ศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผย ผลการศึกษาการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 (เข็มกระตุ้น) เพื่อป้องกันโควิด 19 จากเชื้อ โอมิครอน ในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยทำการศึกษาด้วยวัคซีนโมเดอร์นา และไฟเซอร์ ฉีดเข้าในชั้นผิวหนังและกล้ามเนื้อ พบหากฉีดเข้าในชั้นผิวหนังให้ระดับภูมิคุ้มกันต่ำกว่าการฉีดเข้าในชั้นกล้ามเนื้อ แต่ระดับภูมิคุ้มกันที่ได้ยังค่อนข้างสูง โดยเฉพาะถ้าใช้วัคซีนโมเดอร์นา
เนื่องจากผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อโรคโควิด 19 รุนแรง การฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 จึงมีความจำเป็น อย่างไรก็ตามผู้สูงอายุอาจมีความกังวลต่ออาการข้างเคียงจากวัคซีน ส่งผลให้การยอมรับวัคซีนน้อยลง การฉีดวัคซีนเข้าในชั้นผิวหนัง ที่ใช้วัคซีนปริมาณน้อย เพียง 1 ใน 5 ของขนาดที่ฉีดเข้าในชั้นกล้ามเนื้อ และลดการเกิดผลข้างเคียง อาจทำให้มีการยอมรับที่ดีขึ้น
ศูนย์วิจัยคลินิก ศิริราช จึงได้ทำการศึกษาแบบเปิด โดยมีการสุ่มผู้สูงอายุตัวอย่างที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ที่เคยได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าครบ 2 เข็ม นาน 12 ถึง 24 สัปดาห์ จำนวน 210 ราย พบว่า ระดับการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่วัดได้ก่อนการฉีดกระตุ้น (หลังจากได้รับวัคซีนแอสตร้าฯ 2 เข็ม) ต่ำมาก ซึ่งไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่ภายหลังจากที่ได้รับการฉีดกระตุ้น (เข็มที่ 3) พบว่าระดับภูมิคุ้มกันสูงขึ้นมากกว่า 1,000 เท่า และทำให้ภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอนทั้งหมด โดยระดับการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่ 2 ถึง 4 สัปดาห์ หลังจากได้รับวัคซีนกระตุ้นเข้มที่ 3 พบว่าการฉีดเข้าในชั้นผิวหนังให้ภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่าการฉีดเข้าในชั้นกล้ามเนื้อ โดยวัคซีนโมเดอร์นาให้ระดับการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่สูงกว่าวัคซีนไฟเซอร์ และมีภูมิคุ้มกันต่อโอมิครอนสูงกว่า
อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปสำคัญ พบว่า จำเป็นต้องให้ผู้สูงอายุฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 จึงจะสามารถป้องกันโควิด 19 จากเชื้อโอมิครอนได้ การฉีดเข้าในชั้นผิวหนังให้ระดับภูมิคุ้มกันต่ำกว่าการฉีดเข้าในชั้นกล้ามเนื้อ แต่ระดับภูมิคุ้มกันที่ได้ยังค่อนข้างสูง โดยเฉพาะถ้าใช้วัคซีนโมเดอร์นา จึงอาจเป็นทางเลือกหากมีจำนวนของวัคซีนจำกัด และต้องการลดโอกาสเกิดอาการข้างเคียงตามระบบ
แหล่งที่มา:
https://www.hfocus.org/content/2022/05/25097
https://sicres.org/2022/05/16/eldery-vaacine-3rd-booster/