การศึกษาแบบ RCTs เทียบระหว่างยา piperacillin/tazobactam กับยาเดิม คือ cefoxitin พบว่า ยา pip/tazo สามารถลดอัตราการติดเชื้อแผลผ่าตัดใน 30 วัน ได้ดีกว่ายาเดิมอย่างมีนัยสำคัญถึง 49% โดยที่การศึกษาต้องยุติก่อนกำหนด เพราะประโยชน์สูงกว่าเกณฑ์อย่างชัดเจน
การผ่าตัด panceatoduodenectomy เป็นหนึ่งในการผ่าตัดใหญ่ที่เสี่ยงต่อการเกิดอัตราการเสียชีวิต และผลแทรกซ้อน เนื่องจากมีโอกาสรอยเย็บรั่วซึมและติดเชื้อได้ง่าย ยิ่งกับท่อทางเดินน้ำดีที่มีโอกาสติดเชื้อรุนแรงได้ มีการศึกษาเก็บข้อมูล พบว่า เชื้อก่อโรคที่พบเริ่มดื้อยา และการใช้ยาฆ่าเชื้อครอบคลุมกว้างกว่าจะลดอันตรายได้ดี แต่แนวทางมาตรฐานการป้องกันการติดเชื้อในการผ่าตัดนี้ยังแนะนำเป็น 1st หรือ 2nd generation cephalosporins
การศึกษาแบบ RCTs ทำในประเทศอเมริกาและแคนาดา ศึกษาในผู้ป่วยที่ต้องทำ open pancreatoduodenectomy ไม่ว่าด้วยข้อบ่งชี้ใด แบ่งเป็นกลุ่มที่ให้ยาป้องกันการติดเชื้อก่อนผ่าตัดด้วยยา cefoxitin 2 กรัม เทียบกับยา piperacillin/tazobactam 3.375 – 4.5 กรัม ให้ก่อนผ่าตัดภายใน 60 นาที อาจให้ต่อหากผ่าตัดยาวนานกว่า 4 ชั่วโมง และหยุดให้ยาหลังการผ่าตัด โดยวัดผลการศึกษาหลัก คือ การติดเชื้อที่แผลผ่าตัดภายใน 30 วันหลังการผ่าตัด
ผลการศึกษาพบว่า มีกลุ่มที่ได้รับยา cefoxitin 378 ราย และได้รับยา pip/tazo 400 ราย อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 67 ปี มีผู้ป่วยที่ได้รับยาซ้ำเนื่องจากผ่าตัดยาวนานไม่มากนัก การศึกษานี้ถูกยุติก่อนกำหนด เนื่องจากผลประโยชน์ลดการติดเชื้อในกลุ่มยา pip/tazo สูงกว่ากลุ่มควบคุม จนเกินเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด
ผลการศึกษาหลักพบว่า กลุ่มยา pip/tazo เกิดการติดเชื้อ 19.8% เทียบกับกลุ่มควบคุม คือ ยา cefoxitin 32.8% แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ OR 0.51 (95%CI 0.38 – 0.81) รวมทั้งผลการศึกษารอง คือ อัตราการเสียชีวิตและโอกาสเกิดการติดเชื้อแบบ sepsis พบน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มได้รับยา pip/tazo
ตามสถานการณ์ปัจจุบันที่เชื้อดื้อยามากขึ้น การใช้ยา pip/tazo เพื่อป้องกันการติดเชื้อในการผ่าตัด pancreatoduodenectomy สามารถลดอัตราการติดเชื้อได้อย่างมีนัยสำคัญและชัดเจน แต่เนื่องจากรูปแบบการศึกษายังไม่สมบูรณ์แบบในแง่ระเบียบวิธีวิจัย น่าจะต้องทำการศึกษาให้สมบูรณ์กว่านี้ แต่แนวโน้มการใช้ยาใหม่และแนวทางใหม่มีประโยชน์ชัดเจน
เรียบเรียงโดย นพ. ชาคริต หริมพานิช
ข้อมูลจาก doi:10.1001/jama.2023.5728