งานวิจัยจาก JAMA Network เผยด้วยความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 เพิ่มขึ้น 10% จะพบความชุกของอาการของโรคหอบหืดในเด็กที่ผู้ปกครองรายงานลดลง 0.36%
โรคหอบหืดถือเป็นความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด 19 และการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในช่วงแรกของการระบาดใหญ่ มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมในปี ค.ศ. 2020 สัมพันธ์กับอัตราการไปห้องฉุกเฉิน และการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสำหรับโรคหอบหืดในเด็กที่ลดลง และในปีค.ศ. 2020 ความเสี่ยงในระดับบุคคลของการติดเชื้อโควิด 19 ลดลงด้วยการฉีดวัคซีนป้องกัน SARS-CoV-2 แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่เข้าใจแน่ชัดว่าอาการหอบหืดในเด็กสัมพันธ์กับการสัมผัสกับอาการป่วยจากโรคโควิด 19 หรือไม่
Matthew M. Davis และคณะ ได้ทำการศึกษาตามแนวทางจาก the Strengthening the Reporting of Observational Studies in Epidemiology หรือ STROBE ซึ่งใช้ข้อมูลระดับรัฐเกี่ยวกับความชุกของอาการของโรคหอบหืดในปัจจุบัน ที่ผู้ปกครองรายงานในบุตรหลานของพวกเขาในการสำรวจสุขภาพเด็กแห่งชาติประจำปี ค.ศ. 2018 ถึง 2019 และ 2020 ถึง 2021 ผลพบความชุกเฉลี่ยของอาการของโรคหอบหืดในวัยเด็กที่ผู้ปกครองรายงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญจาก 7.77% ในปี 2018 ถึง 2019 เป็น 6.93% ในปี 2020 ถึง 2021 อัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ระดับรัฐที่ปรับตามอายุอยู่ที่ 80.3 รายต่อประชากร 100,000 รายในปี ค.ศ. 2020 เพิ่มขึ้นเป็น 99.3 รายต่อประชากร 100,000 รายในปี ค.ศ. 2021 โดยประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน SARS-CoV-2 จนถึงเดือน ธ.ค. 2021 อยู่ที่ 72.3% และยังพบอีกว่าทุก ๆ 10% ของประชาชนที่ได้รับวัคซีนมากขึ้นอาการของโรคหอบหืดในเด็กที่ผู้ปกครองรายงานจะลดลง 0.36% โดยความชุกของอาการของโรคหอบหืดในเด็กที่ผู้ปกครองรายงานนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 หรือข้อกำหนดการสวมหน้ากากอนามัย
การศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงความชุกของอาการของโรคหอบหืดในวัยเด็ก และการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ที่ผู้ปกครองรายงานในระดับประชากรครั้งแรก โดยพบว่า อัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ที่สูงขึ้นอาจช่วยป้องกันโรคหอบหืดที่แสดงอาการได้
เรียบเรียงโดย พญ.นิษฐา ปรุงวิทยา
ข้อมูลจาก https://jamanetwork.com/journals/jamanetworkopen/fullarticle/2820710