CIMjournal
Banner CIM PED01 2566

อาจารย์ นพ. ยง ภู่วรวรรณ สาขากุมารแพทย์ ทางด้านโรคตับ


“ความรู้ทุกอย่าง เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา…
การสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้วยการวิจัย มีความจำเป็นในการนำมาใช้แก้ปัญหา”

ศ. นพ. ยง ภู่วรวรรณ
หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิก
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
(เนื้อหาเรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ 2 ครั้ง ในระยะเวลาห่างกัน 9 ปี)


ก่อนถึงคำถามหลัก บทเรียนที่ได้รับจากการร่วมจัดการปัญหาโควิด 19

ในด้านดี เราจะเห็นได้เลยว่าเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินขึ้นมา จะมีความร่วมมือกันดีมาก พอเริ่มไปสักระยะหนึ่งจะมีเสียงการว่ากล่าวให้ร้าย อย่างเราทำการศึกษาวิจัยออกมา แทนที่จะอ่านผลงานวิจัยให้ละเอียด ก็ตั้งธงไว้แล้ว ต้องตามอย่างฝรั่งเท่านั้นถึงจะเป็นวัคซีนเทพ ในมุมมองผมทุกอย่างมีทั้งดีและไม่ดี อยากให้ใช้ปัญญาในการต่อสู้กับโรคร้าย สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดคือ การใช้ความรู้นำ อันไหนรู้แล้วก็ไม่ต้องทำอะไร อะไรไม่รู้ก็ต้องค้นคว้าให้รู้ ค้นแล้วไม่เจอก็ต้องทำ ทำวิจัยขึ้นมา ให้มันเกิดองค์ความรู้ให้ได้ ในช่วงโควิด 19 ทุกขั้นตอนของงานวิจัยต้องทำอย่างเร่งด่วน แต่ด้วยระบบต่าง ๆ ของเราไม่เอื้ออำนวย ไม่ว่าจะเป็นการขอทุน การผ่านจริยธรรม หลาย ๆ อย่างไม่เอื้ออำนวยเท่าที่ควร ทำให้งานบางอย่างล่าช้ากว่าที่ควรเป็น เป็นอุปสรรคเพราะเราอยากทำให้มันเร็วกว่านั้น ตัวอย่างการยื่นขอคณะกรรมการจริยธรรมในบางองค์คณะ ใช้เวลาถึง 8 เดือน เช่นงานวิจัยการใช้พลาสม่าในช่วงแรกตอนที่ไม่มีวัคซีน เมื่อไม่มีวัคซีนทุกคนย่อมไม่มีภูมิต้านทาน การให้ภูมิต้านทานก็เป็นการบายพาสเหมือนการให้แอนติบอดี้ในปัจจุบัน แต่เมื่อมีวัคซีนแล้ว พลาสม่าก็ไม่มีความจำเป็น ก็เสียโอกาสในระยะแรกไป

อย่างการบูลลี่เรื่องของวัคซีนเชื้อตาย ทำให้การศึกษาวัคซีนเชื้อตายที่เราตั้งใจจะทำในหลาย ๆ เรื่องก็เป็นอุปสรรคไปหมด เราก็ไม่ได้องค์ความรู้ที่เป็นของไทยเอง ก็ต้องฟังเขามาอีกที บางครั้งกาลเวลาเปลี่ยน ข้อมูลก็เปลี่ยน เช่นฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ ข้อมูลการศึกษา โมลนูพิราเวียร์ทำสมัยเชื้อเดลต้ารุนแรง ก็ใช้โมลนูฯ ในกลุ่มประชากร เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ให้และไม่ให้ยา กลุ่มละ 500 คน ก็พบผลแตกต่างกันชัดเจน แต่พอไวรัสอ่อนฤทธิ์ลง ความรุนแรงของโรคลดลง เมื่อมาศึกษาในกลุ่มใหญ่หลายหมื่นคน เปรียบเทียบระหว่างให้และไม่ให้ยา ได้ผลไม่ต่างกันมากเหมือนการศึกษารายแรก เพราะเมื่อความรุนแรงของโรคลดลงแล้ว จะเห็นว่าความรู้ทุกอย่างเป็นไดนามิก เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ตลอดเวลา และต้องยอมรับความจริง ณ เวลาหนึ่งได้ผล อีกเวลาหนึ่ง ถ้าทำการศึกษาวิจัยแล้วบอกไม่ได้ผล ก็ไม่ได้ผล  เราก็ต้องยอมรับ เช่นเดียวกับเรื่องของพลาสมาเวลาเปลี่ยนข้อมูลเปลี่ยนก็ต้องยอมรับ

สำหรับปีแรกวัคซีนเข้ามา วัคซีนขาดแคลน ทุกคนเรียกร้อง ทำไมถึงต้องเกิดสูตรสลับ เกิดสูตรสลับเพราะว่าส่งวัคซีนไปแล้ว บางคนกลัวว่าฉีดเข็ม 1 ไปแล้วจะไม่ได้ฉีดเข็ม 2 ก็เอาวัคซีนไปเก็บไว้ในตู้เย็น ส่วนตัวไม่เห็นด้วย วัคซีนที่ดีที่สุดคือ วัคซีนที่ฉีดได้เร็วที่สุด อย่าไปเก็บ ถ้าเข็ม 2 วัคซีนตัวนี้ไม่มีก็เอาวัคซีนอีกตัวฉีด ก็เลยต้องเกิดเป็นสูตรสลับ มีเท่าไรฉีดออกไป แทนที่จะเก็บในตู้เย็น 1 – 2 เดือนแล้วไม่เกิดประโยชน์ จะเห็นว่าเรารณรงค์ให้ฉีดมากที่สุด กลับกลายเป็นว่าเราเองมีผลประโยชน์ถูกกล่าวหา เป็นผู้แทนขายยาบ้าง เป็นผู้แทนภาคพื้นเอเชียบ้าง ทั้งที่ผมไม่เคยรู้เรื่องเลย ใครเป็นคนจัดซื้อยังไม่รู้เลย เราไม่ได้เข้าไปเกี่ยวแม้แต่นิดเดียวในการจัดซื้อ เมื่อได้มาเราก็รีบทำการศึกษาให้ว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม แต่ก็ถูกโยงเข้าไปว่าเราได้ผลประโยชน์

หลายคนสงสัยว่า ภาพประวัติศาสตร์ ตอนที่เข้าไปคุยกับนายกฯ เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อมีการระบาดเกิดขึ้นที่สนามมวยกับทองหล่อในระลอกแรก ทุกคนกลัวมากเพราะเป็นซุปเปอร์สเปรด ผมเองไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาใด ๆ ทั้งสิ้น วันหนึ่งท่านนายกฯ ให้เจ้าหน้าที่โทร.มาว่าขอพบ การพบครั้งนั้นไม่ได้เป็นผมคนเดียว ก็มีคนอื่นด้วย มีการคุยกันว่าถ้าจะหยุดการแพร่กระจายได้ดีก็ต้องลดการเคลื่อนที่ประชากร ได้ก็ต้องเลื่อนสงกรานต์ กลับกลายเป็นว่าผมเป็นที่ปรึกษานายกฯ ผมแค่ให้ข้อคิดเห็น แล้วการตัดสินใจอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข หลายคนคิดว่าผมอยู่ใน ศบค. ความจริงก็ไม่ได้อยู่ ผมอยู่ในฝ่ายคณะอนุกรรมการวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ก็มีอาจารย์แพทย์อาวุโสทั้งหมดมาประชุมกันส่วนใหญ่ก็เป็นการ Zoom เพื่อให้ข้อมูลทางวิชาการประกอบการตัดสินใจ

 

“ผมแค่ให้ข้อคิดเห็น
แล้วการตัดสินใจอยู่กับ
กระทรวงสาธารณสุข”


มุมมองต่อเรื่องโควิด 19 ที่อยากสื่อสารกับแพทย์ และที่อยากสื่อสารกับประชาชน

เรื่องโควิด 19 เป็นเรื่องที่ท้าทายค่อนข้างมาก ในแง่องค์ความรู้เรียกว่าความแน่นอนคือความไม่แน่นอน อย่างตอนแรกของการระบาดหลาย ๆ คนก็คิดว่าเป็นโรครุนแรง แต่ผมเชื่อว่าโควิด 19 ความรุนแรงจะลดลงเรื่อย ๆ ตามหลักวิวัฒนาการของโรคแล้วจะอยู่กับเราเหมือนไข้หวัดใหญ่ โรคที่รุนแรงจะระบาดไม่ไกล อย่างอีโบล่าระบาดไม่ไกล ขณะที่โรคไม่รุนแรงจะไปได้ไกล ส่วนตอนแรก ๆ ที่รุนแรง เพราะร่างกายยังไม่มีภูมิ เมื่อติดมาแล้วเยอะ ๆ ความรุนแรงก็ลดลง เนื่องจากร่างกายเริ่มรู้จักเชื้อนี้ อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 3 – 5% แต่ประเทศไทยน่าจะอยู่ที่ 1% การเสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเปราะบางทั้งนั้น มาจนถึงปัจจุบันเข้าสู่ยุคโอมิครอน อัตราการเสียชีวิตน่าจะอยู่ที่ 1 ใน 1,000 หรือ 0.1% หรือลดลงมากกว่า 10 เท่า และเราเห็นชัดเลยว่าการติดเชื้อในเด็ก ความรุนแรงยิ่งต่ำเหมือนโรคไวรัสทั่ว ๆ ไป

สำหรับวัคซีนตอนแรกก็มีความคิดกันว่า มีวัคซีนทุกอย่างจะป้องกันได้และโรคจะยุติ ถึงตอนนี้ชัดแล้วว่า วัคซีนไม่ได้เป็นตัวทำให้โควิด 19 ยุติได้ และภูมิคุ้มกันหมู่ หรือ herd immunity ที่ว่าฉีดวัคซีนเกินกว่า 70% แล้ว โรคก็จะยุติ ใช้ไม่ได้สำหรับการระบาดโควิด 19  เพราะว่าวัคซีนไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ บทบาทของวัคซีนเป็นการลดความรุนแรงในผู้ที่ติดเชื้อ เพราะวัคซีนที่ฉีดไป ภูมิคุ้มกันที่ขึ้นมามี 2 ระบบ คือ ระบบ B cell และ T cell โดยระบบ B cell จะป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งพบว่าภูมิคุ้มกันที่ขึ้นไปแล้ว ก็ลดลงตามกาลเวลา ไวรัสตัวนี้มีระยะการฟักตัวสั้น จึงทำให้ระบบ B Cell ไม่สามารถที่จะป้องกันการติดเชื้อได้ แต่ระบบ T Cell เป็นระบบที่ลดความรุนแรงของโรค เป็นระบบที่จะมาช่วยกำจัดไวรัส ระบบนี้ยังดีอยู่ จึงสามารถลดความรุนแรงของโรคได้

ถึงวันนี้ชัดแล้วว่า วัคซีนฉีดอย่างไรก็ติดเชื้อได้ 3 – 4 เข็มก็ติดเชื้อได้  และไม่มีวัคซีนไหนเป็นวัคซีนเทพ ทุกตัวเหมือนกันหมด ไม่สามารถป้องกันการติดได้ แต่ลดความรุนแรงโรคได้เท่าเทียมกัน ส่วนภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด คือภูมิคุ้มกันลูกผสม ที่เกิดจากวัคซีนร่วมกับการติดเชื้อ ถึงฉีดแล้ว ติดเชื้อแล้ว ความรุนแรงลดลง เกิดภูมิคุ้มกันแบบลูกผสม แล้วสามารถติดซ้ำได้ เหมือนไข้หวัดใหญ่อีกเวอร์ชั่นหนึ่ง เราก็ต้องอยู่กับโรคนี้ไปแบบนี้ แต่ละปีก็เปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย ๆ หลักการของวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ต้องอยู่ร่วมกันได้ ถ้าไวรัสทำให้โฮสตาย ตัวเชื้อก็ต้องตายด้วย ถึงจุดนี้คงเปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไปของไวรัส

สิ่งที่ภาครัฐควรเตรียมเพื่อสู้กับปัญหาโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ในอนาคต

ในมุมมองผม การเตรียมพร้อมต้องทุกด้าน ด้านแรกเลยคือ คนสำคัญที่สุด เราต้องมีนักระบาดวิทยา มีนักวิจัย แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมด และเจ้าหน้าที่ทุกด้านที่เกี่ยวข้อง มีการประสานงานร่วมมือร่วมใจกัน เงินไม่ใช่อุปสรรคหลัก ครั้งนี้เราใช้เงินกู้เข้ามา เพื่อที่จะยุติให้ได้ หรือการที่จะทำวัคซีนป้องกันโรค สิ่งที่ขาดคือ คนกับการประสานมือร่วมกัน แต่ละคนมีความสามารถเฉพาะตัว มีจิ๊กซอว์คนละ 1 ชิ้น เพื่อจะให้เป็นงานใหญ่ได้ก็เอาจิ๊กซอว์มาต่อกันให้เป็นรูปสวยงาม หน่วยงานมีแล้วต้องเข้มแข็ง ระบบสาธารณสุขเราเข้มแข็ง อัตราการเสียชีวิตของประเทศเราค่อนข้างที่จะน้อยกว่าหลาย ๆ ประเทศ แม้ในอเมริกาเราก็เสียชีวิตน้อยกว่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราส่วนประชากรที่เท่ากัน เรื่องของวัคซีน การพัฒนาวัคคซีนให้สำเร็จได้จะต้องใช้จิ๊กซอว์พัน ๆ ชิ้นมาต่อกัน เก่งคนเดียวไม่ได้ เพราะว่าฝ่ายโรงงานเป็นอย่างไร ฝ่ายเภสัชเป็นอย่างไร การฟอร์มูเลชั่นต้องทำอย่างไร ทุกอย่างจะไม่ได้อยู่ที่คนใดคนหนึ่ง สรุปว่าถ้าให้เตรียมจะเตรียมคนทุกด้าน เกี่ยวกับโรคอุบัติใหม่ทุกด้านเลย ต้องมาวิเคราะห์ดูว่าส่วนไหนที่เราขาด

ถ้าเราจะพัฒนาวัคซีน ทำไมเราสู้ไต้หวัน เวียดนามไม่ได้ ในอนาคต  สถาบันวัคซีนของเรายังเล็กมาก  ถ้าเป็นไปได้อยากให้ใหญ่กว่านี้ ยกตัวอย่างสถาบันวัคซีนนานาชาติเกาหลี ที่เคยไปดูเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ขนาดมีโรงงานผลิต ระดับการทดลอง คนทำงานในสถาบันที่เพียงพอ  มีเครือข่ายกับนานาชาติ และเมื่อเปรียบเทียบกับของเรา ของเราเล็กนิดเดียวเอง สถาบันวัคซีนต้องมีความสำคัญ ไม่ใช่เฉพาะภาวะโรคอุบัติใหม่ ปัจจุบันเราพึ่งพาวัคซีนของนานาชาติเยอะมาก เรานำเข้าวัคซีนจำนวนมาก อย่างสมัยก่อนเราผลิตวัคซีนเองได้หลายตัว ไม่ว่าจะเป็นคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก แม้กระทั่งพิษสุนัขบ้า ไทฟอยด์ พอผ่านไปวัคซีนที่ผลิตในไทยเลิกผลิต เรามาใช้วัคซีนที่ผลิตจากต่างประเทศ ปัญหาคือเราเคยทำวัคซีนได้ แต่เราไม่พัฒนาของเราให้เท่าเทียมหรือดีกว่า พอวัคซีนต่างประเทศเข้ามา กฎเกณฑ์ต่าง ๆ แล้วบอกว่าของเราไม่ดีของนอกดีกว่า วัคซีนเราก็ต้องเลิกผลิต ยกตัวอย่าง พิษสุนัขบ้า เมื่อก่อนสถานเสาวภาเป็นฝ่ายผลิต แต่พอมีวัคซีนของนอกดีกว่า เสาวภาก็เลิกผลิต ทำนองเดียวกัน ไอกรน คอตีบ บาดทะยัก เมื่อก่อนองค์การเภสัชกรรมผลิต ใช้มาตั้งนาน วันดีคืนดีบอกว่า เลิกผลิต ตอนนี้ก็ต้องวัคซีนนอก จากอินโดนีเซีย อินเดีย แม้กระทั่งไข้สมองอักเสบ ตอนนี้ไม่ผลิต ใช้วัคซีนของจีน ทุกอย่างเราควรจะพัฒนาให้ทันของนอกและทำให้ดีกว่า ต้องแข่งขันได้ไม่ใช่ผลิตในประเทศอย่างเดียว ผลิตแล้วต้องส่งออกให้ได้ แล้วพยายามที่จะตีตลาดในต่างประเทศ สิ่งหนึ่งค่านิยมของสังคมไทยต้องเปลี่ยนด้วย เรานิยมของต่งประเทศมากกว่าเมดอินไทยแลนด์ ทำให้สิ่งที่ผลิตในประเทศไม่พัฒนาขึ้นไป

 

“ทุกอย่างเราควรจะ
พัฒนาให้ทันของต่างประเทศ
และทำให้ดีกว่า”


ขอออกความเห็นเพิ่ม สำหรับแพทย์กับงานวิจัย คนที่จบแพทย์ทุกคนจะมุ่งเน้นวิชาชีพมากกว่าวิชาการ แพทย์พอจบไปแล้วมีทางเดิน 2 ทาง วิชาชีพและวิชาการ น้อยคนที่จะมุ่งเน้นวิชาการ ส่วนใหญ่เน้นวิชาชีพ จริง ๆ แล้ววิชาชีพเปรียบเสมือนการเย็บปักถักร้อย ส่วนวิชาการจะเจาะลงลึกไป แต่ข้อจำกัดก็คือ แพทย์ที่ทำด้านวิชาการก็ต้องมานั่งคิดว่า จะเลี้ยงชีพได้อย่างไร กินแค่เงินเดือนพอไหม แพทย์ส่วนใหญ่จึงมุ่งไปทางวิชาชีพมากกว่าวิชาการ จุดนี้เป็นจุดอ่อนของเราเป็นอย่างมาก

จุดอ่อนของเราตั้งแต่เด็กเล็ก ๆ ระบบการศึกษาล้มเหลวมาแต่ไหน ชั่วโมงแรกของการสอนแพทย์ผมจะเดินไปที่กระดานดำเอาชอล์กหรือปากกาจุดไป 1 จุด และจะถามว่าเห็นอะไร ก็ตอบกันเกือบทุกคนว่า “จุด” ที่จริงแล้วเป็นอะไรก็ได้ ไข่ปลาก็ได้ ลูกแก้วก็ได้ เราไม่คิดนอกกรอบเลย เวลาเรียน เมื่อครูแจกแฮนด์เอ้าท์ แปลว่า เอกสารแจก ใบให้ทาน ผมไม่อยากให้นักเรียนเป็นขอทาน ผมไม่ต้องการ จึงไม่แจกแฮนด์เอ้าท์ ผมไม่เคยแจก ถ้าเราไปตีกรอบอยู่ในแฮนด์เอ้าท์ เด็กก็จะอยู่และอ่านแค่แฮนด์เอ้าท์ ไม่ขวนขวายออกนอกเลย เป็นการสอนผิดตั้งแต่ต้น ถ้าผมไปสอนนักเรียนจะบอกเลยว่าที่สอนไม่ออกข้อสอบ จะออกอยู่ตรงไหนไม่รู้  ผมเป็นครูที่สอนนักเรียนเพื่อตัวนักเรียน ผมไม่ได้สอนเพื่อตัวผม การประเมินอาจารย์ นักเรียนมีส่วนประเมินด้วย นักเรียนจะชอบอาจารย์ที่ตามใจ ถ้าต้องการให้นักเรียนรักเราตามใจนักเรียนทุกอย่างต้องแจกแฮนด์เอ้าแจกทุกอย่าง นักเรียนจะประเมินอาจารย์ดี


แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์โดยเฉพาะสาขากุมารแพทย์และเน้นทางด้านโรคตับ

ผมเรียนที่ รร.เตรียมอุดมฯ ตอนนั้นมุ่งมั่นว่าจะเข้าเรียนวิศวะ เพราะชอบคณิตศาสตร์มากกว่าภาษาอังกฤษ ชีววิทยา แต่มีความพลิกผันเกิดขึ้น โดยก่อนที่จะสอบเอนทรานซ์ พี่ชายคนที่ส่งผมเรียน บอกว่าเราเป็นน้องคนสุดท้องควรให้เรียนแพทย์ แล้วก็คุณลุงเคยพูดให้เราฟังว่า แพทย์เป็นวิชาฤษี ไปอยู่ที่ไหนก็ไม่อด ถึงแม้จะไปอยู่กลางป่า กลางเขา ก็มีลิงเอากล้วย เอาน้ำผึ้งมาให้กิน ไม่มีทางอด แต่ถ้าอยากรวยก็ให้ไปเป็นพ่อค้า ก็ยอมตามพี่ชายจึงเลือกสอบแพทย์จุฬาฯ อันดับ 1 ที่เหลืออันดับ 2, 3, 4 เลือกเรียนวิศวกรรมหมดและปิดด้วยสัตวแพทย์ เมื่อประกาศผลก็ได้แพทย์จุฬาฯ  

ช่วงเรียนแพทย์ทุกอย่างเรียบร้อยดี หลังจบต้องเป็นแพทย์ฝึกหัด 1 ปี รุ่นหนึ่งมีแพทย์ประมาณ 80 คน สามารถเลือกอินเทิร์นใน รพ.จุฬาฯ ได้ 60 คน ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในนั้นและได้เป็นอินเทิร์นดีเด่น หลังจากอินเทิร์นเสร็จ ต้องไปเป็นแพทย์ใช้ทุน แต่ รพ.จุฬาฯ มีสิทธิคัดเลือกแพทย์ให้ใช้ทุนในโรงพยาบาล 8 คน ผมเป็น 1 ใน 8 ที่ไม่ต้องออกต่างจังหวัด และสามารถเรียนต่อได้เลย ผมเลือกเรียนกุมารเวชศาสตร์เพราะเด็กเล็ก ๆ นอกจากจะบอกอะไรไม่ได้แล้ว ยังมีหลายอย่างที่น่าสนใจ เด็กจะตรงไปตรงมา ใครก็ตามอยู่กับเด็กจะมีความสุข เด็กเล็ก ๆ ยิ้มให้ ใครไม่ยิ้มตอบเรียกว่าผิดปกติแล้ว ตอนเรียนที่ภาควิชากุมารฯ มีอาจารย์ที่ปรึกษา ท่านเปรียบเสมือนเป็นแม่ ท่านค่อนข้างรักและคอยดูแลเราเป็นอย่างดี อยากให้ผมเป็นอาจารย์อยู่ที่ภาควิชากุมารฯ โดยดูแลโรคด้านทางเดินอาหารและตับ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีอาจารย์ที่สานต่อทางด้านนี้ ให้ผมสานและริเริ่มงานต่อ ผมจึงเป็นคนแรก ๆ ที่บุกเบิกและฝึกอบรมทางด้านนี้ โดยเน้นทางด้านโรคตับ

พอจบเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ ก็เริ่มรวบรวมผลงานวิชาการ พอ 1 ปี ก็ขอตำแหน่ง ผศ. ได้ เพราะมีผลงานวิจัยอยู่หลายเรื่องที่ทำมาตลอดตั้งแต่เป็นแพทย์ประจำบ้าน จำได้ว่างานวิจัยเรื่องแรก ตอนเป็นแพทย์ประจำบ้าน ปีที่ 1 เรื่องลำไส้เน่าในเด็ก (Acute necrotizing enterocolitis) ต่อมา เป็นเรื่องโรคตับมีพังผืดที่เป็นมาแต่กำเนิด (Congenital hepatic fibrosis) ก็ยังทำวิจัยต่อมาตลอด เรียกได้ว่าตามกฎบอกว่า เป็น ผศ. เป็น รศ. หรือ รศ. เป็นศาสตราจารย์ต้องใช้เวลาเท่าไร ผมจะมาวางเป็นแผนดังกล่าว และทำวิจัยต่อเนื่องมาโดยตลอด

ช่วงที่ทำงานผมก็ดิ้นรน ไปต่างประเทศ ผมไปปรึกษา อาจารย์อาวุโสที่เคารพรักมาก ท่านอยู่ภาควิชาอายุรศาสตร์ที่จุฬาฯ ท่านเขียนจดหมายแนะนำ และฝากให้ไปอบรมโรคตับที่อังกฤษ การไปอังกฤษครั้งนั้นได้รับทุนจากคณะแพทยศาสตร์ไปที่ King’s College Hospital Medical School ที่ London ซึ่งเป็นศูนย์โรคตับที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษ โดยเน้นไปทางด้านโรคตับในเด็ก ถามว่าตอนนี้มองย้อนกลับไป ผมเห็นว่าการเรียนรู้ทางคลินิก ประเทศไทยเราดีอยู่แล้ว แต่การไปต่างประเทศ เราจะได้ประโยชน์ทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานหรือ Basic Science มากกว่า เพราะของเขาทำการศึกษาวิจัยมากกว่าเรา ผมเลยไปดูทางคลินิกช่วงเช้า ตั้งแต่บ่ายเข้าแล็บทำงานวิจัยตลอด อยู่จนถึง 4 ทุ่มถึงกลับหอมานอน งานของห้องปฏิบัติการทุกอย่างก็ไปช่วยโดยที่ไม่หวังอะไรเลย เต็มใจช่วยทำให้ทุกคนรู้ว่า งานส่วนกลางถึงแม้ไม่ได้เป็นงานผม ผมยินดีช่วย ถามว่าผมได้อะไร ผมได้เรียนรู้ ได้รู้ระบบว่าเขาทำอะไรกันอยู่จนท่านศาสตราจารย์หัวหน้าหน่วยโรคตับ รักผมมาก เพราะเห็นผมขยันมากจนกระทั่งผมกลับมาแล้ว และได้เขียนแนะนำใครก็ตามที่จะไปเรียนที่ King’s ท่านบอกว่า ถ้าคนที่คุณส่งไป “half as good as you were” ให้ดีเพียงครึ่งหนึ่งของคุณ ส่งมาเลย


สิ่งที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุด

เรื่องแรกเกี่ยวกับงานวิจัย ผมเริ่มทำเรื่องไวรัสตับอักเสบ เพราะตอนนั้นมีปัญหามาก ผมก็เจรจากับบริษัทผลิตวัคซีนว่าผมจะทำวิจัย ผมได้ Mentor ที่ดี อาจารย์เป็นคนเจรจาเรื่องรายละเอียดให้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมได้ศึกษาวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี และทำให้เกิดการวิจัยที่นานถึง 20 ปี และโครงการนี้ เป็นโครงการที่มีประโยชน์มากที่สุดของโลกโครงการหนึ่ง เป็นโครงการที่ค่อนข้างภาคภูมิใจมาก ทำให้เรื่องของตับอักเสบเราเห็นเด่นชัดขึ้น จนมีการให้วัคซีนทั่วประเทศ ผมทำไปแล้วไวรัสตับอักเสบบี ตับอักเสบเอ ก็ลดลงอย่างมาก

เมื่อปี 2546 มีสัตวแพทย์มาปรึกษาว่าเสือตาย เขาสงสัยว่าฉีดวัคซีนแล้วตาย แต่เราได้ยินว่าเสืออาจจะติดเชื้อไข้หวัดนก เพราะเสือไปกินไก่ เราก็เปลี่ยนมาตรวจไข้หวัดนกในเสือตรวจแล้วเจอเชื้อ เราก็สองจิตสองใจว่าจะบอกหรือไม่ดี พอดีมีท่านอาจารย์ผู้ใหญ่จากศิริราช ประกาศพบไข้หวัดนกในคน พออาจารย์พูดปั้บ เราก็เสริมว่าใช่ เสือเป็นหวัดนกเป็นการยืนยันทั่วโลกว่าเสือ แมว สุนัข สามารถติดไข้หวัดนกได้ นี้เป็นผลงานที่เด่นขึ้นมาว่า สัตว์สามารถติดได้ หลังจากนั้นเราได้รับความร่วมมือจากคณะสัตวแพทย์ทุกสถาบัน โดยเฉพาะสัตวแพทย์จากมหาวิทยาลัยเกษตร และจุฬาฯ ได้ศึกษาไข้หวัดนกในไก่ จนข้อมูลทั้งหมดเป็นประโยชน์มาก เพราะเราพัฒนาการตรวจเองตรวจวินิจฉัยได้เร็วมาก ทุกอย่างเร็ว มีทีมที่ดีมาก

หลังจากนั้นไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 เข้ามา ทีมเราก็เป็นทีมแรกที่สามารถถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว จากคนไข้ที่มาจากเม็กซิโกแล้วพันธุกรรมที่เราได้มา ก็เป็นประโยชน์ ตัวไวรัสก็เป็นประโยชน์ เอามาใช้ในแง่การพัฒนาการตรวจวินิจฉัย พัฒนาการตรวจไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เราก็ทำต่อเนื่อง จนขณะนี้ก็ทำอยู่ทุกวัน

ปี 2012 โรคมือเท้าปากเกิดเยอะขึ้น จนผิดสังเกต เราตรวจแล้วไม่ใช่เชื้อธรรมดา เพราะในตำราเรียนเราเรียนว่าเกิดจากเชื้อคอกซากีไวรัสเอ 16 กับเอนเทอโรไวรัสเอ 71 ซึ่งตรวจแล้วมันให้ผลลบ เราจึงต้องหาว่าที่ระบาดครั้งนี้ เกิดจากเชื้ออะไร แล้วเป็นทีมแรกที่บอกว่า การระบาดครั้งนี้ เกิดจากเชื้อคอกซากีไวรัส เอ 6 ซึ่งไม่เคยระบาดใหญ่ในเมืองไทยมาก่อน จนเรารู้ละเอียด เพราะว่าสายพันธุ์เปลี่ยน จนถึงขณะนี้เคอดซากีไวรัส เอ 6 ก็ยังอยู่ถึงทุกวันนี้

เมื่อหลายปีก่อนโรคตาแดง ระบาด จนโรงพยาบาลต่างจังหวัดไม่มียาหยอดตาผมได้รับคำปรึกษาให้ตรวจว่าเกิดจากเชื้ออะไร ครั้งแรกคิดว่าเกิดจากเชื้ออาดิโนไวรัส ตรวจแล้วไม่ใช่ น่าจะเป็นเอนเทอโรไวรัส เราก็ตรวจพบว่าเป็นไวรัสคอกซากี เอ 24 เราส่งตีพิมพ์นานาชาติ บอกหมอต่างจังหวัดว่าไม่จำเป็นต้องใช้ยาหยอดตา ให้อธิบายกับคนไข้ว่าเป็นไวรัส ไม่ได้เป็นแบคทีเรีย ก็ลดความตื่นตระหนกไปได้

คำว่างานวิจัย หลายคนไม่เข้าใจ โดยเฉพาะวิจัยด้านสุขภาพ หลายคนบอกว่าจะวิจัยไปทำไมขึ้นหิ้ง ผมมีความเชื่อว่าขอให้มีของบนหิ้งเยอะ ๆ เดี๋ยวก็เป็นห้างเอง งานวิจัยต่าง ๆ แน่นอนมันมีคุณค่าของมัน จะมากหรือน้อยแต่ละเรื่องไม่เท่ากัน ผมมีความเชื่อว่าในแต่ละงานมีคุณค่าทั้งนั้น

ความภูมิใจเรื่องที่สอง มาจากการทำงานเป็นครูแพทย์ กว่า 40 ปี ก็มีลูกศิษย์อยู่กระจายทั่วไป เกือบทุกจังหวัด ไปที่ไหนหรือขอความร่วมมือที่ไหน ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ความภูมิใจเรื่องที่สาม ผมมีครอบครัวที่ดี ลูกไม่เคยสร้างปัญหา ลูกก็ดี ภรรยาก็ดี ทุกคนดีมาก ผมมีลูก 2 คน ก็ประสบความสำเร็จทั้งคู่คนหนึ่งเป็นแพทย์ อีกคนเป็นวิศวะ

ความภูมิใจเรื่องที่สี่ มีส่วนเกี่ยวข้องในการศึกษาวิจัยต่างๆ ให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ ขึ้นมาและหลายเรื่องจากงานวิจัยได้นำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์จริง อย่างเรื่องวัคซีนโควิด 19 ในระยะแรกทุกคนมีความต้องการวัคซีนมาก มีความหวังว่าวัคซีนเท่านั้นที่จะยุติการระบาดของโรค ทำให้การผลิตวัคซีนออกมาค่อนข้างเร่งรีบแล้วถูกประกาศใช้ในภาวะฉุกเฉิน  คนทั่วโลกเรียกร้องหาวัคซีน แต่มีไม่พอ เราก็ทำการศึกษาว่าทำอย่างไรที่จะให้วัคซีนที่เรามีอยู่ ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งแต่การศึกษาถึงผลของภูมิต้านทานในคนไทย การฉีดสูตรต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องการฉีดแบบสูตรไขว้ ก็ต้องยอมรับว่าสูตรไขว้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากพอสมควร แต่ขณะนี้กาลเวลาเป็นสิ่งที่พิสูจน์แล้วว่า สูตรไขว้ใช้ได้ดีมาก ๆ เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย องค์การอนามัยโลกก็เอาไปเขียนเป็นข้อแนะนำ ในประเทศที่วัคซีนไม่เพียงพอ ก็สามารถใช้สูตรไขว้ได้ แล้วการกระตุ้นเข็ม 3 ไม่จำเป็นต้องใช้สูตรเดียวกันด้วย และพบว่าสูตรไขว้ที่ใช้เชื้อตายเป็นตัวนำกระตุ้นภูมิต้านทานได้สูงมาก ความจริงตอนนี้เลยไขว้กันไปหมด นอกจากนั้นเรายังมีการศึกษาอีกหลายเรื่อง เช่น เรื่องของทิศทางการระบาดของโรค ซึ่งก็ดีใจที่ว่าข้อมูลนี้ได้นำไปใช้ประโยชน์จริง 


ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ

ปัจจัยแรก เกิดจากความตั้งใจจริง ถ้ามีความตั้งใจทุกอย่าง เราจะต้องสำเร็จ อย่างเช่นเมื่อกลับจากอังกฤษ ก็เริ่มทำการวิจัยโดยคุยกับหัวหน้าภาคฯ ท่านก็ให้ห้องว่างเปล่ามา 1 ห้อง ผมก็ไปรื้อเครื่องมือเก่า ได้เครื่องปั่นเลือดที่เป็นเครื่องที่คลาสสิกมาก นับจำนวนรอบด้วยฟองอากาศ นำมาซ่อมจนสามารถปั่นเลือดการเก็บต้องเก็บในตู้เย็นอุณหภูมิติดลบ ก็รวบรวมเงินทั้งส่วนตัว และเงินบริจาคจนพอซื้อตู้เก็บเลือด เลือดถ้าจะเก็บในหลอดแก้ว เดี๋ยวแตกพยายามหาที่ถูกสุด คือ หลอดเลือด มีก้นแหลมก็หาที่วางไม่ได้ ผมก็ไปตัดโฟมเป็นแร็กชิ้น ๆ แล้วไปแช่ในตู้เย็น เก็บเป็นชั้น ๆ เรียงตามนัมเบอร์ แล้วจึงค่อยเริ่มโปรเจกต์งานวิจัยที่เป็นรูปแบบ

ปัจจัยที่สอง ต้องรู้จักเป็นผู้นำและผู้ตามการทำงานต้องเป็นทีม ต้องมีความเป็นกันเองอย่างชีวิตผม ถ้าถามว่าทำหน้าที่อะไร ผมทำหน้าที่เป็นยาม ห้องทำงานผม ประตูทุกทางจะเข้า-ออกประตูเดียว ผมจะนั่งอยู่หน้าประตูเมื่อก่อนผมจะรู้ว่าใครเข้าออกเพราะผมมาเร็วและกลับช้า ใครมากลับกี่โมง ผมรู้หมดเลย

ปัจจัยที่สาม ผมเชื่อว่าในความซื่อสัตย์ขยัน อดทน และความกตัญญู ทุกอย่างมันเป็นคุณสมบัติอยู่แล้วกับทุกคน

ปัจจัยที่สี่ เราต้องมีเมตตา กรุณา ครูเปรียบเสมือนเป็นผู้ให้อยู่แล้ว การให้ความรู้ไม่ได้หวังที่จะให้เขาตอบแทนอะไร เราสอนนักเรียนแพทย์ เสร็จแล้วเขาก็ไปอยู่กันทั่วตามต่างจังหวัด เมื่อเราต้องการความร่วมมือ เราก็มีลูกศิษย์อยู่ต่างจังหวัดมาก


กว่าจะถึงวันที่ประสบความสำเร็จเจออุปสรรคอะไรบ้างและเอาชนะอย่างไร

ผมเองเป็นคนชอบต้นไม้ ชอบทำสวนที่บ้านเมื่อมีอุปสรรค ผมก็ไปสวน ไปนั่งดูเห็นมดเดินเป็นทาง ผมเอาก้อนหินไปขวาง ให้มันเป็นอุปสรรค มดมันไม่กลับรัง มันก็หาทางไปจนได้ ไปหาจุดหมายปลายทางของมัน ผมเลยคิดว่ามดมันมีอุปสรรคแล้วยังหาทางไปได้เลย แล้วเรามีอุปสรรคแค่นี้ เราจะถอยหรือ

ทุกอย่างมีอุปสรรคทั้งนั้น อย่างตอนที่ผมทำแล็บ ตับอักเสบอี ทำมาหลายเดือนแล้ว ทำกัน 2 คน คนละวิธี ทำแล้วผลเป็นลบ ผลไม่เป็นไปตามที่เราคิด เราก็มานั่งประชุมกันหลายครั้งในการแก้ แต่แล้วผลออกมาไม่เหมือนกัน นั้นก็เป็นอุปสรรค ก็ต้องพยายามหาทางแก้ว่า มันเกิดจากอะไร ก็ไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ แล้วค่อย ๆ มานั่งคิด คิดวันนี้ไม่ออก พรุ่งนี้ก็มานั่งคิด ค่อย ๆ แก้ไขไปก็ต้องหาทางที่หาทางออก ให้ได้ว่า มันคืออะไร


ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้บางเรื่องอยากกลับไปทำเรื่องใดมากที่สุด

ผมไม่เคยมองไปในอดีตเลย ผมเป็นคนที่เดินหน้าอย่างเดียว ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ไม่ไปคิดจะแก้ไขอะไร เลยมาแล้วไม่ย้อนไปดูเลย ไม่คิดเลยว่าเราเดินผิดหรือ มันไม่ใช่ เรายังบอกลูกศิษย์อยู่เสมอเลยเรื่องในอดีตจะไปพูดเพื่ออะไร


คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต

ในความเห็นส่วนตัวผม ซึ่งผมมักจะสอนนักเรียนอยู่เสมอ มีคติ 3 ข้อ คือ “ซื่อสัตย์ อดทน กตัญญู” ที่ต้องทำกับเพื่อนร่วมงานทุกคนเพื่อความตั้งใจที่จะประสบความสำเร็จ ไปถึงจุดหมายปลายทาง ทุกคนที่อยู่กับผม ผมขอคำเดียว คือ “ความสุข” หน้าตายิ้มแย้ม เมื่อทุกคนมีความสุขแล้วงานจะไปเอง


มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร

ทิศทางในอนาคตผมเป็นห่วงเรื่องของคุณภาพแพทย์ เพราะเราพูดกันว่าประเทศไทยขาดแคลนแพทย์ แต่เมื่อเรามาดูตัวเลขจะพบว่าแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนกับแพทยสภามีทั้งหมด 6 หมื่นคน ทำงานจริง ๆ ประมาณ 5 หมื่นคน ประชากรไทยตอนนี้มี 65 ล้านคน อัตราแพทย์ต่อประชากรตอนนี้น่าจะอยู่ที่ 1 ต่อ 1,500 คน ซึ่งดีมาก เพราะองค์การอนามัยโลกต้องการอัตราแพทย์ 1 ต่อ 2,000 คน แต่ข้อเสียของเรา คือ การกระจายไม่ดี มันกระจุกอยู่ในตัวเมือง แต่วิธีการแก้ไขจะพูดเหมือนกันหมดว่าขาดแคลนแพทย์ ผมคิดว่าไม่ใช่ การแก้ไขต้องกระจายออกไปให้ได้ แต่การแก้ตอนนี้เป็นการเพิ่มแพทย์ เหมือนสมัยหนึ่งที่ขาดแคลนครูและผลิตครูเพิ่ม ตอนนี้เหมือนกันคือ มีโรงเรียนแพทย์จำนวนมาก แพทย์ตอนนี้จบเกือบ 3,000 แล้วต่อไปจะเพิ่มขึ้นทุกปี อีก 2 – 3 ปีข้างหน้า จะเพิ่มมากอีก ประชากรไทยเพิ่มน้อยมาก หักจากเกิดใหม่และที่ตายลง สิ่งที่เราต้องการคือ คุณภาพไม่ใช่ต้องการปริมาณ เมื่อเน้นปริมาณต่อไปในอนาคต เราจะแก้ปัญหาไม่ได้ แล้วเราจะคุมคุณภาพของแพทย์ที่ออกมาเยอะแบบนี้ไม่ได้ ฟิลิปินส์ มีแพทย์ ต่อประชากร 1 : 800 ต่อไปจะมีแพทย์เสริมความงามเต็มไปหมด อีกไม่นานเราอาจจะไม่มีการบังคับแพทย์มาใช้ทุนเพราะจบมาเยอะและจะไม่มีทางที่จะบรรจุได้


ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่และแพทย์ในสาขาว่าจะสำเร็จต้องทำอย่างไร

อยากให้แพทย์ตั้งใจทำงาน ทำให้ดีที่สุดทำอะไรอย่าหวังผลตอบแทน แล้วสิ่งตอบแทนจะตามมาทีหลัง อย่างคนไข้เดือดร้อนมา เราควรที่จะดูแลให้หมด ดูเท่าที่ดูได้ อย่าไปปฏิเสธ

 

 

PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก