ถุงเท้าอัจฉริยะติด sensor ที่สามารถทำนายการเกิดภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน จากแรงกดที่เท้าขณะสวมใส่
โรคเบาหวานส่งผลต่อการเดิน หรือการรับน้ำหนักของร่างกาย ผู้เป็นเบาหวานมีแนวโน้มจะมีแรงกดต่อกระดูก metatarsal ด้านหน้าของเท้ามากกว่าส้นเท้า ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการเกิดแผลที่เท้า อักเสบ ติดเชื้อ และนำไปสู่การตัดเท้าในที่สุด การคัดแยกผู้ที่มีความเสี่ยงสูงนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นในการป้องกันการสูญเสียอวัยวะต่อไป
ถุงเท้าอัจฉริยะนี้ได้รับการคิดค้น วิจัย และนำเสนอในงานประชุมวิชาการ European Heart Rhythm Association (EHRA) ประจำปี ค.ศ. 2024 โดย ดร. Ki Hong Lee และคณะจากประเทศเกาหลี ซึ่งถุงเท้านี้มี bio-signaling sensing arrays ซึ่งจะตรวจจับรวมถึงติดตามการเกิดภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือดอย่างต่อเนื่อง การทดลองทำในผู้เข้าร่วมงานวิจัยจำนวน 20 ราย โดย 10 ราย เป็นเบาหวานมานานกว่า 10 ปี ผู้เข้าร่วมงานวิจัยจะได้ใส่ถุงเท้าขณะยืน 40 วินาที และเดินอีก 40 วินาที มีการวัดแรงกดที่กระจายที่เท้า ร่วมกับติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะทดลอง ผลพบว่า ผู้เป็นเบาหวานจะมีแรงกดที่กระดูก metatarsal ขณะเดินมากกว่าผู้ไม่เป็นเบาหวานอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มี ABI ผิดปกติร่วมด้วยจะยิ่งมีแรงกดดังกล่าวมากขึ้นอีกทั้งที่กระดูก metatarsal และส้นเท้า ทั้งขณะยืนและเดินอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่มี ABI ปกติ อีกทั้งยังพบความสัมพันธ์กับคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีกด้วย โดย ดร. Ki Hong Lee กล่าวว่า รูปแบบของแรงกดเหล่านี้สามารถนำมาวิเคราะห์และทำนายการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานได้
งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของแรงกดที่วัดจากถุงเท้าอัจฉริยะขณะยืนและเดินกับคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และ ABI ซึ่งบ่งชี้ถึงคุณภาพของการไหลเวียนของหลอดเลือดส่วนปลาย แรงกดที่ถุงเท้าวัดได้อาจนำมาใช้ประโยชน์ในการวินิจฉัย หรือติดตามผลแทรกซ้อนของโรคเบาหวานได้อย่างง่าย ๆ ไม่เจ็บตัว รวมถึงอาจช่วยในการปรับท่าทางการยืน เดิน เพื่อป้องกันโรคได้อีกด้วย
เรียบเรียงโดย พญ. นิษฐา ปรุงวิทยา
ข้อมูลจาก https://www.mims.com/specialty/topic/a-sock-to-detect-diabetic–cv-complications-