การศึกษาภาคตัดขวางจากการเก็บข้อมูลของ NHANES พบว่า การใช้ยาลดกรด จะเพิ่มการเกิดไมเกรนในสามเดือนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับยาลดกรดทุกชนิด โดยพบมากสุดในการใช้ยา Proton Pump Inhibitor โดยการใช้แมกนีเซียมร่วมด้วย ไม่ได้ลดการเกิดไมเกรน
ผลข้างเคียงสำคัญของยาลดกรด ทั้งยา proton pump inhibitor (PPI) หรือ Histamine-2 receptor antagonist (H2RA) คือ อาการปวดศีรษะ จากข้อมูลในการศึกษายาลดกรด พบว่า เมื่อใช้ยาลดกรดต่อเนื่องกัน 1 สัปดาห์จะเพิ่มโอกาสการเกิดอาการปวดศีรษะ แต่ผลการศึกษาและรายงานผลข้างเคียงเป็นอาการปวดศีรษะแบบรวม ไม่ได้แยกชนิดของการปวดศีรษะ จึงทำการศึกษาเรื่องการเกิดโรคไมเกรนโดยเฉพาะ
การศึกษาแบบ cross-section จากข้อมูลการสำรวจของสหรัฐอเมริกา NHANES ในช่วงปี 1999 – 2004 โดยคัดคนที่มีข้อมูลการใช้ยาลดกรด ทั้งการใช้ยาแบบซื้อเองที่ร้านขายยา หรือได้รับการสั่งยาจากแพทย์ และอาการปวดศีรษะแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นการรายงานตัวเอง (ไม่ได้เป็นแบบสอบถามที่ออกแบบไว้แต่แรก) จำนวนทั้งสิ้น 11,800 ราย ผลการศึกษาหลักที่สนใจ คือ การเกิดไมเกรนในสามเดือนหลังใช้ยาลดกรด เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ยาลดกรด
ผลการศึกษาพบว่า ยา PPI เพิ่มการเกิดไมเกรนใน 3 เดือนมากกว่าการไม่ได้ใช้ยาลดกรดถึง 70% สำหรับยา H2RA เพิ่มการเกิดไมเกรน 40% ส่วนยาลดกรดชนิด antacid เพิ่มการเกิดไมเกรน 30% และหากประเมินความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ยาลดกรดในภาพรวมทั้งหมดกับการเกิดไมเกรน พบว่า เพิ่มการเกิดไมเกรนถึง 47%
นอกจากนี้ ยังเก็บข้อมูลการใช้แมกนีเซียมเพิ่มจากอาหารปกติ ที่เดิมมีข้อมูลอยู่บ้างว่าจะช่วยลดการเกิดปวดศีรษะได้ ในการศึกษานี้กลับพบว่า การใช้แมกนีเซียมกับยา H2RA เพิ่มการเกิดไมเกรนและปวดศีรษะด้วยค่า Odd Ratio 2.8 และมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนยาลดกรดอื่น พบว่า ลดการปวดศีรษะ แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
ยาลดกรดเพิ่มการเกิดไมเกรนอย่างชัดเจน จากข้อมูลการสำรวจและการศึกษาภาคตัดขวางขนาดใหญ่ เป็นข้อยืนยันเรื่องผลข้างเคียงที่พบบ่อยสุดของยาลดกรด และรวมถึงการปวดไมเกรน ดังนั้น ผู้ป่วยไมเกรนคงต้องระมัดระวังการใช้ยา และผู้ที่ใช้ PPI จะต้องระวังผลข้างเคียงนี้มากขึ้น
เรียบเรียงโดย นพ. ชาคริต หริมพานิช
ข้อมูลจาก doi: 10.1212/CPJ.0000000000200302. Epub 2024 Apr 24. PMID: 38682005; PMCID: PMC11052568.