“บางคน ประนีประนอมแล้วงานไม่เดิน เพราะไม่กล้าตัดสินใจ
แต่สำหรับผมถ้าทุกอย่างพร้อม ผมสามารถตัดสินใจได้”
ศ. นพ. สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ
กุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาต่อมไร้ท่อ
ผมจบประถมที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน และมาจบมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ตอนเรียนแรก ๆ ก็ไม่ได้คิดว่าจะเรียนแพทย์ และสมัยเรียนก็ชอบฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ เคมี ส่วนชีววิทยาแค่เรียนได้แต่ไม่ชอบ ตอนตัดสินใจเลือกเรียนแพทย์ ได้แรงผลักดันจากครอบครัวคือ ถ้าเรียนดีพ่อแม่ก็อยากให้เรียนหมอ เพราะเป็นอาชีพที่มั่นคง ช่วยเหลือตัวเองได้ พ่อกับแม่พูดกับผมเสมอว่า อยากให้ทำอาชีพที่สามารถทำเพื่อส่วนรวมได้ ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองอย่างเดียว ท้ายสุดจึงตัดสินใจสอบเข้าเรียนแพทย์ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยผมเรียนในรุ่นที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนหลักสูตร คือเรียนทีเดียวจบ 6 ปีแล้วไป extern เลย เขาจะจับรุ่นพี่กับรุ่นผมเรียนด้วยกัน ผมก็จะมีเพื่อนร่วมรุ่น 2 เท่า ต้องยอมรับว่า เป็นการเรียนที่มีความสุข โดยเฉพาะกับการที่ได้ใช้ชีวิตร่วมกันกับเพื่อน ๆ
หลังจากเรียนจบ ได้ไปใช้ทุนที่โรงพยาบาลภูมิพล ก่อนหน้านั้นก็เริ่มสนใจทางด้านกุมารเวชศาสตร์แล้ว เพราะผมรู้สึกว่าถูกโฉลกกับเด็ก บางคนทนกับเสียงเด็กไม่ได้ แต่ผมทนเสียงเด็กได้ มีความรู้สึกว่าเด็กจะร้องก็ร้องไป ตอนนั้นก็เลยบอกเพื่อนที่ไปใช้ทุนด้วยกันว่า ถ้าเป็นทางด้านกุมารฯ จะขอสลับไปอยู่เอง ทำให้ตอนใช้ทุนที่โรงพยาบาลภูมิพลได้มีโอกาสไปอยู่กองกุมารเวชกรรมด้วย ก็คิดว่าใช่สิ่งที่เราต้องการ โดยผมไปเรียนกุมารเวชศาสตร์ต่อที่ประเทศอังกฤษและก็ไปสอบ Membership of the Royal College of Physicians of the United Kingdom (MRCP)
หลังจากเรียนพื้นฐานทางกุมารเวชศาสตร์แล้ว ก็ต้องเลือกว่าเราอยากจะเชี่ยวชาญสาขาอะไร ต้องยอมรับว่าครูที่อยู่ที่อังกฤษมีอิทธิพลกับผมมาก โดย 3 เดือนสุดท้ายผมได้อยู่กับครูที่เป็นหมอต่อมไร้ท่อเด็ก ชื่อ Dr. David Grant อยู่ที่ Great Ormond Street Hospital ครูคนนี้ทำให้ผมเห็นว่าสาขาต่อมไร้ท่อเด็กมีความน่าสนใจ โดยครูจะสอนผมแบบ learning by doing ตัวอย่างเช่น ครูให้ผมไปวัดส่วนสูงเด็กและกลับมารายงานว่าสูงเท่าไหร่ ผมก็คิดว่าทำไมต้องให้เราไปวัดส่วนสูงเด็ก ทำไมไม่ให้พยาบาลวัด ผมมารู้ทีหลังว่าครูกำลังสอนให้ผมรู้จักการวัดที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการวัดในคลินิกต่อมไร้ท่อเด็กต้องมี standard ในการวัดหรือแม้กระทั่งการอ่าน x-ray bone age ครูก็นัดผมขึ้นไปที่ชั้น 2 พอผมขึ้นไปก็เห็นฟิล์มกองอยู่กองหนึ่งและก็มีกล่อง x-ray ตั้งอยู่ ไม่เห็นมีใครมาสอนเลย วันรุ่งขึ้นผมก็ไปบอกว่าไม่ได้เรียนอะไรเพราะไม่มีใครมาสอน ครูบอกว่านั้นแหละให้คุณอ่านเองดูเอง ถ้ามีปัญหาสงสัยก็ค่อยไปคุยกับเขา ผมว่านี้คือการสอนของประเทศอังกฤษ ระบบของเขาจะเป็นแบบนี้ เขาสอนให้เรารู้จักค้นคว้าด้วยตัวเอง ผมจึงเกิดความประทับใจและตัดสินใจเรียนสาขาต่อมไร้ท่อเด็ก
“ผมภูมิใจที่ได้ทำงานทุกวัน
โดยที่ไม่มีความเบื่อหน่ายหรือไม่มีวันไหนที่ผม
ไม่อยากมาทำงานเลยผมมีความสุขที่ได้มา
ทำงานทุกวัน จนถึงปัจจุบัน”
สิ่งที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุด ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ผมขอตอบสัก 4 เรื่อง เรื่องแรกคือ ผมรู้สึกภูมิใจที่ตั้งแต่เป็นแพทย์ใช้ทุน เทรนสาขาเด็ก ต่อมไร้ท่อเด็ก มาเป็นอาจารย์แพทย์ มาเป็นผู้บริหารจนถึงเกษียณอายุราชการ ผมทำงานทุกวันโดยที่ไม่มีความเบื่อหน่าย หรือไม่มีวันไหนที่ผมไม่อยากมาทำงานเลย ผมมีความสุขที่ได้มาทำงานทุกวัน จนถึงปัจจุบัน
เรื่องที่สองคือ การได้เป็นอาจารย์แพทย์ การได้มีโอกาสสอนนิสิตแพทย์ สอน Resident การทำงานวิจัยที่เอามาตอบโจทย์การเรียนกับลูกศิษย์ ได้เห็นลูกศิษย์ที่เราสร้างเติบโตในที่ต่าง ๆ
เรื่องที่สาม การได้เป็นผู้บริหารและทำให้องค์กรมีภารกิจงานตามที่เราตั้งใจได้ โดยผมมองมานานแล้วว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ควรจะมีความเป็นนานาชาติมากขึ้น โดยตอนไปอยู่ต่างประเทศผมรู้สึกว่าบ้านเรามีความเป็นนานาชาติน้อย เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย สิงคโปร์ ความเก่งของคนไทยมีไม่น้อย แต่เราขึ้นเวทีโลกไม่ค่อยได้มาก มีความเป็นนานาชาติไม่ได้มาก ตอนที่เป็นคณบดี คณะแพทย์ ผมพยายามผลักดัน โดยทำหลักสูตรการเรียนการสอนให้เป็นนานาชาติเป็น International program มากขึ้น คือ CUMEDi หรือ Chula Medical International Program รวมทั้งการทำ School of global health โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการสร้างแพลตฟอร์มในการบริหารหลักสูตรนานาชาติ เพื่อยกระดับหลักสูตรบัณฑิตศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย ให้แพทย์ไทยมีความเป็นนานาชาติมากขึ้น มีโอกาสแลกเปลี่ยนงานวิจัย การเรียนการสอน และสามารถทำงานร่วมกับวิชาชีพอื่นนอกจากสาธารณสุข เช่น วิศวกร นักรัฐศาสตร์ นักกฎหมาย ทำความร่วมมือกับประเทศทั้งที่ดีและด้อยกว่าเรา ก็ภูมิใจในหลักสูตรที่ได้ทำ
เรื่องที่สี่คือ การพาองค์กรผ่านโควิด 19 มาได้ เรื่องนี้เป็นความภูมิใจที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยช่วงโควิด 19 เป็นช่วงที่วิกฤตมาก เราได้มีส่วนประคับประคองคนขององค์กรทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ทุกระดับ นิสิตแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน ให้ผ่านวิกฤตนั้นมาได้ แน่นอนเราไม่ได้ทำคนเดียว ต้องมี National policy หรือมีอะไรอย่างอื่น แต่ก็ภูมิใจที่เรามีส่วนทำให้องค์กรผ่านวิกฤตมาได้โดยไม่มีปัญหา
ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ
ผมเลือกแค่ 2 ปัจจัย ปัจจัยแรก ผมคิดว่าเกิดจากการที่ผมเป็นคนประนีประนอม หรือ compromise ไม่ค่อย aggressive เวลาประชุมผมจะฟังทุกคน ไม่ไปโต้เถียง จริงอยู่การประนีประนอมจะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย บางคน ประนีประนอมแล้วงานไม่เดิน เพราะไม่กล้าตัดสินใจ แต่สำหรับผมถ้าทุกอย่างพร้อม ผมสามารถตัดสินใจได้เลย แต่เราก็บอกเสมอว่า ในการตัดสินใจนั้น ไม่มีใครได้ทั้งหมดและก็ไม่มีใครเสียทั้งหมด
ปัจจัยที่สอง ผมคิดว่าผมเป็นคนที่สื่อสารเรื่องยากให้เข้าใจง่ายได้ อย่าง Fellow ที่มาเรียนวิชาต่อมไร้ท่อกับผม จากที่เขาเคยรู้สึกว่าไม่อยากเรียนบางวิชาเพราะมันยาก แต่เรียนไปแล้วเขากลับมากบอกว่าผมทำเรื่องยากให้เข้าใจง่าย หรืออย่าง Indirect evidence ที่อ้างอิงได้ก็คือ ผมได้รับรางวัลเรื่องการเรียนการสอนในระดับดีเด่นจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วก็ไปได้รับรางวัล Teaching award จาก Asia Pacific Pediatric Endocrine Society (APPES) เป็นต้น ผมไม่รู้หรอกจริง ๆ เป็นแบบนั้นไหม แต่ก็ฟังเสียงจากลูกศิษย์ที่เคยสอนและจากรางวัลการสอนที่ได้รับมา
กว่าจะถึงวันที่ประสบความสำเร็จ เจออุปสรรคอะไรบ้าง แล้วเอาชนะอย่างไร
การทำงานมันมีอุปสรรคอยู่แล้ว ผมขอยกตัวอย่างสัก 2 เรื่อง อย่างตอนที่เป็นทีมบริหารโรงพยาบาล เราก็คิดอยากจะทำหลายอย่าง แต่การขับเคลื่อนหรือทำจริง มันไม่สามารถทำได้ง่ายเหมือนที่เราคิด บางเรื่องอาจต้องใช้เวลาเป็นเดือน ผมเคยมีความคิดพัฒนาการบริการฝั่งโรงพยาบาลให้ก้าวหน้าไปมากกว่านี้ เช่น การที่เรามีเครือข่ายของโรงพยาบาล มี Satellite clinic ที่เกิดขึ้นตามที่ต่าง ๆ แต่เรายังไม่มีระบบที่จะทำให้การทำงานเป็นแบบเครือข่ายได้ ด้วยข้อจำกัดของกำลังคนและภาระงาน ระบบเครือข่ายจึงยังไม่เกิดขึ้น แต่ตอนนี้จะเห็นว่าหลาย ๆ แห่งเริ่มทำแล้ว ก็ไม่เป็นไร ก็เป็นโจทย์ตั้งไว้สำหรับให้คนทำงานในชุดถัดไปได้เอาประเด็นนี้ไปคิดต่อ
อีกเรื่องก็คือ การทำหลักสูตรที่เป็นหลักสูตรนานาชาติ เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย มีอุปสรรคที่ต้องแก้หลายเรื่อง ก็ต้องใช้การแก้ไขไปทีละขั้น คน ระบบงาน สถานที่ เช่น อาจารย์บางคนถามว่าทำไปทำไมหลักสูตรนานาชาติสอนนักเรียนแค่นี้ยังไม่พออีกเหรอ บางคนเห็นด้วยบางคนไม่เห็นด้วย เราก็ใช้การเดินสายไปแต่ละภาควิชาว่า เรามีแนวความคิดจะทำแบบนี้ อาจารย์ว่ายังไงกันบ้าง แน่นอนก็ไม่มีใครเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมก็คุยกับทีมงานว่าถ้าเป็นเป้าหมายสูงสุดที่เราอยากจะให้เกิด ไม่ต้องรอให้พร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้า 60 – 70 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วยก็ทำได้แล้ว ถ้ามีปัญหาก็ไปแก้กันต่อ แล้วก็มีปัญหาจริง ๆ สถานที่จะเอาที่ไหนดี ความร่วมมือกับสถาบันอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศจะเอายังไง ในการเดินหน้าหลักสูตรต้องเดินหน้าผ่านมหาวิทยาลัย เดินหน้าผ่านแพทยสภา เดินหน้ามหาวิทยาลัยต้องไปตอบคำถามหลายครั้งว่าทำไปทำไม ทำแล้วได้อะไร เราก็พยายามฝ่าฟันไปทุกอุปสรรค ทีมวิชาการช่วยผมได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการหาข้อมูล เสียงส่วนใหญ่ไม่ต่อต้านเราก็ทำต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งสำเร็จ สุดท้ายที่ผมเป็นห่วงมากที่สุดคือ ตอนเข้าแพทยสภาพิจารณา เป็นด่านสุดท้ายที่เราต้องไปตอบคำถาม ผมไปกับทีมวิชาการปรากฏว่าคำถามน้อยมาก ทุกคนเห็นด้วยและยังถามด้วยว่า ทำไมเรารับต่างชาติแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ สุดท้ายก็ผ่านไปได้ด้วยดีในครั้งเดียว ผมคิดว่ามีหลายปัจจัยที่แพทยสภาเห็นด้วยคือ ความเป็นนานาชาติของบ้านเรามันเปลี่ยนไป เรายอมรับนานาชาติมากขึ้น
ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้บางเรื่อง อยากกลับไปทำเรื่องใดมากที่สุด
คงไม่ได้แก้ไขอะไร แต่อาจจะเสริมบางอย่างให้มีพลังมากขึ้น อย่างเช่น เรื่องของงานบริการทางการแพทย์ ผมอยากจะทำให้กระบวนการบริการทางการแพทย์ดีขึ้นไปอีก จริง ๆ แล้วเราก็มีกรรมการอำนวยการฝ่ายการแพทย์คอยให้ข้อคิดเห็นอยู่เสมอ ทำให้งานบริการขับเคลื่อนมาได้ดีในระดับหนึ่ง แต่บางเรื่องยังไปไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเรายังขาดคนที่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ โดยตรง เช่น ระบบไอทีที่ตอนนั้นอาจจะไปไม่ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์
อีกเรื่องคือ ผมเคยทำนโยบายความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลจุฬาฯ กับโรงพยาบาลสวนเบญจกิติหรือโรงพยาบาลยาสูบ (เดิม) ผมคิดว่าเนื่องจากเราอยู่ละแวกเดียวกัน การทำความร่วมมือระหว่าง 2 โรงพยาบาลน่าจะทำให้กระบวนการดูแลหรือกระบวนการศึกษาวิจัยครบถ้วนได้มากขึ้น เราก็ไปทำความร่วมมือได้ในระดับหนึ่งแต่ก็ไปต่อไม่ได้ไกลมาก เนื่องจากติดขัดด้วยระบบของบุคลากร ระบบบริหารจัดการบางอย่าง แต่ท่านผู้อำนวยการและท่านคณบดีคนปัจจุบันยังดำเนินการโปรเจกต์นี้ต่อ และคิดว่าในขั้นตอนต่อไปเราจะทำได้ดีขึ้น
ใครคือบุคคลที่เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน
ท่านแรกคือ รศ.พญ.สุมาลี ศรีวัฒนา ท่านเป็นอาจารย์ต่อมไร้ท่อเด็กที่ผมได้ทำงานกับท่านที่จุฬาฯ ท่านเป็นต้นแบบของความเป็นครูและความเป็นแพทย์อย่างสมบูรณ์ ท่านเป็นครูที่ถ้าถามถึงหมอเด็กที่จบจากจุฬาฯ ทุกคนก็จะกลัวอาจารย์สุมาลีเพราะท่านเป็นครูที่ดุมาก แต่ผมไม่เห็นว่าอาจารย์จะดุอะไร อาจารย์เป็นคนที่ใส่ใจผู้ร่วมงาน ใส่ใจคนไข้และเวลาอาจารย์ดูคนไข้ อาจารย์จะดูถึงครอบครัวด้วย ท่านจุดประกายความเป็นแพทย์ความเป็นครูให้กับผม
ท่านที่สองคือ ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา อาจารย์เป็นต้นแบบของการบริหารและแนวความคิด ท่านเป็นอดีตคณบดี ท่านเป็นอาจารย์อาวุโสตั้งแต่สมัยผมเป็นนักเรียน ผมไม่เคยทำงานกับท่านจนกระทั่งผมมาเป็นคณบดีและได้มีโอกาสมาคุยงานกับท่าน ท่านเป็นผู้อาวุโสที่มีความทันสมัยและคิดไกล ผมได้อะไรที่สามารถนำกลับไปพัฒนาองค์กรได้ ท่านมีแนวความคิดที่ของเก่าของใหม่ผสมกัน หลักสูตรบางอย่างผมก็ได้แนวความคิดจากท่านมาปรับปรุง ท่านจุดประกายแนวความคิดเอาของเก่ามารวมกับของใหม่ เป็นแนวความคิดที่เฉียบแหลม
“โดยเราไม่ต้องไปเทียบกับ
คนอื่นหรือสถาบันอื่นเพราะว่ามันจะทำให้
การทำงานไม่มีความสุขเราแข่งกับตัวเราเอง
เราจะมีความสุขทุกวันที่ทำงาน”
คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
หลักการแรก ผมไม่เคยคิดไปแข่งกับใครเลย ผมคิดว่าคนเราแข่งกับตัวเองดีที่สุด อย่างตอนเป็นอาจารย์ ผมคิดว่าอาจารย์ที่ดีในความคิดผมควรเป็นอย่างไร ผมก็พยายามพัฒนาตัวเองไปให้ถึงจุดนั้นในเวลาที่กำหนดไว้ พอมาทำงานบริหาร ผมก็ไม่เคยคิดที่จะแข่งกับใคร แต่คิดว่าเราแข่งกับ vision ของตัวเอง และแข่งกับ vision รวมของทีมบริหาร ว่าเราจะพาองค์กรไปถึงจุดไหน ในปีใด โดยเราไม่ต้องไปเทียบกับคนอื่นหรือสถาบันอื่น เพราะว่ามันจะทำให้การทำงานไม่มีความสุข เราแข่งกับตัวเราเอง เราจะมีความสุขทุกวันที่ทำงาน
หลักการที่สอง ผมไม่ชอบความเป็นพรรคพวกและการล็อบบี้ ผมมีความคิดว่า คนเราจะไปถึงจุดไหนได้ต้องให้คนอื่นเห็นว่าเรามีความเหมาะสม ไม่ใช่เราจะไปถึงจุดนั้นได้ด้วยการที่เราไปวิ่งล็อบบี้ให้คนอื่น ๆ มาเลือกเราหลักการของผมคือ ถ้าทุกคนเห็นว่าผมเหมาะสมที่จะทำงานนั้น ๆ และเป็นงานที่ผมสนใจอยู่ด้วย ผมจะมาทำ แต่ถ้าเห็นว่าผมไม่เหมาะสม ผมก็จะไม่ทำ โดยผมจะไม่ใช้วิธีการอื่น ผมไม่ชอบการล็อบบี้คน เพราะว่าเวลาเรา ล็อบบี้คน เราก็ต้องมีอะไรตอบแทนเขา ต่อไปงานบางงานควรทำ เราก็อาจจะทำไม่ได้ เพราะติดขัดในสิ่งที่เราไปล็อบบี้ไว้
หลักการที่สามคือ ผมเคารพเพื่อนร่วมงาน ผมจะไม่ไปชี้นิ้วสั่ง ให้ใครไปทำอย่างนั้น อย่างนี้ ถ้าผมจะเสนอความคิดอะไรขึ้นมา ผมจะถามก่อนว่าเขาคิดว่าไง ถ้าเขาเห็นดีเห็นงามด้วยก็เอาเลย แต่ถ้ามีข้อจำกัดหรือมีปัญหา ผมก็จะฟังเหตุผล แล้วพูดคุยหาทางแก้ปัญหาให้เขาก่อน ถ้ามันไม่ได้จริง ๆ ก็คือไม่ได้ แต่ถ้าได้ก็ต้องช่วยกันทำต่อนะ
มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร
เรื่องแรก ผมมองว่าแพทย์บ้านเราเก่ง มีความรู้ แต่เราอยู่เดี่ยว ๆ เกินไป นั่นคือ เหตุผลที่ต้องพยายามดึงแพทย์บ้านเราให้ขึ้นมาเป็นระดับนานาชาติ เราจึงพยายามทำไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรหรืองานวิจัยหรืองานบริการก็ตาม ให้มีความร่วมมือกับนานาชาติให้มากที่สุด นี้คือเหตุผลในการพัฒนาหลักสูตรนานาชาติ ผมผลักดันหลักสูตร School of global health เพื่อให้มีความนานาชาติ มีมุมมองในระดับโลก
เรื่องที่สองสอดคล้องกับข้อแรก แพทย์บ้านเราอยู่เดี่ยวเกินไป การทำงานแพทย์ให้ได้ดีนั้น จำเป็นต้องทำงานร่วมกันกับวิชาชีพอื่นได้ด้วย ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ การระบาดของโรคโควิด 19 เราจะเห็นว่าการระบาดแบบนี้เราทำงานโดยอาศัยแพทย์อย่างเดียวไม่ได้ เราจำเป็นจะต้องทำงานร่วมกับสัตวแพทย์ นักระบาดวิทยา นักสุขศึกษา เพื่อจะทำให้ vision หรือภารกิจที่ตั้งไว้มันสมบูรณ์ได้ ก็เป็นที่มาว่าแพทย์จะรู้ลึกอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องรู้กว้างด้วย เราต้องรู้จักทำงานร่วมกับศาสตร์อื่นแล้วมา หลอมรวมเข้ากับความเป็นแพทย์
เรื่องที่สาม การพัฒนาอย่างต่อเนื่องของไอทีและเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสุขภาพ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จริงอยู่ว่าแพทย์รุ่นใหม่จะต้องรู้เรื่องของเทคโนโลยีเหล่านี้ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ทำให้การเรียน การสอน การวิจัยและการบริหาร มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ปัญหาก็คือ แพทย์เองต้องรักษาสมดุลของการใช้เทคโนโลยีกับความเป็นแพทย์ เพราะมีแนวโน้มว่า ถ้าเทคโนโลยีมาก ๆ จิตใจของความเป็นแพทย์ก็จะน้อยลง สมัยก่อนเวลาเจอคนไข้ แพทย์จะซักประวัติคุยกันยิ้มแย้มแจ่มใส ปัจจุบันแพทย์บางคนเกือบไม่ได้มองหน้าคนไข้ คนไข้ก็พูดไป แพทย์ก็ใส่ใจอยู่กับเครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ บางครั้งปฏิสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้เกือบไม่มี ผมจะได้ยินจากคนไข้บ่อย ๆ ว่า หมอไม่เห็นพูด ไม่เห็นสื่อสารเลย พูดก็ไม่ค่อยอยากจะฟัง ส่วนตัวผมมองว่า แพทย์ที่ปฏิบัติงานไม่ได้มีจิตใจที่ไม่ดี แต่ว่าทักษะในการสื่อสารกับคนไข้ กับเพื่อนร่วมงานอาจจะน้อยลง จากการที่ต้องอยู่กับเครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยีมากไป เรื่องนี้แพทย์ต้องสร้างสมดุลให้ได้
“แพทย์รุ่นใหม่ควรจะมี
ความเป็น international
มี diversityและมี net working
ในการทำงานมากขึ้น”
ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะประสบความสำเร็จ ต้องทำอย่างไร
ต้องบอกก่อนว่า คนที่มาเรียนแพทย์เป็นคนเก่งที่ถูกคัดเลือกมาแล้ว ผมได้อ่านการศึกษาของต่างประเทศ เขาบอกว่า 1 ใน 3 ของคนที่มาเรียนแพทย์ ไม่ได้อยากจะเป็นแพทย์ ทำให้คิดได้ว่า ถ้าอยากจะประสบความสำเร็จในอาชีพแพทย์ คุณต้องตั้งต้นให้ดีก่อน ถ้าตั้งต้นได้ไม่ดีคุณจะไปถึงฝั่งได้ไม่ดี ต้องแน่ใจว่าตนเองอยากจะเป็นแพทย์จริงหรือเปล่า ตรงนี้พ่อแม่ก็มีส่วน ถ้าลูกไม่ได้อยากเป็นแพทย์ก็อย่าบังคับให้เด็กเรียนแพทย์เลย ปัจจุบันมีทางเลือกทางออกในวิชาอื่นเยอะมาก
ถ้าตั้งใจและชัดเจนกับตัวเองในการเป็นแพทย์แล้ว แนะนำว่าต้องเข้าใจก่อนว่า อาชีพแพทย์ไม่ได้ใช้องค์ความรู้อย่างเดียว ไม่ใช่ว่าเราต้องศึกษาอย่างเดียวโดยไม่สนใจคนรอบข้าง ไม่สนใจเพื่อนที่ทำงานด้วยกัน ไม่ได้สนใจคนไข้ แพทย์คืองานบริการ เพราะฉะนั้นถามตัวเองว่าถ้าเราเป็นคนไข้ เราอยากได้แพทย์แบบไหน เราอยากได้การบริการแบบไหน มีการสำรวจพบว่า คนไข้อยากรักษาและการบริการจากแพทย์ที่ 1) มีความรู้ดี 2) มีการสื่อสาร อธิบายให้คนไข้รู้ว่าป่วยเป็นอะไร รักษาอย่างไร ปฏิบัติตัวอย่างไร เป็น Communication skill และ 3) มีความเข้าอกเข้าใจ เอาใจใส่ต่อผู้ร่วมงาน ต่อคนไข้ ต่อบุคคลรอบตัว เป็น Empathy skill ต้องมี 3 ข้อหลัก ๆ นี้ ถึงจะเป็นแพทย์ที่ดีในสายตาคนไข้ ทั้งนี้หากนำไปเทียบกับข้อเสียของการพึ่งพาเทคโนโลยีมากไป จะทำให้แพทย์มีปัญหากับคนไข้ในเรื่องการสื่อสาร และการเข้าอกเข้าใจความต้องการของคนไข้และผู้ร่วมงาน ที่กล่าวมาเป็นพื้นฐานที่การเป็นแพทย์ที่ดีควรมี เพราะเป็นสิ่งที่คนไข้ต้องการ แต่การเป็นแพทย์นอกจากรักษาคนไข้แล้วยังสามารถเติบโตไปได้หลากหลายแนวทาง ทั้งการทำวิจัย การเรียนการสอน การบริหาร ซึ่งแต่ละสาขาต้องมีทักษะเฉพาะทาง ซึ่งแพทย์ต้องไปศึกษาเพิ่มเติม
สิ่งที่อยากจะแนะนำอีกเรื่องซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ผมได้พัฒนาที่จุฬาฯ ไปก่อนหน้าคือ แพทย์รุ่นใหม่ควรจะมีความเป็น international และมี diversity มากขึ้น อนาคตแพทย์ไทยต้องให้บริการ ต้องทำงานวิจัยระดับนานาชาติ ระดับภูมิภาคและระดับโลก อีกทั้งต้องทำงานกับหลากหลายสาขาอาชีพมากขึ้น มีเครือข่าย มี net working แพทย์รุ่นใหม่ต้องมีวิสัยทัศน์และมีการพัฒนาทักษะทางด้านนี้