CIMjournal
นพ. ป่วน สุทธิพินิจธรรม

อาจารย์ นพ. ป่วน สุทธิพินิจธรรม สาขาอายุรศาสตร์


“เข้าใจธรรมชาติของผิวหนัง อย่าคิดแต่เรื่องเงินอย่างเดียว
ต้องคิดช่วยเหลือผู้ป่วยที่เดือดร้อนด้วย”

รศ. นพ. ป่วน สุทธิพินิจธรรม
นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ปี 2561 – 2562
บทสัมภาษณ์จากวารสาร IDV ฉบับที่ 84 ปี 2563


แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาอายุรศาสตร์

เรียนมัธยม 1 – 3 และ ม.ศ.1 – 3 ที่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม เมื่ออยู่มัธยมปีที่ 1 – 3 และเรียนอยู่ ห้อง ง อาศัยความขยันและความเพียรก็เลื่อนมาอยู่ห้อง ค ข และ ห้อง ก ตามลำดับแล้วสอบเข้าไปเรียน ม.ศ.4 – ม.ศ.5 ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สมัยเรียนชอบอ่านหนังสือ ประกอบกับอยากเป็นคนเก่ง และทางครอบครัวก็สนับสนุน จึงสนใจที่จะเรียน ในปีที่อยู่ ม.ศ.5 สอบได้อันดับที่ 58 ของประเทศไทย และสอบเข้าเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ต่อมาสอบได้ทุนเคเนดี สนับสนุนให้เรียนแพทย์ตลอดหลักสูตร 6 ปี (มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล)

เมื่อจบแพทยศาสตรบัณฑิตได้รับคัดเลือกเป็นอินเทิร์นปฏิบัติงานที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล สมัครเป็นแพทย์ประจำบ้านสาขาอายุรศาสตร์ใช้ทุน 3 ปี ที่โรงพยาบาลศิริราช ระหว่างที่เป็นนักศึกษาแพทย์ได้ร่วมกิจกรรมค่ายอาสามหาวิทยาลัยมหิดล 3 ค่ายคือ ค่ายที่ 3 – 5 ศ.เกียรติคุณ ร.ท. นพ. อวย เกตุสิงห์ เป็นผู้ก่อตั้งค่ายอาสามหาวิทยาลัยมหิดล การออกค่ายอาสาทำให้นักศึกษาได้รู้สภาพบ้านเมืองและชีวิตของประชาชนในต่างจังหวัดว่าเป็นอย่างไร เหตุที่ชอบอายุรศาสตร์ เพราะไม่ถนัดผ่าตัด ชอบความรู้แบบอายุรศาสตร์ รักษาโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคทางเดินอาหาร โรคตับ โรคไต และโรคหัวใจ เมื่อก่อนอายุรศาสตร์เป็นวิชาที่กว้างขวางมาก เป็นแพทย์ประจบ้านอยู่ศิริราช 3 ปี ก็จบสอบเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์ทั่วไป ได้วุฒิบัตร สาขาวิชาอายุรศาสตร์ทั่วไป จากนั้นไปอยู่สถานพยาบาลของโรงปูนซิเมนต์ไทยที่ ท่าหลวง จังหวัดสระบุรี เป็นเวลาได้ 4 ปี ศ.เกียรติคุณ นพ. เมระนี เทียนประสิทธิ์ ได้ชวนให้กลับมาเป็นอาจารย์ที่ศิริราช จึงมีโอกาสกลับมาเรียนสาขาตจวิทยา ที่ชอบทางด้านผิวหนัง เพราะงานไม่ยุ่งยากมาก ไม่ต้องอยู่เวรดึก จากนั้นได้บรรจุเป็นอาจารย์สาขาตจวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ ต่อมา ศ.เกียรติคุณ นพ. เมระนี ได้แยกสาขาวิชาโรคผิวหนังออกมาจากภาควิชาอายุรศาสตร์ จัดตั้งเป็นภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นับเป็นภาควิชาตจวิทยาเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย

ต่อมาได้รับทุนพัฒนาอาจารย์ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลไปฝึกอบรมทางด้าน Immunodermatology ที่ University of Chicago ประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ 1 ปี 6 เดือน ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องระบบภูมิต้านทานของผิวหนัง โรคภูมิแพ้ โรคเอสแอลอี Pemphigus, Bullous pemphigoid เมื่อกลับมาก็เป็นอาจารย์แพทย์ที่ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จนเกษียณอายุราชการ และได้รับเลือกให้ไปดำรงตำแหน่งคณบดีของวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นเวลา 8 ปี จากนั้นกลับมาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจนถึงปัจจุบัน


สิ่งที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุด

สิ่งที่ภูมิใจมีหลายเรื่อง แต่ที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุดเริ่มจากที่ได้เป็นหัวหน้าภาควิชาตจวิทยาคนที่ 2 ของศิริราช ต่อจาก ศ.คลินิกเกียรติคุณ พญ. พัชรี สุนทรพะลิน มี ศ.เกียรติคุณ นพ. เมระนี เทียนประสิทธิ์ เป็นผู้ก่อตั้งภาควิชาตจวิทยา ด้วยความที่สนใจเรื่องโรคผิวหนังที่พบบ่อย ๆ และรักษาไม่หายขาด คือโรคภูมิแพ้ โรคสะเก็ดเงิน ตอนนั้นก็ดูแลผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเป็น ๆ หาย ๆ เพราะผู้ป่วยมีความเครียด แกะเกาผื่นผิวหนัง ไม่ออกกำลังกาย น้ำหนักเพิ่มเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อ ติดยาเสพติด ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ โรคสะเก็ดเงินก็จะกำเริบ การใช้ยาอย่างเดียวโรคไม่หาย ต้องกลับมาพบแพทย์อีก ถ้าเป็นมากก็ต้องกินยา อาจเกิดผลข้างเคียงจากยามากมาย จึงได้จัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องโรคสะเก็ดเงินแก่ประชาชนเป็นประจำทุกเดือน ให้ความรู้ทั้งคนไข้ ทั้งญาติ และประชาชนทั่วไป ออกประชาสัมพันธ์ทางวิทยุ โทรทัศน์จัดทุกวันพุธ ตอนบ่าย ออกรายการวิทยุเชิญชวนผู้ป่วยและผู้สนใจเข้ามาฟังการบรรยาย

เรื่องที่สองคือ เขียนหนังสือ เรื่องความรู้เรื่องโรคสะเก็ดเงินสำหรับประชาชน แจกผู้ป่วย ญาติ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จัดพิมพ์รายชื่อแพทย์ผิวหนังอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทำเว็บไซต์ อินเทอร์เน็ต เขียนลงในหนังสือพิมพ์ประจำวัน เพราะการรักษา ทั้งยากิน ยาทา ยาฉีด ฉายแสง ยามีหลายอย่างขึ้นอยู่กับระยะของโรค ไม่สามารถทำให้โรคหายขาดได้ จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องโรคสะเก็ดเงิน เน้นความรู้เรื่องปัจจัยที่กระตุ้นให้โรคกำเริบที่สำคัญ 6 ประการ คือ 1. ความเครียด 2. การแกะเกา ขูดขีด 3. การเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อต่าง ๆ 4. การดื่มสุรา สูบบุหรี่ ติดยาเสพติด 5. การไม่ออกกำลังกาย 6. ยาบางชนิด เช่น ยากดการเต้นของหัวใจยาต้านมาลาเรีย

เรื่องที่สามคือ ในปี พ.ศ. 2551 ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทางมหาวิทยาลัยทำจดหมายเชิญให้ไปเป็นคณบดี ก่อนหน้านั้นได้รับรางวัล R2R ดีเด่น ระดับตติยภูมิ เรื่อง การดูแลผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินแบบองค์รวมด้วยจิตวิญญาณ ประจำปี 2551 จากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข รางวัลดีเด่น Best Idea of the Years โครงการกลุ่มสัมพันธ์ช่วยเหลือกันเอง เพื่อเป็นการรักษาเสริมในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน 30 มีนาคม พ.ศ. 2550 รางวัลอาจารย์ดีเด่นทางคลินิก ทุนเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ประจำปี 2549 ได้รับปริญญาแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปี 2560 รางวัลศิษย์เก่าอาวุโสดีเด่นจากสมาคมศิษย์เก่าแพทย์ศิริราช รางวัลแพทย์ผิวหนังดีเด่น จากสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยประจำปี 2560

ในปี พ.ศ. 2561 ได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย มีนโยบายเพื่อดูแลผู้เจ็บป่วยโรคผิวหนังให้หายหรือทุเลาลงตามรอยสมเด็จพระราชบิดา ให้คิดถึงประโยชน์ของผู้ป่วย ให้ความรู้แก่ผู้ป่วย โดยเขียนหนังสือออกประชาสัมพันธ์ เว็บไซต์ อธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจเรื่องยาอธิบายเรื่องผลข้างเคียง สอนให้เขารู้จักซื้อยา ใช้ยาเองเป็น มาพบแพทย์เมื่อมีปัญหาจะได้ไม่ต้องเสียเวลามาพบแพทย์บ่อย ๆ ให้ความรู้เรื่องเหตุ และปัจจัยที่ทำให้โรคเป็นมากขึ้น ทำอย่างไรจะให้เป็นน้อยลง นี่เป็นสิ่งที่แพทย์ทุกคนควรทำ


ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ

ปัจจัยแรก ต้องมีความรู้ในเรื่องที่จะทำอย่างแท้จริง เรียนรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา ศึกษาธรรมะ เข้าใจธรรมชาติของผิวหนังและธรรมชาติของชีวิตบูรพาจารย์ที่สอนธรรมะให้ศิษย์ เช่น ศ.เกียรติคุณ ร.ท. นพ. อวย เกตุสิงห์ อาจารย์เป็นผู้ก่อตั้งค่ายอาสามหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์สนใจเกี่ยวกับเรื่องธรรมะ อาจารย์นำนักศึกษาแพทย์ขณะที่อยู่ค่ายอาสาระหว่างปิดเทอมไปกราบพระอาจารย์สายหลวงปู่มั่น เช่น หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่เทศน์ หลวงปู่ขาว และพระอาจารย์มหาบัว ท่านก็สอนธรรมะ สอนการนั่งวิปัสสนากรรมฐาน เลยเข้าใจว่าชีวิตเป็นแบบนี้ หมอเรียนธรรมชาติของร่างกาย ธรรมชาติของโรค อธิบายเรื่องโรคต่าง ๆ ทำไมถึงทำแบบนี้ ช่วยให้เข้าใจธรรมชาติของชีวิต ไม่ใช่คิดเรื่องเงินอย่างเดียว ต้องช่วยคนที่เขาเดือดร้อน มีเมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา หรือพรหมวิหาร 4 ก็ทำให้ไม่รู้สึกเหนื่อย ไม่รู้สึกเบื่อ

ปัจจัยที่ 2 การอ่อนน้อมถ่อมตน พูดจาไพเราะ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่สร้างศัตรู ยึดถือความถูกต้อง ชี้แจงให้ลูกทีมเข้าใจและร่วมมือในการปฏิบัติงานตอนเป็นแพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ ก็ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าแพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ เพราะไม่ได้ทะเลาะกับใคร คนอื่นเขาก็ให้ความช่วยเหลือร่วมมือ

ปัจจัยที่ 3 ยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ ทำเพื่อส่วนรวม เปิดเผยฟังเสียงส่วนรวมแล้วก็สรุป ไม่ทะเลาะกัน เมื่อเป็นประธานในการประชุมจะพูดกับผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านว่าเมื่อต้องการออกความเห็นให้ยกมือขึ้น เมื่อประธานชี้ให้พูดจึงค่อยพูด ให้พูดให้หมด เมื่อพูดจบก็ฟังท่านอื่นพูดบ้าง ไม่ควรพูดสวนหมัดกัน เมื่อทุกคนพูดหมดแล้วประธานจึงสรุปและขอความิดเห็นร่วมกัน การประชุมเป็นการช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไร เพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน


กว่าจะถึงวันที่ประสบความสำเร็จเจออุปสรรคอะไรบ้าง แล้วเอาชนะอย่างไร

งานทุกงานมีอุปสรรคอยู่เสมอ ซึ่งทุกคนก็ต้องช่วยกันแก้ปัญหา แต่ที่พอจะยกตัวอย่าง ได้คือ เรื่องการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จะต้องใช้ความอ่อนน้อม เข้าใจ และยึดประโยชน์ของเขตอีสานใต้เป็นหลัก ทำให้แพทย์ที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ร่วมมือยอมรับ นศ.พ. จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข จำนวน 48 คน ในปี พ.ศ. 2561 จากเดิมปี พ.ศ. 2549 โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์รับ นศ.พ. จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเพียง 16 คน และรับ นศ.พ. มหาวิทยาลัยขอนแก่น 32 คน ซึ่งตอนนั้นก็แก้ไขโดยการทำงานร่วมมือกับโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์อย่างดี และขอความร่วมมือจากโรงพยาบาลศรีสะเกษให้รับ นศ.พ. 20 คน ในปี พ.ศ. 2553 โดยยึดแนวทางทำเพื่อประโยชน์ของชาวอีสานใต้

ตัวอย่างต่อมา เรื่องการจัดสรรงบประมาณที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจะขอหักงบดำเนินการดูแลนักศึกษาร้อยละ 10 ตอนนั้นได้แก้ไขโดยการไม่หักงบดำเนินการดูแลนักศึกษาแพทย์เลย ทำให้ความร่วมมือกับโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ดำเนินไปด้วยดี โดยยึดแนวทางไม่ใช้วาจาก้าวร้าว ใช้การปรึกษาหารือกันฉันมิตรทำให้การทำงานร่วมกันด้วยความสุข


ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้บางเรื่องอยากกลับไปทำเรื่องใดมากที่สุด

อยากจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับโรคผิวหนังจะได้เป็นหลักฐานว่ามีความรู้แตกฉาน เขียนให้ง่ายเข้าใจ ไม่ได้เขียนแบบทฤษฎีนำ ซึ่งบางทีจะเข้าใจยาก เขียนเป็นแนวปฏิบัติเป็นโรค เพราะความรู้มีมาก ตอนอยู่ที่ศิริราช ก็ลาไปเขียนหนังสือ แต่เขียนไม่สำเร็จ จึงเป็นหนี้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลอยู่ แต่ด้วยมาทำงานด้านบริหาร และขาดความเพียร ถ้าย้อนกลับไปได้จะต้องเขียนหนังสือให้ได้


ใครคือบุคคลที่เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน

คนแรกเลยคือ ศ.เกียรติคุณ นพ. เมระนี เทียนประสิทธิ์ ท่านเป็นต้นแบบในเรื่องของการทำงานเป็นทีม อาจารย์มีเครือข่ายมากมาย มีเพื่อนที่ให้ความสนับสนุนอย่างมาก เพราะอาจารย์กว้างขวาง ทำให้ทำงานง่าย การทำงานสำเร็จ อาจารย์เป็นคนเล่นดนตรี ร้องเพลงเก่ง อาจารย์เป็นคนร่าเริง เป็นผู้ก่อตั้งภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล

คนที่สองคือ ศ.คลินิกเกียรติคุณ พญ. พัชรี สุนทรพะลิน ท่านเป็นต้นแบบในเรื่องของความนุ่มนวล เป็นคนที่เรียบร้อย อาจารย์พัชรีไม่เคยโกรธใคร ไม่เคยว่าใคร ทำแต่สิ่งที่ดีและเป็นมิตรกับคนทุกระดับ

คนที่สาม คือ ศ.เกียรติคุณ นพ. ประเวศ วะสี ท่านเป็นต้นแบบในเรื่องการศึกษาธรรมะ อาจารย์เป็นคนที่สนใจธรรมะ จะพูดถึงอาจารย์พุทธทาสภิกขุสมัยก่อน อ.ประเวศ สอนหนังสือ ตอนเราเป็นลูกศิษย์ ท่านพูดถึงธรรมะ พูดแล้วเราไม่เข้าใจว่าท่านพูดเรื่องอะไร อาจารย์จะพูดชีวิตจริง แต่เรามองไม่เห็น เพราะไม่เคยทำงาน พูดถึงโรคทั้งหลายไม่ได้จะใช้แต่ยารักษา ต้องอธิบายให้คนไข้เข้าใจ อาจารย์เป็นคนสมถะ มีความรู้ ชอบเขียนหนังสือ


คติหรือหลักการที่ยึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต

ผมยึดหลักอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นมิตรกับคนทุกระดับ ช่วยผู้ป่วย ช่วยคนที่รู้จัก แนะนำ อธิบายด้วยความอดทน ต่อมาก็เรื่องหาความรู้ในเรื่องที่ทำอยู่ให้ชัดเจน มีความรู้ รู้ให้จริง รู้ให้แตกฉาน นำความรู้นี้มาใช้ประโยชน์ช่วยเหลือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเรา และต้องไม่ลืมคิดถึงประโยชน์ของส่วนรวมก่อนเสมอ ทำเพื่อส่วนรวมไม่ใช่ทำเพื่อตัวเองเป็นใหญ่ ไม่อย่างนั้นก็จะไปทะเลาะกับเขา


มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร

เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันเป็นสังคมดิจิตอล ทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็ว จึงต้องมีสติติดตามการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิดและปรับตัวเรียนรู้ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ทิศทางการแพทย์อนาคตต้องประยุกต์เทคโนโลยีดิจิตอลอย่างเท่าทันให้เกิดประโยชน์ ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น ต้องนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างประหยัด และใช้เทคโนโลยีในการให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพดี


ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะประสบความสำเร็จต้องทำอย่างไร

สำหรับแพทย์ทั่ว ๆ ไป อย่างแรกต้องมีความรู้จริง มีความรู้แตกฉาน และเข้าใจธรรมชาติของชีวิต มิฉะนั้น จะเกิดการหลงเทคโนโลยี เมื่อรู้จริงแล้วก็ชี้แจงให้คนอื่นเข้าใจ เพื่อจะได้มีความสุข ไม่เจ็บไม่ป่วยอีก ปฏิบัติตัวเป็นตัวอย่าง ต่อมาต้องไม่ประมาท ติดตามเรียนรู้เทคโนโลยีอย่างเท่าทันมิเช่นนั้น อาจนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างผิดทาง และสุดท้ายต้องตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะทำประโยชน์ให้แก่สังคม

สำหรับแพทย์ในสาขาตจวิทยา อยากจะเพิ่มเติมในส่วนของความรู้ ต้องรู้ให้แท้จริง ให้แตกฉาน เมื่อรู้แตกฉานแล้วก็ใช้ประโยชน์จากความรู้นั้นกับชาวบ้าน ผู้ป่วย กับเพื่อน กับผู้ที่รู้จักมีความรัก ความเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลก เพราะจะทำให้ทำงานไม่เหนื่อย และต้องทำความรู้ให้กระจ่างชัด ในทุกแง่มุมทั้งต่อตัวบุคคล ต่อผู้ใกล้ชิด ต่อเพื่อนร่วมงาน ต่อชุมชนและสังคมโดยรวม ถือประโยชน์ของเขาเป็นใหญ่ ประโยชน์ของเราเป็นที่สอง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก