กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดตัวแพลตฟอร์มดิจิทัล “ผูกพันธุ์” เชื่อมโยงข้อมูลพันธุกรรม รายงานผลตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์ สนับสนุนการพิจารณาเลือกใช้ยาสำหรับแพทย์ เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการรักษา ให้มีความเหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละราย และป้องกันอาการแพ้ยารุนแรง
21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ. เป็นประธานแถลงข่าวเปิดตัวแพลตฟอร์มดิจิทัล “ผูกพันธุ์” เชื่อมโยงข้อมูลพันธุกรรมสู่การแพทย์แม่นยำ จากความร่วมมือระหว่างกรมวิทย์ฯ กับมหาวิทยาลัยมหิดล โดยรองรับการแสดงผลการตรวจบนแอปพลิเคชันระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ หมอพร้อม หรือ Health link ทั้งยังสามารถเชื่อมกับระบบสารสนเทศโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เมื่อได้รับความยินยอมจากผู้ป่วย และผู้ป่วยสามารถเข้าถึงข้อมูลของตนเองได้
นพ.ยงยศ กล่าวว่า การตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถพิจารณาเลือกใช้ยาหรือปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย และช่วยลดโอกาสเกิดการแพ้ยา เนื่องจากมีการตรวจพบยีนแพ้ยาในคนไทยกว่า 15% การตรวจยีนแพ้ยาจึงมีความสำคัญดังที่กรมวิทย์ฯ ได้เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2566 ในการตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์เพื่อป้องกันการแพ้ยารุนแรง 4 รายการ คือ (1) การตรวจยีน HLA-B*58:01 สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาอัลโลพูรินอล (2) การตรวจยีน HLA-B*15:02 สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาคาร์บามาซีปีน (3) การตรวจยีน HLA-B*57:01 สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาอะบาคาเวียร์ และ (4) การตรวจยีนย่อยยา NAT2 ในผู้ป่วยวัณโรคที่ได้รับยาไอโซไนอาซิด
แหล่งที่มา: https://www.thecoverage.info/news/content/6289