สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รพ.ศรีธัญญา และภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนนวัตกรรม ‘ดัชนีตัวชี้วัดสุขภาพจิตชุมชน’ ประเมินสุขภาพจิต พัฒนาการป้องกัน แก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน นำร่อง 15 พื้นที่ เตรียมผลักดันเป็นนโยบายสาธารณะระดับชาติ
12 กันยายน พ.ศ. 2567 สสส. ร่วมกับ มสช. กรมสุขภาพจิต รพ.ศรีธัญญา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และมูลนิธิบุญยง-อรรณพ นิโครธานนท์ จัดเวทีขับเคลื่อนเชิงนโยบายภาคีเครือข่ายส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตโดยชุมชนท้องถิ่น หัวข้อ ‘เวทีสานพลังเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตโดยชุมชนท้องถิ่น (Community Mental Health Forum)’ ภายใต้โครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตลอดช่วงชีวิต
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส. ชี้แจงว่า สสส. ดำเนินงานสอดคล้องแผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติ โดยร่วมมือกับ มสช. และภาคีเครือข่ายเริ่มโครงการดังกล่าวด้วย 4 แนวคิด คือ พัฒนาองค์ความรู้ด้านวิชาการ ส่งเสริมสุขภาพจิตประชาชนทุกช่วงวัยในแต่ละพื้นที่ สนับสนุนด้านนโยบายสาธารณะเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสุขภาพจิต และสร้างความตระหนักด้านสุขภาพจิต ซึ่งมีการพัฒนา ‘ดัชนีสุขภาพจิตชุมชนท้องถิ่น’ ช่วยวัดการประเมินสถานะสุขภาพจิตระดับชุมชน
พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผอ.รพ.ศรีธัญญา เผยข้อมูลปี 2566 มีคนไทยเข้ารับบริการจิตเวช 2.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 1.3 ล้านคน ในปี 2558 พบผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านราย การจัดกิจกรรมครั้งนี้มุ่งขยายผลความร่วมมือภาคีเครือข่ายเพื่อถอดบทเรียนสู่การผลักดันเป็นนโยบายระดับชาติ ด้าน นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธาน มสช. เสริมว่าโครงการนี้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2564 นำร่อง 15 พื้นที่ภูมิภาค ก่อให้เกิดโมเดลการสร้างดัชนีตัวชี้วัดสุขภาพจิตในชุมชนอย่างเป็นระบบ และการสร้างนักสื่อสารสุขภาพจิตในชุมชนท้องถิ่น (นสช.)
แหล่งที่มา: https://www.hfocus.org/content/2024/09/31645