ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ในสิบปีต่อจากนี้ จะพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมากขึ้น ในภูมิภาคที่ปกติไม่ค่อยมีการระบาด อาทิ หลายพื้นที่ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และแอฟริกา ด้วยสาเหตุมาจากภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดการแพร่กระจายของยุงลายมากขึ้น
โรคไข้เดงกี่หรือไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ ซึ่งแพร่ผ่านพาหะยุงลาย Aedes ที่พบได้ทั่วไปในพื้นที่ทั้งเขตเมืองและชนบท ปกติแพร่ระบาดในประเทศใกล้เส้นศูนย์สูตรแถบเอเชีย และลาตินอเมริกา ก่อให้เกิดการเสียชีวิตจากโรคจำนวนกว่า 2 หมื่นรายต่อปี ภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลต่อวงจรชีวิต และถิ่นอาศัยของยุงลายให้มีความเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
Jeremy Farrer ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อเขตร้อน ซึ่งรับเป็นที่ปรึกษาให้แก่องค์การอนามัยโลกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2023 ที่ผ่านมา ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกในช่วงสิบปีต่อจากนี้ว่า จากภาวะภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง มีแนวโน้มจะพบการระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ที่ปกติไม่ค่อยมีการระบาดได้มากขึ้น ได้แก่ บางพื้นที่ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และแอฟริกาบริเวณ Sub-Saharan ซึ่งประเทศเหล่านี้อาจมีประสบการณ์ไม่มากในการรับมือกับการระบาดของยุงลาย และการดูแลป้องกันโรคไข้เลือดออก แม้การติดเชื้อไข้เลือดออกส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง แต่ส่วนน้อยที่เกิดความรุนแรงขึ้นจะใช้ทรัพยากรของโรงพยาบาลในการรักษาอย่างมาก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขได้ สถานพยาบาลและผู้เกี่ยวข้องในระบบสาธารณสุขของภูมิภาคเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องมีแผนเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวในอนาคต
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกชนิดใหม่ คือ Qdenga ได้รับการรับรองจากสหภาพยุโรปแล้ว เหลือรอรับการพิจารณาในสหรัฐอเมริกาต่อไป
เรียบเรียงโดย พญ. สลิล ศิรินาม
ข้อมูลจาก https://www.medscape.com/s/viewarticle/997139?src=mbl_msp_iphone