คลื่นสมอง delta ที่ถูกรบกวนระหว่างการนอนหลับอาจช่วยในการทำนายความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
คลื่นสมอง delta เป็นลักษณะของการหลับลึก ซึ่งสัมพันธ์อย่างยิ่งกับคุณภาพการนอนหลับ นักวิจัยคาดว่าการมีคลื่น delta entropy ต่ำจะบ่งบอกถึงการที่กระบวนการนอนหลับลึกนั้นถูกรบกวน ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดคุณภาพการนอนหลับ และแยกผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดออกมา รวมถึงการรบกวนการนอนหลับนี้เป็นปัจจัยที่สามารถแก้ไขได้และอาจส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ลดลงได้ต่อไปเช่นกัน
Sizhi Ai และคณะ จากนานาประเทศ ได้รวบรวมข้อมูลการตรวจ polysomnogram ของผู้เข้าร่วมงานวิจัยจำนวน 4,058 ราย จาก the Sleep Heart Health Study (SHHS) และ 2,193 รายจาก the Osteoporotic Fractures in Men Study Sleep study (MrOS) มีการติดตามนาน 11 ปี ใน SHHS พบว่า ผู้เข้าร่วมงานวิจัย 729 รายเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่ง 192 รายเสียชีวิตจากโรคดังกล่าว ส่วนใน MrOS มีการติดตาม 15.5 ปี พบว่า ผู้เข้าร่วมงานวิจัย 547 รายเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่ง 391 รายเสียชีวิตจากโรคดังกล่าว ยังพบอีกว่าผู้ที่มีคลื่นสมอง delta entropy น้อยกว่าจะสัมพันธ์กับความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าเป็น 1.46 เท่า และ 1.79 เท่า จากใน SHHS และ MrOS ตามลำดับ โรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าเป็น 1.60 เท่า และ 1.43 เท่า จากใน SHHS และ MrOS ตามลำดับ และเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าเป็น 1.94 เท่า และ 1.66 เท่า จากใน SHHS และ MrOS ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่มีคลื่นสมอง delta entropy มากกว่า และเมื่อปรับด้วยปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว แสดงให้เห็นว่า delta entropy เป็นตัวทำนายความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงเป็นตัวบอกถึงคุณภาพการนอนหลับได้ดีกว่าตัวชี้วัดอื่น ๆ เช่น ความตื่นตัวหลังจากนอนหลับ arousal index หรือประสิทธิภาพการนอนหลับ
การศึกษานี้แสดงให้เห็นความเป็นไปได้ของการใช้ลักษณะของคลื่นสมอง delta ระหว่างการนอนหลับมาทำนายความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในการปรับพฤติกรรมการนอนหลับเพื่อสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือดต่อไป
- https://www.jacc.org/doi/10.1016/j.jacc.2024.02.040
- https://www.medscape.com/viewarticle/delta-wave-sleep-disruption-linked-increased-cv-risk-2024a100086h