CIMjournal

อาจารย์ นพ. วีระศักดิ์ ศรินนภากร สาขาต่อมไร้ท่อ และเมตาบอลิซึม


เรียนรู้วิธีคิดของคนอื่น จากการกระทำ หรือการแสดงออกของคน ๆ นั้น” 

ศ.คลินิก นพ. วีระศักดิ์ ศรินนภากร
งานต่อมไร้ท่อ กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี
ประชาสัมพันธ์ สมาคมโรคหลอดเลือดแดงแห่งประเทศไทย
อุปนายก คนที่ 2 สมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน

บทสัมภาษณ์จากวารสาร CVM ฉบับที่ 104 ปี 2561

 

แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม

จบการศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โดยสมัยเรียนเป็นคนที่ชอบคิด แต่ยังไม่มีความคิดจะต้องมาเป็นแพทย์ อาจจะเป็นค่านิยมในอดีตที่คนเก่งจะต้องเรียนแพทย์หรือวิศวะ จึงตัดสินใจเรียนแพทย์ โดยสอบเอนทรานซ์ได้คณะแพทยศาสตร์ จุฬา ฯ ซึ่งก็คิดว่าแพทย์เป็นอาชีพที่ดีที่สามารถช่วยเหลือคนอื่น ช่วยเหลือการรักษาผู้ป่วย รวมถึงคนในครอบครัวด้วย

หลังจากจบแพทย์ 6 ปี ขณะนั้นเริ่มมีโครงการแพทย์ใช้ทุนในแผนกวิชาหลัก สูติ ศัลย์ อายุรกรรมและเด็ก ในโรงพยาบาลศูนย์ 42 เดือน โดยสามารถสอบอนุมัติบัตรได้เลย โดยที่ไม่ต้องผ่านเทรนนิ่ง แต่งานแพทย์ใช้ทุนในโรงพยาบาลศูนย์ในขณะนั้นค่อนข้างหนัก ในวันหยุดบางวันต้องรับผู้ป่วยมากกว่า 20 รายต่อวัน และผู้ป่วยบางรายค่อนข้างวิกฤต ซึ่งงานที่หนักทำให้เรารู้สึกว่างานที่ทำช่วงหลัง ๆ ก็ไม่ได้หนักเกินไป ประกอบกับมีผู้ร่วมงาน รุ่นพี่รุ่นน้องและอาจารย์ที่ช่วยเหลือ จึงตัดสินใจไปใช้ทุนที่ แผนกอายุรกรรมโรงพยาบาลชลบุรี เหตุที่เรียนอายุรกรรม เพราะเป็นสิ่งที่ชอบที่สุด โดยงานอายุรกรรมเป็นส่วนที่รักษาผู้ป่วยค่อนข้างหลากหลาย ใช้ความคิด พิจารณาตัดสินใจในการรักษา

พอใช้ทุนได้ 3 ปีครึ่ง และช่วง 6 เดือนหลังก่อนสอบได้มีโอกาสไป Elective ได้เลือกไปแผนก Neuro, Nephro และ Endocrine ที่ รพ. จุฬาฯ Hemato และ Cardio ที่ รพ. ศิริราช Chest ที่ รพ.รามาฯ ซึ่งได้รับความรู้จากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ เช่น ศ.นพ.กัมมันต์ พันธุมจินดา, ศ.เกียรติคุณ นพ.วิศิษฏ์ สิตปรีชา, รศ.นพ.วิทยา ศรีดามา, ศ.พญ.อนงค์ เพียรกิจกรรม, ศ.นพ.ศุภชัย ไชยธีระพันธ์ และ ศ.พญ.สุมาลี เกียรติบุญศรี นับว่าโชคดีที่ได้รับความรู้จากท่านจำได้ว่าขณะที่ Elective ที่ รพ.รามาฯ วันเสาร์เช้า จะมี Neuro Conference โดย ศ.เกียรติคุณ นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็พยายามเข้าร่วมกิจกรรมวิชาการ ซึ่งการได้รับความรู้จากท่านอาจารย์ไม่ใช่เป็นเพียงความรู้ แต่เป็นประสบการณ์ที่ได้สั่งสมและถ่ายทอดต่อมา คิดถึงในสมัยก่อนเปรียบเหมือนหนังมังกรหยกที่พระเอก ก๊วยเจ๋ง ต้องไปศึกษาหาวิทยายุทธ์จากปรมาจารย์ท่านต่าง ๆ การสอบอนุมัติบัตรอายุรศาสตร์จึงไม่มีปัญหา ซึ่งทำให้การจบเป็นแพทย์อายุรกรรมเร็วกว่าปกติถึง 2 ปี หลังได้รับอนุมัติบัตรอายุรศาสตร์ จึงได้เรียนต่อเฉพาะทางด้านต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ที่ โรงพยาบาลจุฬาฯ เหตุที่เรียนเพราะเป็นสาขาเพิ่งเปิดการเรียนการสอนไม่นานและเป็นโรคที่ค่อนข้างไม่ฉุกเฉินมาก ไม่ได้มีหัตถการ แต่มาด้วยการรักษาด้วยยาเป็นหลักและได้จบวุฒิบัตร สาขาต่อมไร้ท่อเป็นรุ่นแรกของรพ.จุฬาฯ

หลังจากนั้นเข้ารับตำแหน่งแพทย์ในหน่วยต่อมไร้ท่อ รพ.ราชวิถี โดยความเมตตาจากท่านอาจารย์ พญ.สุมณฑา เสรีรัตน์ หัวหน้างานต่อมไร้ท่อ ในขณะนั้นจึงได้รับโอกาสเข้ามาช่วยทำงาน ในงานต่อมไร้ท่อและทำงานต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน


สิ่งที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุด

สิ่งที่ภูมิใจจริง ๆ แล้วมีหลายเรื่อง แต่ที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุดเริ่มจากการสร้างผลงานด้านวิชาการต่อมไร้ท่อ ได้แก่ การเขียนหนังสือ Case approach for diabetes management ตำราอินซูลิน ซึ่งเน้นวิชาการและการดูแลผู้ป่วย แต่เมื่อประมาณเกือบ 10 ปีก่อน มีบุคคลได้กล่าวถึง seven habits diabetes self-management education and support (Healthy eating, being active, taking medicine, monitoring, healthy coping, problem solving และ reduce risk) รู้สึกแปลกใจว่าถึงแม้ว่าเราเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อที่ดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานกลับไม่รู้จักเรื่องนี้ จึงศึกษาด้านดังกล่าวและเขียนเป็นหนังสือการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ยากต่อการรักษาขึ้นมา ประกอบกับการได้เข้ามาทำงานร่วมกับสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน ทำให้เข้าใจมากขึ้นถึงการให้ความรู้ การพูดคุยเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (motivation interview) การเสริมสร้างพลังใจ (empowerment) ซึ่งพบว่าส่งผลให้การรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานดีขึ้นอย่างมากโดยการเปลี่ยนแปลงจากแพทย์เป็นผู้ดูแลเป็นให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ โดยการให้ความรู้และเสริมสร้างพลังใจ การฟังผู้ป่วยมีความสำคัญมาก แพทย์จะต้องใช้การฟังอย่างตั้งใจและเข้าใจผู้ป่วย (แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับผู้ป่วย) แต่ถ้าแพทย์ผู้นั้นสามารถพูดว่า “ผมเข้าใจคุณ” ก็นับว่าผู้ป่วยได้รับการรักษาไปแล้วระดับเบื้องต้น การที่ได้ทำงานร่วมกับสมาคม ในที่สุดได้รับตำแหน่งอุปนายกสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวานและได้นำเรื่องการดูแลตนเอง การพูดคุยเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาสอนทีม case manager และเขตบริการทางการแพทย์ต่าง ๆ รวมถึง นักศึกษาแพทย์รังสิต แพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ประจำบ้านต่อยอดด้านต่อมไร้ท่อที่ รพ.ราชวิถี

นอกจากนี้ยังได้เขียนบทความวิชาการและเป็นบรรณาธิการหนังสือหลายเล่ม รวมถึง Essential topics for family medicine and internist 1 และ 2 ซึ่งนำมาสู่การได้รับตำแหน่งวิชาการ ศ.คลินิก และเชื่อว่าการให้ความรู้เพื่อดูแลตนเองจะเป็นมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานในอนาคต

ความภูมิใจที่สอง คือได้ร่วมทำงานในฐานะกรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง ซึ่งพยายามผลักดันโครงการ “สุขภาพแพทย์เพื่อประชาชน” เพราะการที่แพทย์จะดูแลผู้ป่วยได้ดีต้องมีสุขภาพที่ดีก่อน การที่แพทย์ได้ใส่ใจสุขภาพตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงพยายามสร้าง healthy hospital และhealthy organization เนื่องจากโรงพยาบาลเป็นสถานที่ที่ต้องส่งเสริมสุขภาพประชาชน โดยมีปัจจัยที่ส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้ มีนโยบายดูแลสุขภาพ เจ้าหน้าที่พยาบาล มีสถานที่ในการออกกำลังกาย มีร้านอาหารสุขภาพ บอกชนิดและปริมาณแคลอรี มีน้ำเปล่าให้ดื่ม มีการประชุมที่จัดอาหารว่างเพื่อสุขภาพ การออกกำลังกาย ในระหว่างการประชุมมีการจัดการแข่งขันเพื่อลดน้ำหนัก เป็นต้น

ความภูมิใจสุดท้ายคือ การที่ได้รับเกียรติมาร่วมเป็นกรรมการในสมาคมต่าง ๆ เช่น สมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย สมาคมโรคหลอดเลือดแดงแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน


ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ

จริง ๆ แล้ว สิ่งที่ทำมาและประสบความสำเร็จก็อาจจะเกิดจากหลาย ๆ ปัจจัยด้วยกัน ปัจจัยแรก การตั้งใจในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ เราจะต้องมองเห็นความสำเร็จเกิดขึ้นตรงหน้าเรา ว่าสิ่งเหล่านี้จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน เช่น การเขียนตำราแต่ละเล่ม จริง ๆ แล้วต้องใช้เวลาพอสมควร และใช้ความพยายามหาข้อมูล เราคิดว่าตำราที่เราจะเขียนจะเป็นประโยชน์ต่อแพทย์ผู้จะนำไปใช้ จะพยายามหาเวลาที่นอกเหนือจากเวลาปกติมาใช้ในการเขียนตำรา แต่เมื่อเกิดตำรา 1 เล่ม ก็จะภูมิใจที่ประสบความสำเร็จ

ปัจจัยที่สอง การอดทนต่องานหนัก เช่น แต่ก่อนเราเป็นแพทย์ทางด้านต่อมไร้ท่อ เวลาที่มีคนพูดถึง เรื่องพฤติกรรม 7 อย่าง หรือ seven habits เพื่อให้ผู้ป่วยดูแลตนเอง เราก็พยายามค้นคว้า เขียนเป็นตำราการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่ยากต่อการรักษาขึ้นมา เพื่อเป็นแนวทางในการให้ความรู้ในการเสริมสร้างพลังใจ และพฤติกรรม 7 อย่าง ที่จะนำไปใช้ ในการดูแลผู้ป่วยโดยเปลี่ยนแปลงการรักษาจากแพทย์เป็นผู้ดูแล เป็นผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้

ปัจจัยที่สาม การที่มีผู้สนับสนุนในการทำงานด้านต่าง ๆ คือ ได้รับโอกาสในการทำงาน ตั้งแต่งานของสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ ที่เราได้มีโอกาสได้เข้ามาร่วมในการเป็นกรรมการ และเสนอแนะความคิดเห็น


กว่าจะถึงวันที่ประสบความสำเร็จ เจออุปสรรคอะไรบ้าง แล้วเอาชนะอย่างไร

งานทุกงานมีอุปสรรคอยู่แล้ว ซึ่งทุกคนก็ต้องแก้ปัญหากันไป แต่ที่พอจะยกตัวอย่างขึ้นมา ได้แก่ ความคิดและการทำงานมีความแตกต่าง เพราะโดยลักษณะส่วนตัวเป็นนักคิดมากกว่านักปฏิบัติ ในขณะที่ความคิดเกิดขึ้นเร็ว แต่บางทีมีโครงการอยู่หลายโครงการที่เกิดขึ้นพร้อมกัน เช่น การที่มีมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน มีการกำหนดมาตรฐานผู้ให้ความรู้ มีการเบิกจ่าย ส่วนการให้ความรู้เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านยาและภาวะแทรกซ้อน การทำแนวทางการดูแลเบาหวานในพระสงฆ์ การให้เกิดการสอน motivation interview และ empowerment ผู้ป่วยมีในทุกสถาบันที่ผลิตแพทย์ ส่วนอุปสรรคที่เกิดขึ้น ในขณะนั้น เราก็แก้โดยการค่อย ๆ ผลักดันสิ่งต่าง ๆ ข้างต้น เพราะแม้ว่าจะยังไม่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และถึงแม้ว่าจะไม่ได้เกิดขึ้นทั้งหมดแต่จะทยอย ๆ เกิดขึ้น


ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้บางเรื่อง อยากกลับไปทำเรื่องใดมากที่สุด

ในวันหนึ่งเมื่อหลายปีก่อนผมตื่นมาพร้อมกับอาการหูข้างขวาดับเฉียบพลันและโรคเวียนศีรษะ บ้านหมุน ซึ่งใช้เวลาพักฟื้นและรักษาเป็นเดือนแต่อาการหูดับไม่ดีขึ้น ทำให้ได้ยินเพียงหูข้างซ้าย ซึ่งส่งผลให้การหาทิศทางเสียงหรืออาจจะได้ยินไม่ชัดในบางครั้ง จึงได้กลับมาคิดว่าสาเหตุหนึ่งของสิ่งที่เกิดขึ้นเนื่องจากการใช้ชีวิตที่ไม่สมดุล ซึ่งควรจะต้องประกอบด้วย การทำงาน การพักผ่อน การดูแลสุขภาพ การออกกำลังกาย การให้เวลากับครอบครัว และต่อมาผมมีแนวคิดว่าการใช้ชีวิตควรเหมือนกับการขี่จักรยานคือ ต้องรักษาสมดุลเพื่อให้จักรยานไปต่อได้โดยไม่ล้มเสียก่อน จึงเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตใหม่ให้สมดุลมากขึ้น มีเวลาดูแลสุขภาพ การออกกำลังกาย มีเวลาให้กับครอบครัว มีเวลาพักผ่อน

จึงอยากฝากแนะนำให้แพทย์ที่ทำงานหนักทั้งหลายว่า สุขภาพและการพักผ่อนเป็นสิ่งสำคัญผมได้มีโอกาสดูบทสัมภาษณ์ผู้ป่วยรายหนึ่งที่อ้วนมากและเกิดภาวะหัวใจวายเมื่ออายุเพียง 40 ปี จนเกือบไม่รอดชีวิต แต่เมื่อรอดมาได้ พยายามดูแลสุขภาพและลดน้ำหนักลงอย่างมาก เขาได้กล่าวไว้ว่า หัวใจคุณเต้นมาตลอดชีวิตคุณ มันไม่เคยขอเวลาคุณว่าจะหยุดพักสัก 5-10 นาที สิ่งสำคัญที่คุณต้องทำ คือ อย่าตามใจปาก แต่ต้องดูแลหัวใจคุณให้เต้นต่อไปได้


ใครคือบุคคลที่เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน

ท่านแรกเลย คือ พระบิดาแห่งการแพทย์ไทย ท่านเป็นต้นแบบให้เราในการเป็นแพทย์ที่ดี คำสอนของท่านมีมากมายที่เราได้ยินกันอยู่เสมอ คือ “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตน เป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศ จะตกแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ ให้บริสุทธิ์” หรือ “ฉันไม่ต้องการจะให้พวกเธอมีความรู้เพียงอย่างเดียว ฉันต้องการให้พวกเธอเป็นมนุษย์ด้วย” หรืออีกคำสอนที่อยากจะกล่าวถึง ซึ่งเราอาจจะไม่ค่อยได้ยินนัก คือ “การที่จะได้รับความไว้ใจของคนไข้ ขอท่านถือสุภาษิตว่า ใจเขาใจเรา ท่านคงจะคิดได้ว่า ท่านอยากได้ความสบายแก่ท่านอย่างไร ก็ควรพยายามให้ความสบายแก่คนไข้อย่างนั้น ความตั้งใจจริงเป็นยาประเสริฐได้ผลคือความเชื่อ และเมื่อคนไข้เชื่อท่านแล้ว เขาจะทำตามทุกอย่าง”

ท่านที่สองคงเป็นคณาจารย์ทุก ๆ ท่านที่ประสิทธิ์ประสาทความรู้และเป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิต


คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต

ผมยึดหลัก พรหมวิหารสี่ ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เพราะอาชีพแพทย์ต้องมีความเมตตาและกรุณาเพื่อให้ผู้ป่วยดีขึ้นจากโรค ซึ่งไม่ใช่เพียงการรักษาโรคของผู้ป่วยเท่านั้นแต่ต้องทำให้มีสภาพจิตใจที่ดีขึ้นด้วย พลอยยินดีเมื่ออาการดีขึ้นและสุดท้ายถ้าโรคสุดวิสัยจริง ๆ คงต้องอาศัยอุเบกขา (การปล่อยวาง) แต่อุเบกขาคงต้องผ่านการใช้ เมตตา กรุณา มุทิตามาก่อน และอุเบกขาอาจจะไม่ได้รักษาผู้ป่วยแต่ก็ช่วยแพทย์ให้ไม่ทุกข์เกินไปและสามารถคงการรักษาผู้ป่วยรายต่อ ๆ ไปได้

อีกหลักหนึ่งที่อยากฝากไว้ในฐานะที่เป็นแพทย์ คือ หัวใจนักปราชญ์ สุ (สุตะ) การฟัง ซึ่งการฟังมีถึง 5 ระดับ ได้แก่ ไม่ฟัง แสร้งฟัง เลือกฟัง ตั้งใจฟัง และฟังอย่างเข้าใจ ซึ่งจะเลือกใช้ตามสถานการณ์ เช่น ไม่ฟังใช้ในคำนินทา คำกล่าวร้าย แสร้งฟัง อาจจะเป็นเรื่องที่ตนไม่สนใจแต่ผู้พูดมีความสำคัญ เลือกฟัง เช่น การฟังการสื่อ social media ตั้งใจฟัง เช่น การสอน การบรรยาย และ ฟังอย่างเข้าใจ เช่น ฟังในเรื่องที่มีคนมาปรึกษารวมถึงการฟังผู้ป่วย
จิ (จินตะ) คือพิจารณาว่า สมเหตุผลหรือไม่ ถ้าทำหรือไม่ทำจะเกิดอะไรขึ้น ปุ (ปุจฉา) คือถ้าฟังแล้วมีข้อสงสัยให้สอบถาม ลิ (ลิขิต) คือการเขียนสิ่งที่เข้าใจแล้วข้างต้น


มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร

เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอ งานหนัก ขาดการสื่อสารระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วยและญาติ ภาระการเงินของโรงพยาบาลติดลบ ทำให้ทิศทางการแพทย์อนาคตของเมืองไทยจะต้องมีการใช้นวัตกรรมและระบบ AI เพื่อลดภาระบุคลากร การมีส่วนร่วมของผู้ป่วยและญาติในการดูแลตนเอง การให้ชุมชนมีส่วนร่วม การเน้นการป้องกันโรค โดย proactive เพราะการรักษา NCD เบาหวาน ความดัน ปัจจุบันเรากำลังตามหลังโรค เพราะมัวแต่รักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิด แต่ถ้าเราใช้วิธี proactive และเน้นการป้องกันโรค ที่ผู้ป่วย pre-hypertension ลดเค็ม และ pre-diabetes ลดหวานรวมถึงรู้จักการดูแลและป้องกันไม่ให้เกิดโรคก็ไม่จำเป็นต้องมารักษาภาวะแทรกซ้อนและลดค่ารักษาพยาบาล


ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะสำเร็จต้องทำอย่างไร

สำหรับแพทย์ทั่ว ๆ ไป ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันและทิศทางในอนาคต เราต้องศึกษาหาความรู้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความรู้ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าจะสามารถหาความรู้ได้จาก internet แต่งานประชุมวิชาการของโรงพยาบาลและสมาคมต่าง ๆ ก็เป็นอีกแหล่งที่อยากให้แพทย์เข้าร่วม เพราะในขณะที่จำนวนแพทย์เพิ่มขึ้นแต่จำนวนแพทย์ที่เข้ากิจกรรมวิชาการในโรงเรียนแพทย์บางครั้งกลับลดลงเรื่อย ๆ

สำหรับแพทย์ในสาขาต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม ผมอยากจะเพิ่มเติมในส่วนของการใส่ใจกับสุขภาพตนเอง เพราะการที่เราจะแนะนำผู้ป่วยได้ดีเราต้องปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีก่อนทั้ง 3 อ 2 ส รวมถึงต้องฝึกวิธีการให้ความรู้ การพูดคุยเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การเสริมสร้างพลังใจให้ผู้ป่วย โดยการเปลี่ยนผู้ป่วยจากดูแลตนเองไม่ได้มาเป็นดูแลตนเองได้ และต้องเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงบางครั้งอาจจะไม่ง่ายซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาหลายเดือน หรือเป็นปีแต่แพทย์ก็จะมีส่วนช่วยและสนับสนุนให้สำเร็จได้

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก