พ.ท.หญิง พญ. สิรกานต์ เตชะวณิช
หน่วยโภชนศาสตร์คลินิก กองอายุรกรรม
โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
สรุปเนื้อหาการประชุมวิชาการประจำปี พ.ศ. 2564 สมาคมโรคหลอดเลือดแดงแห่งประเทศไทย ในวันที่ 29 มกราคม 2564
บทนำ
การบริโภครูปแบบอาหารเพื่อสุขภาพ (healthy dietary pattern) ถือเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งในการป้องกันและรักษากลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (non-communicable disease, NCD) โดยเฉพาะโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease, CVD) ที่มีสาเหตุมาจากภาวะผนังหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) ซึ่งเป็นผลจากการอักเสบและบาดเจ็บของผนังหลอดเลือด (endothelial injury) ปัจจัยทางโภชนาการที่เหมาะสมจะสามารถป้องกันหรือลดความรุนแรงของปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการเกิด atherosclerosis
แนวทางป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยไม่ใช้ยา
แนวทางป้องกัน CVD โดยไม่ใช้ยานั้น เน้นที่การปรับพฤติกรรมชีวิต รวมทั้งการปรับพฤติกรรมการกิน อย่างไรก็ดี ผู้ป่วย CVD ที่ต้องใช้ยา การปรับพฤติกรรมชีวิตก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพของการรักษาด้วยยา
รูปแบบอาหารสุขภาพนั้นมีหลายรูปแบบ ไม่มีรูปแบบจำเพาะ ซึ่งแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมและรูปแบบการดำเนินชีวิตของแต่ละท้องถิ่น อย่างไรก็ดี รูปแบบอาหารสุขภาพทุกรูปแบบมักมีลักษณะร่วมที่คล้ายกัน (รูปที่ 1) เพื่อหวังผลให้ร่างกายมีสุขภาพโดยรวมที่ดี รวมทั้งลดความเสี่ยงต่อ CVD และควบคุมค่าดัชนีมวลกายหรือน้ำหนักตัว และเส้นรอบเอวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
ในปี ค.ศ. 2019 American College of Cardiology/American Heart Association (ACC/AHA) ได้ออกคำแนะนำการป้องกัน CVD ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบอาหารสุขภาพ (dietary pattern) เพื่อลดความเสี่ยงต่อ CVD ที่มีสาเหตุจาก atherosclerosis ไว้ดังนี้
- เน้นการกินผัก ผลไม้ พืชตระกูลถั่ว (legume) ถั่วเปลือกแข็ง (nuts) ธัญพืช และปลา
- ทดแทนไขมันอิ่มตัว (saturated fats) ด้วย ไขมันไม่อิ่มตัว (unsaturated fats)
- หลีกเลี่ยงไขมันทรานส์
- กินอาหารคอเลสเตอรอลต่ำและโซเดียมต่ำ
- ลดการบริโภคสัตว์เนื้อแดง เนื้อสัตว์ต่าง ๆ ที่ผ่านกระบวนการยืดอายุโดยการรมควัน หมัก เติมเกลือ หรือเติมสารถนอมอาหาร (processed meats) คาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวและเครื่องดื่มที่มีการเติมน้ำตาล
สำหรับคนไทยสามารถใช้รูปแบบการกินอาหารที่แนะนำโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขเพื่อป้องกัน NCD และควบคุมน้ำหนักตัว โดยในแต่ละมื้อเน้นปริมาณอาหารที่เหมาะสมตามสูตรเมนูอาหาร 2:1:1 กล่าวคือ การกินอาหารแต่ละมื้อให้จินตนาการแบ่งจานอาหารแบนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 9 นิ้ว ออกเป็น 4 ส่วน เท่า ๆ กัน โดย 2 ส่วน (ครึ่งจาน) ให้กินเป็นผักอย่างน้อย 2 ชนิด อีก 1 ส่วน (1/4 จาน) เป็นข้าว แป้ง เน้นเลือกข้าวที่ไม่ขัดสี เข่น ข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีท และธัญพืช และอีก 1 ส่วน (1/4 จาน) เป็นโปรตีน โดยเน้นเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ (เช่น เนื้อไก่ไม่ติดหนัง เนื้อปลา ไข่ ถั่วเหลือง เต้าหู้ โปรตีนเกษตร เป็นต้น) (รูปที่ 1) และทุกมื้อสามารถกินผลไม้สดที่มีรสหวานน้อยร่วมด้วยในปริมาณขนาดเท่าจานรองกาแฟ หรือประมาณผลไม้หั่นชิ้น 6 – 8 ชิ้นคำ หรือผลไม้ผลขนาดกลาง 1 ผล หรือผลไม้ผลขนาดเล็ก 4 – 6 ผล นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ดื่มนม ไขมันต่ำหรือบริโภคผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำ วันละ 1 – 2 แก้ว เพื่อให้ร่างกายได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอ
.
รูปที่ 1 แสดงรูปแบบอาหารเพื่อสุขภาพแบบต่าง ๆ ที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาหาร และการเกิด atherosclerosis
ข้อมูลเพิ่มเติมส่วนใหญ่มักเกี่ยวกับการยืนยัน ผลเสียการบริโภคเนื้อสัตว์ในปริมาณมากเกินไป โดยเฉพาะสัตว์เนื้อแดง และ processed meats รวมทั้งกลไกใหม่ ๆ ที่อธิบายการเกิด atherosclerosis ได้แก่
- อาหารประเภทเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์เนื้อแดง เป็นแหล่งของโคลีน (สารอาหารสำคัญตัวหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่มของวิตามินบี) และแอล-คาร์นิทีน [เป็นสารที่มีหน้าที่เกี่ยวกับกระบวนการย่อยสลายไขมัน เป็นตัวพาไขมันเข้าสู่ไมโทคอนเดรีย ร่างกายสามารถสังเคราะห์แอล-คาร์นิทีน ขึ้นได้เอง จากกรดอะมิโน 2 ชนิด คือ ไลซีน และเมไทโอนีน] ซึ่งทั้งโคลีนและแอล-คาร์นิทีน ที่ได้จากอาหารจะถูกแบคทีเรียในลำไส้เปลี่ยนเป็นเมตาบอไลต์หลายชนิด รวมทั้งสารไตรเมทิลเอมีน (trimethylamine, TMA) จากนั้นจะถูกเปลี่ยนที่ตับเป็นสารไตรเมทิลเอมีน-เอ็น-ออกไซด์ (trimethylamine-N-oxide, TMAO) ซึ่งออกฤทธิ์กระตุ้นตัวรับบนแมคโครฟาจ (scavenger receptors) ทำให้เกิดการสร้าง foam cells และส่งผลให้เกิด atherosclerosis และเกิด CVD ตามมา
- การสลายโปรตีนจากอาหารอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะโปรตีนจากสัตว์ ทำให้เกิดสาร asymmetric dimethylarginine (ADMA) ในเลือดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารไนตริกออกไซด์ในร่างกายส่งผลให้เยื่อบุผนังหลอดเลือดทำงานผิดปกติ (endothelial dysfunction) (รูปที่ 2)
- การกินโปรตีนจากสัตว์มากเกินไปยังกระตุ้นการเกิด atherosclerosis ผ่านการเพิ่มขึ้นของสารโฮโมซิสทีนในเลือด นอกจากนี้ ระดับโฮโมซิสทีนในเลือดที่สูงยังยับยั้งการกำจัด ADMA ออกจากร่างกาย (รูปที่ 2)
รูปที่ 2 กลไกการเกิด atherosclerosis ที่สัมพันธ์การลดลงของสารไนตริกออกไซด์ในเลือด
.
อย่างไรก็ดี แหล่งอาหารโปรตีนจากสัตว์ถือว่าเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพสูงและดีกว่าโปรตีนจากพืช เนื่องจากโปรตีนจากสัตว์จัดเป็นโปรตีนที่สมบูรณ์ กล่าวคือ มีกรดอะมิโนที่จำเป็นอย่างครบถ้วน ในขณะที่โปรตีนจากพืชนั้นเป็นโปรตีนที่ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากที่มีกรดอะมิโนที่จำเป็นไม่ครบถ้วน ยกเว้นโปรตีนจากถั่วเหลืองเป็นโปรตีนจากพืชเพียงชนิดเดียวที่เป็นโปรตีนที่สมบูรณ์ สำหรับ ผู้ที่เป็นมังสวิรัติ การได้รับโปรตีนจากธัญพืชที่หลากหลายและถั่วเหลืองในปริมาณและสัดส่วนที่เหมาะสมจะสามารถเสริมคุณภาพของโปรตีนให้สมบูรณ์เทียบเท่าโปรตีนจากเนื้อสัตว์ จึงแนะนำให้แหล่งโปรตีนจากอาหารควรมาจากพืชและสัตว์อย่างละครึ่ง โดยจำกัดการบริโภคเนื้อแดงปรุงสุกไม่เกินสัปดาห์ละ 500 กรัมหรือไม่เกินวันละ 5 ช้อนโต๊ะ และพลังงานจากโปรตีนที่เหมาะสมต่อร่างกายควรมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 10 – 18 ของพลังงานรวม โดยต้องปรับให้เหมาะสมกับกิจกรรมทางกายและโรคร่วมอื่น ๆ
สรุป
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินควรเน้นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการกินอาหารที่ดีในภาพรวม โดยไม่เน้นไปที่สารอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงอย่างเดียว โดยรูปแบบอาหารเพื่อสุขภาพดังกล่าว นอกจากจะสามารถป้องกัน atherosclerosis แล้ว ยังสามารถป้องกัน NCDs ได้อีกด้วย และยังถือเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาโรคดังกล่าวโดยไม่ใช้ยา ทั้งนี้ รูปแบบอาหารเพื่อสุขภาพที่เหมาะสมมีหลากหลายขึ้นกับวัฒนธรรม วัตถุดิบ และพฤติกรรมการบริโภคของแต่ละท้องถิ่น จึงควรปรับให้เหมาะกับโรคร่วมและความพึงพอใจของแต่ละบุคคล เพื่อให้สามารถถือปฏิบัติได้ในระยะยาว ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินต้องทำควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพด้านอื่น ๆ ซึ่งส่งผลให้เกิดการอักเสบ และบาดเจ็บของผนังหลอดเลือดมากขึ้น เช่น การเลิกบุหรี่ การหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การลดความเครียด การพักผ่อนอย่างเพียงพอ การหลีกเลี่ยงมลพิษต่าง ๆ เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
- Arnett DK, Blumenthal RS, Albert MA, Buroker AB, Goldberger ZD, Hahn EJ, et al. 2019 ACC/AHA Guideline on the Primary Prevention of Cardiovascular Disease: A Report of the American College of Cardiology/American Heart Association Task Force on Clinical Practice Guidelines. J Am Coll Cardiol. 2019; 74(10): e177 – e232.