วัคซีนมาลาเรียชนิดใหม่ สามารถป้องกันการติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 18 เดือนได้ร้อยละ 68 – 75 จากผลงานวิจัยระยะที่ 3 ในกลุ่มประเทศแอฟริกา
เด็กเล็กเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคมาลาเรียรุนแรงและเสียชีวิต โดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรก ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ภูมิคุ้มกันจากมารดาลดระดับลง วัคซีนจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีสำคัญในการป้องกันโรคนี้ ก่อนหน้านี้มีวัคซีนป้องกันมาลาเรีย RTS, S/AS01 ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้แนะนำใช้ โดยมีประสิทธิภาพ ร้อยละ 56 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่น่าพอใจสำหรับวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรีย
มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด พัฒนาวัคซีนมาลาเรียชนิดใหม่ในชื่อ R21/Matrix-M ซึ่งเป็นการดัดแปลงเพิ่มเติมจากวัคซีน RTS, S/AS01 และได้ทดสอบความปลอดภัยมาจนถึงระยะที่ 3 ซึ่งดำเนินการวิจัยในประชากรเด็กอายุ 5 – 36 เดือน จำนวนกว่า 4,800 คน ในประเทศบูร์กินาฟาโซ มาลี เคนยา และแทนซาเนีย โดยอาสาสมัครอาศัยอยู่ทั้งในพื้นที่ที่มีการระบาดของมาลาเรียตลอดปี หรือระบาดตามฤดูกาล งานวิจัยแบ่งอาสาสมัครออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งมีจำนวน 2 ใน 3 ของอาสาสมัครทั้งหมด จะได้รับวัคซีนมาลาเรียชนิดนี้ จำนวน 3 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์ และเข็มกระตุ้นอีก 12 เดือน จากเข็มที่ 3 สำหรับอีกกลุ่มจะได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแทน และติดตามผลเป็นเวลา 12 – 18 เดือน หลังได้รับวัคซีน ผลพบว่า วัคซีนชนิดนี้มีประสิทธิศักย์การป้องกันโรคมาเลเรียในเด็กร้อยละ 68 – 75 โดยในพื้นที่ที่มีการระบาดตามฤดูกาลได้ผลถึงร้อยละ 75 ส่วนในพื้นที่ที่มีการระบาดทั้งปีได้ผลร้อยละ 68 และพบผลการป้องกันสูงที่สุดในอาสาสมัครอายุ 5 – 17 เดือน เทียบกับกลุ่มอายุ 18 – 36 เดือน นอกจากนี้ วัคซีนยังมีผลข้างเคียงน้อย ส่วนใหญ่เป็นอาการปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด หรือเกิดไข้ที่ไม่รุนแรง
ขณะนี้องค์การอนามัยโลกได้แนะนำการใช้วัคซีนป้องกันมาลาเรียทั้ง 2 ชนิด โดยให้พิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่ เช่น ความพร้อม หรือราคาของวัคซีน เป็นต้น คาดว่าการใช้วัคซีนอย่างแพร่หลายจะช่วยลดผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตจากโรคมาลาเรียได้หลายหมื่นรายต่อปี
เรียบเรียงโดย พญ. สลิล ศิรินาม
ข้อมูลจาก https://www.medscape.com/viewarticle/new-malaria-vaccine-proven