ทีมวิจัยในประเทศเยอรมันทำโครงการวิจัยขนาดใหญ่ในชื่อ PollenNet ซึ่งประกอบด้วยการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี Artificial intelligence (AI) เพื่อนำมาใช้ทำนายการแพร่กระจายของละอองเกสรดอกไม้ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่กระตุ้นอาการของผู้ป่วย Allergic rhinitis ตลอดจนพัฒนาวิธีการป้องกันรักษาผู้ป่วยภูมิแพ้ละอองเกสรแบบองค์รวม
โรคภูมิแพ้ละอองเกสรดอกไม้ (Pollen allergy) ส่งผลกระทบต่อประชากรเกือบหนึ่งในสามของโลก และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศส่งผลให้ต้นไม้ออกดอกเร็วขึ้น และเกิดละอองเกสรดอกไม้ฟุ้งกระจายในอากาศมากขึ้น
ทีมวิจัยจากประเทศเยอรมัน ประกอบด้วย Technische Universität Ilmenau, Max Planck Institute for Biogeochemistry, Helmholtz Center for Environmental Research และ Leipzig University Hospital ได้ร่วมกันทำโครงการวิจัย PollenNet มีวัตถุประสงค์หลายประการ เช่น เพื่อคาดการณ์การแพร่กระจายและปริมาณของละอองเกสรดอกไม้ที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ของผู้ป่วย โดยเก็บข้อมูลจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อวงจรของต้นไม้ ตลอดจนร่วมพัฒนาวิธีตรวจประเมินอาการภูมิแพ้ต่อละอองเกสร และศึกษาผลกระทบของละอองเกสรเหล่านี้ต่อร่างกายมนุษย์ ซึ่งแต่ละโครงการจะมีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้เพื่อทำนายข้อมูลที่รวบรวมมาได้อย่างแม่นยำขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแผนการพัฒนาแอปพลิเคชัน Flora-Incognita เพื่อเก็บข้อมูลเรียลไทม์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของต้นไม้ เพื่อช่วยคาดการณ์การแพร่กระจายของละอองเกสรดอกไม้ในบรรยากาศอีกด้วย
คาดว่าโครงการ PollenNet จะช่วยยกระดับสุขภาพประชาชนที่ประสบปัญหาโรคภูมิแพ้ละอองเกสรดอกไม้ โดยจะช่วยให้สามารถคาดการณ์การแพร่กระจายของละอองเกสรได้อย่างแม่นยำ ช่วยวางแผนการป้องกันและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้
เรียบเรียงโดย พญ. สลิล ศิรินาม
ข้อมูลจาก https://www.tu-ilmenau.de/en/news/tu-ilmenau-research-project-precisely-predicting-allergenic-pollen-with-ai