CIMjournal

อาจารย์ นพ. สิน อนุราษฎร์ สาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร


“เวลาเจอปัญหา มันจะต้องมีทางแก้ คิดว่าไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้”

ศ. นพ. สิน อนุราษฎร์
นายกสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย
บทสัมภาษณ์จากวารสาร IDV ฉบับที่ 82 ปี 2562

 

แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร

เรียนมัธยมที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา หลังจากนั้นสอบเอนทรานซ์ได้เป็นคนที่ 10 ของประเทศ คนที่สอบได้ที่ 1 – 50 ของประเทศ จะได้ติดบอร์ดของกระทรวงศึกษาธิการ และมีทุนให้เรียนต่อต่างประเทศ แต่ไม่มีทุนที่ให้เรียนแพทย์ ตอนนั้นใจชอบทั้งแพทย์และเศรษฐศาสตร์ แต่ตัดสินใจเรียนแพทย์ เหตุเพราะผมมีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหารมาตั้งแต่เด็ก จึงทำให้อยากเรียนแพทย์เพื่อจะได้รู้สาเหตุ และเนื่องจากในครอบครัวยังไม่มีใครเรียนแพทย์ ทางบ้านจึงอยากให้เรียนแพทย์ ต่อมาสอบติดคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเลือกเรียนต่อที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พอจบแพทย์ก็เป็นอินเทิร์น ที่จุฬาฯ 1 ปี จากนั้นได้ไปสอบ ECFMG (Educational Commission for Foreign Medical Graduates) พอสอบติดเลยไปเป็นอินเทิร์นที่ Resurrection Hospital, Chicago, Illinois, U.S.A. ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเล็ก ๆ ตั้งใจไว้ว่าเทรนจบจะกลับมาเป็นอาจารย์ เพราะชอบสอน จะมาทำวิจัย จากนั้นเป็น Resident ที่ VA Hospital, Long Beach, California อีก 2 ปี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลทหารผ่านศึก จากนั้นไปเป็นเฟลโล่ชิพทางด้านโรคตับ อีก 2 ปี ที่ VA Hospical, Boston, Massachusets เหตุที่ชอบอายุรศาสตร์ เพราะไม่ชอบกุมารฯ ใจจริงชอบสูติฯ เหมือนกัน แต่ต้องตื่นกลางดึก ซึ่งผมเป็นคนนอนหลับยาก ศัลย์ก็ชอบ แต่ปัญหาคือต้องเข้าห้องน้ำตอนไหนไม่รู้ ซึ่งเป็นตั้งแต่ตอนเด็ก คิดว่าถ้าเราเป็นมือ 1 คงทำไม่ได้ เลยเลือกอายุรศาสตร์ สาขาทางเดินอาหาร เพราะมีการส่องกล้อง แต่เป็นระยะสั้น คล้ายกับศัลยกรรม สำหรับสาเหตุที่เลือกทางเดินอาหาร เพราะตัวเองมีปัญหาทางเดินอาหาร ต้องการที่จะรู้ว่าตัวเองเป็นอะไร จากนั้นมาเป็นเฟลโล่ที่ University of Iowa, Iowa City, Iowa เลือกเรียนทางด้านทางเดินอาหารและตับ อีก 2 ปี เลือกทำวิจัยกับอาจารย์เรื่องการบีบตัวของทางเดินอาหาร ซึ่งยังไม่มีใครทำ ศึกษาเรื่องกระแสไฟฟ้าของกล้ามเนื้อในทางเดินอาหาร หลังจากเป็นอาจารย์แล้ว จาก study นี้ทำให้ทราบสาเหตุที่ทำให้ระบบทางเดินอาหารของเราทำงานไม่ปกติ เป็นเพราะการเคลื่อนไหวของเส้นประสาททางเดินอาหารทำงานเร็วเกินไป เพราะฉะนั้น การควบคุมอะไร เลยไม่เหมือนคนธรรมดา จากนั้นมาเป็น Instructor อีก 1 ปี ที่ Tufts University, Boston, Massachusetts พอดี Instructor จะหมดอายุจะต้องต่อใหม่ เลยตัดสินใจเป็นอาจารย์อยู่ที่ University of Iowa, Iowa City, Iowa อีก 11 ปี ใจจริงอยากกลับไทย แต่ตอนที่อยู่มีลูก 2 คน รอจนคนเล็กเข้ามหาวิทยาลัย จึงย้ายมาอยู่ที่ Texas Tech University, Lubbock, Texas จนกระทั่งตำแหน่งเลื่อนไปเรื่อย ๆ เป็นหัวหน้าแผนกทางเดินอาหารและ Professor หลังจากนั้นตำแหน่งคณบดีว่าง แต่เราถอนตัว ถือเป็นโอกาสกลับมาประเทศไทย พอกลับมาก็มาดูภาคเอกชน รับตำแหน่งผู้อำนวยการทางการแพทย์ ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เขาเห็นสิ่งที่เราเรียนมา เขาคิดว่าศักยภาพของแพทย์ไทย น่าจะแข่งกับประเทศแถบอาเซียนได้ เราจึงชวนแพทย์ที่อยู่ที่อเมริกาที่อยากกลับบ้าน และแพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาล จึงทำให้เกิด Medical Hub ขึ้นมาที่ประเทศไทย เป็นที่ยอมรับถึงศักยภาพทางการแพทย์ของเราเทียบกับระดับนานาชาติ เป็นผู้บริหารได้ 2 ปี ก็ออกมาเพื่อร่วมเป็นผู้บริหารเตรียมเปิดโรงพยาบาลใหม่ ชื่อ Medic Plus โดยมีฟังก์ชั่น 3 อย่างหลัก ๆ คือ ดูแลคนไข้ teaching และ research ซึ่งเป็นโรงพยาบาลระดับที่ดีที่สุดในอาเซียน


สิ่งที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุด

สิ่งที่ภูมิใจเรื่องแรก คือ ทำวิจัยและเขียนตำรา เรื่อง Gastrointestinal Motility Disorder เกี่ยวกับความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร โดยมีเพื่อนสนิทร่วมเขียนให้ 3 – 4 คน เขียนไว้เมื่อ 2 ปีก่อนกลับมาเมืองไทย พิมพ์โดยบริษัท Raven Press ในอเมริกา ซึ่งขายไปทั่วโลก พอกลับมาแล้วก็ไม่มีการแก้ไขปรับปรุง ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีใครที่เขียนตำราเกี่ยวกับ GI Motility การจะลง Motility ต้องลงถึงสาเหตุโรคกล้ามเนื้อ โรคเส้นประสาท หลังจากเจอโรค

เรื่องที่สอง ค้นพบโรคมาอีก 3 โรค เกี่ยวกับกล้ามเนื้อทางเดินอาหารไม่ทำงานหรือเสื่อม ซึ่งไม่เคยมีใครในโลกอธิบายเกี่ยวกับโรคนี้ ซึ่งเป็นโรคทางกรรมพันธุ์ คล้ายกับกล้ามเนื้อร่างกายแบ่งเป็น 3 อย่าง กล้ามเนื้อแขนขา ถ้าเสียไปเรียกว่า Muscular dystrophy เป็นโรคที่บ้านเราไม่ค่อยเจอ อยู่ ๆ กล้ามเนื้อแขนขามันฝ่อไป เราเป็นคนที่สนใจและ dislike ขึ้นมา ซึ่งใช้ศัพท์คำว่า Familial visceral myopathy เป็นปัญหาที่เราภูมิใจที่ได้ค้นพบ

เรื่องที่สาม การทำให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub ตรงนี้ส่วนใหญ่ คนเขานึกว่ามันเกิดขึ้นเอง จริง ๆ เริ่มที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ซึ่งเราเห็นความสำคัญ และทำให้มันเกิดขึ้น

เรื่องที่สี่ ประสบความสำเร็จจนได้ตำแหน่งศาสตราจารย์ และหัวหน้าแผนกทางเดินอาหารที่ Texas Tech University Health Sciences Center, Texas, U.S.A.

เรื่องที่ห้า อยู่ระหว่างการสร้าง Med Park Hospital ให้เป็น Leading Medical Academie Center ของ ASEAN


ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ

ปัจจัยแรก ต้องเป็นคนที่มีจุดมุ่งหมาย ว่าจะทำอย่างไร เมื่อ set goal แล้ว จะทำอย่างไรให้สำเร็จไปให้ได้ คือต้องมีความมุ่งมั่น เช่น ในเรื่องของ Medical Hub มุ่งมั่นว่า อยากให้บ้านเราเป็น Center for Healthcare แทนสิงคโปร์ ตั้งแต่ปีแรกที่มา และทำจนตอนนี้คนไข้ไปสิงคโปร์ลดลงมากที่สำคัญที่สุดคือ บุคลากร ไม่ใช่แพทย์อย่างเดียว พยาบาลที่ดูแลคนไข้ดี คนไข้ชอบ เป็นประเทศที่ friendly กับเคส อย่างนักท่องเที่ยวมา ประชาชนทั่วไปก็ยินดีต้อนรับ นี่เป็นจุดเด่นของการเป็นเจ้าบ้านของคนไทย ทำให้ธุรกิจ Medical Hub ดีขึ้น ทำให้คนไข้อยากมามากขึ้น

ปัจจัยที่ 2 เป็นคนที่ช่างสังเกต พอสังเกต เราจะรู้ว่ายังขาดอะไร และเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทำ

ปัจจัยที่ 3 การสื่อสาร การเป็นผู้บริหารจะให้คนวิ่งเข้ามาหาเราคงไม่มี เราต้องเดินไปเจอเอง ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบเขา คนที่อยู่ในความดูแล จะเรียกเขาว่า ลูกน้อง เพราะฉะนั้น ต้องดูแลเขาเหมือนลูกเหมือนน้อง พอเราดีกับเขา เขาก็ทุ่มเทให้เรา เลยเป็นวัฒนธรรมว่า ดูแลเขาแบบไหน เขาก็สัมผัสได้ และเขารู้ว่าเราไม่มีนโยบายที่จะกลั่นแกล้ง พอบอกนโยบายมา เขาก็ทำตาม ถ้าทุกคนมุ่งไปในทางเดียวกันหมด ก็สำเร็จลุล่วงด้วยดี ถ้าดูแลเขาดีแบบลูกแบบน้อง เขาก็จะดูแลเรา เวลามีปัญหาไม่ว่าการงานหรือเรื่องส่วนตัว ช่วยได้ก็จะช่วย คิดว่ามันเกี่ยวข้องกัน ต้องช่วยเหลือกัน


กว่าจะถึงวันที่ประสบความสำเร็จ เจออุปสรรคอะไรบ้าง แล้วเอาชนะอย่างไร

นี้เป็น character ที่แปลก ไม่เคยคิดว่ามีอุปสรรค คิดว่าทุกอย่างสามารถทำได้ พอเจอสิ่งที่ต้องแก้มันก็ต้องแก้ เวลาทำงานผมไม่เคยอารมณ์เสีย มันเป็นประเด็นที่ต้องทำให้ได้ คือ เป็นคนที่ค่อนข้างมั่นใจในตัวเอง ถ้าเราไม่ไปเห็นแล้วท้อใจ ปัญหามีทั้งนั้นและวิธีแก้ก็มีทั้งนั้น บางทีทำงานมาก็ไม่เคยคิดท้อ เวลาเจอปัญหา มันจะต้องมีทางแก้ คิดว่าไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้


ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้บางเรื่อง อยากกลับไปทำเรื่องใดมากที่สุด

ไม่เคยมองย้อนหลัง และไม่เคยนึกเสียใจเลย เพราะชีวิตเรามาตามเรื่องโชคชะตา ถ้าทำกรรมดีไว้มาก ก็จะมีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นมากมาย


ใครคือบุคคลที่เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน

คนแรก คือ คุณตา ท่านมาจากประเทศจีน ตอนอายุ 14 เป็นต้นแบบทางด้านการมาจากคนมือเปล่า แล้วมาสร้างจนกระทั่งมีหลักฐานมั่นคง ท่านได้ซื้อที่ดินเก็บไว้ มีสมบัติมากทีเดียว

คนที่สอง ศ. นพ. สมาน มันตาภรณ์ เป็นต้นแบบทางด้านเป็นอาจารย์แพทย์ เป็นแพทย์ที่ดี เป็นคนที่มีความสามารถ กล้าทำในสิ่งที่ตัวเองสามารถทำได้ ท่านเป็นแพทย์ผ่าตัดหัวใจคนแรกของประเทศไทย เป็นคนที่ respect ในเรื่องของการเป็นอาจารย์


คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต

การทำงานกับคนต้องมีเมตตา ผู้ใหญ่ที่ขาดความเมตตา มันเป็นการทำลายองค์กร เมื่อเราอาสาขึ้นมาเป็นผู้บริหาร ต้องเห็นเขาเป็น peer ไม่ใช่เป็น henchman หรือเรื่องของบารมี ก็เรียกร้องไม่ได้ ถ้าเขานับถือเราแล้วเขาจะให้เกียรติ ให้ความเคารพเราเอง และต้อง set goal เพราะต้องการให้ประเทศไทยมั่นใจในศักยภาพของตัวเอง ไม่ใช่สาขาสาธารณสุขอย่างเดียว ตอนนี้คนไทยส่วนใหญ่ทุกอาชีพ ยังคิดว่าต่างประเทศเก่งกว่าเรา แต่ต่างประเทศที่เก่งจริง ๆ ก็ได้รับการยกย่อง คนไทยก็เหมือนกัน คนเก่ง ถ้าเก่งแล้วคนจะสนับสนุน อย่าไปรู้สึกว่าเกินหน้าเกินตา สุดท้ายต้องมีความมุ่งมั่น เพราะต้องการให้ประเทศไทย เป็นศูนย์การแพทย์ระดับชั้นนำของโลก


มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร

การสาธารณสุขของบ้านเราเป็นจุดเด่นที่สุด อะไรที่สนับสนุนได้ก็ต้องช่วยกันสนับสนุน และยังมีเรื่องการขาดความเท่าเทียมของแพทย์ในภาครัฐและเอกชน ซึ่งรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2562 กำลังจะแก้ไขความไม่เท่าเทียมนี้


ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะสำเร็จต้องทำอย่างไร

สำหรับแพทย์ทั่วไป 1) Set goal ที่เราสนใจต้องชอบ ระหว่างเป็นนักศึกษาแพทย์ต้องดูว่าชอบอะไร พอชอบอะไรก็จะเริ่มให้ความสนใจทางด้านนั้นแล้วจะรู้ว่าระหว่างจบนั้นต้องทำอะไรต่อ จะไปเรียนที่ไหนต่อ 2) ต้องมีความภูมิใจในตัวเองที่ได้ดูคนไข้ และได้ช่วยเหลือคนไข้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน มีเมตตากับคนไข้ 3) ให้เกียรติผู้ร่วมงานทั้งแพทย์และบุคลากร

สำหรับแพทย์ในสาขาทางเดินอาหาร การตรวจและรักษาคนไข้มีทั้งการส่องกล้อง การให้ยาและให้คำปรึกษา ควร balance ให้เหมาะสม

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก