“การวินิจฉัยโรคหายากทางพันธุกรรมในอดีตอาจใช้เวลาถึง 10 ปี และไม่สามารถรักษาได้อย่างตรงเป้า แต่ปัจจุบันอาจทำได้ในไม่กี่สัปดาห์ และถ้าเราวินิจฉัยได้ ก็จะให้การรักษาผู้ป่วยแบบเฉพาะเจาะจงได้”
ผศ. ดร. นพ. สิระ นันทพิศาล
สาขาวิชากุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน
รองคณบดีฝ่ายบริหารและวิเทศสัมพันธ์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์ โดยเฉพาะสาขาโรคภูมิแพ้ในเด็ก
ผมเรียนจบมัธยมที่ ร.ร.บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ส่วนตัวไม่ชอบวิชาที่ต้องท่องจำ แต่แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนแพทย์มาจากคุณพ่อคุณแม่ เพราะในครอบครัวยังไม่มีใครที่เป็นหมอเลย และก็เพื่อน ๆ ที่เรียนด้วยกันก็มีส่วน ก่อนเลือกก็ไม่เคยมีโอกาสไปดูงานทางด้านการแพทย์ แต่ก็คิดว่าการเป็นหมอน่าจะทำให้ชีวิตมีความสุข เพราะว่าได้ช่วยเหลือคน จึงสอบเข้าเรียนแพทย์ได้ที่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) แต่ว่าก็ไม่ราบรื่นในช่วงแรก เพราะระหว่างเรียนแพทย์ปี 2 ต้องท่องจำเยอะมาก ด้วยความที่ไม่ชอบวิชาท่องจำ ก็เลยไปปรึกษาคุณแม่ว่าอยากจะลาออกแล้ว เพราะว่าเหนื่อยและท้อกับการท่องจำเยอะมาก โดยเฉพาะวิชา immunology กับ genetics ท่านก็ให้กำลังใจ ผมก็อดทนสู้จนผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ พอขึ้นปี 4 ได้มีโอกาสดูคนไข้จริงเป็นครั้งแรก ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนของผม เพราะพอได้เจอคนไข้จริง ๆ ได้สัมผัสถึงความทุกข์ความเจ็บป่วยและความคาดหวังของคนไข้ทำให้คิดว่า ถ้ามีความสามารถพอและทำให้คนไข้อาการดีขึ้นหรือหายได้ จะเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ คนไข้คนแรกในความดูแลของชีวิตเป็นคนไข้ในแผนกอายุรกรรม เป็นฝีในเยื่อหุ้มสมอง ซึ่งมีความซับซ้อนในการรักษา เพราะคนไข้มีโรคทางพันธุกรรม เมื่อได้รู้สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับคนไข้ ทำให้ผมเข้าใจว่า พื้นฐานของโรคต่าง ๆ ที่เราได้เรียนมา ที่เราคิดว่ามันยาก จริง ๆ ถ้าเราเอามาประกอบกันมันทำให้เราเข้าใจกลไกของการเกิดโรค ทำให้เราเข้าใจคนไข้และตัวของโรค และสามารถประยุกต์ความรู้ที่ได้เรียนมาแนะนำให้กับคนไข้ได้ รวมถึงการได้พูดคุยอธิบายกับผู้ป่วย เปิดโอกาสให้คนไข้ระบายและมีผู้รับฟังก็สามารถช่วยผู้ป่วยได้มากทางด้านจิตใจ และคนไข้ก็มาขอบคุณเราที่เป็นแค่นักศึกษาแพทย์คนหนึ่งก็รู้สึกประทับใจในการเรียนแพทย์ตั้งแต่นั้นมา หลังจากเรียนจบแล้วจะไปเป็นแพทย์ใช้ทุนที่ รพ.หนองคาย และก็ที่ รพ.สมเด็จพระยุพราช ท่าบ่อ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่ประทับใจมากของการเป็นแพทย์ โดยเฉพาะที่ รพ.สมเด็จพระยุพราช ซึ่งเป็น รพ.ที่มีศักยภาพสูง มีแพทย์เฉพาะทางหลายสาขา มีการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ทำให้ตนเองได้เรียนรู้ในแต่ละสาขา ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ถือเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม
สำหรับสาเหตุที่สนใจเลือกเรียนต่อทางด้านกุมารฯ เพราะผมรู้สึกชอบในการพูดคุยกับคนไข้เด็ก เด็กร้องไห้ก็คิดว่าเด็กกำลังร้องเพลง ตอนใช้ทุนพอมีคนไข้เด็กเข้ามา พยาบาลจะส่งมาให้ผมตรวจเลย ส่วนการที่ชอบคุยกับเด็กนั้น น่าจะมาจาก 2 เหตุผลหลักคือ ผมว่าการคุยกับเด็กต้องใช้ทักษะในการสื่อสารสูง บางครั้งเด็กพูดไม่ได้หรือสื่อสารกับเราไม่ชัดเจน เราต้องรู้จักสังเกตและซักประวัติจากพ่อแม่ อีกเหตุผลคือ เด็กไม่โกหก ถ้าเขาเจ็บเขาก็ร้องไห้ออกมา อาการของเด็กจะเป็นความจริง ประกอบกับตนเองก็มีความประทับใจรุ่นพี่ที่เป็นกุมารแพทย์เมื่อตอนไปเป็นแพทย์ใช้ทุน เป็นพี่ที่ใจดีมาก เป็นแบบอย่างของการเป็นกุมารแพทย์ที่ดี ดูแลเด็กได้อย่างยอดเยี่ยม และรุ่นพี่คนนั้นจะดูแลครอบคลุมรอบด้านทั้งสุขภาพและครอบครัวของคนไข้เด็กด้วย ก็เลยตัดสินใจเรียนแพทย์เฉพาะทางเป็นกุมารแพทย์ ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) ซึ่งมีคนไข้เด็กให้รักษาจำนวนมาก เคยตรวจในห้องฉุกเฉิน 90-100 คนใน 6 ชม. มีโรคซับซ้อนให้ได้ศึกษา มีอาจารย์แพทย์เก่งทางด้านต่าง ๆ ให้ได้เรียนรู้ ทำให้ตนเองได้รับความรู้พัฒนาความสามารถ และประสบการณ์ในการดูแลคนไข้เด็กได้ดี
“สำหรับสาเหตุที่สนใจ
เลือกเรียนต่อทางด้านกุมารฯ
เพราะผมรู้สึกชอบในการพูดคุย
กับคนไข้เด็ก เด็กร้องไห้ก็คิดว่า
เด็กกำลังร้องเพลง ตอนใช้ทุน
พอมีคนไข้เด็กเข้ามา
พยาบาลจะส่งมาให้ผมตรวจเลย”
หลังจากจบก็สนใจเรียนเฉพาะทางสาขาภูมิแพ้ ซึ่งจะมีภูมิคุ้มกันรวมอยู่ด้วย กลายเป็นว่าจากวิชาที่ตอนเรียนเนื้อหาท่องจำไม่ชอบมากที่สุด แต่พอได้มาสัมผัสกับคนไข้ที่เป็นโรคดังกล่าว พูดคุยกับคนไข้และผู้ที่เกี่ยวข้อง กลับกลายเป็นสาขาที่ผมชอบมากที่สุด และผมก็ได้เป็นแพทย์ประจำบ้านต่อยอดรุ่นแรกและคนเดียวในสาขาภูมิแพ้ที่ รพ.เด็ก นอกจากนี้ก็มีโอกาสดูแลผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตนเอง เช่น โรค SLE ด้วย ซึ่งกุมารแพทย์ที่ผู้ป่วยกลุ่มนี้ในประเทศไทยตอนนั้นมีน้อยกว่า 10 คน ตนเองจึงมีประสบการณ์ในการดูคนไข้กลุ่มนี้เพิ่มเติม หลังจากจบแพทย์ประจำบ้านต่อยอดก็ทำงานอยู่ รพ.เด็กต่อ 1 ปี แล้วมีอาจารย์มาชักชวนว่าอยากเป็นอาจารย์ไหม ตอนนั้น คณะแพทยศาสตร์ มีตำแหน่งอาจารย์ว่างอยู่ คิดว่าเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับตนเอง ก็เลยตัดสินใจมาเป็นอาจารย์แพทย์ที่ คณะแพทยศาสตร์ และทำงานที่ รพ.ธรรมศาสตร์ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน ต่อมาก็ได้ทุนจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปศึกษาต่อด้านพันธุศาสตร์และภูมิคุ้มกันวิทยาที่ Great Ormond Street Hospital เป็นรพ.เด็กของประเทศอังกฤษ และจบปริญญาเอกจาก University College London และกลับมาทำงานที่ คณะแพทยศาสตร์ และรพ.ธรรมศาสตร์จนถึงปัจจุบัน
“อยากถ่ายทอดความรู้
และสร้างแรงบันดาลใจ
ให้กับกุมารแพทย์รุ่นใหม่ ๆ
ในการเรียนทางด้านภูมิแพ้
และภูมิคุ้มกัน ยอมรับว่า
มันมีความยาก เพราะ
มันไม่ได้เห็นหรือจับต้องได้
เหมือนอวัยวะของร่างกาย
ในระบบต่าง ๆ”
เป้าหมายที่มีการตั้งไว้ในการเป็นแพทย์หรือการใช้ชีวิต
เป้าหมายแรก ด้วยความที่ตนเองชอบในการสอนและศึกษาทางด้านภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันมา จึงอยากถ่ายทอดความรู้ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับกุมารแพทย์รุ่นใหม่ ๆ ในการเรียนทางด้านนี้ ซึ่งยอมรับว่ามันมีความยาก เพราะมันไม่ได้เห็นหรือจับต้องได้เหมือนอวัยวะของร่างกายในระบบต่าง ๆ ในฐานะอาจารย์จึงต้องพยายามอธิบายเรื่องในสาขาให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น เป้าหมายที่สอง นอกจากช่วยเรื่องในสาขาแล้ว ก็เป็นการช่วยสร้างโรงเรียนแพทย์ที่มีคุณภาพ โดยตนเองรับผิดชอบนักเรียนแพทย์ชั้นปี 4 ซึ่งเป็นชั้นปีที่สำคัญซึ่งเหมือนเป็นด่านแรกในการเป็นแพทย์ โดยการสนับสนุนให้เขามีใจรักในการดูแลรักษาคนไข้ สร้างให้เขาเป็นแพทย์ที่ดี มีการรักษาผู้ป่วยแบบองค์รวมได้ ตามปณิธานของธรรมศาสตร์ก็คือ “แพทย์ธรรมศาสตร์เพื่อปวงชน” เป้าหมายที่สามคือ การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องและโรคแพ้ภูมิตนเอง ซึ่งเป็นโรคที่จัดอยู่ในกลุ่มโรคหายาก ทำให้ผู้ป่วยได้รับโอกาสน้อยในการรักษา โดยตนเองได้มีโอกาสทำงานร่วมกับหมอที่เชี่ยวชาญพันธุศาสตร์และมีส่วนร่วมในการทำงานกับทางสถาบัน Genetics Thailand เพื่อให้มีการวินิจฉัยโรคหายากในทางพันธุศาสตร์หรือกระบวนการ Genetic diagnosis ซึ่งก่อนหน้าบางรายอาจใช้เวลาถึง 10 ปี และถ้าเราวินิจฉัยได้ ก็จะให้การรักษาผู้ป่วยแบบเฉพาะเจาะจงได้ ซึ่งยามีราคาแพง เราจึงประสานงานกับสิทธิ์การรักษาต่าง ๆ และสามารถทำให้เบิกจ่ายยาตัวนี้ได้แล้ว ผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็ได้รับการรักษาและดูแลตนเองได้ ทั้งหมดนี้คือ ทั้งหมดคือเป็นแรงบันดาลใจและเป็นเป้าหมายในการทำงาน
ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
เป้าหมายจะสำเร็จได้ก็ต้องประกอบไปด้วยปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ถ้าให้เลือกตอบเฉพาะของตัวเอง ก็น่าจะมาจาก ข้อแรก การเป็นคนแสวงหาสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ โดยเปิดใจลองทำงานใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาตนเอง อย่างนอกจากงานในสาขา ก็เปิดใจทำงานให้คณะฯ มหาวิทยาลัยฯ หรือโครงการระดับประเทศอย่าง Genetics Thailand เป็นต้น ข้อสอง การฝึกสมาธิ สำหรับตนเองการมีสมาธิดีเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้มีสติสามารถจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังของงานที่ทำ และจดจ่อกับงานแต่ละงานที่ทำอย่างเต็มที่ ทำให้ได้ผลลัพธ์ของงานที่ต้องการ ตัวเองมองว่าวิธีการฝึกให้มีสมาธิแต่ละคนแตกต่างกัน ต้องหาวิธีการฝึกให้เหมาะกับวิถีชีวิตของตนเอง การปฏิบัติสมาธิมีหลายแบบ เช่น นั่งเฉย ๆ การกำหนดลมหายใจ การเดินจงกลม แต่ทั้งหมดนี้ไม่เหมาะกับวิถีชีวิตของตนเอง สิ่งที่ตนเองค้นพบและเลือกปฏิบัติคือ การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว และคำสอนของพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เป็นการกำหนดรู้ตัวในการเคลื่อนไหว ก็จะมีการนับจังหวะเคลื่อนไหวตัว 14 จังหวะ เริ่มจากเราตั้งสมาธิอยู่กับการนับ เคลื่อนไหวให้ถูกจังหวะ และมันจะค่อย ๆ ทำให้เราเสริมสร้างสมาธิเจริญสติได้มากขึ้น ครั้งแรกที่ทำก็ทำได้แค่ 5 นาที เพราะนานกว่านี้ไม่ได้สติแตก แต่หลังจากฝึกไปเรื่อย ๆ ก็ทำได้นานขึ้น หลังจากนั้นก็ปรับไปใช้กับกิจกรรมอื่น ๆ ที่เราชอบทำก็คือ การวิ่ง เราสามารถวิ่งไปและฟังพระเทศน์ได้ กำหนดการเคลื่อนไหว คือ ขาที่ขยับวิ่งไป สติก็อยู่กับสิ่งที่ฟังแล้วก็คิดไตร่ตรอง ใจเราที่มีสมาธิจะทำให้วิถีชีวิตและการทำงานดีขึ้น
ข้อสาม การเป็นคนขี้สงสัย เพราะเป็นคนชอบตั้งคำถามและก็จะหาคำตอบ โดยเฉพาะเรื่องของงานวิจัย เราต้องค้นคว้าหาคำตอบทำให้ตนเองสนใจในเรื่องของงานวิจัย เป็นแรงผลักดันทำให้เกิดงานวิจัยต่าง ๆ โดยนอกจากการขี้สงสัยและชอบตั้งคำถามแล้ว เราจะต้องถามตัวเองด้วยว่า ทำไมถึงทำไม่ได้ เพราะการทำไม่ได้ก็จะกลายเป็นปัญหา ซึ่งผมเชื่อว่าปัญหาทุกอย่างมันมีทางออกและวิธีแก้ไข ถ้าเราอยู่กับคำว่าทำไม ทำไม โดยไม่ได้ลงมือปฏิบัติมันก็จะเป็นคำว่าทำไมไปตลอด ถ้าเราลงมือปฏิบัติปัญหาทุกอย่างก็จะมีวิธีแก้ไขได้
“ในฐานะผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบ
ก็รู้สึกว่าเป็นข้องบกพร่อง
ในการทำงาน แต่ก็คิดไปว่า
แล้วบกพร่องเพราะอะไร
ก็เป็นเพราะว่าตอนที่
กำกับการดูแลการก่อสร้าง
เราไม่ได้มีผู้เชี่ยวชาญ
ในการก่อสร้างมาช่วยเหลือ”
มีบางครั้งที่เป้าหมายไม่สำเร็จเกิดจากอะไร ควรปรับปรุงเรื่องอะไร
งานทุกงานมีอุปสรรค ซึ่งทุกคนก็ต้องแก้ปัญหากันไป ส่วนตัวยังมีหลายอย่างที่คิดว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ เรื่องแรก งานด้านการบริหาร ผมเคยกำกับดูแลการสร้างตึกของคณะแพทย์ฯ มูลค่า 400 ล้านบาท หลังจากนั้นบางจุดก็เกิดปัญหาในการใช้งานภายหลัง ในฐานะผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบ ก็รู้สึกว่าเป็นข้อบกพร่องในการทำงาน แต่ก็คิดไปว่าแล้วบกพร่องเพราะอะไร ก็เป็นเพราะว่าตอนที่กำกับการดูแลการก่อสร้าง เราไม่ได้มีผู้เชี่ยวชาญในการก่อสร้างมาช่วยเหลือ ก็เป็นบทเรียนให้กับตนเองว่าในการทำงานที่มีความสำคัญมาก ๆ ระดับนี้ เราจะต้องมีใครจะมาคอยช่วยเหลือหรือให้คำปรึกษา เพราะเราไม่ได้เก่งไปทุกอย่าง ถ้าอยู่ในขอบเขตที่สามารถแก้ไขได้ ก็จะพยายามแก้ไขให้ได้ดีที่สุด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของหน่วยงาน เป็นการเรียนรู้ในระหว่างการทำงานเพื่อเสริมสร้างการทำงานของเราให้ดีขึ้นได้ในอนาคต เรื่องที่สอง เป็นการเข้าถึงสิทธิของผู้ป่วย เรื่องนี้เรากำลังพยายามกันอย่างเต็มที่ในการที่จะผลักดันให้ผู้ป่วยกลุ่มโรคหายากเข้าถึงสิทธิในการรักษาให้ได้อย่างเต็มที่ ทั้งในส่วนของกรมบัญชีกลางและประกันสังคม ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ ยังต้องทำงานและประสานงานเพื่อผู้ป่วยให้ได้
บุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน
คนแรกคือ คุณแม่ ท่านเป็นต้นแบบด้านความเป็นครูและด้านการบริหารจัดการ คุณแม่จะมีทักษะในการสื่อสารที่ดี สมัยคุณแม่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ผมจะได้เห็นทักษะในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ คุณแม่จะแสดงออกให้เห็นว่า ถ้าเราไม่ยอมแพ้ สิ่งที่เราอยากจะเห็น มันก็สามารถเกิดขึ้นได้ อย่างการขยายพื้นที่ของโรงเรียน ผมเห็นคุณแม่ไปเจรจาจนสามารถขยายพื้นที่โรงเรียนจาก 40 ไร่เป็น 80 ไร่ได้ และแม้บางเรื่องจะไม่สำเร็จ แต่อย่างน้อยเราก็ได้ลงมือทำและเป็นประสบการณ์ให้กับเรา คนที่สองคือ รศ. พญ. วัลลี สัตยาศัย ท่านเป็นอาจารย์อาวุโสในภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ท่านเป็นต้นแบบของความเป็นอาจารย์แพทย์ อาจารย์เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านแพทยศาสตร์ศึกษา อาจารย์เป็นตัวอย่างในการสอนนักเรียนแพทย์ มีความมุ่งมั่นอยู่ตลอดเวลา อาจารย์มีส่วนร่วมในการช่วยพัฒนาการเรียนการสอนแพทยศาสตร์ศึกษา อาจารย์สอนนักเรียนแพทย์อย่างสม่ำเสมอและมาตรวจคนไข้อยู่ตลอด อาจารย์ปรับตัวให้เข้ากับนักเรียนแพทย์ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี แม้ว่าท่านจะอายุ 70 ปีแล้วก็ตาม การปรับตัวเองให้เข้ากับยุคสมัยเป็นสิ่งที่สำคัญมากโดยเฉพาะอาจารย์แพทย์ที่ยังคิดว่าสมัยเรา เราเรียนแบบนั้นจะเอามาใช้ในปัจจุบันมันเป็นไปไม่ได้ อาจารย์ยังจำชื่อนักเรียนแพทย์ได้ทุกคน อาจารย์เป็นแรงบันดาลใจให้ผมอยากจะทำให้ได้แบบนั้น คนที่สามคือ ศ. ดร. พญ. อรพรรณ โพชนุกูล ท่านเป็นต้นแบบเรื่องของเก่งรอบด้าน มีความคิดก้าวหน้าและการสร้างนวัตกรรมช่วยเหลือผู้ป่วย อาจารย์จะสร้างนวัตกรรมช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ โรคหืดมาอย่างต่อเนื่อง ทำแอพพลิเคชั่น อาจารย์มีความพยายามและความมุ่งมั่น อาจารย์เป็นคนไม่ยอมแพ้
มองการแพทย์ของเมืองไทยว่าอย่างไร ทิศทางอนาคตเป็นอย่างไร
การแพทย์ของไทยในภาพรวมถือว่าดี ถ้าเทียบกับอีกหลายประเทศ แต่ก็ยังมีข้อที่ต้องปรับปรุงอยู่สำหรับอนาคต ความรู้และเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะทางด้านดิจิทัลไม่ว่าจะเป็น AI, Telemedicine หรือนวัตกรรมต่าง ๆ จะออกมาเยอะมาก จะทำให้การทำงานของแพทย์ในแต่ละสาขาหรือแม้แต่วิชาชีพอื่น ๆ จะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แทบจะเรียกว่าเปลี่ยนแปลงไปในทุก ๆ วัน จริงอยู่ว่า สิ่งเหล่านี้อาจช่วยให้แพทย์ในอนาคตทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาและอาจนำไปสู่การฟ้องร้องที่มากขึ้น จากการที่แพทย์สื่อสารกับผู้ป่วยน้อยลง และอาจทำให้แพทย์ขาดศาสตร์ในการวินิจฉัยโดยใช้เครื่องมือแพทย์พื้นฐาน เป็นต้น ดังนั้นแพทย์จึงจำเป็นต้องมีความรู้ที่เพียงพอและสามารถก้าวเดินไปพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยที่คนไข้ไม่รู้สึกว่าห่างไกลกับแพทย์ผู้ที่รักษาเขา
ต่อเนื่องจากเรื่องของเทคโนโลยี อนาคตจะมีการสื่อสารเรื่องสุขภาพและการดูแลรักษาอีกหลายรูปแบบเพราะเทคโนโลยีทำให้แต่ละคนเป็นเจ้าของสื่อเองได้ โลกของความรู้ทางการแพทย์จะเปลี่ยนไปในรูปแบบสังคมโซเชียล มีอินฟลูเอนเซอร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ความผิดถูกของข้อมูลทางการแพทย์จะเกิดขึ้น และอาจทำให้แพทย์ไขว้เขวได้ แพทย์จึงจำเป็นต้องยึดมั่นอยู่กับการรักษาแบบเวชปฏิบัติที่ถูกต้อง เมื่อไหร่ที่เรายึดถือการรักษาที่เป็นมาตรฐานแล้ว โอกาสผิดพลาดก็จะน้อยหรือไม่มี
“เราต้องจริงจังกับการรักษา
พยาบาลเชิงรุกและเชิงป้องกัน
ในการป้องกันผมเชื่อว่า
สิทธิทั้งหมดในการรักษา
ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค
มันจะเกิดขึ้นได้ถ้าพื้นฐาน
ทางการศึกษาของเราดีขึ้น”
ถ้าให้เลือกปรับปรุง 2 ข้อ เพื่อที่จะทำให้การแพทย์ไทยในอนาคตดีขึ้นกว่าเดิม อยากปรับปรุงเรื่องใด
เรื่องแรก อยากให้นโยบายการเข้าถึงสิทธิทางการรักษา มีการปรับให้เหมาะสมกับบริบทของการรักษาในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น คนไข้โรคที่ซับซ้อนจะได้รับการรักษาที่เหมือนกับคนไข้โรคไม่ซับซ้อนไม่ได้ เพราะค่ารักษามันต่างกัน จะมาเหมาจ่ายค่ารักษาให้เท่ากันแบบนี้มันเป็นไปไม่ได้ การผลักภาระมาให้กับโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งพอทำสิทธิเบิกจ่ายไป ค่ารักษาพยาบาลจะเกินกว่าที่โรงพยาบาลสามารถเบิกจ่ายได้ เป็นเพราะว่าโรงพยาบาลมีเทคโนโลยีการรักษาที่สูงขึ้น มียารักษาที่จำเป็นมากขึ้น มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น แน่นอนว่าคนไข้จะได้รับการรักษามากขึ้น แต่สิ่งเหล่านี้กลับไม่ถูกครอบคลุมโดยสิทธิที่คนไข้ถืออยู่ ซึ่งตรงนี้ต้องมีการปรับโครงสร้างทางด้านสาธารณสุขเพื่อให้โรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงในการรักษาอยู่รอด ตอนนี้ รพ. ประจำจังหวัดหลายที่ขาดทุนหลายร้อยล้าน หรือแม้แต่ รพ.ธรรมศาสตร์เอง แต่อย่างน้อยเราก็ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริจาค แต่เงินบริจาคก็ไม่ใช่เงินที่ยั่งยืน ดังนั้นอยากปรับปรุงสิทธิในการรักษาพยาบาลควรจะครอบคลุม
เรื่องที่สอง การส่งเสริมการดูแลตนเองของผู้ป่วย ผมมีโอกาสได้ไปดูงานที่ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ปรากฏว่าโรคที่มีมาอันดับ 1 เลยที่ทำให้ค่ารักษาพยาบาลสูงมากคือ โรคไต ซึ่งเราทราบกันดีว่า วิถีการใช้ชีวิตของคนไทย มันนำพาไปสู่ภาวะการเกิดไตวายเรื้อรัง เพราะฉะนั้นเราจะมาตั้งรับรอผู้ป่วยโรคไตมาโรงพยาบาลมันไม่ได้แล้ว เราต้องจริงจังกับการรักษาพยาบาลเชิงรุกและเชิงป้องกัน ในการป้องกันผมเชื่อว่าสิทธิทั้งหมดในการรักษา ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค มันจะเกิดขึ้นได้ถ้าพื้นฐานทางการศึกษาของเราดีขึ้น ให้เขาตระหนักรู้และเชื่อในสิ่งที่ถูกต้องเพิ่มขึ้น และก็จะตระหนักรู้ว่ากลไกในการเกิดโรคโดยเฉพาะโรคเรื้อรังต่าง ๆ เขาจะรู้ว่าโรคเหล่านี้มันเกิดจากอะไร เขาจะป้องกันดูแลตนเองได้อย่างไร โดยนโยบายเองต้องจริงจังและทำไปพร้อมกันกับเรื่องการศึกษาและให้ความรู้สาธารณสุขเชิงรุกเชิงป้องกัน
ฝากข้อแนะนำให้แพทย์รุ่นใหม่ว่าจะประสบความสำเร็จต้องทำอย่างไร
สำหรับแพทย์ทั่วไป ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันและทิศทางในอนาคต อย่างที่ได้บอกไปว่าการเรียนจบ 6 ปี ความรู้ทางการแพทย์มันไม่ได้หยุดไปตอนที่เราจบ การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นสิ่งที่แพทย์รุ่นใหม่ต้องมี หรือจริง ๆ ก็ทุกสาขาอาชีพ นวัตกรรมความรู้ทางการแพทย์มีอยู่ทุกวัน แพทย์รุ่นใหม่ต้องพัฒนาตนเอง ต้องศึกษาหาความรู้อยู่ตลอดเวลา ยิ่งถ้ามีความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขาก็ต้องหาความรู้ในสาขานั้น ๆ มากยิ่งขึ้น สิ่งที่สำคัญคือเราต้องเรียนรู้จากผู้ป่วยเพราะผู้ป่วยคือ อาจารย์ของเรา โรคที่เรารู้ในวันที่เราเรียนจบกับโรคที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมันไม่เหมือนกัน ผู้ป่วยที่เรายังแก้ปัญหาไม่ได้ในปัจจุบันและเราไปยึดกับการรักษาแบบเดิมก็ไม่สามารถเอามาประยุกต์ดูแลผู้ป่วยในตอนนี้ได้ การอัพเดตความรู้ไม่ว่าจะจากประชุมวิชาการหรือข้อมูลต่าง ๆ มันจะทำให้เราไม่ต้องแนวทางการรักษาที่มีเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดและทำให้ดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้น แพทย์รุ่นใหม่จะต้องเปิดโลกให้กว้าง
- Expert interview อาจารย์ พญ. อรพรรณ โพชนุกูล
- Expert interview อาจารย์ พญ. ชลีรัตน์ ดิเรกวัฒนชัย
- Expert interview อาจารย์ พญ. จรุงจิตร์ งามไพบูลย์
- Expert interview อาจารย์ นพ. เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม