.
นพ. คมสิงห์ เมธาวีกุล
นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรม
สาขาอายุรกรรม หน่วยสรีระไฟฟ้าหัวใจ
กลุ่มงานอายุรศาสตร์หัวใจ สถาบันโรคทรวงอก
ปัจจุบันความรู้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจมีการพัฒนาไปอย่างมาก เนื่องจากมีการศึกษาหลายการศึกษาที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนแนวทางเวชปฏิบัติต่าง ๆ ในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจให้ผลการรักษาดีขึ้นมาก ในคอลัมน์นี้จะขอสรุปสิ่งที่น่าติดตามต่อไป ดังนี้
- Acute coronary syndrome (ACS) ในปีที่ผ่านมามีการศึกษา ULTIMATE-DAPT ซึ่งเป็นการให้ oral ticagrelor ร่วมกับ oral aspirin เปรียบเทียบกับการให้ oral ticagrelor ร่วมกับ oral placebo ในผู้ป่วย ACS หลังการทำ percutaneous coronary intervention (PCI) 1 เดือน ติดตามไปจนครบ 12 เดือน การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า การให้ oral ticagrelor โดยไม่มี oral aspirin ร่วมด้วยมีอัตราการเกิด clinically relevant bleeding ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติและการเกิด major adverse cardiovascular or cerebrovascular events (MACCE) ไม่ด้อยกว่าการให้ oral ticagrelor ร่วมกับ oral aspirin นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาเกี่ยวกับการให้ยา beta-blocker ในผู้ป่วย myocardial infarction (MI) ที่สำคัญ 2 การศึกษา คือ REDUCE-AMI และ ABYSS ซึ่งจากผลการศึกษา REDUCE-AMI แสดงให้เห็นว่า การให้ยา beta-blocker (metoprolol หรือ bisoprolol) ในผู้ป่วยที่เป็น acute MI 1 – 7 วัน และมี left ventricular ejection fraction (LVEF) ≥ 50% ที่ได้รับการทำ coronary angiography ไม่ลดการเกิด all-cause death หรือ MI เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ให้ยา beta-blocker ในขณะที่การศึกษา ABYSS แสดงให้เห็นว่า การหยุดยา beta-blocker ในผู้ป่วยที่ได้รับยา beta-blocker มาก่อนอย่างต่อเนื่องในกรณีที่ผู้ป่วยมีประวัติ MI อย่างน้อย 6 เดือนและมี LVEF ≥ 40% ส่งผลต่อการเกิด death, nonfatal MI, nonfatal stroke หรือการนอนโรงพยาบาลจากโรคหัวใจและหลอดเลือดที่แย่กว่าการให้ยา beta-blocker อย่างต่อเนื่อง คงต้องติดตามดูแนวทางเวชปฏิบัติของการดูแลผู้ป่วย ACS ของ American College of Cardiology (ACC) ร่วมกับ American Heart Association (AHA) ที่จะออกมาในไตรมาส 1 ของปี พ.ศ. 2568 ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการให้ยาต้านเกร็ดเลือดในผู้ป่วย ACS ที่ได้รับการทำ PCI อย่างน้อย 1 เดือนและการให้ยา beta-blocker ในผู้ป่วย MI หรือไม่
- Heart failure (HF) มีการศึกษาแบบ multicenter, randomized, double-blind, placebo-controlled trial ในผู้ป่วย acute HF ที่ได้รับการนอนโรงพยาบาลและมีอาการคงที่แล้ว โดยเปรียบเทียบการให้ยา dapagliflozin กับ placebo คงต้องติดตามดูว่า dapagliflozin จะสามารถลดการเกิด cardiovascular death หรือ worsening HF ได้หรือไม่ การศึกษานี้คาดว่าจะเก็บข้อมูลครบประมาณเดือนมีนาคม พ.ศ. 2568 ซึ่งน่าจะได้รับนำเสนอในงานประชุม ACC 2025 คงต้องติดตามดูผลการศึกษานี้ต่อไป
งานประชุมสาขาหัวใจและหลอดเลือดที่น่าสนใจ เดือน ม.ค. – เม.ย. 2568
• The 15th Siriraj Cardiovascular Conference (SiCC 2025) ระหว่างวันที่ 24 – 26 มกราคม พ.ศ.2568
• Cardio Cocktail ระหว่างวันที่ 14 – 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2568
• การประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 57 สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ระหว่างวันที่ 21 – 23 มีนาคม พ.ศ. 2568
• ACC 2025 ระหว่างวันที่ 29 – 31 มีนาคม พ.ศ. 2568 ที่ Chicago ประเทศสหรัฐอเมริกา
• การประชุมประจำปี ครั้งที่ 41 ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 24 – 26 เมษายน พ.ศ. 2568 ที่โรงแรมดุสิตธานี พัทยา จ.ชลบุรี