สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผยแพร่ประกาศ เรื่อง การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขเพิ่มเติม สำหรับหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านเภสัชกรรม พ.ศ.2567 ในการดูแลรักษาผู้มี สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่มีอาการ 32 อาการตามประกาศ ช่วยเพิ่มการเข้าถึงการบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ
28 สิงหาคม พ.ศ. 2567 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ สปสช. เรื่อง การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขเพิ่มเติม สำหรับหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านเภสัชกรรม พ.ศ.2567 ลงนามโดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ประกาศ ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2567 พร้อมระบุรายการยาสามัญประจำบ้าน หรือยาอันตรายที่เภสัชกรสามารถจ่ายได้ตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ตามดุลยพินิจของเภสัชกรและสอดคล้องกับคู่มือเภสัชกรชุมชน อัตราการจ่ายค่าบริการ เป็นการเหมาจ่ายในอัตรา 180 ต่อครั้งต่อคน
อาการ/กลุ่มอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 32 อาการ ตามแนวทาง และมาตรฐานการให้บริการทางเภสัชกรรมปฐมภูมิโดยสภาเภสัชกรรม แก่ผู้ที่มีสิทธิบัตรทอง มีดังนี้ (1) เวียนศีรษะ (2) ปวดหัว (3) ปวดข้อ/ปวดกล้ามเนื้อ (4) ปวดฟัน (5) ปวดประจำเดือน (6) ปวดท้อง (7) ท้องเสีย (8) ท้องผูก/ริดสีดวง (9) ปัสสาวะแสบขัด (10) ตกขาว (11) แผล (12) ผื่นผิวหนัง (13) อาการทางตา (14) อาการทางหู (15) ไข้ ไอ เจ็บคอ (16) ติดเชื้อโควิด 19
(17) น้ำมูก คัดจมูก (18) มีอาการแผลในปาก (19) ตุ่มน้ำใสที่ปาก (20) แผลน้ำร้อนลวกไม่รุนแรง (21) อาการคันผิวหนัง/ศีรษะ (22) อาการจากพยาธิ (23) อาการจากหิด เหา (24) ฝี หนองที่ผิวหนัง (25) อาการชา/เหน็บชา (26) อาการนอนไม่หลับ (27) เมารถ เมาเรือ (28) เบื่ออาหารโดยไม่มีโรคร่วม (29) คลื่นไส้ อาเจียน (30) อาการแพ้ยา/แพ้อาหารเล็กน้อย/แมลงกัดต่อย (31) อาการเจ็บป่วยจากการสูบบุหรี่ และ (32) เหงือกอักเสบ/มีกลิ่นปาก
แหล่งที่มา: https://www.thecoverage.info/news/content/7302