การใช้ยา clazakizumab ในผู้ป่วย CKD ที่รักษาทดแทนไตเป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่า สามารถลด C-RP จากเดิมได้ถึง 86% – 92% อย่างมีนัยสำคัญ และลดโปรตีนอันเกิดจาก interluekin-6 ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นกัน
ปัจจุบันมีข้อมูลสนับสนุนมากขึ้นว่ากระบวนการอักเสบเรื้อรัง เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะจากการศึกษา CANTOS ที่พบว่า interleulin-1 ส่งผลต่อโรคหัวใจและการยับยั้ง IL-1 สามารถลดการเกิดโรคหัวใจได้ ต่อมาจึงพบว่ายังมีสารอักเสบอีกหลายชนิดที่เกี่ยวพันกับโรคหลอดเลือดและโรคไตเสื่อมเรื้อรัง หนึ่งในนั้น คือ interleukin-6 ที่หากลดการอักเสบจาก IL-6 ด้วยยา clazakizumab อาจช่วยลดโรคไตที่แย่ลงได้
การศึกษาทดลองแบบ RCTs ทำในหลายประเทศของยุโรปและอเมริกาเหนือ ศึกษาในผู้ป่วยอายุมากกว่า 18 ปี ที่เข้ารับการรักษาทดแทนไตมาอย่างน้อย 12 เดือน ร่วมกับมีโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคเบาหวาน คัดผู้ที่มีระดับ high sensitivity C- reactive protein (hs-CRP) มากกว่า หรือเท่ากับสอง มาเข้ารับการศึกษา โดยต้องไม่มีโรคอักเสบเรื้อรังอื่นและไม่ได้ยากดภูมิคุ้นกัน เพราะอาจรบกวนผลการศึกษา ได้ผู้ป่วยจำนวน 127 ราย มาแบ่งกลุ่มให้ยา clazakizumab ในขนาด 2.5, 5 และ 10 มิลลิกรัม ทางหลอดเลือดดำสัปดาห์ละครั้งเป็นเวลา 4 สัปดาห์ เทียบกับการให้ยาหลอก โดยวัดผลการศึกษาหลัก คือ การเปลี่ยนแปลงของ hs-CRP ที่ 12 สัปดาห์และผลการศึกษารองที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงค่าโปรตีนต่าง ๆ จาก IL-6 ที่ถูกยับยั้ง
ผู้เข้าร่วมการศึกษา 127 ราย แบ่งเป็นกลุ่มได้รับยากลุ่มละ 32 ราย และได้ยาหลอก 31 ราย อายุเฉลี่ย 65 ปี ป่วยเป็น CKD มาประมาณ 4 ปีและสาเหตุส่วนมาก คือ เบาหวาน ระดับ hs-CRP เริ่มต้นที่ประมาณ 7.5 – 8.5
ผลการศึกษาหลัก พบว่า ระดับ hs-CRP ลดลงจากค่าเดิม 86%, 90% และ 92% ในการให้ยา clazakizumab ในขนาด 2.5, 5 และ 10 มิลลิกรัม ตามลำดับ และทั้งหมดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับยาหลอก ซึ่งพบระดับ hs-CRP สูงกว่าค่าเดิมถึง 19% ส่วนผลการศึกษารอง คือ โปรตีนต่าง ๆ ที่เกิดจาก IL-6 พบว่า ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มที่ได้ยา clazakizumab เมื่อเทียบกับยาหลอก และสามารถเพิ่ม albumin ในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับยาหลอก
การศึกษาเพื่อพิสูจน์แนวคิดนี้ พบว่า การใช้ clazakizumab เพื่อยับยั้งการทำงานของ interleukin-6 ในผู้ป่วยรับการรักษาแทนไต สามารถลดระดับ C-RP และโปรตีนต่าง ๆ จาก IL-6 ได้ แต่เนื่องจากเป็นการศึกษาในประชากรกลุ่มเล็ก และวัดค่าตัวเลขที่เป็น surrogate outcomes จึงต้องทำการศึกษาต่อเพื่อวัดตัวชี้วัดทางคลินิกในกลุ่มผู้ป่วยไตเสื่อมเรื้อรังนี้ด้วย
เรียบเรียงโดย นพ. ชาคริต หริมพานิช
ข้อมูลจาก doi: 10.1038/s41591-024-03043-1. Epub ahead of print. PMID: 38796655.