CIMjournal
Banner CIM Endo 7

อาจารย์ พญ. สิริมนต์ ริ้วตระกูล ประเทืองธรรม สาขาต่อมไร้ท่อ


“ส่วนตัวแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ มีการกำหนดเป้าหมายของตัวเองว่า…เราอยากทำอะไร Passion เราอยู่ที่ไหน แล้วปรับเป็นเป้าหมายก็จะช่วยให้เราได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำจริง ๆ”

ศ. พญ. สิริมนต์ ริ้วตระกูล ประเทืองธรรม
อุปนายกคนที่ 1 สมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน
Professor of Medicine, University of Illinois Chicago, Chicago, USA

 

แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาต่อมไร้ท่อ

เรียนจบมัธยมที่ รร.สาธิตเกษตรฯ ตอนนั้นเด็กเรียนดีก็จะมุ่งไปเป็นแพทย์หรือวิศวะ ครอบครัวที่บ้านอยู่ในสายวิทยาศาสตร์แต่ก็ไม่มีใครเป็นแพทย์ ซึ่งตนเองก็ไม่ได้อยากเป็นวิศวะ ใจจริงอยากจะเป็นสัตวแพทย์ เพราะว่าเป็นคนรักสัตว์มาก ขนาดจบเป็นหมอต่อมไร้ท่อแล้วมีบางครั้งก็รักษาสุนัขที่บ้าน คือมีความสงสัยว่าสุนัขจะเป็นไทรอยด์และสุนัขก็เป็นจริง ๆ แต่ยาที่ใช้จะไม่เหมือนกันอาจจะมีบางอย่างที่คาบเกี่ยวกัน

 “ตอนเป็นหมอต่อมไร้ท่อ
มีบางครั้งก็รักษาสุนัขที่บ้าน
คือมีความสงสัยว่าสุนัขจะเป็น
ไทรอยด์และสุนัขก็เป็นจริง ๆ
แต่ยาที่ใช้จะไม่เหมือนกัน
อาจจะมีบางอย่างที่คาบเกี่ยวกัน”

ตอนสอบตนเองเลือกแพทย์อันดับต้น ๆ รองลงมาก็เป็นสัตวแพทย์ ก็สอบเข้าแพทย์ได้ที่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล ในระหว่างเรียนแพทย์ก็ได้ประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม มีเพื่อนที่ดี มีระบบการเรียนที่ทำให้นศ.แพทย์ได้ออกความคิดเห็น มีอิสระทางความคิดและอาจารย์แพทย์ก็สนับสนุนเป็นอย่างดี ก็ตั้งใจเรียนมาอย่างต่อเนื่อง ขึ้นปี 4 เริ่มดูแลคนไข้จริง พอเป็น Extern จำได้ว่ามีคนไข้ป่วยเป็นมะเร็งท่อน้ำดี มีอาการสับสนมาก ยังไม่ทราบว่า ทำไมคนไข้ถึงมีอาการแบบนั้น ผลการเจาะเลือดก็พบว่าแคลเซียมสูง ท่านอาจารย์ นพ. รัชตะ รัชตะนาวิน ก็เข้ามาให้การดูแลรักษาคนไข้ และก็มาอธิบายให้ นศ.แพทย์ฟังว่า ทำไมคนไข้ถึงเป็นแบบนั้น ต่อมาคนไข้มีอาการดีขึ้น รู้สึกประทับใจมาก และเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้สนใจเรียนเฉพาะทางด้านต่อมไร้ท่อในเวลาต่อมา

CIM Endo 07 2568

หลังจากนั้นก็ไปเป็นแพทย์ใช้ทุนที่ ศูนย์สาธารณสุข ของ กทม. เป็นแพทย์ใช้ทุนอยู่ 10 เดือนก็ไปเรียนเป็นแพทย์ประจำบ้านต่อที่ อเมริกา ถามว่าทำไมไม่เรียนในไทย ตอนนั้นคิดว่ามีผู้ป่วยหลายรายที่ตนเองไม่รู้ว่าป่วยเป็นโรคอะไร ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ส่วนตัวถ้าไม่รู้จริงจะไม่มั่นใจในการรักษาคนไข้ ต้องศึกษาหาความรู้จนมั่นใจ จึงตัดสินใจไปเรียนต่อที่อเมริกา ไปเป็น Intern ที่  รพ.ทหารผ่านศึก ที่รัฐไอดาโฮ เรียนอยู่ 1 ปีก็ย้ายมาเรียนที่ Loyola University ที่  Chicago จนจบแพทย์ประจำบ้าน จากนั้นกลับมาเรียนต่อสาขาอายุรศาสตร์ สาขาต่อมไร้ท่อ ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และจากนั้นก็ไปเรียนต่อที่ University of Chicago ในสาขาเดียวกัน คือเรียนแพทย์ผู้ช่วยอาจารย์ หรือ fellowship สองครั้ง ทั้งหมดเป็นเวลา 5 ปี สำหรับสาเหตุที่เลือกเรียนอายุรศาสตร์ต่อมไร้ท่อนั้น นอกจากความประทับใจในการรักษาของท่านอาจารย์ นพ. รัชตะ รัชตะนาวิน แล้ว สาขานี้ต้องใช้การคิดคำนวณ และมีตัวเลขมาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนเองมีความถนัด ที่สำคัญค่าฮอร์โมนต่าง ๆ มีความเกี่ยวข้องกับ physiology ว่าร่างกายเราทำงานอย่างไร เป็นเหตุเป็นผลกันอย่างชัดเจน เป็นจุดเด่นของสาขานี้ที่ทำให้เลือกเรียน

“อยากจะสนับสนุนผู้ให้ความรู้
โรคเบาหวานได้รับการยอมรับ
ในระดับประเทศมากขึ้น
มีความสามารถและมีค่าตอบแทน
ที่เหมาะสมเหมือนในต่างประเทศ”


เป้าหมายที่มีการตั้งไว้ในการเป็นแพทย์หรือการใช้ชีวิต

เริ่มที่การเป็นแพทย์ก่อน เป้าหมายแรกคือ การเป็นแพทย์ที่ดี เป็นแพทย์ที่ให้การรักษาผู้ป่วยให้หายจากโรคได้  เป้าหมายนี้เป็นเป้าหมายตั้งแต่ตอนเป็น นศ.แพทย์แล้ว  ซึ่งในตอนนี้ก็ยังเป็นแบบนั้นอยู่ แต่จะมาในรูปแบบของหน้าที่และความรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันดูแลผู้เป็นเบาหวานเป็นหลัก ตนเองคิดว่าผู้เป็นเบาหวานแต่ละคนมีปัจจัยต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน อาจมีค่าน้ำตาลสูงเหมือนกัน แต่สาเหตุของค่าน้ำตาลสูงนั้นไม่เหมือนกัน รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต การบริโภคอื่น ๆ อีก เช่น เศรษฐกิจสังคม สภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ ความสามารถในการเข้าถึงการรักษา การเข้าถึงเทคโนโลยีในการรักษา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจแตกต่างกันในผู้ที่เป็นเบาหวานแต่ละคน ดังนั้นการรักษาจะต้องดูทั้งสาเหตุและภาพรวมของปัจจัยต่าง ๆ ถึงจะวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทุกวันนี้ตนเองก็ได้พยายามทำ เพื่อช่วยให้ผู้เป็นเบาหวานใช้ชีวิตได้ง่าย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เป้าหมายที่สอง เป็นเป้าหมายเรื่องงานวิจัย โดยอยากทำงานวิจัยที่สนับสนุนให้การดูแลผู้เป็นเบาหวานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้องบอกว่าที่ผ่านมามีอาจารย์แพทย์ทั้งในและต่างประเทศ ที่ช่วยสนับสนุนการทำวิจัยในแต่ละช่วงเวลาอยู่หลายท่าน โดยหลังจากเรียนแพทย์ประจำบ้านที่อเมริกาจบแล้วก็กลับมาเป็นแพทย์ Fellow ที่รพ.รามาธิบดี โปรเจกต์แรกของงานวิจัยได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์ นพ. รัชตะ รัชตะนาวิน เมื่อมาทำงานที่  University of Chicago ก็มีโอกาสได้ทำงานวิจัยกับ Prof. Samuel Refetoff  ท่านเป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกเกี่ยวกับไทรอยด์ ซึ่งนอกจากจะได้เรียนเทคนิคการทำงานและการเขียน paper งานวิจัยแล้ว ท่านยังเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาที่ดี  มีความเข้าใจผู้ที่ร่วมทำงานและมีส่วนผลักดันให้เราได้ประสบความสำเร็จ หลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสพบกับ Dr.Eve Van Cauter ท่านเป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกเกี่ยวกับการนอนหลับที่เกี่ยวข้องกับระดับน้ำตาลและความเสี่ยงเบาหวาน โดยตนเองได้มีโอกาสฟังบรรยายของอาจารย์ ทำให้รู้สึกสนใจ ก็ได้พูดคุยว่าอยากทำอะไรและก็เสนอโปรเจกต์ให้อาจารย์ดู ซึ่งงานที่ทำนั้นต้องแก้ปัญหาด้วยตัวเองมาก เพราะเราไม่ได้เข้าไปอยู่ในแล็บของอาจารย์ คือมีการพูดคุยกันและก็รับงานกลับมาทำในส่วนของเราเอง มีปัญหาก็ต้องแก้ด้วยตัวเอง โดยเริ่มทำวิจัยด้วยกันตั้งแต่ปี 2007 จนถึงตอนนี้ก็ 18 ปีแล้ว มีงานตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ มากกว่า 120 เรื่อง ได้รับทุนสนับสนุนจาก National Institutes of Health มีความภูมิใจที่งานที่ทำได้รับการอ้างอิงจากสมาคมเบาหวานของอเมริกา ขณะนี้ก็ยังทำต่อเนื่อง และก็ยังมีโครงการขอทุนทำวิจัยในเรื่องนี้ เพื่อต่อยอดความรู้เพิ่มเติม

CIM Endo 07 2568

เป้าหมายที่สาม คือ การทำงานร่วมกับสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน ซึ่งได้เป็นกรรมการมาประมาณ 20 ปีแล้ว ได้เป็นผู้ริเริ่มการจัดสอบ Certified Diabetes Educator หรือผู้ให้ความรู้โรคเบาหวานที่ได้การรับรอง ก็เป็นไอเดียที่ได้จากตอนทำงานที่อเมริกา ยกตัวอย่างว่า คือเวลาที่ผู้เป็นเบาหวานไปหาหมอ หมอจะมีเวลาในการสั่งยาและพูดคุยกับคนไข้น้อยมาก โดยผู้ที่ให้ความรู้เรื่องเบาหวานส่วนใหญ่จะเป็นพยาบาลหรือนักกำหนดอาหาร ซึ่งที่สหรัฐอเมริกา บุคลากรเหล่านี้จะต้องมีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับโรค และต้องรู้เรื่องพฤติกรรมของผู้เป็นเบาหวานด้วย โดยจะรวมกันเป็นกลุ่มวิชาชีพที่เรียกว่า Certified Diabetes Educator จึงได้การจัดสอบ Certified Diabetes Educator โดยสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560  มีเป้าหมายสนับสนุนผู้ให้ความรู้โรคเบาหวานได้รับการยอมรับในระดับประเทศมากขึ้น มีความสามารถและมีผลตอบแทนในระดับหนึ่งเหมือนในต่างประเทศ

“จะรับปากหรือให้สัญญา
เฉพาะเรื่องที่มั่นใจว่า
ตนเองสามารถทำได้เสร็จ
หรือ organize ได้ ถ้าคิดว่า
ยังทำไม่ได้หรือโอกาสเสร็จน้อย
จะไม่กล้ารับปาก”


ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ

จริง ๆ ไม่ได้มองว่าตนเองประสบความสำเร็จอะไร เพราะว่าคนที่ประสบความสำเร็จมากกว่ามีอีกมาก แต่มาถึงจุดนี้ได้ก็พอใจแล้ว ถ้าจะให้หาปัจจัยที่ทำงานได้สำเร็จ น่าจะมาจากปัจจัยแรก การมีทักษะทางด้านจัดการ หรือ organization โดยจะรับปากหรือให้สัญญาเฉพาะเรื่องที่มั่นใจว่า ตนเองสามารถทำได้เสร็จ ถ้าคิดว่ายังทำไม่ได้หรือโอกาสเสร็จน้อยจะไม่กล้ารับปาก ปัจจัยข้อนี้สำคัญ เพราะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่มากพอและต้องบริหารจัดการได้ในระดับหนึ่ง ปัจจัยที่สอง การมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำ ข้อนี้ต่อเนื่องกับข้อแรก เมื่อรับปากเรื่องที่จะทำแล้ว ก็ต้องมีความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะอุปสรรคใด ๆ เข้ามา จะไม่ยอมทิ้งหรือยกเลิกการทำงานเด็ดขาด ปัจจัยที่สาม การมีทักษะในการประสานงาน เพราะว่าเราต้องทำงานร่วมกับคนอื่นทั้งระดับเดียวกับเรา คนที่เป็นลูกน้องหรือว่าคนที่เป็นหัวหน้า เราต้องมีทักษะในการประสานงานกับทุกคน ทุกสาขาอาชีพเพื่อให้งานประสบความสำเร็จ

“เมื่อเริ่มงานวิจัยที่กับ
Dr. Eve Van Cauter นั้น
ต้องทำด้วยตนเองเกือบจะทั้งหมด
เพราะไม่มีผู้ช่วย ตนเองต้อง
เขียนโครงการ เขียนใบปลิวติด
แจกตามสถานที่ต่าง ๆ เอง
สัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมวิจัย เก็บข้อมูล
วิเคราะห์ข้อมูล เขียนผลงานตีพิมพ์
ช่วยให้เข้าใจขั้นตอนการทำวิจัย
อย่างละเอียดค่อนข้างมาก”


บางครั้งที่เป้าหมายไม่สำเร็จ เกิดจากอะไร ควรปรับปรุงเรื่องอะไร

ขอยกตัวอย่างงานที่ยังทำได้ไม่สำเร็จ เรื่องแรกยังไม่สามารถหาค่าตอบแทนให้กับผู้ให้ความรู้โรคเบาหวานได้ โดยตนเองอาจารย์ผู้ใหญ่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อยากให้ประเทศไทยยอมรับผู้ให้ความรู้โรคเบาหวานและมีค่าตอบแทนในการทำงานอย่างเหมาะสม โดยปัจจุบันผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน ไม่ได้รับค่าตอบแทนในส่วนของการให้ความรู้โรคเบาหวาน เหมือนที่บางประเทศได้รับ ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ไม่ง่าย เพราะต้องทำให้เห็นว่า หลังจากให้ความรู้ที่ถูกต้องไปแล้ว ผู้เป็นเบาหวานดีขึ้นจริง ประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้จริง ซึ่งมีหลักฐานประจักษ์ในต่างประเทศ แต่ในประเทศไทยการให้ความรู้ยังไม่เป็นที่ยอมรับกว้างขวางนัก แต่ที่ได้มีโอกาสทำงานที่ประเทศไทยที่โรงพยาบาลรามาธิบดี การให้ความรู้และการสนับสนุนผู้เป็นเบาหวานให้มีทักษะในการดูแลตนเองนั้น มีผลดีให้เห็นประจักษ์ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ก็มีความตื่นตัวเรื่องนี้มากขึ้น เช่น เกณฑ์การพัฒนาคลินิกเบาหวาน มีการจัดการคลินิกเบาหวานเป็นระดับต่าง ๆ และระบุชัดเจนว่า ระดับใดต้องมีผู้ให้ความรู้โรคเบาหวานที่ได้รับการรับรอง โดยปัจจุบัน certified diabetes educator สามารถสอบรับรองกับสมาคมฯ หรือเรียนหลักสูตรที่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลก็ได้ แต่เราก็ยังไม่ได้ค่าตอบแทนผู้ที่ทำงานให้ความรู้โรคเบาหวานที่เป็นมาตรฐาน แต่ในโรงพยาบาลเอกชนบางที่ เช่น โรงพยาบาลวิมุต เทพธารินทร์ ได้เริ่มมีการให้ค่าตอบแทนแล้ว ดังนั้น ถือเป็นเรื่องที่ยังไม่สำเร็จที่จะต้องดำเนินการต่อไป เนื่องจากต้องอาศัยการประสานงานกับหน่วยงานสาธารณสุขระดับประเทศ และมีปัจจัยอีกหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง

เรื่องที่สอง เป็นเรื่องการพัฒนางานวิจัยเกี่ยวกับการนอนกับโรคเบาหวาน ซึ่งงานวิจัยนี้มีการทำอย่างต่อเนื่องมานาน เริ่มต้นคือ การหาว่าการนอนกับเบาหวานมันสัมพันธ์กันไหม ซึ่งตรงนี้มีวิธีวิจัยหลายวิธี เราก็หาจนกระทั่งได้ข้อสรุปว่าเรื่องนี้มีความสัมพันธ์กัน เราก็มาดูต่อว่า ถ้าเราปรับพฤติกรรมการนอนของผู้เป็นเบาหวานจะช่วยให้ระดับน้ำตาลดีขึ้นไหม และช่วยให้พฤติกรรมอย่างอื่นดีขึ้นด้วยไหม ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน โดยถ้าผลงานวิจัยเป็นอย่างที่เราคิดไว้จริง จะช่วยให้ผู้เป็นเบาหวานตระหนักถึงเรื่องการนอนมากขึ้น พร้อมกับได้รับองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เป็นเบาหวานมากขึ้นด้วย งานวิจัยนี้ยังต้องใช้เวลาดำเนินต่อไป คล้ายการต่อจิ๊กซอว์ไปเรื่อย ๆ และหวังว่าจะสำเร็จได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ในอนาคตในไม่นานนี้

CIM Endo 07 2568


ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อยากจะแก้ไขหรือทำอะไรบ้าง

ในการทำงานร่วมกัน คำพูดของเราในบางครั้ง หรือการกระทำบางอย่างมันอาจไปกระทบจิตใจคนอื่น ๆ เข้า บางเรื่องก็รู้สึกว่าจำเป็นต้องพูด แต่บางเรื่องก็มีความรู้สึกว่าเราไม่น่าพูด หรือไม่น่าทำแบบนั้นเลย เราไม่ได้ตั้งใจให้ผลมันออกมาเป็นแบบนั้น ถ้าย้อนกลับไปได้ในบางเรื่อง ก็อยากจะแก้ไขให้ดีกว่าเดิม


บุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน

จริง ๆ แล้ว อาจารย์แพทย์ทุกท่านก็มีส่วนในการหล่อหลอมให้เรามาเป็นแพทย์อย่างในปัจจุบัน แต่จะขอยกตัวอย่างผู้ที่มีอิทธิพลต่อความคิดและการทำงานของเรา สองท่านแรกคือ คุณพ่อคุณแม่ ท่านทั้ง 2 เป็นอาจารย์  และเป็นต้นแบบในการใช้ชีวิตและการทำงาน คุณแม่เป็นคนละเอียดมาก ตอนนี้ก็ยังทำงานอยู่แม้ว่าจะอายุ 80 แล้ว คุณแม่มีความพยายามและมุมานะ ไม่เคยเห็นคุณแม่ยอมแพ้ เมื่อมีอุปสรรคเข้ามาก็จะมองหาทางแก้ และมีความยืดหยุ่นในการแก้ปัญหาค่อนข้างสูง ทุกวันนี้ถ้ามีปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้ก็ยังปรึกษาคุณแม่ ท่านก็หาวิธีแก้ปัญหาให้แบบนั้นบ้างแบบนี้บ้าง ส่วนคุณพ่อก็เป็นคนเก่ง จะขยันทำงานและเป็นประโยชน์ต่อสังคม ท่านรู้จักปล่อยวางกับปัญหาที่แก้ไขไม่ได้

ท่านที่สามคือ Prof. Samuel Refetoff เป็นอาจารย์ที่ตัวเองนับถือมาก อาจารย์เป็นต้นแบบในความเก่ง อาจารย์เป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่โอ้อวดตัวเอง มีความเป็นกันเอง เอาใจใส่ต่อทุก ๆ คน ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นศาสตราจารย์ใหญ่เพราะท่านไม่มีอีโก้เลย ทั้ง ๆ ที่เป็นคนเก่งมาก ชีวิตของอาจารย์มีความลำบากมาตั้งแต่เด็กจนโต กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เป็นอะไรที่น่าทึ่งมาก รู้สึกดีใจมากที่ได้เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์

ท่านที่สี่ คือ ท่านอาจารย์ ศ. นพ. เทพ หิมะทองคำ ท่านมีความเชี่ยวชาญเรื่องโรคเบาหวาน ท่านเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน ท่านเป็นต้นแบบของการทำงานร่วมกัน มีความเข้าใจในการทำงานร่วมกับบุคคลหลายสาขาวิชาชีพ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานร่วมกัน อาจารย์มีจิตสาธารณะ รู้สึกชื่นชมในสิ่งที่อาจารย์ทำ

ท่านที่ห้าคือ ท่านอาจารย์ ผศ. ดร. วัลลา ตันตโยทัย ท่านเป็นนายกสมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน อาจารย์มีพื้นฐานการเป็นพยาบาล เป็นต้นแบบของการทำงานที่ดี ตนเองนับถือในความเฉียบขาด ความคิดก้าวหน้า มีระเบียบในการทำงาน และมีความเมตตาต่อผู้ร่วมงาน รู้สึกชื่นชมในการทำงานของอาจารย์

CIM Endo 07 2568


คติหรือหลักปฏิบัติในการใช้ชีวิต

ตัวเองยึด ศีล 5 และอิทธิบาท 4 หรือคุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จ ประกอบด้วย ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา การมีความรักในงานที่ทำ การมีความพากเพียรและความขยันอย่างต่อเนื่อง การมีความเอาใจใส่ มุ่งมั่น รับผิดชอบต่องานที่ทำ และการไตร่ตรอง ตรวจสอบ พัฒนางานที่ทำ ทุกข้อสามารถช่วยให้ทำงานได้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการสอนนักศึกษาแพทย์ การทำงานวิจัยหรือการทำงานร่วมกับทีมงาน และใช้ได้เสมอสำหรับทุกคนด้วย นอกจากนี้ พรหมวิหารสี่ การมีเมตตา กรุณา ก็เป็นธรรมะที่ยึดอยู่เสมอ

 “การรักษาโรคเพียงอย่างเดียว
อาจเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ
และสังคมจะมีค่าใช้จ่ายที่มหาศาล

 แพทย์และสังคมอาจต้องคิด
หาวิธีและทุ่มเทมากขึ้น
ในเรื่องการป้องกันโรคด้วย”


มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางอนาคตเป็นอย่างไร

ส่วนตัวมองว่าการแพทย์ของประเทศไทย ในแง่ของการรักษานั้นดีถึงดีมาก โรงเรียนแพทย์ของเราก็เทียบได้ หรือดีกว่าต่างประเทศ แพทย์ไทยเองก็มีความเก่ง การมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ แต่ที่อยากจะเน้นในอนาคตคือ การให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคให้มากขึ้น ซึ่งการจะทำได้ดีนั้นสัมพันธ์กันกับองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งสิ่งแวดล้อม ภาวะมลพิษ ซึ่งเกี่ยวเนื่องไปถึงเรื่องความหลากหลายทางธรรมชาติ หรือ biodiversity ที่หลายคนไม่ได้นึกถึง แต่มีผลต่อเราโดยตรง เรื่องพฤติกรรมการกิน การออกกำลังกาย การนอน  ความเครียด เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้เชื่อมโยงถึงกันหมด การที่แพทย์คิดจะรักษาโรคเพียงอย่างเดียว อาจจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ และสังคมจะมีค่าใช้จ่ายที่มหาศาล แพทย์และสังคมอาจต้องคิดหาวิธีหรือมาตรการ และทุ่มเทมากขึ้นในเรื่องการป้องกันโรคด้วย

อีกเรื่องที่คิดว่าจะมีผลกระทบมากขึ้นในอนาคต และแพทย์ไทยและทั่วโลกต้องเจอคือ การเข้ามาของเทคโนโลยีที่ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จริง ๆ แล้วองค์ความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบันก็มีมากกว่าสมัยก่อนแล้ว แต่ในอนาคตจะมีมากขึ้นไปอีก อย่างเช่นแพทย์ที่สหรัฐอเมริกาจะต้องมีการสอบ Certified ทุก ๆ 10 ปี เห็นชัดเจนว่า เวลาที่ผ่านไป ชื่อของโรคอาจจะคงเดิม แต่รายละเอียดของโรค การวินิจฉัย การรักษาอาจเปลี่ยนไป เพราะเทคโนโลยีที่เข้ามาทำให้องค์ความรู้มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด แพทย์ต้องติดตามความรู้ใหม่ ๆ ตลอดเวลา พร้อมทั้งรู้ข้อดีข้อเสียเพื่อที่จะเลือกใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย อย่างตอนนี้เป็นยุคของ AI แพทย์ต้องรู้ประโยชน์และข้อจำกัดและใช้ AI อย่างเข้าใจ ถามว่า AI ได้ข้อมูลมาจากไหน ก็ได้ข้อมูลมาจากองค์ความรู้ที่เราช่วยกันสร้าง แต่บางครั้ง AI ไม่สามารถบอกได้ว่าข้อมูลนั้นจริงหรือไม่จริง ดังนั้น ควรมีความระมัดระวังในการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ด้วย

CIM Endo 07 2568


ฝากข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะประสบความสำเร็จต้องทำอย่างไร

จริง ๆ ความสำเร็จมันขึ้นอยู่กับว่าเรากำหนดว่าคืออะไร ดังนั้นความสำเร็จของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ส่วนตัวแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ มีการกำหนดเป้าหมายของตัวเอง ต้องถามและตอบตัวเองก่อนว่าเราอยากทำอะไร เพราะ Passion นั้นสำคัญมาก คนที่ไม่มี Passion ก็จะไม่รู้ตัวเองว่าอยากทำอะไร ถ้าเรามี Passion และปรับเป็นเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม และลงลึกถึงวิธีปฏิบัติทั้งระยะสั้น กลาง ยาว มันจะช่วยให้เราได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำจริง ๆ อย่างส่วนตัวกำหนดเป้าหมายเรื่อง การทำวิจัย การช่วยเหลือผู้อื่นและการใช้เวลากับครอบครัว ชีวิตส่วนใหญ่ก็จะวนอยู่กับเรื่องเหล่านี้เป็นหลัก วันเวลาผ่านไป สถานการณ์เปลี่ยนไปมีขึ้นมีลง แต่ถ้าเรามี Passion ที่มากพอ ชัดเจนกับเป้าหมาย จะยังคงทำให้เราเดินหน้าไปต่อได้

สำหรับแพทย์รุ่นใหม่สาขาต่อมไร้ท่อ ต่อมไร้ท่อมีหลายต่อมและหลายโรค ถ้าสนใจในด้านไหนให้โฟกัสไปที่ด้านนั้น ถ้าเรามุ่งมั่นในด้านไหนหรือโรคไหนเป็นพิเศษ ขวนขวายหาความรู้ ก็จะทำให้เราเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นได้ ส่วนแพทย์รุ่นใหม่ที่มีโอกาสได้มาศึกษาต่อต่างประเทศก็อาจเป็น การเพิ่มความรู้และทักษะได้ในหลาย ๆ ด้าน ทั้งความรู้งานวิจัย หรือเรื่องของภาษา และสามารถช่วยให้นำแง่คิดมาพัฒนางานในประเทศไทยได้เพิ่มเติม

 

แนะนำอ่านเพิ่มเติม
  1. Let’s get updated สาขาต่อมไร้ท่อ ม.ค. – เม.ย. 2568 
  2. Expert interview อาจารย์ นพ. รัชตะ รัชตะนาวิน
  3. Expert interview อาจารย์ นพ. เทพ หิมะทองคำ
  4. Expert interview อาจารย์ นพ. วีระศักดิ์ ศรินนภากร

 

 

PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึก