รศ. พญ. ทิพาพร ธาระวานิช
หน่วยต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ความสำคัญ
โรคเบาหวานชนิดที่ 1 มีความชุกเพิ่มขึ้นทั่วโลกโดยในปัจจุบันความชุกประมาณ 15 ต่อ 1 แสนคน-ปี ถึงแม้ว่าอุบัติการณ์ของโรคจะสูงที่สุดในระยะวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้น แต่ด้วยการดูแลรักษาที่พัฒนาดีขึ้น ทำให้ผู้เป็นเบาหวานมีอายุยืนมากขึ้นกว่าในอดีต ส่งผลให้ผู้เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ส่วนมากอยู่ในวัยผู้ใหญ่ แต่ถึงกระนั้น ผู้เป็นเบาหวานโดยส่วนใหญ่ คุมระดับน้ำตาลไม่ได้ตามเป้าหมาย ดังจะเห็นจากสถิติของประเทศไทย พบว่าผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเป้าหมายเพียงร้อยละ 12 – 16 ซึ่งต่ำกว่าผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 มาก เนื่องจากการดูแลผู้เป็นเบาหวานกลุ่มนี้มีความซับซ้อน เสี่ยงต่อภาวะฉุกเฉินจากน้ำตาลในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดต่ำและภาวะแทรกซ้อนเรื้อรัง จึงต้องมีการดูแลร่วมกันระหว่างผู้เป็นเบาหวาน ผู้ดูแลและบุคลากรการแพทย์ ซึ่งต้องให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลตนเอง และจัดระบบสนับสนุนในการดูแลรักษา (Diabetes self-management education and support ; DSMES)
การวินิจฉัยโรคเบาหวานชนิดที่ 1
เรามักจะนึกถึงโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในผู้ป่วยเด็ก ผอม มีอาการจากน้ำตาลในเลือดสูง 1-4 สัปดาห์ก่อนการวินิจฉัย หรือ มีภาวะเลือดเป็นกรดคีโตน แต่บ่อยครั้งที่ผู้เป็นเบาหวานไม่ได้มีอาการดังกล่าว ทำให้ยากในการวินิจฉัย อาจมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป มีอาการตอนเป็นผู้ใหญ่ มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน ทำให้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานที่เกิดจากความผิดปกติของยีนเดี่ยว (monogenic diabetes) มะเร็งตับอ่อน หรือผู้ที่ใช้ยา immune check-point inhibitors อาจได้รับการวินิจฉัยผิดเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 แนวทางเวชปฏิบัติจึงแนะนำลักษณะที่ทำให้นึกถึงโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ในผู้ที่มีอาการต่อไปนี้เมื่อแรกวินิจฉัยโรคเบาหวาน
นอกจากนี้ผู้ที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แต่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้และต้องใช้อินซูลินภายในระยะเวลาน้อยกว่า 3 ปี อาจทำให้นึกถึงโรคเบาหวานชนิดที่ 1 มากขึ้น สำหรับอาการอื่นที่อาจมีความสัมพันธ์กับโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้แก่ ภาวะคีโตซิส โดยไม่มีเลือดเป็นกรด (kotosis) มีอาการปัสสาวะบ่อย และมีประวัติครอบครัวหรือผู้ป่วยเป็นโรคออโตอิมมูน แนวทางการตรวจเพิ่มเติมในผู้ป่วยเบาหวานที่ฉีดอินซูลินและสงสัยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ดังสรุปในแผนภูมิที่ 1
แผนภูมิที่ 1 แสดงแนวทางการตรวจเพิ่มเติมในผู้เป็นเบาหวานผู้ใหญ่ที่สงสัยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 (ข้อมูลจากชาวยุโรปผิวขาวซึ่งอาจแตกต่างจากข้อมูลในชาวเอเชีย)
1 ควรตรวจวัด Anti-GAD (Glutamic acid decarboxylase) เป็นลำดับแรก หากผลเป็นลบ จึงตรวจ Anti-IA2 (islet tyrosine phosphatase) และ/หรือ antiZnT8 (zinc transporter 8) อย่างไรก็ตาม พึงตระหนักว่าร้อยละ 5-10 ของโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ตรวจไม่พบออโตแอนติบอดี
- อายุุเมื่อวินิจฉัยโรคเบาหวาน <6 เดือน
- HbA1C <7.5% เมื่อแรกวินิจฉัยร่วมกับบิดาหรือมารดาเป็นเบาหวาน
- มีลักษณะโรคเบาหวานจากยีนเดี่ยว ได้แก่ ถุงน้ำที่่ไต partial lipodystrophy หูหนวกที่ถ่ายทอดทางมารดา
- มีภาวะดื้อต่ออินซูลินอย่างมากทั้งที่ไม่อ้วน
- ความน่าจะเป็นของโรคเบาหวานจากยีนเดี่ยวเมื่อคำนวนจาก MODY calculator (www.diabetesgenes.org/exeter-diabetes-app/ModyCalculator) มากกว่าร้อยละ 5
- C-peptide >1.8 ng/dl สามารถแปลผลตามแผนภูมิ
- C-peptide <1.8 ng/dl และ ระดัับน้ำตาล <72 มก./ดล. หรือเป็นการตรวจช่วงอดอาหารให้ทำการตรวจซ้ำ
- C-peptide <0.24 ng/dl แสดงว่า C-peptide มีระดับต่ำมาก สามารถแปลผลได้โดยไม่ต้อง
- ตรวจซ้ำ
- C-peptide 0.6-1.8 ng/dl พบได้ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 หรือ Maturity-onset diabetes of the young (MODY) และเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ดัชนีมวลกายปกติหรือผอม หรือเป็นเบาหวานมานาน ที่ได้รับการรักษาด้วยอินซููลินฉีด
4 ลักษณะโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้แก่ ดัชนีมวลกาย >25 กก./ม.2 ไม่มีอาการน้ำหนักลด ไม่มีภาวะเลือดเป็นกรดจากสารคีโตน ระดับน้ำตาลเมื่อวินิจฉัย <360 มก./ดล. ส่วนอาการที่ใช้แยกความแตกต่างจากเบาหวานชนิดอื่นได้ไม่ดีนัก ได้แก่ เป็นเบาหวานมานาน อาการไม่รุนแรง มีลักษณะเมแทบอลิกซินโดรม และไม่มีประวัติครอบครัวที่เป็นโรคออโตอิมมูน
5 ให้แพทย์พิจารณาดูว่าผู้เป็นเบาหวานควรได้รับการรักษาด้วยวิธีใด อาจลองการรักษาที่ไม่ใช่อินซูลินและเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันอย่างใกล้ชิด กรณีที่ผู้ป่วยมีอายุมาก ควรนึกถึงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และอาจส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัย โรคเบาหวานจากตับอ่อน (pancreatic diabetes) หรือโรคเบาหวานชนิดอื่น ๆ
6 C-peptide 0.6-1.8 ng/dl พบในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1, MODY หรืออาจพบในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่่ 2 ที่่ ฉีด อินซููลินร่วมกับมีดัชนีมวลกายปกติหรือ ต่ำหรือเป็นเบาหวานมานาน
เป้าหมายในการดูแลรักษาผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1
เป้าหมายในการดูแลรักษาเพื่อให้ผู้เป็นเบาหวานมีชีวิตยืนยาวและคุุณภาพชีวิตที่ดี โดย
- ควบคุมระดับน้ำตาลให้ในอยู่ในเกณฑ์เป้าหมาย (ตารางที่ 1) อันจะส่งผลต่อการลดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังจากโรคเบาหวาน ลดอัตราการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดและลดอัตราการเสียชีวิต
- ลดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด
- จัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นในการดูแลรักษาเพื่อลดความเครียดทางจิตใจและสังคมที่ผู้ป่วยต้องแบกรับและส่งเสริมสุขภาวะทางจิต
- ควบคุมปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้แก่
- ความดันโลหิตเป้าหมายคือ <140/90 มม.ปรอทในผู้ป่วยส่วนใหญ่ สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดสูง ได้แก่ ผู้ที่มีโรคไตจากเบาหวาน แนะนำให้เป้าหมายความดันโลหิต <130/80 มม.ปรอท โดยใช้ยากลุ่ม Angiotensin converting enzyme inhibitors (ACEIs) หรือ Angiotensin receptor blockers (ARBs)
- ควบคุมระดับไขมันในเลือด เนื่องจากการศึกษาในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 มีน้อย แนวทางการรักษาจึงอ้างอิงตามแนวทางการควบคุมไขมันของผู้เป็นเบาหวาน ชนิดที่ 2 กล่าวคือ แนะนำให้ยาสเตติน ความแรงปานกลางในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 40 ปี และในผู้ที่อายุ 20-39 ปี ที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด สำหรับยา ezetimibe หรือ proprotein convertase subtilisin/kexin type 9 (PCSK9) inhibitors สามารถให้ร่วมกับสเตตินได้
- แอสไพริน มีข้อบ่งชี้ในผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดแล้ว สำหรับการป้องกันแบบปฐมภููมิอาจมีประโยชน์ในการป้องกันโรคแต่ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหารมากขึ้น
ตารางที่ 1 แสดงเป้าหมายระดับน้ำตาลในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ที่เป็นผู้ใหญ่
การตรวจติดตามผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1
ควรมีการตรวจติดตามเป็นระยะ อาจเป็นการติดตามที่คลินิกหรือติดตามแบบระบบทางไกล และมีการประเมินดังแสดงในตารางที่ 2
ตารางที่ 2 แสดงรายละเอียดในการประเมินและตรวจติดตามผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1
การให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลตนเองและการสนับสนุน (Diabetes self-management education and support; DSMES)
วัตถุประสงค์ของการให้ DSMES เพื่อให้ผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 และ/หรือ ผู้ดูแล มีความรู้ ทักษะ และความมั่นใจในการดูแลตนเอง โดยมุ่งเน้นการเสริมพลังผู้ป่วย การให้ผู้ป่วยและญาติมีส่วนร่วมในการตัดสินใจการดูแลรักษา โดยมีทีมบุคลากรผู้ให้การดูแลรักษาเป็นผู้ให้การสนับสนุน การให้ DSMES แก่ผู้ป่วยควรดำเนินการเมื่อแรกวินิจฉัย เมื่อผลการดูแลรักษาไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อน และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง (Transition) ได้แก่ การเปลี่ยนจากเด็กวัยรุ่นเป็นวัยผู้ใหญ่ ปรับเปลี่ยนรูปแบบในการฉีดอินซูลิน การใช้อุปกรณ์ หรือเทคโนโลยีใหม่ในการรักษา การเปลี่ยนสภาวะความเป็นอยู่ หรือการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อการดูแลตนเอง โดยการให้ความรู้แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ
- ระดับที่ 1 ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานแบบตัวต่อตัว
- ระดับที่ 2 ให้ความรู้ต่อยอดจากเดิม อาจเป็นในรูปแบบกลุ่มเพื่อน (Peer group)
- ระดับที่ 3 การให้ความรู้อย่างมีแบบแผน (Structure education) มีหลักสูตรการให้ความรู้ที่เป็นที่ยอมรับในระดับชาติ มีหลักฐานการศึกษาในเชิงประจักษ์ มีการประกันคุณภาพ (Quality assurance) และมีการตรวจสอบคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ
ก่อนการให้ DSMES ควรมีการประเมินผู้ป่วยที่สำคัญดังนี้
- ประวัติสุขภาพ
- ความสามารถในการเรียนรู้ (Cognition) ความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) และการคำนวณ
- ความเครียดเนื่องจากโรคเบาหวาน และระบบสนับสนุน (Support system)
- ศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณี
- ความเชื่อและทัศนคติด้านสุขภาพ
- ข้อจำกัดทางร่างกาย
- ปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อสุขภาพ ได้แก่ เศรษฐานะ
- อุปสรรค
เนื้อหาในการสอน DSMES (ตารางที่ 3)
ตารางที่ 3 แสดงหัวข้อและตัวอย่างเนื้อหาในการสอน DSMES
การตรวจติดตามระดับน้ำตาล
ในการดูแลรักษาผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ต้องมีการติดตามการควบคุมระดับน้ำตาลเป็นระยะ ดังนี้
- ฮีโมโกลบินเอวันซี สัมพันธ์กับระดับน้ำตาลเฉลี่ยในระยะเวลา 3 เดือน และภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังของโรคเบาหวาน ข้อจำกัดของฮีโมโกลบินเอวันซี คือ ไม่สามารถสื่อถึงความผันแปรของระดับน้ำตาล (Glycemic variability) ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และมีตัวกวนการตรวจทำให้การแปลผลผิดพลาดได้ ดังนี้
- ตัวกวนที่ทำให้ฮีโมโกลบินเอวันซีเพิ่มขึ้น ↑ ได้แก่
- อายุที่เพิ่มขึ้น
- เชื้อชาติ (แอฟริกันอเมริกันจะมีฮีโมโกลบินเอวันซีสูงกว่าชนผิวขาวทางภาคเหนือของประเทศสหรัฐอเมริกา และชาวยุโรป)
- โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 หรือโฟแลต
- ภาวะไตรกลีเซอไรด์ หรือบิลิรูบินสูงมาก
- การดื่มแอลกอฮอล์
- การรับประทาน Salicylate หรืออนุพันธ์ฝิ่นแบบเรื้อรัง
- ตัวกวนที่ทำให้ฮีโมโกลบินเอวันซีลดลง ↓ ได้แก่
- การตั้งครรภ์ (ในไตรมาสที่ 2 และ 3)
- ภาวะโลหิตจางจากโรคเรื้อรัง Haemolytic anemia
- ม้ามโตและตัดม้าม
- การเสียเลือดเฉียบพลัน
- ไตวาย
- โรคตับ
- การได้รับยา ได้แก่ Dapsone, Trimetroprim/sulfamethoxazole, วิตามินอี Ribavirin, Interferon alpha
- การได้รับเลือด
- ตัวกวนที่ทำให้ฮีโมโกลบินเอวันซีน เพิ่มขึ้น ↑ หรือลดลง ↓ ได้แก่
- การรับประทานวิตามินซี หรือ Haemoglobin variants
- ตัวกวนที่ทำให้ฮีโมโกลบินเอวันซีเพิ่มขึ้น ↑ ได้แก่
- การติดตามระดับน้ำตาลปลายนิ้ว (capillary blood glucose monitoring ; BGM) ผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ทุกรายควรมี BGM เจาะก่อนอาหารทุกมื้อ และก่อนนอน ก่อนระหว่างและหลังออกกำลังกาย ก่อนการขับรถ และเมื่อมีอาการผิดปกติ เพื่อเป็นแนวทางในการคำนวณขนาดอินซูลิน เพื่อป้องกันและรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ การเจาะตรวจบ่อยครั้ง สัมพันธ์กับฮีโมโกลบินเอวันซีที่ลดลง อย่างไรก็ตามผู้ป่วยอาจมีความตึงเครียดทางอารมณ์ หงุดหงิด กังวล หรือ รู้สึกผิด หลังทราบผลการตรวจทำให้ไม่ยอมตรวจหรือตรวจไม่บ่อยเท่าที่ควร ทีมบุคลากรที่ดูแลรักษาจึงควรประเมิน รับฟัง และให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยเป็นระยะ
- Continuous glucose monitoring (CGM) เป็นมาตรฐานในการดูแลผู้ใหญ่ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ระดับน้ำตาลที่วัดได้สามารถนำมาเป็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนขนาดอินซูลินได้โดยไม่ต้องเจาะ BGM ซ้ำ ยกเว้นในกรณีที่สงสัยว่าค่าที่อ่านได้มีความผิดพลาด
- การตรวจระดับคีโตน อาจตรวจในเลือดหรือปัสสาวะ การตรวจคีโตนในปัสสาวะมีข้อจำกัดคือ อาจมีผลเป็นลบลวง เนื่องจากคีโตนในปัสสาวะมีระดับสูงขึ้นช้า แม้จะมีภาวะเลือดเป็นกรดคีโตน นอกจากนี้ยังไม่สามารถใช้ในการติดตามผลการรักษาภาวะเลือดเป็นกรดจากสารคีโตนในช่วง 48 ชั่วโมงแรก เนื่องจากจะพบว่าผลคีโตนในปัสสาวะเป็นบวกอยู่ แม้ว่าคีโตนในเลือดจะลดลงแล้ว
การฉีดอินซูลิน
การฉีดอินซูลินมีหลายรูปแบบ ซึ่งได้สรุปข้อดี ข้อเสีย และแนวทางในการบริหารยา ดังตารางที่ 4 และ 5 อย่างไรก็ตาม แนวทางเวชปฏิบัติแนะนำให้ผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ใช้อินซูลินในรูปแบบที่เลียนแบบสรีรวิทยาของคนปกติให้ได้มากที่สุด ซึ่งได้แก่ การฉีดอินซูลินแอนะล็อก (Analogue) วันละหลายครั้ง (Multiple daily injections;MDI) หรือ การใช้อินซูลินปั๊ม
ตารางที่ 4 แสดงข้อดีและข้อเสียในการฉีดอินซูลินในรูปแบบต่าง ๆ สำหรับรักษาผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1หมายเหตุ LAA, long-acting insulin analogue; RAA, rapid-acting insulin analogue; URAA, ultra-rapid-acting insulin analogue
ตารางที่ 5 แสดงตัวอย่างการคำนวณขนาดอินซูลินICR, insulin/carbohydrate ratio; ISF, insulin sensitivity factor; LAA, long-acting analogue; NPH, Neutral Protamine Hagedorn; RI, regular insulin; RAA, rapid-acting analogue TDD, total daily insulin doses; URAA, ultra-rapid-action analogue
ชนิดของอินซูลินปั๊ม ได้แก่
- Open-loop insulin pump เป็นอินซูลินปั๊มที่ไมได้ทำงานประสานกับเครื่องตรวจน้ำตาล ผู้ป่วยต้องใส่ข้อมูลระดับน้ำตาล และคาร์โบไฮเดรต เพื่อให้อินซูลินปั๊มคำนวณขนาดอินซูลินก่อนมื้ออาหารตามสัดส่วนที่กำหนดไว้โดยข้อมูลระดับน้ำตาลอาจได้มาจาก BGM หรือ CGM
- Low-glucose/Predictive low-glucose suspend insulin pump อินซูลินปั๊มมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับ CGM และปั๊มจะลดปริมาณอินซูลิน หรือหยุดทำงานหากน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือมีแนวโน้มว่าจะต่ำ
- Hybrid closed-loop insulin pump อินซูลินปั๊มมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับ CGM อินซูลินปั๊มมีการปรับ basal insulin โดยอัตโนมัติตามระดับน้ำตาลที่ได้จาก CGM แต่เมื่อเวลาผู้ป่วยต้องรับประทานอาหาร ผู้ป่วยจะต้องคำนวณคาร์โบไฮเดรตและกดปุ่มให้อินซูลินปั๊มฉีดอินซูลินก่อนอาหาร
- Fully closed-loop automated insulin delivery system กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษา อินซูลินปั๊มมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับ CGM โดยปรับอินซูลินแบบอัตโนมัติโดยผู้ใช้ไม่ต้องคำนวณคาร์โบไฮเดรต และกดปุ่มให้อินซูลินปั๊มฉีดยาก่อนอาหาร
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับคือ
- ระดับที่ 1 ระดับน้ำตาล < 70 มก./ดล. แต่ > 54 มก./ดล.
- ระดับที่ 2 ระดับน้ำตาล < 54 มก./ดล. เป็นภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำที่มีความสำคัญทางคลินิก
- ระดับที่ 3 น้ำตาลในเลือดต่ำรุนแรง ทำให้สติสัมปชัญญะลดลง หรือต้องรับการช่วยเหลือจากบุคคลอื่น ในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 มีความเสี่ยงต่อภาวะนี้ โดยพบความชุกถึงร้อยละ 12
ผลกระทบจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ได้แก่ หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ ระบบการแข็งตัวของเลือดถูกกระตุ้น การอักเสบเพิ่มขึ้น และเอนโดทีเลียมเซลล์ทำงานผิดปกติ ภาวะน้ำตาลต่ำรุนแรงสัมพันธ์กับภาวะแทรกซ้อนที่หลอดเลือดขนาดเล็ก และการเสียชีวิตในผู้สูงอายุ หากมีน้ำตาลในเลือดต่ำบ่อยครั้ง อาจทำให้การรับรู้ลดลง (cognitive impairment) จึงควรมีการหาสาเหตุและดำเนินการเพื่อให้ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกิดขึ้นน้อยที่สุด และหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นต้องมีการแก้ไขอย่างทันท่วงที
ปัจจัยเสี่ยงของน้ำตาลในเลือดต่ำ ได้แก่
- เป็นโรคเบาหวานมานาน
- อายุมาก
- เคยมีน้ำตาลในเลือดต่ำรุนแรง
- ดื่มแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกาย
- การศึกษาน้อย
- รายได้น้อย
- โรคไตเรื้อรัง
- Coeliac disease
- ความรู้สึกตัวเมื่อน้ำตาลต่ำลดลง (Impaired awareness of hypoglycemia; IAH) สามารถประเมินได้ด้วยแบบสอบถาม Gold แบบสอบถาม Clarke ฯลฯ หรือถามคำถาม ได้แก่ “ อาการน้ำตาลในเลือดต่ำ เกิดขึ้นเมื่อระดับน้ำตาล ≥ 54 มก./ดล. หรือ น้ำตาลในเลือด < 54 มก./ดล. หรือไม่มีอาการเลย” หากผู้ป่วยมีอาการเมื่อน้ำตาลในเลือด < 54 มก./ดล. หรือไม่มีอาการเลย แสดงว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อน้ำตาลในเลือดต่ำรุนแรง
- มีโรคทางต่อมไร้ท่อฯ ที่ส่งเสริมภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ได้แก่ ภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์/ต่อมหมวกไต/ growth hormone
การป้องกันน้ำตาลในเลือดต่ำ ได้แก่ การให้ DSMES การใช้อินซูลินอะนาล๊อค การใช้ hybrid closed-loop systems การทำให้ความรู้สึกตัวเมื่อน้ำตาลต่ำคืนกลับมาโดยการหลีกเลี่ยงภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นระยะเวลา 2 – 3 สัปดาห์ การรักษาน้ำตาลในเลือดต่ำสามารถทำได้โดยการรับประทานกลูโคสหรือคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว 15 กรัม หากระดับน้ำตาล < 70 มก./ดล. และตรวจซ้ำอีก 15 นาที จนกว่าน้ำตาลจะ >70 มก./ดล. และรับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน 20 กรัม หลังจากนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำ
ภาวะเลือดเป็นกรดจากสารคีโตน
การรวบรวมข้อมูลในประเทศไทยเก็บข้อมูลแบบย้อนหลังจาก 31 โรงพยาบาลในช่วงปี พ.ศ.2558-25593 พบว่าภาวะเลือดเป็นกรดจากสารคีโตน พบร้อยละ 10.2 ต่อปี ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาพบร้อยละ 4.8 และยุโรปพบ 2.5 คนต่อ 100 คน-ปี ปัจจัยเสี่ยงของภาวะนี้ ได้แก่ เศรษฐานะต่ำ อายุน้อย เพศหญิง เคยมีภาวะเลือดเป็นกรดจากสารคีโตนมาก่อน ระดับฮีโมโกลบินเอวันซีสูง ทักษะการดูแลตนเองต่ำ (รวมถึงการหยุดอินซูลิน) ความผิดปกติทางจิต ภาวะติดเชื้อโรคร่วม การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติด และการมีปฏิสัมพันธ์ต่อทีมผู้ดูแลน้อย นอกจากนี้ในผู้ที่ให้ยากลุ่มยับยั้ง Sodium-glucose cotransporter (SGLT) ทำให้เสี่ยงต่อภาวะนี้ประมาณร้อยละ 4 ต่อปี และทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดที่ระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูง หรือสูงไม่มาก (Euglycemic diabetic ketoacidosis)
การลดอุบัติการณ์ของภาวะแทรกซ้อนนี้ทำได้โดยการให้ DSMES การสนับสนุนให้มีการตรวจคีโตนด้วยตนเอง การปรับยา ปรับพฤติกรรม การให้การสนับสนุนทางจิตใจและสังคม การให้การดูแลแบบโทรเวชกรรม (Telomidicine) เพื่อให้คำแนะนำในการดูแลหากน้ำตาลสูง หรือผู้ป่วยตรวจพบคีโตน
พฤติกรรมที่มีผลต่อการควบคุมโรคเบาหวานชนิดที่ 1
- โภชนาการ ผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ควรได้รับโภชนาการที่เหมาะสมตามวัย โดยพิจารณาจากความชอบของผู้ป่วย เศรษฐานะ ขนบธรรมเนียมประเพณี และโรคร่วม ผู้ป่วยควรได้รับความรู้เกี่ยวกับการนับสัดส่วนคาร์โบไฮเดรต และขณะเดียวกันควรทราบผลของไขมันและโปรตีนต่อระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งหากรับประทานในปริมาณมาก อาจส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นช้า แต่สูงอยู่นานหลังรับประทานจนถึง 3 ชั่วโมง
- แอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติดเพื่อผ่อนคลาย (Recreational drug use): ปริมาณของแอลกอฮอล์ที่ดื่มมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของภาวะเลือดเป็นกรดจากสารคีโตน และน้ำตาลในเลือดต่ำรุนแรงนานถึง 24 ชั่วโมงหลังการดื่ม1 ส่วนการใช้กัญชาเพื่อการผ่อนคลาย โคเคน แอมเฟตามีน ยาอี พบว่าเพิ่มความเสี่ยงของภาวะเลือดเป็นกรดจากสารคีโตน
- การสูบบุหรี่ เป็นปัจจัยเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนที่หลอดเลือดขนาดใหญ่และขนาดเล็ก จึงควรสนับสนุนให้ผู้ป่วยหยุดบุหรี่
- กิจกรรมทางกาย การมีกิจกรรมทางกายอย่างสม่ำเสมอช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนที่หลอดเลือดขนาดเล็ก กระดูกพรุน และโรคมะเร็ง การออกกำลังกายสัมพันธ์กับสมรรถภาพทางกายที่ดีขึ้น เพิ่มความไวต่ออินซูลิน ทำให้ลดปริมาณอินซูลินฉีดลงได้ ช่วยควบคุมน้ำหนัก คุณภาพการนอนดีขึ้น สุขภาพจิตดีขึ้น มีผลดีต่อหัวใจ ไขมันในเลือด เซลล์เอนโดทีเลียม ทำงานได้ดีขึ้น และลดอัตราการเสียชีวิต ผู้เป็นเบาหวานควรได้รับคำแนะนำเพื่อเตรียมตัวในการออกกำลังกายอย่างปลอดภัย
- การนอนหลับ ภาวะน้ำตาลสูง น้ำตาลต่ำ ระดับน้ำตาลที่ผันผวน หรือความดันโลหิตที่ไม่ลดลงขณะนอนหลับในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 อาจส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับ ในทางตรงกันข้าม คุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดีและการนอนน้อย ก็ส่งผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเช่นกัน
- การจัดการเมื่อเจ็บป่วย ผู้ป่วยควรได้รับการสอนเกี่ยวกับการปฏิบัติตนเมื่อเจ็บป่วย เพื่อป้องกันการเกิดภาวะฉุกเฉินเฉียบพลันจากเบาหวาน
- การขับรถ ผู้ป่วยควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดก่อนการขับรถ และทุก 2 ชั่วโมงหลังจากนั้น เพื่อป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำระหว่างการขับรถ
- การจ้างงาน ผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 สามารถประกอบอาชีพได้หลากหลายเช่นเดียวกับคนปกติ แต่ต้องคำนึงถึงลักษณะงานบางอย่างที่อาจส่งผลกระทบ ได้แก่ อาชีพที่ต้องทำงานกลางแดด หรือทำงานท่ามกลางอากาศที่ร้อนมาก ต้องระวังการเสื่อมของอินซูลิน งานที่ต้องถอดรองเท้าเดิน ไม่เหมาะในผู้ที่มีอาการชาเท้า อาชีพที่หากผู้ป่วยมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำรุรแรงอาจเกิดอันตรายร้ายแรงต่อผู้ป่วยและบุคคลอื่น ได้แก่ คนขับรถสาธารณะ หรือคนขับเครื่องบิน ต้องมีการประเมินผลการควบคุมระดับน้ำตาลและภาวะแทรกซ้อนอย่างละเอียดก่อนการทำงาน ทั้งนี้ขึ้นกับกฎข้อบังคับของแต่ละประเทศ
- การเดินทาง ผู้ป่วยต้องมีการวางแผนก่อนการเดินทาง ต้องเตรียมอินซูลินและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้เพียงพอ เตรียมการแก้ไขภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ การเดินทางไปต่างประเทศต้องคำนึงถึงเวลาที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจทำให้ต้องปรับเปลี่ยนเวลาและขนาดของอินซูลิน นอกจากนี้อุณหภูมิที่สูงหรือต่ำมากอาจทำให้ยาเสื่อมคุณภาพ นอกจากนี้ ความรู้สึกผ่อนคลายระหว่างการท่องเที่ยว กิจกรรมทางกายที่เปลี่ยนไป อาหารที่อาจรับประทานไม่ตรงเวลา หรืออาหารที่ไม่คุ้นชิน ทำให้การคำนวณคาร์โบไฮเดรตอาจผิดพลาด ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด จึงควรมีการตรวจน้ำตาลบ่อยครั้ง เตรียมบัตรประจำตัวผู้ป่วยเบาหวานซึ่งควรมีภาษาถิ่นเพิ่มความสะดวกในการสื่อสาร
- ขนบธรรมเนียมประเพณี และศาสนา บุคลากรผู้ให้การดูแลรักษาควรให้คำแนะนำและวางแผนหากผู้ป่วยต้องมีกิจกรรมทางศาสนาที่ต้องมีการอดอาหาร หรืองดอาหารบางมื้อ
การให้การสนับสนุนทางจิตใจและสังคม (Psychosocial support)
ผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 มีความเครียด ซึมเศร้า มากกว่าผู้ที่ไม่เป็นเบาหวานถึง 2 เท่า ภาวะนี้สัมพันธ์กับการดูแลตนเองลดลง น้ำตาลในเลือดสูง ภาวะแทรกซ้อนและอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น บุคลากรที่ดูแลรักษาผู้ป่วย ควรมีการประเมินสภาวะจิตใจของผู้ป่วย และปัจจัยทางสังคมที่ส่งผลต่อสุขภาพ ได้แก่ ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว สิ่งแวดล้อมรอบบ้าน ได้แก่ สวนสาธารณะ สถานที่ออกกำลังกาย ฯลฯ มลพิษ การเข้าถึงอาหาร และการเข้าถึงการดูแลรักษา พร้อมทั้งให้การดูแลด้านจิตใจและสังคม และส่งต่อผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางหากมีข้อบ่งชี้
การปลูกถ่ายตับอ่อน และการปลูกถ่ายไอส์เล็ตส์เซลล์
การปลูกถ่ายทั้งสองชนิดช่วยในการป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้น้ำตาลกลับสู่ปกติ และอาจหยุดการดำเนินโรคของภาวะแทรกซ้อนในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ถึงแม้จะมีข้อดีดังที่กล่างมา แต่ผู้ป่วยต้องได้รับยากดภูมิในระยะยาว จึงต้องพิจารณาความเสี่ยงและประโยชน์ที่ได้รับให้รอบด้าน การปลูกถ่ายตับอ่อนแบ่งเป็น
- การปลูกถ่ายในผุ้ที่มีโรคไตเรื้อรังอัตรการกรองของไต < 30 ซีซี/นาที/1.73 ม.2 แบ่งได้เป็น
- การปลูกถ่ายตับอ่อนพร้อมกับไต (Simultaneous pancreas and kidney transplant; SPK) เป็นการรักษามาตรฐานในผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ที่เป็นโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย พบว่า graft survival ในระยะเวลา 5 ปีเท่ากับร้อยละ 83
- การปลูกถ่ายตับอ่อนหลังจากการปลูกถ่ายไต (Pancreas after kidney transplant; PAK) ซึ่ง graft survival ในระยะเวลา 5 ปีเท่ากับร้อยละ 70
- การปลูกถ่ายตับอ่อนอย่างเดียว (Pancreas transplant alone; PTA) มีข้อบ่งชี้คือ มีภาวะฉุกเฉินเฉียบพลันรุนแรงจากโรคเบาหวานบ่อยครั้ง มีภาวะ IAH มีปัญหาทางกายและใจที่เกี่ยวข้องกับการใช้อินซูลิน ผู้ที่เกิดภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันจากเบาหวานแม้จะมีการปรับอินซูลินอย่างเหมาะสม การผ่าตัดชนิดนี้มักทำให้ผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 50 ปี ไม่อ้วน และไม่มีโรคหลอดเลือดหัวใจ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตช่วงผ่าตัดน้อย และผลลัพธ์ทางคลินิกที่ดี อัตรา graft survival ของ PTA ในระยะเวลา 5 ปีเท่ากับร้อยละ 55
สำหรับการปลูกถ่ายไอส์เล็ตส์เซลล์ เป็นการนำไอส์เล็ตส์เซลล์ที่สกัดมาจากตับอ่อนมนุษย์ ฉีดเข้าที่ตับ ข้อดีของวิธีนี้คือ ไม่ต้องผ่าตัด สามารถทำได้ในผู้ที่มีอายุมาก หรือมีโรคหลอดเลือดหัวใจซึ่งไม่สามารถผ่าตัดปลูกถ่ายตับอ่อนได้ การปลูกถ่ายไอส์เล็ตส์เซลล์ มีข้อบ่งชี้ในผู้ป่วยที่มีความผันแปรของระดับน้ำตาลมาก มีปัญหาน้ำตาลต่ำรุนแรงบ่อยครั้ง ถึงแม้จะมีการปรับการรักษาอย่างเหมาะสมแล้ว ผลการปลูกถ่ายพบว่าผู้ป่วยสามารถหยุดอินซูลินในระยะเวลา 5 ปี ร้อยละ 50 อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ได้รับการยอมรับเป็นการรักษาในบางประเทศเท่านั้น
การรักษาเสริมนอกเหนือจากอินซูลิน
การรักษาเสริมโดยการใช้ยาอื่นนอกเหนือจากอินซูลิน โดยส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อการควบคุมระดับน้ำตาลในกรณีที่ได้รับการปรับอินซูลินอย่างเหมาะสมแล้ว การรักษาเสริมดังกล่าวสรุปดังตาราง
ตารางที่ 6 แสดงการรักษาเสริมนอกเหนือจากอินซูลินในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1
หมายเหตุ : GLP-1 RA, Glucagon-like peptide 1 receptor agonis; SGLT, Sodium glucose cotransporter; อย., องค์การอาหารและยา
1ยังไม่มีการศึกษาในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1
2ต้องมีความระมัดระวังในการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมในการให้ยา กล่าวคือ ผู้ป่วยต้องมีการตรวจวัดคีโตนเป็นระยะ แนะนำแนวทางให้ผู้ป่วยในการปฏิบัติตนหากผลคีโตนเป็นบวก ปรับขนาดอินซูลินให้เหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้อินซูลินในร่างกายน้อยเกินไป และให้ยายับยั้ง SGLT ในขนาดต่ำ
เบาหวานชนิดที่ 1 ในกลุ่มประชากรพิเศษ
หญิงตั้งครรภ์
ภาวะน้ำตาลสูงในระหว่างการตั้งครรภ์ทำให้เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนทั้งมารดาและทารก จึงต้องมีการวางแผนก่อนการตั้งครรภ์ มีการประเมินภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังของโรคเบาหวาน ระดับฮีโมโกลบินเอวันซี การปรับเปลี่ยนยาที่มีผลทารกในครรภ์ และการให้ folic acid เพื่อป้องกัน neural tube defects
เมื่อตั้งครรภ์ต้องควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมาย ในขณะเดียวกันต้องระวังภาวะเลือดเป็นกรดจากสารคีโตน และติดตามสุขภาพมารดาและทารกเป็นระยะ หลังคลอดผู้ป่วยเสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เนื่องจากการเปลี่ยนเวลาในการนอนและการรับประทานอาหาร จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนขนาดอินซูลินให้เหมาะสม
การติดตามระดับน้ำตาลระหว่างการตั้งครรภ์
การติดตามระดับน้ำตาลระหว่างการตั้งครรภ์สามารถทำได้โดย
- การตรวจ BGM ควรตรวจทั้งก่อนและหลังอาหาร วันละ 6-8 ครั้ง โดยมีเป้าหมายระดับน้ำตาลดังนี้
- ก่อนอาหาร 70-95 มก./ดล.
- หลังอาหาร 1 ชั่วโมง 110-140 มก./ดล.
- หลังอาหาร 2 ชั่วโมง 100/120 มก./ดล.
- การติดตามด้วยเครื่องตรวจน้ำตาลตลอดเวลา (CGM) พบว่าส่งผลให้ระดับฮีโมโกลบินเอวันซีดีขึ้นเล็กน้อยโดยอุบัติการณ์ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำไม่เพิ่มขึ้น อุบัติการณ์ลูกตัวโตลดลง ระยะเวลาการนอนโรงพยาบาล และน้ำตาลในเลือดต่ำในทารกลดลง โดยมีเป้าหมายแตกต่างจากคนปกติ ดังนี้
- Time in range; TIR (63-140 มก./ดล.) > 70%
- Time below range (< 63 มก./ดล.) < 4%
- Time below range (< 54 มก./ดล.) < 1%
- Time below range (> 140 มก./ดล.) < 25%
- ฮีโมโกลบินเอวันซี ควร <6.0 – 6.5% และควรตรวจฮีโมโกลบินเอวันซี ทุก 1-3 เดือน
ผู้สูงอายุ
ระดับน้ำตาลเป้าหมายมีความแตกต่างกันระหว่างบุคคล ขึ้นอยู่กับความสามารถในการช่วยเหลือตนเอง ระยะเวลาที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่ นอกจากนี้การดูแลผู้สูงอายุ ควรคำนึงถึงความสามารถในการบริหารยา การคำนวณขนาดยา ความสามารถในการรับรู้ จึงควรปรับการรักษาให้เหมาะสม
ผู้ที่นอนโรงพยาบาล
ระดับน้ำตาลเป้าหมายใช้เกณฑ์เดียวกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 คือ 140-180 มก./ดล. สิ่งที่ควรระวังคือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และภาวะเลือดเป็นกรดจากสารคีโตนเนื่องจากการหยุดฉีดอินซูลิน หากเป็นไปได้อาจเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยสามารถติดตามระดับน้ำตาลด้วยตนเอง ปรับยา และฉีดยาอินซูลินด้วยตนเองได้ หรือควบคุมอินซูลินปั๊มของตนเองในผู้ที่สามารถดูแลตนเองได้ดี
บทสรุป
การดูแลรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ควรมีการประเมินความถูกต้องในการวินิจฉัยโรคเนื่องจากการวินิจฉัยโรคมีผลต่อการดูแลรักษา ผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 มีอุบัติการณ์ของภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันและเรื้อรังมากกว่าเบาหวานชนิดที่ 2 จึงต้องมีบุคลากรทางการแพทย์สหสาขาร่วมกันดูแลผู้ป่วย โดยผู้ป่วยทุกคนและผู้ดูแลควรได้รับ DSMES เมื่อแรกวินิจฉัย เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อน และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงชีวิต เพื่อให้ผู้ป่วยมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรค สามารถดูแลรักษาตนเองได้ ทั้งในสภาวะปกติและภาวะพิเศษ ในระหว่างการดูแลรักษาทีมบุคลากรการแพทย์ควรมีการประเมินผู้ป่วยทั้งร่างกาย จิตใจและสังคมเป็นระยะ พร้อมทั้งให้กำลังใจ เสริมพลัง และสนับสนุน ผู้ป่วยอันจะนำไปสู่การลดภาวะแทรกซ้อนร่วมกับมีคุณภาพชีวิตที่ดีในที่สุด
- Holt RIG, DeVries JH, Hess-Fischl A, et al. The management of type 1 diabetes in adults. A consensus report by the American Diabetes Association (ADA) and the European Association for the Study of Diabetes (EASD). Diabetologia 2021;64:2609-52
- Mobasseri M, Shirmohammadi M, Amiri T, Vahed N, Hosseini Fard H, Ghojazadeh M. Prevalence and incidence of type 1 diabetes in the world: a systematic review and meta-analysis. Health Promot Perspect 2020;10:98-115.
- Dejkhamron P, Santiprabhob J, Likitmaskul S, et al. Type 1 diabetes management and outcomes: A multicenter study in Thailand. Journal of diabetes investigation 2021;12:516-26.
ขอขอบคุณ
สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
https://dmthai.org/new/index.php/sara-khwam-ru/sahrab-bukhkhl-thawpi/diabetes-ebook