรคไต เรื่องแรกต้องรักในสิ่งที่เราทำ พยายามทำในสิ่งที่ถูกต้องให้ได้มากที่สุด เรื่องที่สองต้องไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค เมื่อเราทำสิ่งใดแล้วเราจะเห็นอุปสรรคไม่ใช่เรื่องใหญ่ ต้องยอมรับผลทุกอย่างที่เกิดขึ้น เพราะมันไม่มีอะไรที่จะสำเร็จได้ 100% แต่เราสามารถเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก