รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ระงับงบประมาณสนับสนุนโครงการด้านสุขภาพในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ผ่านองค์กร International Rescue Committee (IRC) เป็นเวลา 3 เดือน ทำให้หลายฝ่ายกังวลเกี่ยวกับภาระงานของสถานพยาบาลในพื้นที่ชายแดนไทย รัฐบาลไทยและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยประสานความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ
21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมติดตามสถานการณ์ด้านการแพทย์และสาธารณสุขสำหรับพื้นที่พักพิงชั่วคราวใน จ.ตาก พร้อมเผยว่าหลังจาก IRC ระงับบริการ มีผู้หนีภัยเข้ารับบริการที่ รพ. ในพื้นที่ชายแดนรวมกว่า 454 ราย ล่าสุดเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 IRC ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมบางส่วนอีกครั้ง ครอบคลุมการดูแลผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน รวมถึงการให้วัคซีน และสนับสนุนยาเวชภัณฑ์แก่ศูนย์พักพิงทั้ง 7 แห่ง (ราชบุรี 1 แห่ง, กาญจนบุรี 1 แห่ง, แม่ฮ่องสอน 2 แห่ง และตาก 3 แห่ง)
แม้สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย แต่ สธ. ยังคงวางแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาวเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต มุ่งพัฒนานโยบายสุขภาพประชากรข้ามชาติ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดน เสริมศักยภาพบุคลากร และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล นอกจากนี้ ยังมีการฝึกอบรมบุคลากรภายในศูนย์พักพิงให้สามารถช่วยเหลือด้านสาธารณสุขได้ภายใต้การดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถจัดการปัญหาด้านสุขภาพในศูนย์พักพิงได้อย่างเป็นระบบ
แหล่งที่มา: https://www.thecoverage.info/news/content/8264