CIMjournal

Current evidence on OSA and asthma


พญ. นฤชา จิรกาลวสานรศ. พญ. นฤชา จิรกาลวสาน

สาขาวิชาอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤต
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

 

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (obstructive sleep apnea; OSA) คือภาวะที่มีการอุดกั้นของทางเดินหายใจเป็นระยะๆ ในขณะนอนหลับ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีการตกลงของออกซิเจน และมีสมองตื่นตัวเป็นช่วงๆ โดยเมื่อปี พ.ศ. 2565 ทาง American Academy of Sleep Medicine ได้มีการปรับเกณฑ์การวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น โดยที่ผู้ป่วยจะต้องมีอาการที่เข้าได้ อันได้แก่ ง่วงนอน อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ คุณภาพชีวิตที่เกี่ยวกับการนอนหลับลดลง อาการเฮือก สำลัก หยุดหายใจ กรนเสียงดัง หายใจขาดเป็นช่วงๆ ร่วมกับการมีค่าดัชนีการหยุดหายใจหรือหายใจแผ่ว (apnea hypopnea index; AHI) หรือค่าดัชนีการหายใจถูกรบกวน (respiratory disturbance index; RDI) จากการตรวจการนอนหลับ (polysomnography; PSG) หรือการตรวจการนอนหลับชนิดตรวจที่บ้าน (home sleep apnea test; HSAT) อย่างน้อย 5 ครั้งต่อชั่วโมง หรือถ้าไม่มีอาการจะต้องมีค่าดัชนีการหยุดหายใจหรือหายใจแผ่วหรือค่าดัชนีการหายใจถูกรบกวน อย่างน้อย 15 ครั้งต่อชั่วโมง 1 โดยที่ตัดเกณฑ์เดิมในเรื่องของการที่มีโรคประจำตัวออก แต่ไม่มีอาการเข้าได้ออก 2 โดยสรุปคือผู้ป่วยจะต้องมีอาการเข้าได้ รวมกับค่าดัชนีการหยุดหายใจหรือหายใจแผ่วหรือค่าดัชนีการหายใจถูกรบกวน อย่างน้อย 5 ครั้งต่อชั่วโมง หรือถ้าไม่มีอาการ ก็จะต้องมีค่าดัชนีการหยุดหายใจหรือหายใจแผ่วหรือค่าดัชนีการหายใจถูกรบกวน อย่างน้อย 15 ครั้งต่อชั่วโมง


อุบัติการณ์

อุบัติการณ์ของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นจากการศึกษาที่ผ่านมา เมื่อดูจากค่า AHI ≥5 ครั้งต่อชั่วโมง จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 22 (9 – 37) ในผู้ชาย และประมาณร้อยละ 17 (4 – 50) ในผู้หญิง 2

สำหรับอุบัติการณ์ของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในผู้ป่วยโรคหืดนั้นพบว่าสูงกว่าในประชากรทั่วไป ข้อมูลของแคนาดาที่เป็น case-control study โดยเปรียบเทียบอุบัติการณ์ในกลุ่มผู้ป่วยโรคหืดระดับปานกลางขึ้นไป (moderate asthma) และกลุ่มควบคุม โดยพบว่าในกลุ่มผู้ป่วยโรคหืดระดับรุนแรง (severe asthma) มีอุบัติการณ์ของการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นอยู่ที่ร้อยละ 88 โดยในกลุ่มผู้ป่วยโรคหืดระดับปานกลางพบอยู่ที่ร้อยละ 58 และในกลุ่มควบคุมพบอยู่ที่ร้อยละ 31 (p<0.01) 3 มีข้อมูลจากประเทศไทยโดยการตรวจการนอนหลับชนิดตรวจที่บ้าน (home sleep apnea test; HSAT) โดยพบอุบัติการณ์การเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในผู้ป่วยโรคหืดที่รักษาได้ยาก (difficult to treat asthma) จำนวน 32 คน อยู่ที่ร้อยละ 91 โดยแบ่งเป็นระดับรุนแรงน้อยอยู่ที่ร้อยละ 34.3 ระดับรุนแรงปานกลางอยู่ที่ร้อยละ 37.8 ระดับรุนแรงมากอยู่ที่ร้อยละ 27.4 โดยการวิจัยนี้นอกจากจะหาอุบัติการณ์ของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นแล้ว การวิจัยนี้ยังหาความน่าเชื่อถือของการตรวจการนอนหลับชนิดตรวจที่บ้าน เนื่องจากขณะนี้ American Academy of Sleep Medicine ยังแนะนำให้ผู้ป่วยที่มีโรคทางระบบการหายใจและหลอดเลือด (significant cardiopulmonary disease) ต้องตรวจการนอนหลับในโรงพยาบาลเท่านั้น 4 การวิจัยนี้พบว่าการตรวจการนอนหลับชนิดตรวจที่บ้านเมื่อเทียบกับตรวจการนอนหลับ (polysomnography; PSG) มี sensitivity อยู่ที่ร้อยละ 79.3 และ specificity อยู่ที่ร้อยละ 100 5


พยาธิสรีรวิทยาการเกิดโรค (Pathophysiology)

1. ปัจจัยของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นที่ทำให้เกิดโรคหืด ประกอบไปด้วย

    ปัจจัยโดยตรง 6
    1. การตกลงของระดับออกซิเจนเป็นระยะ (intermittent hypoxia)
    2. การอักเสบ (inflammation) นำไปสู่ทั้งการอักเสบเฉพาะที่ (local inflammation) และการอักเสบทั่วๆ ไป (systemic inflammation)
    3. การเกิด nerve reflex โดยพบว่าการที่มีการกรนเกิดขึ้นนั้นจะทำให้เกิดการทำลายต่อ soft tissue ของทางเดินหายใจส่วนต้นและช่องจมูกจากการสั่น ทำให้เกิดการอักเสบของหลอดลม
    4. ผลของ vascular endothelial growth factors (VEGF) มีข้อมูลพบว่า VEGF อาจมีบทบาทสำคัญในพยาธิสรีรวิทยาการเกิดโรคของทั้งโรคหืดและภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น โดยที่พบว่า VEGF อาจทำให้เกิดการอักเสบของหลอดลม การเพิ่มความไวของหลอดลม รวมถึงการที่มี vascular remodeling
    5. ผลของ leptin โดยข้อมูลพบว่า leptin มีระดับที่สูงขึ้นในผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น และมีข้อมีข้อมูลแสดงว่า leptin มีฤทธิ์ proinflammatory และทำให้เกิดการไวของหลอดลมได้
    6. การนอนหลับๆ ตื่นๆ (sleep fragmentation) มีข้อมูลว่าการที่มีการนอนหลับๆ ตื่นๆ ส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของ airway resistance และ blunt arousal response ต่อการตีบของหลอดลม
    ปัจจัยโดยอ้อม 6
    1. โรคกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease หรือ GERD) โดยเชื่อว่าเกิดจากการที่มีการเพิ่มขึ้นของแรงดันลบในช่องอก (negative intrathoracic pressure) จากการที่มีการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบน รวมถึงจากการที่มีการตื่นตัวของสมอง (microarousal) ทำให้มีการไหลย้อนของกรด
    2. การที่มีความผิดปกติของการทำงานของหัวใจ (cardiac dysfunction) โดยที่เชื่อว่ากลไกที่เกิดขึ้นผ่านทางการที่หัวใจเสียการคลายตัวตามปกติขณะหลับจากการที่มีการนอนที่ผิดปกติ โดยการตกลงของระดับออกซิเจนเป็นระยะที่พบในภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นนั้น ส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของระบบประสาท sympathetic และการที่มีแรงดันลบในช่องออกที่เพิ่มขึ้น

2. ปัจจัยของโรคหืดที่ทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ประกอบไปด้วย

    ปัจจัยโดยตรง
    1. การเพิ่มขึ้นของ airway resistance ในตอนกลางคืน ซึ่งเป็นลักษณะที่พบในโรคหืด โดยกลไกผ่านทางการลดลงของ functional residual capacity (FRC) และ end expiratory lung volume (EELV) ในขณะหลับ
    ปัจจัยโดยอ้อม 6
    1. โรคทางจมูก ผู้ป่วยโรคหืดจำนวนมากที่พบ allergic rhinitis หรือ non-allergic rhinitis รวมทั้งริดสีดวงจมูก (nasal polyp) ได้ การที่มีการเพิ่มขึ้นของแรงต้านทานจมูกนำไปสู่การมีแรงดันลบของ oropharynx ช่วงหายใจเข้า และส่งผลให้เกิดการยุบตัวของทางเดินหายใจส่วนบนที่มากขึ้น 7
    2. โรคอ้วน (obesity) โรคอ้วนพบว่าเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งในการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น โดยมีการวิจัยพบว่าการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักมีความสัมพันธ์กับค่า AHI ที่เพิ่มขึ้น
    3. การสูบบุหรี่ (smoking) การสูบบุหรี่ทำให้เกิดการบวมของหลอดลม เพิ่มแรงต้านทานของหลอดลม ทำให้เกิดการอุดกั้นของหลอดลมที่มากขึ้น จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหืด นอกจากนั้นยังพบว่าการอักเสบจากการสูบบุหรี่จะเพิ่มแรงต้านทานของทางเดินหายใจส่วนบน
    4. ยาสเตียรอยด์ (corticosteroid) ยาสเตียรอย์ในฟอร์มสูดพ่นหรือยาทาน เป็นการรักษาหลักของโรคหืด มีข้อมูลวิจัยพบว่าพบว่าอุบัติการณ์ โดยกลไกเชื่อว่าผ่านทางการที่มีการเพิ่มขึ้นของ fat deposition ข้างในและรอบๆทางเดินหายใจส่วนบน การที่มีการตีบแคบของ cross-section area การเกิด myopathy ของกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่เปิดทางเดินหายใจ รวมทั้งผ่านการที่สเตียรอยด์ทำให้เกิดโรคอ้วน อย่างไรก็ตามข้อมูลยังไม่ชัดเจน

ขณะนี้แนวทางในการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น สามารถแบ่งได้เป็นการรักษาที่เป็นการรรักษาเพื่อแก้ทางเดินหายใจอุดกั้นเป็นหลัก และการรักษาที่เป็นการรักษาตามกลไกการเกิดโรค (endotype)

  1. การรักษาเพื่อแก้เรื่องทางเดินหายใจอุดกั้นเป็นหลัก
    1. เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (positive airway pressure therapy; PAP) เป็นการรักษามาตรฐาน โดยทั่วไปแนะนำเป็นชนิดเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่อง ซึ่งแนะนำเป็นการรักษาอันดับแรกตามคำแนะนำสำหรับการวินิจฉัยและดูแลรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในประเทศไทยสำหรับผู้ใหญ่ พ.ศ.2561 8
    2. ทันตอุปกรณ์ (oral appliance) ซึ่งส่วนใหญ่จะแนะนำเป็นทันตอุปกรณ์ชนิดยื่นขากรรไกรล่าง (mandibular advancement device; MAD) 8
    3. การผ่าตัด โดยทั่วไปไม่ได้แนะนำเป็นการรักษาแรก ประกอบไปด้วยการผ่าตัดหลายวิธี เช่น วิธีการผ่าตัดตกแต่งลิ้นไก่เพดานอ่อนและคอหอย (uvulopalatopharyngoplasty; UPPP) 9 การผ่าตัดทางเดินหายใจหลายระดับ (multilevel airway surgery; MLS) 10 หรือ การผ่าตัดเลื่อนกระดูกขากรรไกรบนและล่างมาทางด้านหน้า (maxillomandibular advancement; MMA) 11 เป็นต้น
    4. การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การนอนตะแคง (positional therapy) เป็นต้น 8
  2. การรักษาตามสรีรวิทยาของการเกิดโรค (endotype) ซึ่งเป็นแนวทางการรักษาตามสรีรวิทยาที่สัมพันธ์กับการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น 12 อันได้แก่
    1. ภาวะกล้ามเนื้อขยายคอหอยตอบสนองไม่ดี (poor muscle responsiveness) โดยการรักษาด้วยวิธีนี้ ประกอบไปด้วยการรักษาโดยใช้อุปกรณ์กระตุ้นเส้นประสาท hypoglossal (hypoglossal nerve stimulation) เพื่อขยายทางเดินหายใจส่วนต้น การออกกำลังกายกล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบน (oropharyngeal exercises หรือ myofunctional therapy) รวมถึง มีข้อมูลของการใช้ยาซึ่งช่วยเพิ่มแรงตึงตัวกล้ามเนื้อ
    2. ภาวะสมองตื่นตัวง่ายกว่าปกติ (low arousal threshold) การที่สมองตื่นตัวง่ายอาจทำให้ไม่มีเวลาเพียงพอที่คาร์บอนไดออกไซด์จะคั่งแล้วไปกระตุ้นให้เริ่มมีการหายใจ รวมทั้งขัดขวางการเข้าสู่ระยะการหลับลึก ซึ่งเป็นช่วงระยะการหลับที่มีการทำงานของกล้ามเนื้อขยายคอหอยสูง รวมทั้งการตื่นตัวบ่อยครั้งของสมอง ทำให้เกิดการหยุดหายใจจากระบบประสาทส่วนกลางหลังสมองตื่นตัว ซึ่งจะทำให้เกิดการลดลงของสัญญาณประสาทที่ไปกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อขยายทางเดินหายใจส่วนบน มีข้อมูลของการให้ยานอนหลับ eszopiclone ซึ่งไปเพิ่ม arousal threshold ได้ร้อยละ 30 และลดดัชนีการหยุดหายใจและหายใจแผ่ว (apnea hypopnea index; AHI) ได้ร้อยละ 43 13
    3. ภาวะการตอบสนองของระบบควบคุมการหายใจมากผิดปกติ (high loop gain) กลไกนี้เกิดจากการที่ผู้ป่วยมีการตอบสนองต่อการเพิ่มขึ้นของระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดมากเกินไป ทำให้หายใจแรงจนทางเดินหายใจอาจยุบตัว มีภาวะพร่องของคาร์บอนไดออกไซด์ตามมาด้วย ทำให้ไม่มีคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะไปกระตุ้นการหายใจ การรักษาประกอบไปด้วยการให้ออกซิเจนและการให้ยา zonisamide เป็นต้น 14

โดยสรุปหลักการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นดังรูปที่ 1รูปที่ 1 พยาธิสรีรวิทยาของการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (ดัดแปลงจากเอกสารอ้างอิง 12)
Poor muscle responsiveness=ภาวะกล้ามเนื้อขยายคอหอยตอบสนองไม่ดี
Low arousal threshold=ภาวะสมองตื่นตัวง่ายกว่าปกติ
High loop gain=การตอบสนองของระบบควบคุมการหายใจมากผิดปกติ

 

เอกสารอ้างอิง
  1. International Classification of Sleep Disorders (ICSD)-3 2023-TR.
  2. Franklin KA, Lindberg E. Obstructive sleep apnea is a common disorder in the population-a review on the epidemiology of sleep apnea. J Thorac Dis. 2015;7(8):1311-22.
  3. Julien JY, Martin JG, Ernst P, et al. Prevalence of obstructive sleep apnea-hypopnea in severe versus moderate asthma. J Allergy Clin Immunol. 2009;124(2):371-6.
  4. Kapur VK, et al. Clinical practice guideline for diagnostic testing for adult
    obstructive sleep apnea: an American Academy of Sleep Medicine clinical practice guideline. J Clin Sleep Med. 2017;13(3):479–504.
  5. Somruesaen T, Chirakalwasan N. Prevalence of obstructive sleep apnea and accuracy of type 3 home sleep apnea test for obstructive sleep apnea diagnosis in difficult-to-treat asthma: Cross sectional cohort study (unpublished data).
  6. Abdul Razak MR, Chirakalwasan N. Obstructive sleep apnea and asthma. Asian Pac J Allergy Immunol. 2016;34(4):265-71.
  7. Chirakalwasan N, Ruxrungtham K. The linkage of allergic rhinitis and obstructive sleep apnea. Asian Pac J Allergy Immunol. 2014;32(4):276-86.
  8. พิมล รัตนาอัมพวัลย์, นฤชา จิรกาลวสาน , อรุณวรรณ พฤทธิพันธุ์ , นันทา มาระเนตร์. คำแนะนำสำหรับการวินิจฉัยและดูแลรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นในประเทศไทยสำหรับผู้ใหญ่ พ.ศ.2561. กรุงเทพ: สมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย; 2561.
  9. Fujita S, Conway W, Zorick F, Roth T. Surgical correction of anatomic azbnormalities in obstructive sleep apnea syndrome: uvulopalatopharyngoplasty. Otolaryngol Head Neck Surg. 1981;89(6):923-34.
  10. Friedman M, Ibrahim H, Lee G, Joseph NJ. Combined uvulopalatopharyngoplasty and radiofrequency tongue base reduction for treatment of obstructive sleep apnea/hypopnea syndrome. Otolaryngol Head Neck Surg. 2003;129(6):611-21.
  11. George LT, Barber DH, Smith BM. Maxillomandibular Advancement Surgery: An Alternative Treatment Option of Obstructive Sleep Apnea. In: Madani M, editor. Atlas of the Oral & Maxillofacial Surgery Clinic of North America, Vol 15, No 2, Philadelphia: W.B. Saunders; 2007. p 163-75.
  12. Carberry JC, Amatoury J, Eckert DJ. Personalized Management Approach for OSA. Chest.
    2018;153(3):744-55.
  13. Eckert DJ, et al. Eszopiclone increases the respiratory arousal threshold and lowers the apnoea/hypopnoea index in obstructive sleep apnoea patients with a low arousal threshold. Clin Sci (Lond). 2011;120(12):505-14.
  14. Eskandari D, Zou D, Karimi M, Stenlöf K, Grote L, Hedner J. Zonisamide reduces obstructive sleep apnoea: a randomised placebo-controlled study. Eur Respir J. 2014:140-9.

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก