ผลการวิจัยพบว่า กระบวนการอักเสบจะหยุดเซลล์ประสาทบางส่วน ไม่ให้เจริญเติบโตในสมองที่กำลังพัฒนาของเด็ก การเข้าใจกลไกนี้อาจเปิดประตูสู่การรักษาใหม่ ๆ ได้
ปฏิกิริยาการอักเสบอย่างรุนแรงของร่างกายในวัยเด็ก อันเกิดจากความเจ็บป่วยในด้านต่าง ๆ เป็นที่ทราบกันดีทางคลินิกว่า เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการพัฒนาไปสู่ภาวะออทิสติก และโรคจิตเภท ล่าสุดผลการวิจัยพบว่า กระบวนการอักเสบจะหยุดเซลล์ประสาทบางส่วน ไม่ให้เจริญเติบโตในสมองที่กำลังพัฒนาของเด็ก การเข้าใจกลไกนี้อาจเปิดประตูสู่การรักษาใหม่ ๆ ได้
ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่า กระบวนการอักเสบเปลี่ยนแปลงการพัฒนาเซลล์สมองที่อ่อนแอ ซึ่งเชื่อมโยงกับความผิดปกติของพัฒนาการทางระบบประสาท การค้นพบนี้อาจนำไปสู่การรักษาโรคทางพัฒนาการระบบประสาทในเด็กต่อไปได้
นักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ ศึกษาการใช้เทคนิค single-cell genomics เพื่อศึกษาสมองของเด็กที่เสียชีวิตจากสภาวะการอักเสบของร่างกาย เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย หรือไวรัส หรือโรคหอบหืด ตลอดจนผู้ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุกะทันหัน พบว่า การมีอาการอักเสบในวัยเด็กจะขัดขวางไม่ให้เซลล์ประสาทเฉพาะในสมองน้อยเจริญเติบโตเต็มที่ สมองน้อยเป็นบริเวณสมองที่รับผิดชอบในการควบคุมการสั่งการเคลื่อนไหว และการทำงานของการรับรู้ขั้นสูง ซึ่งใช้ในภาษา ทักษะทางสังคม และการควบคุมอารมณ์ การวิจัยก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่าทารกที่เกิดมาพร้อมกับความผิดปกติของสมองน้อย มักพบความผิดปกติของพัฒนาการทางระบบประสาท และสัตว์ทดลองที่มีอาการอักเสบก็ทำให้เกิดภาวะเหล่านี้เช่นกัน นักวิจัยได้ตรวจสอบเนื้อเยื่อสมองที่ได้รับบริจาคหลังการชันสูตรของเด็ก 17 คน ที่เสียชีวิตในขณะมีอายุ 1 – 5 ขวบ 8 ราย เสียชีวิตจากอาการเกี่ยวกับการอักเสบของร่างกาย และ 9 ราย เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทั้งนี้ ไม่มีผู้บริจาครายใดได้รับการวินิจฉัยว่ามีความผิดปกติทางระบบประสาทมาก่อนเสียชีวิต ทั้งสองกลุ่มมีความคล้ายคลึงกันในด้านอายุ เพศ เชื้อชาติ/ชาติพันธุ์ และเวลาตั้งแต่เสียชีวิต การศึกษาพบว่า เซลล์ประสาทสมองน้อยที่มีความเสี่ยงมากที่สุดต่อการอักเสบของสมอง คือ เซลล์ประสาท Golgi และ Purkinje พบว่า มีการหยุดชะงักของการเจริญเติบโตก่อนวัยอันควร โดยภาวะปกติ เซลล์ประสาท Purkinje จะสร้างโครงข่ายเชื่อมต่อสมองน้อยกับบริเวณอื่น ๆ ของสมองส่วนในการรับรู้ หรือการควบคุมอารมณ์ ในขณะที่เซลล์ประสาท Golgi ประสานการสื่อสารระหว่างเซลล์ภายในสมองน้อย การหยุดกระบวนการพัฒนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้เกิดสภาวะต่าง ๆ เช่น โรคออทิสติก และโรคจิตเภท เป็นต้น ด้วยเหตุนี้การเข้าใจบทบาทจึงเป็นสิ่งสำคัญของเซลล์เฉพาะภายในบริเวณสมอง รวมถึงวิธีที่เซลล์เหล่านี้โต้ตอบกับยีนเพื่อมีอิทธิพลต่อสมอง
การเข้าใจกลไกเหล่านี้นักวิจัยคาดหวังว่าจะค้นหาวิธีการรักษาความผิดปกติของสมอง เช่น โรคออทิสติก และโรคจิตเภท รวมถึงภาวะสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน หรือความผิดปกติในการใช้สารเสพติดได้ในอนาคต
เรียบเรียงโดย พญ. พนิดา วิจารณ์
ข้อมูลจาก www.sciencedaily.com/releases/2023/10/231012161729.htm