รศ. พญ. นันตรา สุวันทารัตน์
วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อรารุกล้ำ (Invasive fungal infections) มีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน เนื่องจากมีการรายงานอุบัติการณ์ของผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อรารุกล้ำที่มีแนวโน้มที่สูงขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยที่สำคัญหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยกลุ่มภูมิคุ้มกันบกพร่อง (immunocompromised hosts) จากโรคต่าง ๆ รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะและและไขกระดูก (solid organ and hematopoietic stem cell transplant recipients) และกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันกลุ่มอื่น ๆ (immunomodulatory treatments) ในการรักษาในผู้ป่วยโรคมะเร็งและโรคแพ้ภูมิตัวเอง (autoimmune diseases) ที่มีการใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น อีกทั้งอาจมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสมซึ่งทำให้เกิดปัญหาเชื้อก่อโรคดื้อยาต่าง ๆ และมีผลต่อการแพร่กระจายของการติดเชื้อราที่ดื้อยาอีกด้วย เช่น Candida auris นอกจากนี้จากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 ที่เป็นปัญหาสำคัญทั่วโลก ซึ่งพบว่ามีการติดเชื้อรารุกล้ำเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในกลุ่ม Aspergillosis และ Mucors อีกด้วย ทั้งนี้การตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อรารุกล้ำที่สำคัญ นอกจากวิธีการเพาะเชื้อแบบดั้งเดิมที่มีการพัฒนาวิธีการระบุเชื้อก่อโรคด้วยเทคโนโลยีใหม่ เช่น การระบุเชื้อก่อโรคด้วยเครื่องมือ Matrix-Assisted Laser Desorption Ionization Time of Flight Mass Spectrometry (MALDI-ToF MS) ได้มีการพัฒนาการตรวจด้วยเทคโนโลยีด้านชีวโมเลกุล เช่น วิธีการเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรมแบบ real-time polymerase chains reaction (RT-PCR) ซึ่งเป็นวิธีการที่มีความไวและความแม่นยำสูงในการระบุเชื้อก่อโรคได้ในเวลารวดเร็วขึ้น รวมถึงการตรวจหา markers ต่าง ๆ และการพัฒนาการตรวจความไวต่อยาต้านเชื้อรา โดยเฉพาะในกลุ่ม Candida spp.
วิธีการทางห้องปฏิบัติการในการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อรารุกล้ำ
การวินิจฉัยการติดเชื้อรารุกล้ำนั้นมีวิธีการที่สำคัญที่แตกต่างจากการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อก่อโรคอื่น ๆ เนื่องจากปัจจัยทางกายภาพของเชื้อราเอง เนื่องจากเชื้อรานั้นจัดเป็น eukaryotic cells ที่มีผนังเซลล์ (cell walls) ที่หนาและประกอบด้วยส่วนประกอบสำคัญที่อาจสามารถตรวจวัดเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ เช่น สารกลุ่ม chitin, glucan, chitosan, mannan เป็นต้น และมีผลต่อการใช้สารในการเพาะเลี้ยงเชื้อราที่จำเพาะ เช่น Sabouraud Dextose agar/slant ซึ่งจะมีความเหมาะสมและช่วยในการเจริญเติบโตของเชื้อรากลุ่มราสาย (molds) หรือในบางครั้งต้องใส่ยาปฏิชีวนะในสารเลี้ยงเชื้อด้วย เช่น Sabouraud Dextose agar/slant with gentamicin โดยการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ เพื่อช่วยในการแยกเชื้อราได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีสารเพาะเลี้ยงเชื้อเฉพาะที่มีความเหมาะสมต่อเชื้อราบางกลุ่ม เช่น Mycoceal และ PDA นอกจากนี้การเก็บสิ่งส่งตรวจโดยตรงลงบนสารเลี้ยงเชื้อนั้นมีผลในการวินิจฉัยได้มากขึ้น เช่น ในการวินิจฉัยการติดเชื้อที่ตา เช่น การใช้ corneal scraping เป็นต้น
ทั้งนี้เชื้อรากลุ่ม yeasts เช่น candida และ cryptococcus และ aspergillus นั้นสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสารเพาะเลี้ยงเชื้อสำหรับเชื้อแบคทีเรีย SBA และมักจะดีกว่าใน CHOC อย่างไรก็ตามการใช้สารเพาะเลี้ยงเชื้อที่จำเพาะจะช่วยในการวินิจฉัยได้มากขึ้นเนื่องจากจะเก็บเพาะเชื้อในเวลานานขึ้น หรือในการตรวจจากสิ่งส่งตรวจที่สำคัญ เช่น BAL ห้องปฏิบัติการจะมีแนวทางที่จะเพาะเชื้อที่ช่วยในการจำแนกเชื้อได้มากขึ้น หรือต้องแจ้ง เช่นสงสัย Malassezia spp. ต้องใส่ oil เป็นต้น นอกจากนี้การตรวจวินิจฉัยทางพยาธิวิทยามีความสำคัญมาก เพราะอาจจะเพาะเชื้อไม่ได้ ต้องใช้การย้อมสีพิเศษ เช่น silver stain, PAS, และ mucicarmin เป็นต้น