“ได้มีเวลาอยู่และวิเคราะห์ตัวเอง ทำให้เลือกเก็บและเลือกทิ้งบางเรื่อง เรียนรู้ที่จะเป็นคนที่ไม่สมบูรณ์แบบบ้าง”
ศ. ดร. พญ. อรพรรณ โพชนุกูล
กรรมการมูลนิธิโรคหืดแห่งประเทศไทย
นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย
ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืด และโรคระบบหายใจ
โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
ก่อนถึงคำถามหลัก สถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ส่งผลต่อผู้ป่วยโรคทางด้านภูมิแพ้อย่างไรบ้าง
หลายคนอาจคิดว่าการระบาดของโควิด 19 ทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้น้อยลง จริง ๆ แล้วผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในช่วงดังกล่าวมีจำนวนมากขึ้น เพราะว่าคนในครอบครัวรวมกันอยู่ที่บ้าน รวมถึงไม่แน่ใจด้วยว่าตัวเองเป็นโรคภูมิแพ้หรือติดเชื้อโควิด ขณะที่ผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลจะเท่าเดิม และมีการให้บริการคนไข้เหมือนเดิม แต่ผู้ป่วยจะให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองมากขึ้น เราเลยได้มีการให้ความรู้คนไข้เพิ่มเติม เพื่อให้คนไข้สามารถวินิจฉัยอาการของตนเอง และดูแลตนเองเบื้องต้นได้ จึงเป็นที่มาของการเขียนหนังสือ “แล้วภูมิแพ้จะแพ้เรา” โดยเขียนขึ้นมาเพื่อให้คนไข้มีความรู้และรู้จักกับร่างกายของตนเองมากขึ้น และปรับการใช้ชีวิตและไลฟ์สไตล์ของตนเอง เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีขึ้นโดยไม่ต้องมาหาหมอ
นอกจากนั้นแล้ว อีกสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มีมากขึ้นคือ ปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิต ทำให้มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล จาม ปวดศีรษะ หูอื้อ อ่อนเพลีย อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ไซนัส นอนกรน หูชั้นกลางอักเสบ ซึ่งทั้งหมดนี้กระทบต่อคุณภาพของชีวิต
แพทย์สาขาภูมิแพ้และอิมมูโนฯ เรียนรู้เรื่องอะไรจากสถานการณ์การระบาดนี้
หลัก ๆ น่าจะมีอยู่ 2-3 เรื่อง เริ่มจากเรื่องของการตรวจโรคแบบทางไกล การระบาดของโควิด 19 ทำให้แพทย์ได้เน้นในเรื่องการตรวจและรักษาโรคภูมิแพ้แบบทางไกล โดยไม่จำเป็นต้องมาเห็นหน้า และพบว่าการดูแลคนไข้ในรูปแบบนี้ไม่ได้มีระบบอะไรที่ยุ่งยากมากนัก โดยจะมีแพลตฟอร์มที่สามารถให้คนไข้เข้ามารับคำปรึกษา และจริง ๆ แล้วโรคหลายโรค ๆ ไม่จำเป็นต้องมาตรวจก็สามารถวินิจฉัยโรคได้ แค่ติดต่อกันแบบออนไลน์ โทร.หรือแชทคุย ซึ่งในช่วงโควิด 19 นี้เข้าใจว่า แต่ละโรงพยาบาลมีการจัดทำดิจิทัลแพลตฟอร์ม ทำให้คนไข้สามารถแชทปรึกษากับแพทย์ รวมถึงการรับยาเพื่อดูแลตนเองได้
เรื่องต่อมาคือ E-Learning เพราะช่วงโควิด 19 คนไข้ส่วนใหญ่ work from home ทำให้คนไข้จำเป็นต้องรับข่าวสารทางสื่อโซเชียล เป็นหลัก แพทย์ก็จำเป็นต้องปรับตัวโดยการทำสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อสอนให้คนไข้รู้จักดูแลตนเอง ประกอบกับการเจอคนไข้ที่โรงพยาบาล แพทย์มีเวลาในการสอนคนไข้ค่อนข้างจำกัด ได้ประมาณ 5-10 นาที ถ้าแพทย์มีสื่อเป็นของตนเองก็สามารถแนะนำคนไข้ให้เข้าไปเรียนรู้จากช่องทางนั้น เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้คือ การดูแลตัวเองให้ดี
เรื่องสุดท้าย จริง ๆ แล้วใช้ได้กับแพทย์ทุกสาขา คือการเรียนรู้ที่จะต้องพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพราะปัจจุบันมีเรื่องทางการแพทย์ใหม่ ๆ อยู่ตลอด ทั้งโรค การวินิจฉัย การรักษาและอื่น ๆ ซึ่งแพทย์รุ่นใหม่จะมีพวกดิจิตอล แพลตฟอร์มให้ได้เรียนรู้ข้อมูลอยู่แล้ว แต่ที่ต้องเรียนรู้เพิ่มคือ การคิด วิเคราะห์ ว่าเนื้อหาที่อ่านนั้นมีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน ซึ่งบางเนื้อหาอาจไม่ได้ถูกเขียนโดยผู้เชี่ยวชาญ หรือบางเนื้อหามีวัตถุประสงค์บางอย่าง ก็เป็นโจทย์ของแพทย์ที่จะต้องคิด วิเคราะห์ว่าข้อมูลนั้นเป็นประโยชน์และมีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่มั่นใจก็ต้องหาแหล่งอ้างอิง ขณะเดียวกันการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ บนโลกโซเชียล ก็ต้องทำด้วยความระมัดระวัง
“มีพวกดิจิตอล แพลตฟอร์ม
ให้ได้เรียนรู้ข้อมูลอยู่แล้ว
แต่ต้องคิด วิเคราะห์ เพิ่มว่า
เนื้อหานั้นมีความน่าเชื่อถือ
มากน้อยแค่ไหน”
ส่วนตัวมองว่าว่าการเรียนรู้เพียงสาขาเดียวไม่เพียงพอ เพราะคนไข้ไม่ได้มีปัญหาเพียงแค่โรคเดียว ดังนั้นแพทย์ยุคใหม่จำเป็นต้องรู้ให้กว้าง รู้ลึก และรู้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาแบบองค์รวม และพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง รวมถึงมีการอัปเดตความรู้ของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ โดยต้องศึกษาจากข้อมูลที่มีแหล่งที่มาชัดเจน และมีความน่าเชื่อถือ
แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาโรคภูมิแพ้
เรียนมัธยมที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จ.สงขลา เป็นครอบครัวนักวิชาการ ซึ่งในครอบครัวมีแพทย์หลายคน แรงบันดาลใจจริง ๆ ที่อยากเรียนแพทย์มาจากคุณลุง คือ ศ. นพ. ชาญ โพชนุกูล เป็นแรงบันดาลใจว่า คุณลุงเป็นแพทย์โรคไตที่เก่งมากและเราก็รู้สึกชอบแพทย์มากที่สุด จึงมีความคิดที่จะเป็นแพทย์ตั้งแต่ประถม และอยากให้คุณพ่อคุณแม่ภาคภูมิใจ ตอนเอนทรานซ์สอบติดที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ตอนเรียนคลินิกช่วงปี 4 – 6 เป็นช่วงที่มีความสุขมาก พอเจอคนไข้รู้สึกชอบการตรวจคนไข้ ชอบการทำงาน ชอบชีวิตลุย ๆ ตอนแรกอยากเรียนแพทย์ศัลย์ เพราะดูลุย ๆ เจออะไรที่ฉุกเฉิน ตื่นเต้นแต่อาจไม่เหมาะกับบุคลิกเรา ตอนเรียนอยู่วอร์ดอายุรกรรม พอมีเคสเสียชีวิตมาก ๆ ทำให้รู้สึกเศร้าและหดหู่ จึงพยายามคิดว่าอยู่ที่ไหนแล้วมีความสุขและสบายใจที่สุด สรุปว่าเป็นวอร์ดเด็กที่ทำให้เรามีความสุข เพราะเด็กทำให้รู้สึกสดชื่น และตัวเองก็ชอบเล่นกับเด็กด้วย พอจบ 6 ปี เลือกเป็นแพทย์ใช้ทุนทางด้านเด็ก อีก 4 ปี โดยใช้ทุนไปเรียนไปด้วย
จากนั้นอยากไปทำงานต่างจังหวัด จึงไปสมัครที่ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช
ทำให้รู้ตัวว่า ตัวเองเหมาะกับการเป็นอาจารย์ เพราะเป็นคนแบบทำอะไรต้องให้สุดทาง ไม่ใช่รักษาคนไข้เด็กอย่างเดียว จะมีหลายอย่างที่เรารักษาไม่ได้ จึงต้องฝึกต่อ เหมือนกับโรคแต่ละโรคในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น ตอนนั้นรู้สึกชอบอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือ newborn เพราะไปดูงานกับ ศ. นพ. เกรียงศักดิ์ จีระแพทย์ รู้สึกชอบมาก แต่ประเด็นสำคัญของ newborn หรือกุมารเวชศาสตร์ฉุกเฉินเด็กเล็ก เป็นแพทย์ที่อยู่ไอซียูตลอด ถ้าใช้ชีวิตแบบนี้บั้นปลายชีวิตอาจต้องมีปัญหา เพราะใช้ชีวิตหนักมาก อดหลับอดนอน อีกอย่างที่ชอบคือ ภูมิแพ้ มีเพื่อนชวนให้เป็นหมอภูมิแพ้ รู้สึกว่าภูมิแพ้เป็นโรคที่เหมาะกับผู้หญิง บุคลิกของเรา และเป็นอะไรที่ไม่โหดมาก มีคนไข้มารักษาจำนวนมาก เป็นคนชอบคุยกับคนไข้ ชอบการสื่อสาร เลยตัดสินใจเรียนเฉพาะทางด้านภูมิแพ้
ที่ศิริราชพยาบาล ได้เรียนกับ ศ. นพ. ปกิต วิชยานนท์ ซึ่งเป็นอาจารย์ภูมิแพ้ที่เก่งในระดับประเทศ
หลังจากนั้นอยากเป็นอาจารย์ เพราะนอกจากตรวจคนไข้แล้ว ยังได้สร้างแพทย์ที่ตรวจคนไข้ได้มากขึ้น และได้ ศ. นพ. ปกิต วิชยานนท์ เป็นแบบอย่างที่ทำให้อยากเป็นอาจารย์แพทย์ ตอนนั้นมีตำแหน่งอาจารย์ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พอดีจึงตัดสินใจมาเป็นอาจารย์ พออยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เป็นยุคบุกเบิกทางด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืด และโรคระบบหายใจ เนื่องจากคนไข้มีจำนวนมากทำให้ต้องสร้างศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านโรคภูมิแพ้ โรคหืดและโรคระบบหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ (TU-CAAP) โดยต้องเซตอัพระบบทุกอย่าง ทั้งคน เครื่องมือ รวมเป็นอาจารย์แพทย์ที่ธรรมศาสตร์มาได้ 20 ปี
เป้าหมายที่มีการตั้งไว้ในการเป็นแพทย์หรือการใช้ชีวิต
เป้าหมายด้านการเป็นอาจารย์แพทย์และการเรียนการสอน ความเป็นอาจารย์สิ่งสำคัญคือ สร้างลูกศิษย์ที่เป็นหมอภูมิแพ้ให้ไปช่วยดูแลคนไข้ต่อ การสร้างลูกศิษย์มี 2 อย่างคือ เปิดเฟลโล่เทรนนิ่ง แต่รับได้ปีละ 1-2 คน ตามระเบียบแพทยสภา และอยากจะสร้างที่ไม่ถึงกับเป็นเฟลโล่ แต่ดูแลคนไข้ได้ เป็นลูกศิษย์ที่ตัวเองไปบรรยายข้างนอก และทำหลักสูตรเทรนนิ่งแบบ train the trainer เป็นแบบออนไลน์บ้าง มี Asthma cyber clinic ก็พยายามเทรนให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเอง เราก็ไม่หวงวิชา อยากให้เขาดูแลคนไข้ได้ ทุกอย่างมีอะไรบอกหมดในความเป็นอาจารย์อยากสร้างให้มีแพทย์ที่สามารถดูแลคนไข้ภูมิแพ้ได้จริง และความเป็นอาจารย์ที่สำคัญนอกจากการสอนแล้ว คือ ต้องทำวิจัย มีตำแหน่งวิชาการ มีสัญญาการเป็นอาจารย์ตลอดชีวิต โดยอาชีพอาจารย์และแพทย์นั่นคือความสำเร็จตามฝัน แต่การเป็นศาสตราจารย์คือตัวชี้วัดที่จับต้องได้ ซึ่งก็ได้ตำแหน่งศาสตราจารย์ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
“อาชีพอาจารย์และแพทย์นั่นคือ
ความสำเร็จตามฝัน
แต่การเป็นศาสตราจารย์
คือตัวชี้วัดที่จับต้องได้”
เป้าหมายด้านการรักษาและงานวิจัยควบคู่กันไป ทำขึ้นเพื่อตอบโจทย์การทำงานและแก้ปัญหาตรงจุดนั้น ๆ อย่างการวิจัยผลงานชิ้นแรก ได้ทำนวัตกรรม DIY (Do-It-Yourself) Spacer เป็นอุปกรณ์เครื่องพ่นยาสำหรับผู้ป่วย แนวคิดนี้มาจากปัญหาที่คนไข้ไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์พ่นยา เพราะเครื่องพ่นยาชิ้นหนึ่งราคาพันกว่าบาท แต่เราคิดให้เหลือชิ้นละร้อยกว่าบาททำให้คนไข้เข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์และการรักษาที่ดี ชิ้นที่สองเป็น Thai Kid’s Spacer ก็พัฒนาเชิงอุตสาหกรรม ได้สิทธิบัตรหมด และชิ้นที่สาม การผลิตยายาไพล เพื่อรักษาโรคแพ้อากาศและหอบหืด เป็นยาที่ใช้ในผู้ป่วย อายุ 12 ปีขึ้นไป ชนิดรับประทานกำลังจะขอ อย. เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นยาเดี่ยว แผนปัจจุบัน จดสิทธิบัตรยาแล้ว ซึ่งทำวิจัยมา 10 ปี ตอนนี้ถึงระยะที่ 3 เหตุที่ผลิตยาเนื่องจากยาที่รักษาผู้ป่วยมีราคาแพงมาก เลยคิดเรื่องผลิตยาเอง ทำให้คนไข้ลดค่าใช้จ่าย นวัตกรรมทุกอย่างมาจากปัญหาหน้างานในการทำงาน เราต้องทำงานถึงจะรู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร
เป้าหมายด้านบริหาร ได้โอกาสจากผู้ใหญ่เขาเห็นว่าเราเป็นคนทำงาน จึงได้รับการเลือกตั้งให้เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย และถูกเชิญให้เป็น ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาล ผู้ช่วยอธิการบดี และตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา ต้องดูนักศึกษา 40,000 คน คนเป็นแพทย์จะเรียนเชิงลึก ดูเรื่องอะไรก็ดูลึก ๆ แต่ตำแหน่งนี้ทำให้ตัวเองได้พัฒนาทักษะเยอะมาก ต้องรอบรู้ให้กว้าง เพราะเรามีส่วนสำคัญมากในการพัฒนานักศึกษาเพื่อเป็นผู้นำสู่การเปลี่ยนแปลงของประเทศ ทุกหลักสูตรเน้นเรื่องทักษะวิชาชีพ แต่ไม่เน้นพัฒนาด้านจิตใจและอารมณ์ เราต้องพัฒนาในเรื่องทักษะการใช้ชีวิต อย่างเช่น พัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ เพราะปัญหาของนักศึกษา คือ มีความเครียด ซึมเศร้า บางคนเรียนจบมาเก่ง แต่ใช้ชีวิตไม่เป็น ไม่มีความสุข ต้องพูดสร้างแรงบันดาลใจให้คน แล้วต้องคิดอะไรดี ๆ ให้บัณฑิตธรรมศาสตร์ที่จบไปแล้วเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพและมีความสุขอยู่ในสังคมได้ ทำให้เปิดโลกใหม่ เพราะต้องทำหลายอย่าง ความเป็นแพทย์อยู่ที่วิชาชีพ แต่การสร้างนักศึกษาหรือบัณฑิตให้มีคุณภาพนั้น เป็นสิ่งที่ดีที่ได้พัฒนาคน
ขอเพิ่มเป้าหมายที่สอดคล้องกับปัจจุบันมากขึ้น ก่อนหน้าจากการที่เป็นคนไม่ปฏิเสธงาน ทำให้เราต้องทำทุกอย่างเพิ่มขึ้นและหนักขึ้น โดยไม่มีลดลงเลย มีอย่างเดียวที่ลดก็คือ สมรรถภาพการทำงานที่ถดถอยลง เนื่องจากอายุเพิ่มมากขึ้น ป่วยง่ายขึ้นและมีอาการภูมิแพ้กำเริบ พอช่วงหลัง ๆ เลยไปสนใจในเรื่องการปฏิบัติธรรม ได้มีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น ทำให้เราวิเคราะห์ตัวเองได้ดี เลือกเก็บและเลือกทิ้งบางเรื่องที่ไม่จำเป็นกับชีวิต เรียนรู้ที่จะเป็นคนที่ไม่สมบูรณ์แบบบ้าง โดยปัจจุบันโดยเลือกรับเฉพาะงานที่อยากทำ ซึ่งเป็นงานที่มีคุณค่า มีความหมายต่อชีวิต ทำแล้วตัวเองมีความสุขมากขึ้น อย่างช่วงนี้ชอบงานในเชิงความคิดสร้างสรรค์ เน้นสร้างงานที่เป็นองค์ความรู้ใหม่ๆ เพราะจริง ๆ การช่วยคนไข้จำเป็นต้องมีนวัตกรรมมารองรับ อย่างการทำอุปกรณ์พ่นยาในคนไข้ที่เป็นภูมิแพ้ ทำแอปพลิเคชันที่ช่วยในการดูแลคนไข้ที่เป็นภูมิแพ้ สำหรับการคิดค้นนวัตกรรมขึ้นมาได้ ต้องเริ่มจากการพบปัญหาในหน้างาน ทำให้เรารับบทบาทในการพัฒนาในจุดที่ยังขาด โดยต้องยอมรับว่าหลักการดูแลคนไข้ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน เมื่อก่อนจะเน้นเรื่องการรักษาโดยแบบใช้ยา แต่จริง ๆ แล้วการรักษาคนไข้ที่เป็นโรคภูมิแพ้มีมิติที่ไม่ใช้ยาด้วย โดยเน้น Lifestyle คือการดูแลผู้ป่วยภูมิแพ้ให้มีสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ โดยเน้นการดำเนินชีวิตที่ดีและมีความสุข อาทิ การดูแลเรื่องโภชนาการ การรับประทานอาหารในเชิงป้องกัน การรับประทานอาหารเพื่อรักษาโรค จัดการความเครียด การออกกำลังกาย และการดูแลเรื่องสภาวะแวดล้อม มิติเหล่านี้เป็นการดูแลแบบองค์รวม ตัวอย่างโรค NCDs หรือ non-communicable diseases เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดัน เป็นต้น โดยโรคเหล่านี้มักมีความเกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ หรือวิถีชีวิตการอยู่การกินเป็นหลัก ซึ่งเป็นการดูแลรักษาที่ในตอนนี้หมอได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยปัจจุบันนี้ได้ตั้งศูนย์ Lifestyle and wellness ขึ้นมา เพราะการดูแลในส่วนนี้จะเข้ามาช่วยเติมเต็มการรักษาด้วยการใช้ยา เป็นต้น
ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ
จริง ๆ แล้ว เป้าหมายที่จะสำเร็จได้ไม่ได้เกิดมาจากตัวเองทั้งหมดมันมาจากหลายอย่าง ในส่วนที่เกิดจากตัวเอง อย่างแรกคือ การเป็นคนที่รู้จักตัวเองดี และต้องรู้จักตัวเองเร็ว อย่าเสียเวลาในการหาตัวเอง ถ้ารู้สึกในสิ่งที่ดี ต้องลงมือทำ เพราะสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่การพูด แต่อยู่ที่การกระทำอย่างในเรื่องการใช้ชีวิตคือ รู้ว่าต้องเป็นหมอตั้งแต่อยู่ ป.1 รู้ว่าต้องเป็นหมอเด็กตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ รู้ว่าต้องเป็นศาสตราจารย์ตั้งแต่เริ่มเป็นอาจารย์ ทุกอย่างที่เป็นการตั้งเป้าหมายในชีวิต
ปัจจัยที่สอง คือ เป็นคนมีเป้าหมายในชีวิตชัดเจน คืออยากพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น แต่พัฒนาดีขึ้นปัจจุบันของตัวเองคือ พัฒนาจิตใจ เป้าหมายสูงสุดคือ อยากมีความสุขในการอยู่กับตัวเองโดยไม่ยึดติดกับภายนอก และเป้าหมายต้องใหญ่ ต้องไประดับโลก ตัวเองไม่เคยตั้งเป้าเล็ก เป็นคนกล้าลองเข้าไปขอโดยที่ไม่กลัวว่าเขาจะปฏิเสธ ถ้าอยากได้อะไรต้องเดินเข้าไปขออยู่ ๆ จะให้เขามองเห็นเราเป็นไปไม่ได้ ชีวิตนี้ต้องไขว่คว้า
“เป้าหมายในชีวิตชัดเจน
ซึ่งปัจจุบันคือ การพัฒนาจิตใจ
ให้มีความสุข ในการอยู่กับตัวเอง
โดยไม่ยึดติดกับภายนอก”
ปัจจัยที่สาม คือ เป็นคนมีวินัยมากในการปฏิบัติ เพราะต่อให้เรามีเป้าหมายชัดเจนอย่างไร ถ้าขาดวินัยก็จะไม่สำเร็จ อย่างเป้าหมายการเป็นศาสตราจารย์ ตนเองตั้งไทม์ไลน์ไว้ว่าจะทำให้สำเร็จภายใน 10 ปี ต้องมีการวางแผน มีการกำหนดช่วงเวลาที่จะต้องสำเร็จในแต่ละขั้นตอน สาเหตุที่ต้องทำขนาดนั้นเพราะว่า การตั้งเป้าหมายจะทำให้เราโฟกัสในเรื่องนั้น ๆ อย่างการทำวิจัยเราต้องใช้เวลาที่เหลือจากการสอนนักเรียนและตรวจคนไข้มาทำ เราจึงต้องมีวินัย มีความทุ่มเทในการทำงานวิจัยเป็นอย่างมาก ซึ่งก็ทำได้ในเวลาที่กำหนดไว้ หรือการดูแลตัวเองก็มีการแบ่งเวลา เช่น เวลาออกกำลังกาย เพราะรู้สึกว่าชีวิตนี้ถ้าไม่แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ จะไม่มีทางทำอะไรได้ดี บางคนที่ไม่ออกกำลังกาย นั่นเป็นข้ออ้างตัวเองจะมีวินัยในการออกกำลังกาย อาทิตย์ละอย่างน้อย 3 – 4 วัน ภาวนาเดินจงกรม นั่งสมาธิ เช้าเย็นทุกวัน ปีหนึ่งต้องไปปฏิบัติธรรม การที่จะทำเพื่อคนอื่นได้ ต้องทำเพื่อตัวเองให้ได้ก่อน ที่เหลือมีอะไรมาหน้างานก็จัดเต็ม เราเลือกปฏิเสธในบางงานที่ตอนนี้งานเยอะ จะเลือกงานที่ทำแล้วสบายใจ มีความสุข
ปัจจัยสุดท้าย คือ การที่เราเป็นคนมีความกตัญญูรู้คุณ สำนึกถึงบุญคุณเสมอ ที่ได้ดิบได้ดี ทุกวันนี้ เพราะมีครอบครัว คุณครู ผู้ใหญ่ เพื่อนร่วมงานคอยให้คำแนะนำ ผลักดัน และสนับสนุน
กรณีที่ไม่สำเร็จ มีเหตุปัจจัยจากอะไร และแก้ไขอย่างไร
เมื่อมีเป้าหมายที่สำเร็จ ย่อมต้องมีเป้าหมายที่ไม่สำเร็จ ซึ่งจริง ๆ ก็มีเยอะมาก อย่างในอดีตมีงานวิจัยที่ใช้ไพลมารักษาคนไข้ที่เป็นโรคภูมิแพ้แทนการใช้ยานำเข้าเพื่อรักษาโรคภูมิแพ้ โดยงานวิจัยชิ้นนี้เราใช้เวลาทำเป็น 10 ปี ซึ่งมีอุปสรรคมาก ทั้งในเรื่องทุน ผู้ร่วมงานและอื่น ๆ จนมาถึงทุกวันนี้งานวิจัยก็ยังไม่สำเร็จ แต่ก็ยังมีข้อดีคือ มีความคืบหน้าไปอย่างช้า ๆ ปัจจุบันอยู่ในขั้นกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อขอ อย.
อย่างถ้ามองในแง่ของวิชาชีพ ที่เคยมองว่ายังไม่สำเร็จหรือไม่ถึงเป้าหมายคือ การไปเรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งในอดีตเรามองเรื่องนี้เป็นปมด้อย โดยสาเหตุที่ตัดสินใจไม่ไปเรียนต่อคือ ต้องดูแลคุณแม่ รวมถึงเป็นห่วงคนไข้ เพราะตอนนั้นในโรงพยาบาลมีแพทย์โรคภูมิแพ้เพียงคนเดียว ทำให้ตัดสินใจไม่ไปเรียนต่อต่างประเทศ แต่พอกลับมาย้อนคิดก็ทำให้รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะมีหลายคนที่ตัดสินว่าแพทย์ที่เรียนต่อต่างประเทศมักจะเก่งกว่าแพทย์ที่จบในประเทศไทย
“พอกลับมาย้อนคิด
ก็ทำให้รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ
เพราะมีหลายคนที่ตัดสินว่า
แพทย์ที่เรียนต่อต่างประเทศ
มักจะเก่งกว่าแพทย์
ที่จบในประเทศไทย”
ความเชื่อนี้กลายเป็นแรงจูงใจสำคัญ ที่ทำให้เราต้องเป็นศาสตราจารย์ แม้ว่าในทางปฏิบัติจะช้ากว่าเป้าหมายไป 2 ปี ในช่วงทำตำแหน่ง รศ. เพราะเลือกไปออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ทำนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อสังคม ทั้งนี้การเป็นศาสตราจารย์ในมุมมองของเรา นอกจากจะทำให้ได้รับการยอมรับมากขึ้นแล้ว ยังสามารถนำความรู้ที่ได้มาดูแลคนไข้ มาพัฒนาประเทศ ไม่ว่าองค์ความรู้นั้นจะเกิดจากการนำเสนองานวิจัยไปยังเวทีต่างประเทศ การพูดคุยพบปะกับผู้คนที่มีความรู้ รวมถึงประสบการณ์ที่ได้รับ ซึ่งในปัจจุบันเราก็มุ่งเน้นที่จะเรียนรู้และพัฒนาในศาสตร์ที่ไม่ใช้ความรู้ด้านการแพทย์ อย่างการพัฒนาด้านซอฟต์สกิล (Soft skill) ของตัวเอง ถึงแม้ว่าเราไม่ได้เรียนต่อที่ต่างประเทศ แต่ว่าสถาบันที่เราเรียนจบมาก็ทำให้เราสร้างคุณค่าได้มากมาย ซึ่งจะเรียนจบที่ไหนไม่สำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญคือการนำความรู้ที่ได้มาดูแลคนไข้ คนไข้คือแรงผลักดันที่สำคัญ
โดยสรุปจากประสบการณ์ของตัวเอง บางครั้งที่เป้าหมายไม่สำเร็จอาจเกิดจากการที่ตั้งเป้าหมายที่ใหญ่เกินไป ก็ต้องเปลี่ยนมาตั้งเป้าหมายให้เล็กลง เปลี่ยนมาเป็นโปรเจกต์เล็ก ๆ ทำให้เสร็จทีละโปรเจกต์ ค่อยเริ่มโปรเจกต์ใหม่ เพื่อลดอุปอุปสรรคและทำให้เราโฟกัสในทีละจุด และในระหว่างทำหากเจออุปสรรค ก็ต้องหยุดพัก เพื่อรอจังหวะเหมาะสมกว่าเดิมบ้าง ไม่ใช่การหยุดแล้วล้มเลิก ต้องเป็นคนกัดไม่ปล่อย
ที่สำคัญคือทุกสิ่งที่เราทำจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม ตนเองจะเรียนรู้ ว่างานนั้นให้ประโยชน์อะไร ได้เรียนรู้ ได้ประสบการณ์อะไร เพราะหลาย ๆ ครั้งเป้าหมายอาจไม่ได้สำคัญเท่ากับสิ่งที่ได้เรียนรู้ในระหว่างที่ทำงานนั้น ๆ
จัดการกับสถานการณ์ที่ทำให้ท้อถอยอย่างไร
สำหรับเรื่องที่ท้อก็มีค่อนข้างเยอะ เพราะเคยผ่านจุดที่เจ็บปวดที่สุดในชีวิตคือการสูญเสียคนในครอบครัว เริ่มต้นจากการสูญเสียคุณพ่อ และต่อมาสูญเสียพี่สาว ณ จุดนั้นจะเสียใจมาก เพราะรู้สึกว่าตัวเองเป็นหมอแต่กลับดูแลคนในครอบครัวได้ไม่ดี เรื่องนี้ทำให้เราเสียใจอยู่เป็นปีและต้องปรับความคิดเยอะมากเพื่อที่จะเข้มแข็งขึ้น พอผ่านมาได้ไม่ว่าเจอเรื่องอะไรก็ไม่กลัว เพราะเราได้ผ่านจุดที่แย่ที่สุดมาแล้ว
ในส่วนของการปรึกษานั้น ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะแล้วแต่เรื่อง ถ้าเป็นเรื่องเล็กน้อย จะปรึกษาเพื่อน เรื่องการเรียนการทำงานจะปรึกษาอาจารย์ แต่ปัจจุบันเวลามีปัญหาจะอ่านหนังสือธรรมะ และจะปรึกษาพระ ข้อดีคือ ท่านจะให้วิธีคิดที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างความทุกข์อยู่ที่ความคิด แค่ไม่คิดก็ไม่ทุกข์ การที่มีปัญหาอยู่ที่เราจะนำปัญหานั้นมาเป็นความทุกข์หรือเปล่า ถ้าไม่มีความทุกข์ เราก็อยู่กับปัญหานั้นได้ เพราะปัญหาทุกอย่างต้องแก้เอง และความทุกข์นั้นก็ต้องแก้เองเหมือนกัน อย่างโกรธคน จะคิดว่าคนเรามี 3 ประเภท คนที่น่ารัก คนที่น่าเคารพ และคนที่น่าสงสาร ให้เปลี่ยนจากความเกลียด ความโกรธ เป็นความน่าสงสาร ก็จะมีความสุข ไม่ยึดติดปล่อยวางกับปัจจุบัน
โดยสำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อเรามองย้อนกลับไปจะพบว่าทุกอย่างสามารถผ่านไปได้ สำหรับปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ก็ให้ทำอย่างเต็มที่ แต่ถ้าทำเต็มที่แล้วแก้ไม่ได้ก็ต้องปล่อยวาง เมื่อผ่านจุดที่แย่ที่สุดไปแล้ว ไม่ว่าปัญหาอะไรจะเกิดขึ้นเราก็จะสามารถผ่านไปได้ อย่างตอนนี้อาจารย์ได้วางแผนเกษียณ โดยเกษียนในทีนี้ไม่ได้แปลว่าเลิกทำงาน แต่เป็นการทำงานที่ให้ความสำคัญกับร่างกายและจิตใจ รวมถึงมีความสุขเป็นหลัก
ถ้าย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้อยากกลับไปปรับปรุงในเรื่องใด
จริงๆ แล้ว ไม่เคยอยากย้อนกลับไปเพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตได้หล่อหลอมให้ตัวเรากลายเป็นตัวเราในวันนี้ เพราะทุกอย่างที่ผ่านมาได้เปลี่ยนเราไปเป็นเราในเวอร์ชันที่พัฒนาขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งใดเกิดขึ้นแล้วเราก็ยอมรับและเรียนรู้จากประสบการณ์ ซึ่งจะประสบการณ์ที่สำคัญที่สุดคือประสบการณ์ที่ผิดพลาดและเราได้ผ่านมันมาได้
“ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต
ได้หล่อหลอมให้ตัวเรา
กลายเป็นตัวเราในวันนี้
เพราะทุกอย่างที่ผ่านมา
ได้เปลี่ยนเราไปเป็นเรา
ในเวอร์ชั่นที่พัฒนาขึ้น”
บุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิต
คนแรกเป็นต้นแบบเรื่องงาน คือ ศ. นพ. ปกิต วิชยานนท์ อาจารย์เป็นต้นแบบทางด้านการเป็นแพทย์ และการเป็นอาจารย์ โดยอาจารย์จะทุ่มเทกับคนไข้มากและเป็นอาจารย์ที่ดีมาก เก่งมาก รักลูกศิษย์ ดูแลลูกศิษย์อย่างดี ทุกวันนี้จบแล้วอาจารย์ก็ยังดูแลเราอยู่
“ตอนนี้คุณแม่อายุ 80 กว่าแล้ว
แต่ก็ยังคงทำงานอยู่
และยังตื่นตี 5 มาวิ่งทุกวัน”
คนที่สองเป็นต้นแบบเรื่องการใช้ชีวิต คือ คุณแม่ ตนเองอยู่กับคุณแม่มาตั้งแต่เด็กเพราะคุณพ่อเสีย คุณแม่จึงเป็นผู้หญิงคนเดียวที่สามารถเลี้ยงลูกทั้งสามคนได้เป็นอย่างดี ท่านเป็นคนมีความอดทน มีวินัยในการใช้ชีวิต ตนเองจึงได้ตรงนี้จากคุณแม่มา และตอนนี้คุณแม่อายุ 80 กว่าแล้ว แต่ก็ยังคงทำงานอยู่ และยังตื่นตี 5 มาวิ่งทุกวัน มองย้อนกลับไป สิ่งลึก ๆ ที่อยู่ในใจและคอยกระตุ้นให้เราทำอะไรให้สำเร็จนั้นคือ การกลัวแม่ผิดหวังและเสียใจ
คนที่สามขอยกให้เป็นอาจารย์ทุก ๆ ท่านที่สั่งสอนเรามา ตั้งแต่ประถม มัธยม และอาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัยซึ่งมีหลายท่านมาก และสุดท้ายคิดว่าต้นแบบที่ดีที่สุดก็คือตัวเราเอง เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เราได้วิเคราะห์ถึงข้อดีและข้อเสียของตัวเราเอง และสอนตัวเราเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ
คติหรือหลักการที่ใช้ในการดำเนินชีวิต
หลักในการใช้ชีวิตก่อนหน้าคือ รักในสิ่งที่ทำและทำในสิ่งที่รัก รวมถึงหาตัวเองให้เจอ ซึ่งถ้าหากหาตัวเองไม่เจอ หรือหาสิ่งที่รักไม่เจอก็ให้ลองทำไปก่อน เดี๋ยวสักวันก็จะหาตัวเองจนเจอ รวมถึงให้คิดไว้ว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นดีเสมอ ไม่ว่าจะเกิดอะไรกับชีวิตก็ตาม และสิ่งสำคัญคือการเรียนรู้อย่างไม่เคยหยุด โดยต้องเรียนรู้ในหลาย ๆ มิติ อาทิ เรียนรู้จากประสบการณ์การใช้ชีวิต เรียนรู้จากคนรอบข้าง และเรียนรู้จากตัวเราเอง เพราะตัวเราคือโค้ชชิ่งที่ดีที่สุดของชีวิต นอกจากนี้ ยังมีการอ่านหนังสือ เพราะสามารถหยิบข้อคิดมาไปปรับใช้กับชีวิตของตัวเองได้
ทั้งนี้หลักปฏิบัติขึ้นอยู่กับว่าช่วงนั้นเราเจออะไร และคุยกับใคร คิดว่าอะไรดีกับตัวเอง ช่วงนี้สิ่งที่จะใช้พัฒนาตัวเอง คือ ทาน ศีล ภาวนา เริ่มจากการให้ที่มาจากทาน ให้คนอื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนให้โดยรู้สึกไม่มีตัวตน เป็นการให้ที่มีความสุข ศีล คือ วินัย เราต้องมีวินัยในการพัฒนาตนเอง ภาวนา คือ สุดยอดของการมีความสุข ทุกคนต้องมีความสุขกับตัวเอง ปัจจุบันจะใช้หลักการดำเนินชีวิตแบบนี้ อยู่เฉย ๆ ไม่มีความสุขก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไขว่คว้าหาสิ่งภายนอกให้มีความสุข หรือต้องมีคนชมถึงจะมีความสุข เป้าหมายคือ ลดความอยากลง เพื่อให้มีความสุขในชีวิต
มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางอนาคตเป็นอย่างไร
สำหรับการแพทย์ไทยในปัจจุบันจริง ๆ แล้วก้าวหน้ามาก และมีมาตรฐานในระดับโลก ซึ่งการแพทย์ไทยเดี๋ยวนี้เหมือนเป็น medical hub ซึ่งไม่ได้น้อยหน้าการแพทย์ของสากลเลย และปัจจุบันอุปสรรคด้านภาษาก็แทบจะไม่มี โดยเรื่องการวิจัยการแพทย์ของไทยก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และจะมากขึ้นไปอีกในอนาคต
อย่างไรก็ตามการนำความรู้จากกงานวิจัยไปต่อยอด อาจจะยังไม่ชัดเจน ซึ่ง platform มันยาก อย่างตัวเองพยายามทำนวัตกรรม ทำยามาแล้ว ช่องทางที่จะทำเป็น อย. ต่อ commercial ไม่มีระบบช่วย บ้านเราโปรโมทเชิงอุตสาหกรรม แต่ไม่มีโครงสร้างที่ทำให้มันง่ายมารองรับ เหมือนกับว่ามันกระจัดกระจาย เพราะฉะนั้นอะไรที่มีการต่อยอดแล้วเอาไปใช้ต่อ เช่นเดียวกับนักวิจัยไทยที่เป็นแพทย์ ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสน กว่าจะทำได้สักชิ้นไม่มีระบบที่สนับสนุนเรื่องนี้มาก แม้จะมีการสนับสนุนงานวิจัย แต่เรารวมตัวไม่ได้ ต่างคนต่างทำ พอเราไม่รวมตัวกันต่างคนต่างอยู่ ก็ไม่มีทิศทางชัดเจน
ข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะประสบความสำเร็จต้องทำอย่างไร
สำหรับแพทย์ทั่วไปและแพทย์ในสาขาโรคภูมิแพ้ สิ่งสำคัญถ้าจะให้ประสบความสำเร็จ อย่างแรก ต้องไม่ทิ้งจิตวิญญาณความเป็นแพทย์ ถ้าคิดว่าทำเพื่อตัวเองอย่างเดียว ความสำเร็จที่ได้ ก็ไม่ใช่ความสำเร็จที่ยั่งยืน เพราะจิตวิญญาณของความเป็นแพทย์ คือ เราเกิดมาทำเพื่อผู้อื่น สิ่งสุดท้ายที่มนุษย์ต้องการมันไม่ใช่เรื่องวัตถุ แต่มันคือเรื่องจิตใจ เรื่องความสุข เพราะฉะนั้นการให้คนอื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน หรือการช่วยผู้อื่น คือความสุขที่ได้อย่างยั่งยืน แต่ถ้าเรายึดติดกับความสุขว่า เราเป็นหมอแล้วต้องรวย ก็ไม่มีทางที่จะมีความสุขตลอด เพราะว่าเราก็จะไม่พอ มีร้อยล้านก็อยากมีพันล้าน ไม่จบไม่สิ้น
เรื่องต่อมา เป้าหมายชีวิตอย่าไปยึดติดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ต้องคิดถึงเรื่องจิตใจ ถ้ายึดติดกับตำแหน่ง ถ้าไม่ได้เป็น ก็จะมีความทุกข์ เพราะฉะนั้นการเกิดเป็นแพทย์เป็นวิชาชีพที่โชคดีมาก เพราะมีความสุขจากการให้ ทำงานเป็นแพทย์ไปทุกวันก็มีความสุขแล้ว ต้องให้แบบคนไข้ไม่ไหว้เรา เราไม่โกรธคนไข้ ต้องให้โดยรู้สึกว่าเราไม่มีตัวตน จะเป็นความสุขที่ยั่งยืน สุดท้ายตัวเองกลับไปมองว่าคนเราทำทุกอย่างต้องมีความสุข ถ้าเราทำโดยมีความสุขก็สามารถทำด้วยดีได้ เพียงแต่ว่าเป้าหมายชีวิตอาจเปลี่ยนไป เช่น การเป็นแพทย์ไม่ได้ทำเพื่อเงินอย่างเดียว แต่ทำเพื่อช่วยคนอื่น เพราะฉะนั้นจะได้ทั้งเงินและได้ช่วยคนอื่น ความสุขจะเป็นสองเท่า
เรื่องสุดท้าย ความสำเร็จอยู่ที่เป้าหมายของแพทย์ ถ้าอยากเป็นอาจารย์ ต้องทำเรื่องตำแหน่งวิชาการและวิจัย