นพ. วรมันต์ ไวดาบ
สาขาโรคติดเชื้อ กลุ่มงานกุมารเวชกรรม
โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
สรุปเนื้อหาจากงานประชุมใหญ่ประจำปี 2561 ครั้งที่ 22 จัดโดย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย วันที่ 4 พฤษภาคม 2561
การติดเชื้อทางเดินหายใจชนิดรุนแรง หมายถึง การติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่มีอาการรุนแรงมีความจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล การติดเชื้อทางเดินหายใจชนิดรุนแรงเกิดได้ทั้งการติดเชื้อหายใจส่วนบน (upper respiratory infection) เช่น epiglottitis, tracheitis, croup และการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น bronchiolitis, pneumonia การดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กที่มีการติดเชื้อทางเดินหายใจชนิดรุนแรงมีขั้นตอนที่สำคัญสรุปได้ ดังต่อไปนี้
1. ประเมินความรุนแรงของโรค (severity assessment)
การประเมินความรุนแรงของโรคเป็นสิ่งแรกที่ควรทำในการดูแลผู้ป่วย เนื่องจากเป็นตัวกำหนดความเร่งด่วนในการรักษา กำหนดระดับของการดูแลทางการแพทย์และการพยาบาล (level of nursing and medical care) ว่า ผู้ป่วยควรรับการรักษาที่หอผู้ป่วย หรือหออภิบาลผู้ป่วยหนัก กำหนดระดับการสืบค้นทางห้องปฏิบัติการ ชนิดของยาต้านจุลชีพที่ใช้ ขนาดของยา และระยะเวลาในการรักษา การประเมินความรุนแรงของโรคควรทำตั้งแต่แรกรับผู้ป่วย หลังการรักษา 48 ชั่วโมง หรือเมื่ออาการของผู้ป่วยทรุดลง วิธีการประเมินความรุนแรงของโรคประกอบด้วย การประเมินประวัติ ปัจจัยเสี่ยงหรือโรคร่วมที่อาจทำให้เกิดโรครุนแรง เช่น โรคหอบหืด ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง การประเมินสัญญาณชีพ ประเมินการตรวจร่างกายตามระบบ ได้แก่ การตรวจหาสัญญาณการพร่องออกซิเจน อาการของภาวะทางเดินหายใจล้มเหลว ประเมินระบบไหลเวียนโลหิต capillary refill ประเมินการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ประเมินภาวะขาดน้ำ และการทำงานของไต เป็นต้น
2. การสืบค้นทางห้องปฏิบัติการ (investigation) ประกอบด้วย
- การตรวจเพื่อวินิจฉัยเชื้อก่อโรค ขึ้นกับชนิดชองเชื้อก่อโรค ตัวอย่างเช่น
- การตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย blood culture พิจารณาส่งตรวจในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือสงสัยว่า มีภาวะแทรกซ้อนของโรค การย้อม Gram stain และการเพาะเชื้อจากเสมหะ ต้องใช้เสมหะที่มีคุณภาพ และระมัดระวังในการแปลผลเนื่องจากอาจเป็นเชื้อที่ colonization ไม่ใช่เชื้อก่อโรค พิจารณาส่งตรวจในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ผู้ป่วยติดเชื้อในโรงพยาบาลผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง เนื่องจากทำนายเชื้อก่อโรคได้ยาก
- การตรวจหาเชื้อไวรัส เช่น rapid test มีความจำเพาะสูงแต่มีความไวต่ำไม่สามารถนำผลการตรวจใช้ตัดสินใจเริ่มการรักษา PCR เป็นการตรวจที่มีราคาแพง ไม่สามารถตรวจได้ในสถานพยาบาลทุกที่ อย่างไรก็ตาม พิจารณาส่งตรวจกรณีผู้ป่วยปอดอักเสบที่มีอาการรุนแรงผู้ป่วยปอดอักเสบที่พบเป็นกลุ่มก้อน (cluster) และผู้ป่วยปอดอักเสบที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากการตรวจหาเชื้อก่อโรคความสำคัญในการกำหนดวิธีการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาล (infection control) และเพื่อสืบค้นกรณีสงสัยการติดเชื้อโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ (emerging or re-emerging infections diseases)
- การวินิจฉัย atypical pheumonia โดยเฉพาะ Mycoplasma pneumonia เนื่องจากในปัจจุบันพบอุบัติการณ์ของ macrolide resistance Mycoplasma pneumonia เพิ่มขึ้น จึงมีความจำเป็นในการยืนยันการวินิจฉัยเพื่อตัดสินใจเริ่มยาสูตรทางเลือก ได้แก่ doxycycline และ levofloxacin หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาสูตรมาตรฐานในกลุ่ม macrodides การวินิจฉัย Mycoplasma pneumonia โดยการตรวจ serology และการตรวจทางอณูชีวโมเลกุล การตรวจ serology มีข้อจำกัด คือ อาจให้ผลตรวจเป็นลบกรณีตรวจในวันแรก ๆ ขณะที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการของโรค และอาจต้องตรวจซ้ำเพื่อติดตามระดับ titer ที่เพิ่มขึ้น การตรวจอณูชีวโมเลกุล ได้แก่ การตรวจ PCR ข้อดี คือ มีความไวและความจำเพาะสูง เพิ่มโอกาสในการวินิจฉัยการติดเชื้อเมื่อใช้ร่วมกับการตรวจ serology ข้อจำกัด คือ มีราคาแพง ไม่สามารถตรวจได้ในสถานพยาบาลทุกแห่ง และไม่สามารถใช้แยกระหว่างการติดเชื้อ และ colonization ได้
- การตรวจเพื่อสนับสนุนการวินิจฉัย และติดตามการรักษา
- CBC และ acute phase reactant เช่น ESR, CRP ไม่มีความไวหรือความจำเพาะที่เพียงพอในการใช้แยกการติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากแบคทีเรียหรือ atypical pathogen ออกจากไวรัสได้ อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติอาจพิจารณาใช้ผลการตรวจเหล่านี้ร่วมกับอาการทางคลินิก เพื่อประกอบการตัดสินใจในการรักษา ขณะที่การใช้ procalcitonin (PCT) มีประโยชน์ในการติดตามการรักษาเนื่องจากระดับของ PCT มีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค ข้อจำกัด คือ มีราคาแพงและไม่สามารถตรวจได้ในสถานพยาบาลทุกแห่ง
- Chest x-ray (CXR) มีประโยชน์ในการแยกตำแหน่งการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างที่มีอาการทางคลินิกคล้ายคลึงกัน เช่น หลอดลมฝอยอักเสบ ปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส นอกจากนี้ พิจารณาตรวจเพื่อวินิจฉัยภาวะแทรกซ้อนหากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษา หรือมีอาการแย่ลง CXR ไม่สามารถใช้แยกชนิดของเชื้อก่อโรคได้ เนื่องจากการติดเชื้อ atypical pathogen มีรูปแบบไม่จำเพาะ CXR ไม่สามารถแยกการติดเชื้อร่วมระหว่างแบคทีเรีย และไวรัสออกจากกันได้ อย่างไรก็ตาม หากพบ patchy infiltration ซึ่งมีความจำเพาะต่อการติดเชื้อแบคทีเรียมากกว่าไวรัส ควรให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ โดยเลือกยาตามระบาดวิทยา และความรุนแรงของโรค
3. การรักษา
- ยาต้านจุลชีพ แนวทางการให้ยาต้านจุลชีพในผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจชนิดรุนแรง พิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- การติดเชื้อในชุมชน หรือการติดเชื้อในโรงพยาบาล (community or hospital acquired)
- ระบาดวิทยาของเชื้อก่อโรคตามพื้นที่ ฤดูกาล กลุ่มอายุ ผล antibiogram
- ปัจจัยด้านผู้ป่วย เช่น ภาวะภูมิคุ้มกัน โรคประจำตัวโรคร่วม (co-morbid) ที่มีความเสี่ยงในการเกิดการติดเชื้อทั้งความผิดปกติทางกายวิภาค และสรีรวิทยา
- ประวัติการสัมผัสโรค ประวัติการเดินทางไปบริเวณที่มีการระบาดของโรค
การเลือกยาต้านจุลชีพแบบครอบคลุมอย่างกว้าง (empirical antimicrobial therapy) ควรเลือกให้ครอบคลุมเชื้อก่อโรค ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยปอดอักเสบชนิดรุนแรงที่ติดเชื้อจากชุมชนอาจพิจารณาให้ยาต้านจุลชีพในกลุ่ม beta-lactam ร่วมกับ macrolide เช่น cefotaxime หรือ ceftriaxone ร่วมกับ azithromycin และเพิ่ม oseltamivir หากอยู่ในฤดูที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ขณะที่ผู้ป่วยปอดอักเสบชนิดรุนแรงจากการติดเชื้อในโรงพยาบาลอาจเริ่มการรักษาด้วยยา carbapenem ร่วมกับ glycopeptide หรือยาปฏิชีวนะอื่น ที่ออกฤทธิ์กว้าง เช่น piperacillin-tazobactam โดยพิจารณา จากข้อมูลทางระบาดวิทยาของแต่ละโรงพยาบาลเมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น และทราบเชื้อก่อโรคจากผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการควรปรับเปลี่ยนยาตามความไวของเชื้อให้เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยา (de-escalation therapy)
.
- การรักษาประคับประคอง ประกอบด้วย
- การดูแลระบบทางเดินหายใจ (oxygen therapy and ventilation suport) ปัจจุบันมีอุปกรณ์ให้ออกซิเจนผู้ป่วยติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่มีภาวะพร่องออกซิเจนหลายรูปแบบ ชนิด non-invasive เช่น high flow nasal cannula, duoPAP หรือเครื่องช่วยหายใจควรเลือกใช้ให้เหมาะกับพยาธิสภาพของผู้ป่วย
- การให้สารน้ำ ผู้ป่วยปอดอักเสบชนิดรุนแรงมีโอกาสสูญเสียสารน้ำจากไข้และการหายใจเร็ว ควรพิจารณาให้สารน้ำเพื่อแก้ไขภาวะขาดน้ำในผู้ป่วยในระยะแรก หลังจากนั้น ควรมีการประเมินอาการทางคลินิก ปริมาณสารน้ำ ปริมาณปัสสาวะ และติดตาม serum electrolyte เป็นระยะเพื่อเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากผู้ป่วยปอดอักเสบบางส่วนมีโอกาสเกิด Syndrome of Inappropriate Antidiuretic Hormone (SIADH)
- การให้สารอาหาร ไม่ควรงดอาหารเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีภาวะทุพโภชนาการ อาจพิจารณาให้สารอาหารทางหลอดเลือดตามข้อบ่งชี้ หากไม่สามารถให้ทางปากได้ผู้ป่วยปอดอักเสบจากเชื้อหัดควรให้วิตามินเอเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรค
- การรักษาโรคร่วม ผู้ป่วยที่มีโรคร่วมควรได้รับการรักษาโรคร่วมอย่างเหมาะสม เช่น การให้ systemic corticosteroid ในผู้ป่วยหอบหืด การให้ยาในกลุ่ม proton pump inhibitor ในผู้ป่วย gastro-esophageal reflux เป็นต้น
.
4. การป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล (infection control)
วิธีการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาลที่สำคัญ คือ การล้างมือ การแยกผู้ป่วย (isolation precaution) และการเฝ้าระวัง
- การล้างมือ เป็นการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลที่สำคัญควรปฏิบัติก่อน และหลังการสัมผัสผู้ป่วย หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย การล้างมือที่มีประสิทธิภาพประกอบด้วย การล้างมือที่ถูกวิธี ครบทุกขั้นตอน ระยะเวลาของการล้างเหมาะสม (ตัวอย่างเช่น การล้างมือด้วยน้ำ และสบู่ควรใช้น้ำและสบู่ควรใช้เวลาในการล้างอย่างน้อย 20 วินาที) ชนิดของน้ำยาที่ใช้ล้างมือ ปัจจุบันพบว่า การล้างมือโดยใช้น้ำ และสบู่มีข้อดี คือ ใช้ล้างมือที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งของผู้ป่วยได้และมีประสิทธิภาพในการลดการแพร่กระจายเชื้อที่ทนต่อแอลกอฮอล์ เช่น เชื้อที่มีการสร้างสปอร์หรือเชื้อไวรัสที่ไม่มีเปลือก (non-envelop virus) ได้ดีกว่าการใช้ alcohol base agent
- การแยกผู้ป่วยตามลักษณะกลุ่มอาการ (clinical syndromebase isolation precautions) เป็นการป้องกันที่เริ่มกับผู้ป่วยตั้งแต่แรกรับยังไม่ทราบว่าการติดเชื้อเกิดจากเชื้อก่อโรคชนิดใด พิจารณาจากประวัติ การตรวจร่างกาย ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการเบื้องต้น ตัวอย่างเช่น ทารกที่มีอาการไอจนเขียว มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยที่มีอาการไอเป็นสัปดาห์ได้รับวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยักไม่ครบ ผลการตรวจ CBC พบ leukocytosis with lymphocyte predominate ลักษณะกลุ่มอาการเข้าได้รับไอกรน ระหว่างรอผลการตรวจยืนยันควรพิจารณาแยกผู้ป่วยชนิด droplet precautions ไปก่อน หรือผู้ป่วยสงสัยปอดอักเสบจากโรคอุบัติใหม่ ควรเริ่มต้นการแยกโรคชนิด contact ร่วมกับ droplet และ airborne precautions ไปก่อนจนกว่าจะทราบเชื้อก่อโรค
- การแยกผู้ป่วยตามเชื้อก่อโรค (pathogen base isolation preacutions) หลังจากแยกผู้ป่วยตามลักษณะกลุ่มอาการ เมื่อทราบเชื้อก่อโรคที่เป็นสาเหตุสามารถปรับเปลี่ยนการแยกผู้ป่วยให้เหมาะสม ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส สงสัยการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้รับการแยกชนิด droplet precautions ต่อมาตรวจพบว่า เป็นการติดเชื้อ respiratory syncytial virus (RSV) สามารถปรับเปลี่ยนการแยกผู้ป่วยเป็น contact precautions ได้
- การเฝ้าระวัง (surveillance) เนื่องจากปัจจุบันมีเชื้ออุบัติใหม่ที่เป็นสาเหตุปอดอักเสบรุนแรงหลายชนิด เช่น MERS-CoV, avian influenza, pandemic influenza การเฝ้าระวังการรายงาน และการสอบสวนโรคมีความสำคัญมากในการป้องกันการระบาดของโรคผู้ป่วยปอดอักเสบที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวัง (Patient under investigation, PUI) ควรได้รับการตรวจหาเชื้อก่อโรคโดยการตรวจ PCR และรายงานโรค ได้แก่ ผู้ป่วยปอดอักเสบที่มีประวัติเดินทางไปบริเวณที่มีการระบาดของโรคอุบัติใหม่ หรือมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันโรค อุบัติใหม่ผู้ป่วย ปอดอักเสบรุนแรง หรือผู้ป่วยปอดอักเสบที่ไม่ได้เสียชีวิตจากเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยปอดอักเสบที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่ทางห้องปฏิบัติการ และผู้ป่วยปอดอักเสบตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป ที่มีความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา
เอกสารอ้างอิง
- Bradley JS, Byington CL, Shah SS, Alverson B, Carter ER, Harrison C, el al; Pediatric Infectious Diseases Society and the Infectious Diseases Society of America. Clin Infect Dis. 2011; 53: 617-30.
- Harris M, Clark J, Coote N, Fletcher P, Harnden A, McKean M, Thomson A; British Thoracic Society Standards of Care Committee. British Thoracic Society guidelines for the management of community acquired pneumonia in children: update 2011. Thorax. 2011 Oct; 66 Suppl 2: iil-23.
- American Academy of Pediatrics. Mycoplasma pneumonia and other mycoplasma species infections In: Kimberlin DW,Brady MT, Jackson MA, Long SS, eds. Redbook 2015: Report of the Committee on Infectious Diseases. 30th ed. Elk Grove Village, IL: American Academy of Pediatrics; 2015: 568-71.
- ชมรมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็กแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย. แนวทางการดูแลรักษาโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจในเด็ก. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรซ์ ; 2557.
- Siegel JD, Rhinehart E, Jackson M, Chiarello L; Health Care Infection Control Practices Advisory Committee. 2007 Guideline for Isolation Precautions : Prevention Transmission of Infectious Agents in Health Care Settings. Am J Infect Control. 2007; 35 (10 Suppl 2): S65-164
- คณะทำงานด้านการรักษาพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขและคณะแพทย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ. แนวทางการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลโรค MERS [อินเตอร์เน็ต].กรมการแพทย์;2558 [เข้าถึงเมื่อ 30 มีนาคม 2561]. เข้าถึงได้จาก: http://beid.ddc.moph.go.th/beid_2014/sites/ default/files/3rd_revisedCPGMERS20151009_1.pdf.