สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ร่อนหนังสือแจ้งเวียนถึงกระทรวง กรม และจังหวัด เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับ ‘เงินประจำตำแหน่ง’ ประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ ใหม่ โดยมีเงื่อนไข คือ ดำรงตำแหน่งมาไม่น้อยกว่า 1 ปี, ผ่านการประเมินโดยคณะกรรมการที่คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) แต่งตั้ง
3 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 นายปิยวัฒน์ ศิวรักษ์ เลขาธิการ ก.พ. ลงนามในหนังสือแจ้งเวียนถึงกระทรวง กรม และจังหวัด เรื่อง “หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับเงินประจำตำแหน่งสำหรับตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ ทักษะ และสมรรถนะ สำหรับตำแหน่งในสายงานที่ ก.พ. กำหนดให้มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่ง” โดยให้ยกเลิกหนังสือที่ นร 1006/ว6 ลงวันที่ 10 มี.ค. 2567 และกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับเงินประจำตำแหน่งสำหรับตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ 1.56 หมื่นบาท
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขฯ มีดังนี้ (1) ต้องดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับคุณวุฒิ มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี (2) ผ่านการประเมินผลงานทางวิชาการ โดยคณะกรรมการที่ อ.ก.พ.กระทรวง แต่งตั้ง ซึ่งเป้นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และผลงานเป็นที่ประจักษ์ในงานของตำแหน่งที่จะประเมิน เพื่อรับเงินประจำตำแหน่ง เป็นผู้พิจารณา โดยให้พิจารณาจากองค์ประกอบ ประโยชน์ของผลงาน 40 คะแนน ความรู้ ความชำนาญงาน หรือความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน 30 คะแนน และคุณภาพของผลงาน 30 คะแนน โดยเกณฑ์ผ่านการประเมินจะต้องได้รับการพิจารณาให้ผ่านจากคณะกรรมการผู้ประเมินเกินกึ่งหนึ่ง และจะต้องได้คะแนนในแต่ละองค์ประกอบไม่น้อยกว่า 85% และได้คะแนนรวมทุกองค์ประกอบไม่น้อยกว่า 85% และ (3) ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่ง เมื่อผ่านการประเมินตามข้อ 2 แล้ว
สำหรับการดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์ตามหนังสือที่ นร 1006/ว6 ลงวันที่ 10 มี.ค. 2567 ให้ทำต่อไปจนแล้วเสร็จ โดยได้รับอัตราเงินประจำตำแหน่งตามที่กำหนดในกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. 2551 หรือ กฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. 2567 แล้วแต่กรณี สำหรับหลักเกณฑ์ ข้อ 2.2 ในหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว 7 ลงวันที่ 17 มี.ค. 2565 ให้หมายถึงหนังสือเวียนฉบับนี้
แหล่งที่มา: https://www.thecoverage.info/news/content/7001