กองทุนบัตรทอง ปีงบประมาณ 2566 มีผลการดำเนินงานครอบคลุมดูแลประชากรผู้มีสิทธิ 99.40% มีผู้ป่วยนอกรับบริการ 164.98 ล้านครั้ง ผู้ป่วยในรับบริการ 6.265 ล้านครั้ง ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายสิทธิประโยชน์ อาทิ บริการเอชไอวี/เอดส์ บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง บริการจิตเวชเรื้อรังในชุมชน บริการผู้ป่วยติดเตียงที่มีภาวะพึ่งพิง และบริการสาธารณสุขปฐมภูมิ สะท้อนประสิทธิภาพการบริหารจัดการและความเชื่อมั่นของประชาชน
19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. เผยข้อมูลการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ปีงบประมาณ 2566 ดูแลคนไทยผู้มีสิทธิบัตรทองฯ 47.73 ล้านคน ภายใต้งบประมาณ 142,297,936,700 บาท (ไม่รวมเงินเดือนหน่วยบริการภาครัฐ จำนวน 61,842,091,100 บาท) เป็นงบเหมาจ่ายรายหัวจำนวน 3,901.21 บาทต่อผู้มีสิทธิ โดยเป็นจำนวนที่รวมงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 506.07 บาทต่อผู้มีสิทธิ และงบบริการช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับ – ผู้ให้บริการ 9.16 บาทต่อผู้มีสิทธิ โดยมีหน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศร่วมให้บริการจำนวน 17,247 แห่ง
ภาพรวมปีงบฯ 2566 สปสช. ดำเนินการครอบคลุมประชากรผู้มีสิทธิบัตรทอง 99.40 % โดยมีผลการรับบริการผู้ป่วยนอก 164.98 ล้านครั้ง จากเป้าหมาย 166.86 ล้านครั้ง หรือคิดเป็น 98.87% ขณะที่การรับบริการผู้ป่วยใน 6.265 ล้านครั้ง จากเป้าหมาย 6.494 ล้านครั้ง หรือคิดเป็น 96.48% ซึ่งเป็นการบริการหลายด้าน อาทิ บริการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายด้วยการบำบัดทดแทนไต บริการควบคุมป้องกันความรุนแรงของโรคและภาวะแทรกซ้อนสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง บริการผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน บริการสาธารณสุขสำหรับผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่มีภาวะพึ่งพิง (LTC)
นอกจากนี้ ยังมีบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ที่ในปีงบประมาณ 2566 นี้ สปสช. สามารถสร้างความคลุมสิทธิภายใต้ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขด้านสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือประชาชนไทยทุกคน 66,602,086 คน คิดเป็น 100.48% จากเป้าหมาย 66,286,000 คน
แหล่งที่มา: https://www.hfocus.org/content/2023/11/28980